ทำไมต้องยกเลิกโทษประหารชีวิต
ชำนาญ จันทร์เรือง
ทุกครั้งที่มีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้น
เช่น การทำร้ายชายพิการจนเสียชีวิต หรือการฆ่าข่มขืน ฯลฯ
ก็จะมีการปลุกกระแสสังคมให้มีการลงโทษประหารชีวิตผู้กระทำผิดอยู่เสมอ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการลงโทษที่สาสมกับการกระทำความผิดนั้น
และเชื่อว่าหากมีการลงโทษประหารชีวิตแล้วจะไม่มีการกระทำความผิดเช่นนั้นเกิดขึ้นอีก
ทั้งๆ
ที่มีงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตนั้นไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ
กับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอาชญากรรมเลย
จากรายงานฉบับล่าสุดของ
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวถึงสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตทั่วโลกในปี
2558 ชี้ว่าตัวเลขการประหารชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ สถิติสูงสุดในรอบกว่า 25
ปี นอกจากจีนที่ไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการแล้วสามประเทศที่ประหารชีวิตมากที่สุดคือ
อิหร่าน ปากีสถาน และซาอุดิอาระเบีย
แต่อย่างไรก็ตามแนวโน้มประเทศต่างๆทั่วโลกต่างกำลังหันหลังให้กับโทษประหารชีวิต ปัจจุบันมี 140 ประเทศหรือมากกว่า 2
ใน 3 ของ
ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว โดยที่
102 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทุกประเภท
สำหรับประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วย
10 ประเทศนั้น กัมพูชาและฟิลิปปินส์
ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท ส่วนลาว พม่า และบรูไน
ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ (การที่ยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต
แต่ได้ระงับการประหารชีวิตเป็นระยะเวลา 10 ปีติดต่อกัน)
ส่วนประเทศไทย
อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนาม ยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่
ประเทศไทย
เมื่อปีที่แล้วมีการตัดสินลงโทษประหารชีวิตอย่างน้อย 7 คน ปัจจุบันข้อมูล ณ วันที่
31 มีนาคม 2559 มีนักโทษประหาร 420 คน ชาย 368 คน หญิง 52 คน เป็นคดียาเสพติด 195 ราย
คดีทั่วไป 225 ราย
โดยที่ประเทศไทยมีการประหารชีวิตครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคม
ปี 2552 ก้าวเข้าสู่ปีที่เจ็ดที่ไม่มีการประหารชีวิต
ซึ่งหากไม่มีการประหารชีวิต 10 ปีติดต่อกัน
ทางองค์การสหประชาชาติจะถือว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติทันที
ซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่ดีด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับประเทศไทยอีกก้าวหนึ่ง
เหตุผลในการยกเลิกโทษประหารชีวิต
1) การประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์คือสิทธิในการมีชีวิตอยู่
ซึ่งมนุษย์ทุกคนพึงได้รับสิทธินี้เสมอกันโดยไม่คำนึงถึงสถานภาพ ชาติพันธุ์ ศาสนา
หรือชาติกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นคนดี หรือคนไม่ดี เป็นสิทธิที่ไม่อาจพรากไปจากบุคคลได้
2) การประหารชีวิตทุกวิธีก่อให้เกิดความทรมานต่อนักโทษอย่างแสนสาหัส
แม้แต่การฉีดยาพิษเข้าสู่ร่างกายก็ตาม
3) กระบวนการยุติธรรมทางอาญาย่อมมีความเสี่ยงที่จะตัดสินผิดพลาด
ไม่มีระบบใดที่จะสามารถตัดสินได้อย่างเป็นธรรม สม่ำเสมอ และโดยไม่มีข้อบกพร่อง
ที่สำคัญคือการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นแล้วไม่สามารถเรียกชีวิตกลับคืนมาได้
