มติชนสุดสัปดาห์·MONDAY, MAY 30, 2016
หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
มุกดา สุวรรณชาติ
มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2559
นายกฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ตั้งรัฐบาลได้ไวเพราะ รธน.2521 และรัฐบาลนั้นไปไวก็เพราะ รธน.2521
คนที่มีส่วนสำคัญในการร่าง คือ มือกฎหมายระดับปรมาจารย์อย่าง คุณมีชัย ฤชุพันธุ์ กลายเป็นตัวเชื่อมข้ามยุค มาร่าง รธน. ฉบับ 2559 เช่นเดียวกับตัวเชื่อมอำนาจข้ามยุคอย่าง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
ไม่น่าเชื่อว่าแม้เวลาจะยาวนานถึง 36 ปี แต่กงล้อประวัติศาสตร์หมุนทับรอยเดิม
ในคลื่นการเมือง ถ้าประมาท...
เรือล่มได้ ไม่ว่าเรือใคร
การชิงอำนาจทางการเมืองเหมือนคลื่นที่เข้าปะทะรัฐนาวา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช บอกว่าให้เวลารัฐบาลนี้ 6 เดือน แต่...31 สิงหาคม 2522 พรรคกิจสังคมและพรรคชาติไทยก็ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี 4 กระทรวงคือ มหาดไทย อุตสาหกรรม พาณิชย์ และคมนาคม แต่รัฐบาลก็ผ่านได้ นายกฯ เกรียงศักดิ์ มัวแต่มองคู่ปรับคนสำคัญ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ซึ่งสื่อมวลชนให้ฉายาว่าเฒ่าสารพัดพิษ ไม่ได้ระวังคนอื่น
รัฐบาลบริหารประเทศมาจนถึงสิ้นปี 2522 ยังไม่ครบปี ปัญหาที่เผชิญอยู่ตรงหน้าคือปัญหาพื้นฐานเรื่องเศรษฐกิจ ในที่สุดโอกาสก็เกิดปัญหาราคาน้ำมันซึ่งดีดตัวสูงขึ้นติดต่อกันจาก 13-15 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพียงปีเดียวขึ้นสูงถึง 26-32 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ต้องมีการประกาศขึ้นราคาน้ำมันในประเทศ 6 ครั้ง ทำให้ประชาชนเดือดร้อน รัฐบาลการ์ดตกนิดเดียวก็มีคนปล่อยหมัดน็อกทันที
เกิดการชุมนุมของประชาชนนักศึกษา สหภาพแรงงานและฝ่ายการเมืองที่ท้องสนามหลวงในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2523 ในช่วงเวลาเดียวกันนี้พรรคการเมืองต่างๆ ก็ได้เตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจกรณีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ไม่สามารถทำได้อย่างที่บอกไว้
23 กุมภาพันธ์ 2523 พลเอกเกรียงศักดิ์ พยายามออกวิทยุโทรทัศน์ชี้แจงและโต้ตอบ ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จ 27 กุมภาพันธ์ ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ถ้าหากเสียงของ ส.ว. 225 เสียง และ ส.ส. จำนวนหนึ่ง ยังสนับสนุน ก็ไม่มีอะไรน่าวิตก แต่งานนี้ พลเอกเกรียงศักดิ์ ถูกจู่โจมชิงกำลังอย่างรวดเร็ว กว่าจะรู้ตัวก็ช้าไปแล้ว รัฐบาลจึงขอเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อชี้แจงปัญหาในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 3 มีนาคม 2523
เมื่อ ส.ว. มีใจเป็นอื่น...
การแสดงก็ต้องปิดฉาก
วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523 หลังจากที่พลเอกเกรียงศักดิ์แถลงต่อรัฐสภาอย่างยืดยาว สุดท้ายก็ได้แถลงลาออกโดยให้เหตุผลว่า เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยระบบรัฐสภา...กระผมจึงได้ตัดสินใจดังนี้...กระผมขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ระบบรัฐสภาของประชาธิปไตยดำรงคงอยู่ตลอดไป...ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ท่านเลือกบุคคลที่มีความสามารถดีกว่าเข้ามาบริหารประเทศและรับใช้ประชาชนและประเทศชาติต่อไป ขอบพระคุณ...
นายกฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ ลาออกกลางสภา มีการวิเคราะห์กันต่างๆ นานาว่าทำไมพลเอกเกรียงศักดิ์ไม่ยุบสภา ทำไมยอมลาออกก่อนจะถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เบื้องหลังเหตุการณ์นั้นมีผู้วิเคราะห์ว่า
นายกฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ ฐานลอยจากทุกส่วนของอำนาจคือ
1. อำนาจทางทหารหายไปแล้ว ดังนั้น จึงไม่สามารถใช้อำนาจทางทหารเป็นตัวช่วย
2. ไม่มีอำนาจในการควบคุมเสียงของ ส.ว. เพราะ ส.ว. ใจเป็นอื่นไปแล้ว คือเปลี่ยนไปตามขั้วอำนาจที่เป็นใหญ่ ณ ช่วงเวลานั้น ข่าวบอกว่าฐานเสียงสำคัญจาก จปร.7 ถอนตัว และช่วยล็อบบี้ ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ให้มาหนุนคนใหม่
3. ไม่มีอำนาจในการควบคุมเสียง ส.ส. เพราะนายกฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ มองว่านักการเมืองไม่มีน้ำยา ในสภาพประชาธิปไตยหลอกๆ จึงไม่สนใจ ฐานประชาชน แต่การปกครองระบบใดขาดการสนับสนุนจากฐานนี้ก็ไปไม่รอด
4. พลเอกเกรียงศักดิ์ ลอยตัวจากอำนาจนอกระบบมานานแล้วนับตั้งแต่รัฐประหารตุลาคม 2520 และในช่วงหลังนโยบายต่างประเทศที่คบทุกฝ่าย ทั้งจีน รัสเซีย อเมริกา กลุ่มประเทศอาหรับ ทำให้เกิดความไม่ไว้ใจจากมหาอำนาจ
ฝ่ายจู่โจมชิงอำนาจครั้งนี้จึงทำไม่ยาก เพราะนายกฯ ไม่มีแนวร่วมเหลืออยู่เลย ใช้เวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ เกมก็จบ
และที่ไม่ยุบสภาก็เพราะถูกบีบบังคับให้ลาออก สมัยนั้นไม่มีตุลาการภิวัฒน์ ตอนนั้นอาจจะเรียกว่าวุฒิสภาภิวัฒน์ก็ได้ เพราะ ส.ว. ใจเป็นอื่นไปแล้ว นายกฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ ได้รับข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ ไม่สามารถใช้การแก้ไขทั้งการทหารและการเมือง
บางคนมองว่าเป็นการยึดอำนาจอย่างเงียบๆ เมื่อถูกล็อกหมดทุกด้าน ถ้าไม่ลาออกจะถูกอภิปรายหลายเรื่องกลางสภา แพ้มติไม่ไว้วางใจ หลุดจากตำแหน่ง
ถึงอยากอยู่ยาวเขาก็ไม่ให้อยู่ เพราะเขาตกลงแบ่งอำนาจกันแล้ว (การชิงอำนาจจากนายกฯ สมัคร และนายกฯ สมชาย ปี 2551 โดยตุลาการภิวัฒน์ แล้วตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ยากกว่า)
สิ่งเหล่านี้มาพิสูจน์ตอนที่มีการโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่หลังจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ลาออก 3 วัน
วันที่ 3 มีนาคม 2523 มีการจัดประชุมที่รัฐสภาซาวเสียงหานายกฯ คนใหม่ ผลปรากฏว่า
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้คะแนนจาก ส.ส. 195 เสียง ได้จาก ส.ว. 200 เสียง รวมเป็น 395
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้คะแนนจาก ส.ส. 79 เสียง ส.ว. 1 เสียง รวมเป็น 80
อดีตนายกฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้คะแนนจาก ส.ส. 4 เสียง และ ส.ว. 1 เสียง รวมเป็น 5
และพลเอกเปรม ก็ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีภายในวันที่ 3 มีนาคมนั้นเอง
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานวุฒิสภาที่ยาวนานที่สุด
เป็นรัฐมนตรีดูแลด้านกฎหมาย 12 ปี
มีชัย เคยเป็นเลขานุการกรรมาธิการร่าง รธน. 2521 ทำเสร็จใน 6 เดือน และเป็น รมต. ดูแลด้านกฎหมายให้กับ 4 นายกรัฐมนตรี นาน 12 ปี
แต่เป็นประธานวุฒิสภานานที่สุดของประเทศไทย เกือบ 8 ปี
ในปี 2520 หลังการรัฐประหาร พลเอกเกรียงศักดิ์ ได้ตั้ง มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเข้าไปช่วยงานเป็นเลขานุการรองนายกรัฐมนตรี สมภพ โหตระกิตย์
ในปลายปีนั้นเอง มีชัยก็ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งให้เป็นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ อยู่ในตำแหน่งที่สำคัญคือเลขานุการของกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และร่างเสร็จในเดือนมิถุนายน 2521 เข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติ 12 ตุลาคม จนถึงวันพิจารณาลงมติของ สนช. คือวันที่ 18 ธันวาคม 2521 มีผู้เห็นชอบ 330 คน ค้าน 9 คน ไม่นับฝ่ายนักศึกษาที่มาแปะโปสเตอร์คัดค้านอยู่ที่หน้าสภา และประชาชน
