วันจันทร์, พฤษภาคม 30, 2559

ขอแจกความสุขวัน Memorial Day ในอเมริกา ท่ามกลางกระแส ‘เสียงแตก’ ระหว่าง 'โหวตโน' กะ ‘โนโหวต’ หวังว่าผู้รักประชาธิปไตยจะตัดสินใจเดินไปพร้อมกันในทางใด โดยไม่ใช่เดินไปคนละเส้นทาง





มันเป็นประดุจทางแพร่งที่คนเสื้อแดงต้องเลือก ตรงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการฉวยโอกาสไปสู่เผด็จการซึมเนียนนาน (+๒๕ ปี)

การออกเสียงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญที่ คสช.กำหนด พร้อมบทเฉพาะกาลและคำถามพ่วง อันจะบันดาลให้ คสช. (หรือตัวจริงคือคณะทหารทั้งระบบเบื้องหลังกลุ่มยึดอำนาจรัฐเมื่อ ๒๒ พฤษภา ๕๙) ได้ครองอำนาจไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมต่อไปอีกนาน หลังวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๙

นี้ก่อให้เกิด dilemma ละล้าละลัง ติดขัดไม่รู้จะเดินทางไหนดีกว่ากัน ‘โหวตโน’ หรือ ‘โนโหวต’ กลับเป็นประเด็นให้ถกเถียงเพื่อทางเลือกดีที่สุด

ในสถานการณ์ที่ไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ยังเป็นเบี้ยรองบ่อนของฝ่ายทหารและอำมาตย์ รวมทั้งข้าทาสบริวารของฝ่ายนั้น ดันประเทศไปสู่แบบแผนการปกครอง ‘ไทยๆ’ ที่ทหารและชนชั้นนำมีเสียงในทางการเมืองหนักแน่นกว่าประชาชนทั่วไปหลายเท่าเช่นเดิม

เหตุนี้จึงเกิดปรากฏการณ์ ‘เบียด’ กัน ระหว่างกระแสโหวตโนกับโนโหวตในหมู่คนเสื้อแดง และคนที่ต้องการให้บ้านเมืองกลับไปสู่การปกครองประชาธิปไตย ที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง

โหวตโน คือไปออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ๕๙ นี้ โนโหวต คือไม่ไปออกเสียง บอยคอตประชามติ แสดงการไม่รับร่างฯ ทั้งกระบวนการที่ คสช. เป็น producer ผู้จัดทำ ไม่เพียงแค่ผลิตผล หรือ product ที่เป็น ‘ร่างฯ มีชัย’ ซึ่ง คสช. คิดว่าแยบยลและดูดีที่สุดสำหรับความทะเยอทะยานของพวกตน

ในที่นี้เราใคร่ชักนำให้บรรดาท่านที่ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญนี้ และที่ไม่ต้องการให้ทหารกุมอำนาจการบริหารปกครองบ้านเมืองต่อจากวันลงประชามติไปอีกนานถึง ๕ ปี หรือกว่านั้นอีก ๒๐ ปีตามยุทธศาสตร์ของ คสช. ได้พินิจและถกเถียงเลือกทางเหมาะควรที่สุดระหว่างสองแนว (เท่านั้น)

จึงขอนำการถกเถียงทางสื่อสังคมเท่าที่เราได้สัมผัส มานำร่องไว้พอเป็นสังเขป

“มีความพยายามที่จะปลุกระแส ‘โนโหวต’ ด้วยการชูป้ายบอยคอตรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือบอยคอตประชามติ” เป็นโพสต์จาก พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ล่าสุดทางเฟชบุ๊ค อธิบายว่า

“โดยอ้างว่าเป็นประชามติจอมปลอมภายใต้กฎหมายเผด็จการ ออกไปโหวตยังไงก็แพ้แน่นอน ฉะนั้น การไปโหวต ‘ไม่รับร่างรธน.’ ก็เท่ากับไป ‘สร้างความชอบธรรมให้เผด็จการ’

ประชามติวันที่ ๗ สิงหา ๕๙ จะมีผู้มีสิทธิ์จำนวน ๕๐ ล้านคน ถ้าเรายึดตามข้อมูลประชามติปี ๒๕๕๐ ที่มีผู้มาใช้สิทธิ์ ๕๗% ก็จะเท่ากับว่า ประชามติ ๗ สิงหา๕๙ จะมีผู้มาใช้สิทธิ์ ๓๐ ล้านคนและไม่มาใช้สิทธิ์อีก ๒๐ ล้านคน!...