แม้ในภายหลังจะมีการสอบสวนว่าผู้ที่ถูกประหารชีวิตนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ตาม
4) นักโทษที่ถูกประหารชีวิตส่วนใหญ่
คือ คนยากจน
คนด้อยโอกาสซึ่งไม่สามารถว่าจ้างทนายความที่มีความสามารถเพื่อให้ความรู้และแก้ต่างให้กับตนเองได้
จากงานวิจัยเกี่ยวกับนักโทษประหารชีวิตที่ทำโดย
สุมณทิพย์ จิตสว่าง ระบุว่า สถานภาพของนักโทษประหารชีวิตในประเทศไทยเป็นบุคคลที่มีฐานะทางสังคมไม่สูงนัก
ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถม มีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาท
การตกเป็นนักโทษประหารชีวิตเนื่องจากสภาพแวดล้มที่กดดันหล่อหลอมให้ก่ออาชญากรรม
เช่น การคบเพื่อน การเรียนรู้ทางสังคม มีการควบคุมตัวเองต่ำ
รวมทั้งการไม่เกรงกลัวโทษประหารชีวิตในขณะกระทำความผิด กล่าวคือ
โทษประหารชีวิตไม่สามารถยับยั้งให้พวกเขาก่ออาชญากรรม
แต่พวกเขาจะกลัวโทษที่จะได้รับหลังจากกระทำความผิดแล้ว
5) การประหารชีวิตไม่ได้ยับยั้งอาชญากรรมรุนแรง
หรือทำให้สังคมปลอดภัยขึ้น แต่ยังส่งผลกระทบที่เลวร้ายต่อสังคม
การที่รัฐอนุญาตให้มีการประหารบุคคลแสดงถึงการสนับสนุนต่อการใช้กำลังและการส่งเสริมวงจรการใช้ความรุนแรง
บัน
คี มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า “ไม่เคยมีใครพิสูจน์ได้เลยว่าโทษประหารชีวิตช่วยยับยั้งอาชญากรรมได้”
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบ 2 ประเทศ
ที่มีลักษณะคล้ายกันทั้งจำนวนประชากร การศึกษา ภาวะเศรษฐกิจ คือ สิงคโปร์ ที่ยังมีโทษประหารชีวิต
ลงโทษย่างรุนแรง และฮ่องกง ที่ไม่มีโทษประหารชีวิตแล้ว
สถิติการก่ออาชญากรรมแทบไม่ต่างกันเลย ถ้าโทษประหารชีวิตสามารถยับยั้งอาชญากรรมได้จริง
ตัวเลขการก่ออาชญากรรมของสิงคโปร์จะต้องน้อยกว่าฮ่องกงใช่หรือไม่
แล้วจะทำอย่างไรกับผู้กระทำความผิด
เราควรมีทัศนคติใหม่ต่อผู้ที่กระทำความผิด
ไม่ควรคิดว่าพวกเขาเป็นผู้ร้ายที่สมควรได้รับการลงโทษอย่างสาสม
แต่ควรคิดว่าพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตทางสังคมเหมือนเช่นเรา และการลงโทษนั้นต้องไม่เป็นไปเพื่อการแก้แค้นทดแทน
แต่ต้องเป็นไปเพื่อการแก้ไขเยียวยา เพราะการที่พวกเขากระทำความผิดย่อมหมายถึงบางสิ่งบางอย่างในสังคมของเราทำหน้าที่ผิดเพี้ยนไป
สิ่งที่เราควรที่จะคิดกระทำไม่ใช่การกำจัดพวกเขาให้ออกไปจากสังคม แต่เราควรที่จะคิดหาต้นตอของปัญหาฟันเฟืองที่ทำงานผิดพลาดเพื่อหาวิธีการแก้ไข
แน่นอนว่าสิ่งที่บุคคลเหล่านั้นกระทำถือว่าเป็นความผิด
สิ่งที่รัฐจะต้องกระทำอย่างเร่งด่วนคือ
การนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม
ซึ่งกระบวนการยุติธรรมจะต้องโปร่งใส รวดเร็ว แม่นยำและเท่าเทียมกัน
จะต้องไม่มีการปล่อยคนผิดลอยนวล
ยิ่งกระบวนการยุติธรรมเป็นธรรมและรวดเร็วเท่าไรยิ่งถือได้ว่าเป็นการเยียวยาเหยื่อหรือผู้เสียหายได้มากเท่านั้น
ส่วนการเรียกร้องให้มีการประหารชีวิตบุคคลที่มีพฤติกรรมเลวร้ายเหล่านั้น
ขณะเรื่องราวที่ยกตัวอย่างมาในตอนต้นกระแสเริ่มซาลง
อยากให้ทุกคนกลับมาใช้สติและเหตุผลในพิจารณาเรื่องนี้ให้มากขึ้นอีกครั้ง
แน่นอนทุกคนโกรธและเกลียด
บางคนอาจจะขยะแขยงในสิ่งที่คนเหล่านั้นกระทำต่อเหยื่อหรือผู้เสียหาย
เมื่อเราโกรธและเกลียดในสิ่งที่พวกเขากระทำ
เราก็ไม่ควรทำแบบเดียวกับที่พวกเขาทำ เพราะไม่เช่นนั้นเราก็คงไม่ต่างไปจากพวกเขา
คือ “การเป็นอาชญากร” ดีๆ นี่เอง
เพียงแต่เราไม่ได้ลงมือฆ่าคนด้วยตนเอง
แต่มอบหมายหน้าที่นั้นให้กับเพชฌฆาตเป็นผู้ทำหน้าที่ “ฆ่า”แทนเราเท่านั้นเอง
-----------------
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่
25 พ.ค.59