วันอังคาร, พฤษภาคม 24, 2559

การเดินทางเข้าสู่ระบอบศักดินาใหม่ (โดยบริษัทเทคโนโลยี)





ที่มา Medium Corporation

Source: Tech titans are busy privatising our data โดย Evgeny Morozov บน The Guardian

บทความดังกล่าวแตะประเด็นค่อนข้างหลากหลาย ในที่นี้จะพยายามสรุปเฉพาะเนื้อหาหลัก (ในความคิดของผมและที่ผมพอจะเข้าใจ) เท่านั้น

เพื่อปูพื้น คงต้องกล่าวถึงคนเขียนบทความนี้เสียก่อน Evgeny Morozov(wikipedia) เป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ The Net Delusion: The Dark Side of Internet Freedom (review) ที่โต้แย้งความเชื่อที่ว่าอินเทอร์เน็ต (หรือการไหลอย่างเสรีของข้อมูลข่าวสาร) จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรัฐที่ปกครองโดยเผด็จการ ความเชื่อดังกล่าวน่าจะมาจากประสบการณ์ที่ได้รับจากสมัยสงครามเย็น ที่หลายคนเชื่อว่าวิทยุกระจายเสียมีผลทำให้เกิดการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินได้ ดังนั้นการเปิดเสรีทางข้อมูลข่าวสารผ่านทางอินเทอร์เน็ตน่าจะเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยได้ อย่างไรก็ตาม Morozov ได้นำเสนออีกด้านหนึ่งของการใช้และควบคุมอินเทอร์เน็ตโดยผู้ปกครองหรือรัฐเพื่อเป็นประโยชน์ในการรักษาอำนาจเอาไว้ ผ่านทางกิจกรรมหลักสามด้านคือการเซ็นเซอร์ การสอดส่องดูแล และการโฆษณาชวนเชื่อ ทำไปทำมาฝ่ายที่ใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพกลับเป็นฝ่ายรัฐเผด็จการมากกว่าฝ่ายประชาชนที่แสวงหาเสรีภาพ

ในบทความนี้ Morozov ได้อธิบายเส้นทางที่นำพาไปสู่สภาพแบบศักดินา (feudalism) ภายใต้การดูแลของบริษัทเทคโนโลยี เช่น Google และ Facebook คำว่าศักดินานี้ เข้าใจว่า Morozov ไม่ได้ใช้ในความหมายทั่วไป แต่เป็นความหมายเดียวกับที่มาร์กซใช้ในการนิยามสังคมแบบศักดินาในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงของสังคมจากยุคดั่งเดิมเข้าสู่ยุคทุนนิยม (ดู wikipedia) กล่าวคือ เป็นสังคมที่ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับปัจจัยการผลิตมีลักษณะเหมือนสมัยศักดินา กล่าวคือ ผู้ครอบครองปัจจัยการผลิตนั้นผูกขาดการครอบครองนั้นด้วยอำนาจ กฎหมายและความเชื่อบางอย่าง ประชาชนทั่วไปทำได้แค่เพียงเป็นผู้ใช้แรงงาน ทำงานให้กับเจ้าของปัจจัยการผลิต ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเปลี่ยนสถานะไปเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตได้โดยง่าย (หรือเป็นไปไม่ได้เลยเพราะว่าสถานะนั้นติดตัวมาแต่กำเนิด) ซึ่งในมุมนี้ ถ้าเทียบกับสังคมทุนนิยม การที่คนที่เริ่มต้นชีวิตโดยไม่มีทุนมาก่อน มีโอกาสเปลี่ยนแปลงสถานะเป็นนายทุนได้ง่ายกว่ามาก

เขาเริ่มต้นอธิบายเส้นทางดังกล่าวโดยพิจารณาที่มาของกำไรของบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้…

แหล่งรายได้ของบริษัทเหล่านี้มาจากข้อมูลที่มีในมือ

แต่รายได้จากข้อมูลตอนนี้มีที่มาจากการโฆษณาเป็นหลัก

ผลกระทบทางหนึ่งก็คือ ในปัจจุบัน ผู้ใช้ไม่เห็นค่าใช้จ่ายที่แท้จริงที่ต้องจ่ายให้กับบริษัทเหล่านี้ (เพราะว่าจ่ายด้วยข้อมูลทางอ้อม) ผู้ใช้มักคิดว่าใช้งานฟรี ซึ่งมีผลกระทบต่อกลไกของตลาด

และเอาเข้าจริง ๆ แล้ว บริษัทก็จะเก็บข้อมูลมากมาย เพื่อนำไปหากำไร ซึ่งแนวทางการทำกำไรแบบนี้มีผลให้ผู้ให้บริการพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะหาข้อมูลให้ได้มากขึ้น

และการเข้ามาเก็บข้อมูลนี้ ไม่ได้หยุดแค่การใช้งานทั่วไปบนคอมพิวเตอร์ แต่ในปัจจุบันยังเข้ามาในกิจวัตรประจำวันด้วย ผ่านทางอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่าง ๆ และในอนาคตอาจรวมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในบ้านด้วย