การบอยคอตประชามติจะไม่มีผลสะเทือนทางการเมืองใด ๆ เพราะไม่มีทางรู้ปริมาณที่แท้จริง สุดท้ายคนที่โนโหวตก็จะไปกองรวมอยู่กับพวกนอนหลับทับสิทธิ์อีก ๒๐ ล้านเสียงเท่านั้น

ข้อเสนอบอยคอตประชามติ คือข้อเสนอของคนแพ้ เชื่อว่าถ้าออกไปใช้สิทธิ์ยังไงก็แพ้แน่นอน ก็เลยไม่ใช้สิทธิ์ แล้วอ้างว่านี่คือแนวทางการต่อสู้ที่ได้มรรคผล ทั้งที่ไม่มีทางรู้ว่ามรรคผลนั้นเป็นเท่าใด

ฉะนั้น ต้องออกไปโหวตไม่รับร่างรธน. เท่านั้น จึงจะมีผลสะเทือนชัดเจนว่าเท่าใด ทั้งยังมีโอกาสที่จะคว่ำร่างรธน.นี้ได้

และถึงแม้ร่างรธน.อาจผ่านประชามติในที่สุด แต่ก็มีเสียง ‘ไม่รับ’ ชัดเจนว่าเป็นเท่าใด ซึ่งยังส่งผลทางการเมืองได้ ดังเช่นประชามติปี ๒๕๕๐”

ผู้ที่ออกมาตอบโต้ความเห็นของ อจ.พิชิต ทันใด (เท่าที่เราได้สัมผัส) เห็นจะเป็น Jittra Cotchadet นักกิจกรรมแรงงานสิ่งทอ ที่โด่งดังมาจากการยกป้ายประท้วงอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ของพรรคประชาธิปัตย์ว่า ‘ดีแต่พูด’

“ขอมองคนละมุมกับอาจารย์นะคะ” จิตราค้าน “จิตราเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนบอยคอต ซึ่งเห็นว่ามันเป็นประชามติจอมปลอมจริง พวกเราต้องการมีพื้นที่หลังจากโหวตเยสชนะ เพื่อจะบอกได้ว่ายังมีพวกเราที่ไม่ได้ไปเป็นตราประทับให้กับประชามติจอมปลอม

ไม่มีคนแพ้ที่ไหนจะเสนอบอยคอต คนแพ้ต้องเงียบและหุบปากไม่พูดอะไรเลยค่ะ แต่พวกเราคือพวกที่กล้าท้าทายอำนาจของเผด็จการที่ไม่ยอมตามคำสั่งของเขามากกว่า”

ก่อนหน้านี้เธอได้แสดงความตั้งใจโนโหวตเอาไว้บนกระดานอภิปรายเฟชบุ๊คเช่นกัน

“ฟังชัดๆ กันอีกรอบ การที่แสดงตัวว่าจะบอยคอต รธน.มีชัย นั้นไม่ได้เห็นว่ากลุ่มโหวตโนเป็นฝ่ายตรงข้ามนะคะ เราเคารพการแสดงออกทุกเสียงและพวกเรายังเป็นเพื่อนกัน

คือความคิดมันมาในเส้นเดียวกัน ไม่ได้มีความเห็นต่างกันในเรื่องของเนื้อหาสาระของ รธน. คือบอยคอตนั้นไม่เอา รธน.เช่นเดียวกัน แต่บอยคอตนั้นไปไกลกว่าคือไม่การลงประชามติที่จัดขึ้นโดยเผด็จการควบคุมอำนาจทั้งหมด

ส่วนใครจะกล่าวหาว่าบอยคอตเป็นพวกไม่เอาประชาธิปไตย นั่นแสดงว่าคนกล่าวหาก็ยังไม่เข้าใจเรื่องประชาธิปไตยอย่างแท้จริง:)”


อีกคนที่เราเห็นแสดงตนไม่เอาร่าง รธน. ฉบับมีชัยทั้งกระบวน ด้วยการบอยคอตประชามติ ก็คือ Tewarit Bus Maneechai เขาโพสต์ไว้ก่อนหน้าจิตราไม่กี่ชั่วโมง

“ข่าวว่านักประชาธิปไตยบางท่านไปไกลถึงขนาดกล่าวหาว่าพวกที่ชูธง ‘บอยคอต ร่าง รธน. มีชัย’ ว่าเป็นพวก ‪#‎รับงานคสช‬. มา เพื่อทำให้เสียงแตกบ้าง เพื่อทำให้ร่าง รธน. ผ่านบ้าง (เพราะเมื่อคนบอยคอตเยอะก็จะทำให้เสียงโหวตโนสู้ไม่ได้ แล้วเสียงโหวตเยสจะชนะ)...