มาถึงยุคของ พลเอกเปรม ครม. มาจากพรรคการเมืองหลายพรรค เช่น กิจสังคม ชาติไทย ประชาธิปัตย์ สยามประชาธิปไตย รวม 24 คน บางส่วนก็มาจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งขณะนั้นอายุ 42 ปี
มีชัย ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระหว่าง พ.ศ.2523-2531 ยังต่อไปถึงรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ระหว่าง พ.ศ.2531-2533 และดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีสมัยนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน ประมาณ 1 ปี เมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2535 ก็ได้รับแต่งตั้งให้เข้าไปเป็นรองนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล พลเอกสุจินดา คราประยูร อยู่ได้ไม่นานก็เกิดพฤษภาทมิฬ 2535 นายมีชัยจึงต้องรักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ 22 วัน
หลังจากนั้นไม่กี่วันก็มาดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา และเป็นต่อเนื่องมาตั้งแต่นายอานันท์ กลับมาเป็นนายกฯ ชั่วคราว
เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ได้นายกฯ ชวน หลีกภัย นายมีชัยก็ยังอยู่ในตำแหน่งประธานวุฒิสภา
นายกฯ ชวน ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เลือกตั้งใหม่ได้นายกฯ บรรหาร ศิลปะอาชา นายมีชัย ก็ยังเป็นประธานวุฒิสภา
นายกฯ บรรหาร ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ได้นายกฯ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ประธานวุฒิสภาก็ยังคงเป็นนายมีชัย เหมือนเดิม
นายกฯ พลเอกชวลิต ลาออก นายชวน หลีกภัย กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง นายมีชัย ก็ยังเป็นประธานวุฒิสภาจนกระทั่งหมดสมัยในปี 2543
นี่จึงกล้าพูดได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องวุฒิสภาและเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาที่ยาวนานที่สุดในประเทศไทย ส่วนใหญ่แล้วประธานวุฒิสภาจะดำรงตำแหน่งแค่ 1 ปี 2 ปีเท่านั้น
หลังรัฐประหารล้มนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ปี 2549 เมื่อตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายมีชัย จึงได้รับเลือกเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติจนมีการเลือกตั้งใหม่
มีชัยจะทำอย่างไร
ต่อแรงกดดันของฝ่ายต่างๆ
เมื่อมีข้อเสนอเรื่องรัฐธรรมนูญของ คสช.
สามสิบกว่าปีที่แล้ว มีชัยทำงานให้ พลเอกเกรียงศักดิ์ และ พลเอกเปรม ซึ่งขณะนั้น พลเอกประยุทธ์ ยังหนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยว คงเพิ่งจบโรงเรียนนายร้อยมาไม่นาน ส่วน พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ติดยศนายพัน
มาวันนี้ มีชัยได้ร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง แต่ข้อเสนอ คสช. บอกตรงๆ ว่า ต้องการดูแลบ้านเมืองให้เรียบร้อยอีก 5 ปี
รธน.2559 จึงเป็นฉบับที่ทุกรุ่นมาร่วมต่อสู้ ทุกฝ่ายรู้ทันกันหมด มีคนที่อยากได้เปรียบ และคนไม่อยากเสียเปรียบ ทุกฝ่ายจึงต้องมาถกเถียง มาต่อสู้เพื่อหาข้อยุติและหาทางออก ซึ่งหวังว่าจะมีข้อสรุปให้ประชาชนลงประชามติ ถึงเวลานี้จะต้องเลือกเอาว่าจะกำหนดกติกาอย่างไร?
และถามความเห็นประชาชนจะได้รู้ความต้องการของคนส่วนใหญ่ อย่ายืดเยื้อต่อไปอีกเลย
ในอดีต มีชัยร่าง รธน.แต่ละฉบับตามสถานการณ์ ไม่เคยถามประชาชน มาครั้งนี้ย่อมมีแรงกดดัน เพราะจะต้องผ่านประชามติ ...จะเกรงใจประชาชนหรือเกรงใจผู้มีอำนาจ?
มีชัย ฤชุพันธุ์ จะอาศัยความเก๋าประสบการณ์ และความรู้ ฝ่าไปได้อย่างไร? โดยที่จะได้รับก้อนอิฐน้อยที่สุด ในบั้นปลายชีวิต คงต้องดูหลัง 29 มีนาคม 2559