ถ้าเราจะเทียบการหารายได้ผ่านทางการโฆษณาบนสื่อแบบเก่า (ที่อาศัยเงินจากการโฆษณาเช่นเดียวกัน) กับบนอินเทอร์เน็ต เราจะพบความแตกต่างอย่างมากของระดับของการใช้ข้อมูลของผู้ที่ระบบต้องการนำเสนอโฆษณาให้ กล่าวคือในระบบเดิม

บริษัทดังกล่าว เมื่อได้รับเงินผ่านทางการโฆษณาก็นำเงินไปพัฒนาระบบของตนเอง และนอกจากนี้ยังเอาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นด้วย ซึ่งรวมไปถึงการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่อาจจะสำคัญมาก ๆ ในอนาคต และการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่นศูนย์ข้อมูล โรงงานไฟฟ้า และอื่น ๆ โครงการที่ล้ำสมัยมากมายถูกตั้งขึ้นด้วยเงินที่ไหลมาจากธุรกิจการโฆษณา ที่มีรากฐานมาจากข้อมูลที่บริษัทเป็นเจ้าของ

การจัดสรรเงินเพื่อนำไปพัฒนาอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้าเราพิจารณาไปในอนาคตแล้ว ก็จัดว่าเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโลกที่จะมาถึงอันใกล้ในอนาคตเลยทีเดียว สำหรับประเด็นนี้ Izabella Kaminska นักเขียนของ Financial Times ถึงกับนำไปเปรียบเทียบกับการวางแผนเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์โดยรัฐสมัยโซเวียต (Gosplan) ว่านี่เป็น Gosplan 2.0

บริษัทข้อมูลเหล่านี้นอกจากเป็นผู้กำหนดทิศทางของอนาคตแล้ว ก็จะเข้ามาเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในยุคหน้าทั้งหมด (นึกถึงบริการค้นหาข้อมูลบน Google ที่เราใช้ฟรีมาตลอด, บริการอินเทอร์เน็ตฟรีในประเทศโลกที่สามโดย Google, การสนับสนุนเงินลดราคามือถือให้กับมือถือ Android บางรุ่นโดย Google เช่นเดียวกัน, การให้ใช้เน็ต(บางส่วน)ฟรีของ Facebook เป็นต้น)

และถ้าเราพิจารณาจากสภาพในปัจจุบัน เราก็จะมีโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ใช้ฟรีอีกด้วย!!

Morozov ตั้งคำถามว่าถ้าแหล่งที่มาของเม็ดเงินนี้เริ่มหมดลง หรือเริ่มไม่พอในการผลักดันการดำเนินงานของบริษัทเหล่านี้จะเกิดอะไรขึ้น

เขาอธิบายหลายเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นไปได้สูงที่เม็ดเงินจากธุรกิจการโฆษณาจะไม่สามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ตลอดไป เช่น บริษัทที่น่าจะเป็นแหล่งเงินของการโฆษณากลับขาดทุนเป็นต้น

เมื่อไม่มีเงินเข้ามาจากแหล่งทุนโฆษณาเดิม หรืออาจจะเร็วกว่านั้น ถ้าบริษัทเหล่านี้ไม่เหลือคู่แข่งอีกต่อไป (อาจจะเพราะว่าไม่มีใครพัฒนาตามทัน หรือเพราะว่าผู้ใช้ติดอยู่ในระบบเดิมเนื่องจากข้อมูลอยู่ในนั้นมากเกินไป) บริษัทก็จะกลับมาคิดค่าบริการจากผู้ใช้ ซึ่งกว่าจะถึงเวลานั้น เทคโนโลยีการชำระเงินพวก micropayment ก็น่าจะพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงพอดี

และนี่คือสภาวะศักดินาที่ Morozov กล่าวถึง นั่นคือผู้ใช้ที่ติดอยู่บนโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างโดยบริษัทข้อมูลเหล่านี้ ก็ต้องเสียค่าเช่าในการใช้งาน ไม่ต่างจากการเช่าที่ดินทำกิน

แล้วถ้าเกิดสภาวะเช่นนั้นจะเป็นอย่างไร? หรือจะหลีกเลี่ยงหนทางนี้ได้อย่างไร?

Morozov ไม่ได้กล่าวไว้ชัดเจนนักว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร แต่เขากล่าวว่า ปัญหาหลักไม่ใช่การที่บริษัทเหล่านี้กลายมาเป็นเจ้าของที่ในระบบศักดินาหรือเข้ามาทำหน้าที่แทนกลไกตลาดในการจัดสรรการใช้ทรัพยากร แต่เพราะว่าเป้าหมายของการจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ ของบริษัทเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เดียวคือการทำกำไรให้ได้มากที่สุด ดังนั้น เขาจึงสรุปว่าหน้าที่ทางการเมืองต่อไปก็คือต้องปรับเปลี่ยนวิธีการนำข้อมูลมาใช้ แทนที่จะให้มุ่งหากำไร แต่ปรับให้ข้อมูลถูกนำมาใช้เพื่อทำให้เกิดสวัสดิภาพสังคม (social welfare หรือจะมองว่าเป็นผลประโยชน์โดยรวมต่อทุกคนในสังคมก็ได้) มากที่สุดแทน


อ่านเพิ่มเติม
ระบอบเจ้าที่ดินและความปลอดภัยของอินเทอร์เน็ต โดย บรูซ ชไนเออร์ (Bruce Schneier)