ส่วนผมเชื่อว่า ถ้าเรามีประชามติ ๗ สิงหา คสช.ก็มั่นใจพอสมควรว่าเขาจะผ่าน

ที่ผ่านมาก็มีคำสั่ง มีนโยบายต่างๆ ลงกลไกต่างๆ ของรัฐระดับมวลชน ทั้งข้าราชการและท้องถิ่น รวมทั้งนโยบายปราบผู้มีอิทธิพลที่เล็งไปที่นักการเมืองด้วย ยังมี ครู ก. ครู ข. ครู ค. ที่จะไปเคาะตามบ้านอีก แน่นมากๆ ยังไม่รวมคนที่อยากให้มันผ่านๆ ไป เพื่อเห็นความชัดเจนมากกว่าอนาคตที่ไม่รู้ว่าอะไรรออยู่ (ซึ่ง คสช. ก็พยายามทำให้มันดูคลุมเครือ)”

ความเห็นของ ‘บัส’ นี้ดูจะไปคล้องจองกับความรู้สึกของเสื้อแดงบางส่วน ที่คิดว่าการต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญกันมากๆ ทั้งจากฝ่ายโน้นและฝ่ายนี้ (เหลืองและแดง) อาจทำให้ คสช. ฝ่อ จัดการล้มประชามติเหมือนกับที่คว่ำร่างฯ บวรศักดิ์ก็ได้

แล้วหันไปใช้วิธีรวบรัด นำร่างรัฐธรรมนูญสองฉบับมาปรับแก้ใหม่ ประกาศใช้เลย เพื่อให้มีการเลือกตั้งตามแผนโร้ดแม็พ

หากประเมินตามเสียงที่ชักจะดังของกลุ่มปฏิรูปพลังงาน ปฏิรูปตำรวจ และขอคืนสิทธิชุมชน ที่ คสช. คงจะเงี่ยฟังไม่มากก็น้อย (มากกว่าเสื้อแดง) ละก็

ทางออกที่รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ได้แสดงความเห็นไว้ต่อกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติว่า อาจจะนำรัฐธรรมนูญสี่ฉบับมาปรับแก้แล้วประกาศใช้ ไม่ใช่เรื่องยากอันใดสำหรับ คสช. จะเลือกทำโดยไม่ต้องผ่านประชามติ

แม้แต่การนำร่างฯ มีชัยมาเพิ่มสิทธิชุมชนตามร่างของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ แล้วยอมตัดข้อความที่จะให้วุฒิสมาชิกมีส่วนในการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไป ก็น่าจะทำให้เสียงต้านจากฝ่ายเหลืองเงียบได้ มีแต่เสียงค้านไกลๆ ของฝ่ายแดงที่พวกเขาไม่คิดจะฟังอยู่แล้ว

Dilemma อันอึดอัดติดขัดสำหรับเสื้อแดงปรากฏอยู่ที่ถ้อยถามจากโพสต์ของ อจ. Charnvit Kasetsiri

“7 สิงหา 1965 วันเสียงปืนแตก 7 สิงหา 2016 วันเสียงแตก โหวต No หรือ no vote ดีครับ ???”

นั่นละ ‘เสียงแตก’ คือเป้าหมายหวังผลในปฏิบัติการ blitzkrieg รุกหนักดันด้วยกำลัง รด. ครู และข้าราชการปกครอง ให้ร่าง รธน.ผ่านประชามติอย่างง่ายดาย ขณะที่ห้ามพลเมืองวิจารณ์ข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดโทษจำคุกไว้สูงถึง ๑๐ ปี (มาตรา ๔๑ พรบ.ประชามติ)

คำตอบไม่ได้อยู่ในสายลม แต่อยู่ที่สายใจของผู้ที่เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ‘มีชัย’ นี้จะกำหนดรูปแบบการปกครองประเทศให้เป็นเผด็จการจำบังอย่างยั่งยืน จะตัดสินใจเดินไปพร้อมกันในทางใด โดยไม่ใช่เดินไปคนละเส้นทาง

“คนละไม้ละมือ ด้วยมือเธอและด้วยมือฉัน หลายๆ มือช่วยกัน อะไรจะมาทนทานต้านเรา...”

ดั่งคำร้องในเพลง ‘วันของเรา’ โดย ดอน สอนระเบียบ (https://www.youtube.com/watch?v=4jwUFBYLQeY)

ด้วยรำลึกถึงมิตรร่วมรบเพื่อประชาธิปไตย ขอแจกความสุขวัน Memorial Day ในอเมริกา


ooo




ooo


ศึกษาจากอดีต บท BBCสัมภาษณ์ท่านปรีดี พนมยงค์ปี2525 เรื่องประชาธิปไตยไทย และจุดอ่อนและข้อผิดพลาด


https://www.youtube.com/watch?v=SuzsddVHPGY&feature=youtu.be

BBCสัมภาษณ์ปรีดี พนมยงค์2525

fengshui OkNation

Uploaded on Jun 24, 2010
BBCสัมภาษณ์ปรีดี พนมยงค์2525