วันอาทิตย์, พฤษภาคม 15, 2559

'จาตุรนต์' ลั่นเข็ด! โดนหลอกให้รับร่างฯ แล้วแก้ภายหลัง





ที่มาเรื่อง ไทยรัฐออนไลน์
14 พ.ค. 2559

"จาตุรนต์"ดักคอเข็ดแล้ว! หลอกให้รับร่าง แล้วแก้ รธน.ภายหลัง ไม่ขอไปตายดาบหน้า ไม่เชื่อประชามติมีคนทำวุ่นจนบานปลาย หลังนายกฯ ออกมาแสดงความหวั่นใจ น่าละอายใจไทยเป็นตัวตลกเวทีสิทธิมนุษยชน แจงไม่ตรงความเป็นจริง...

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุให้รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อน แล้วค่อยแก้ภายหลังว่า เชื่อว่าน่าส่งผลต่อการตัดสินใจของประชาชนว่า เพราะเท่ากับเป็นการยอมรับอย่างเปิดเผยว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้มีปัญหา ทั้งๆ ที่เพิ่งมีการพิจารณาอย่างละเอียด โดย กรธ.บอกให้รับไปก่อนแล้วแก้ที่หลัง มันเป็นคำพูดที่คนคุ้นเคย และเข็ดแล้ว รวมถึงถ้าเปรียบเทียบร่างรัฐธรรมนูญปี 50 กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ.จะพบว่า ร่างของ กรธ.แก้ยากมากกว่าร่างรัฐธรรมนูญปี 50 แบบเทียบกันไม่ได้เลย โดยร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ให้แก้โดยที่ประชุมรัฐสภาใช้เสียงข้างมาก ส่วนเรื่องสำคัญให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ก็ถูกระงับยับยั้งไว้ด้วยข้ออ้างที่ว่า จะเป็นการล้มล้างการปกครอง หรือได้อำนาจมาโดยไม่เป็นไปวิถีทางประชาธิปไตย

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญ กรธ.ต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.จำนวน 1 ใน 3 โดยที่ ส.ว.ก็มาจาก คสช.และยังต้องการเสียงจากพรรคการเมืองที่ไม่ร่วมรัฐบาลหรือไม่มีตำแหน่งประธานสภา คือ พรรคฝ่ายค้าน ถึงร้อยละ 20 ของพรรคการเมืองเหล่านี้รวมกัน ซึ่งก็หมายความว่า ถ้าพรรค การเมืองเหล่านี้มีเสียงเป็นเอกฉันท์ ก็ไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ จะเห็นว่า ร่างของ กรธ.นี้แก้ยากมาก อย่างที่หลายๆ คนบอกว่า เหมือนกับจะแก้ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นการที่นายมีชัยมาพูดอย่างนี้ ทำให้คนรู้สึกว่า กำลังขอให้ช่วยกันผ่านไปก่อน แล้วไปตายเอาดาบหน้า ทั้งๆที่คนส่วนใหญ่เห็นว่า การแก้ไขในวันข้างหน้าแทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว

เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ หวั่นมีคนทำประชามติวุ่นวาย ทำบานปลาย นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เห็นมีการพูดลักษณะนี้มาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น และไม่น่าเกิด เพราะไม่มีใครสนใจไปขัดขวางการลงประชามติ เพราะไม่มีประโยชน์อะไรเลย

นายจาตุรนต์ ยังกล่าวถึงการซักถามตัวแทนไทยถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย (ยูพีอาร์) ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่า การซักถามจากประเทศต่างๆ เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง จับกุมคุมขังคนตามอำเภอใจ ทหารมีอำนาจเหมือนหรือมากกว่าตำรวจ ในการจับกุมคุมขัง การสอบสวน ที่ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา จำกัดสิทธิผู้ต้องสงสัยหรือผู้ที่ถูกกล่าวหา การจำกัดสิทธิการเดินทางไปต่างประเทศ รวมทั้งการใช้มาตรการที่อ้างว่า จัดการกับผู้มีอิทธิพล ที่ใช้เป็นเครื่องมือจัดการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างไม่เป็นธรรม การดำเนินคดีในศาลทหาร ที่ประเทศต่างๆ เห็นว่า ไม่เป็นอิสระ ไม่เป็นกลาง และคดีจำนวนมาก จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ฎีกา

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการชี้แจงผู้แทนไทยนั้น ประเทศต่างๆไม่รับฟัง เป็นการชี้แจงตรงกันข้ามกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งระหว่างการชี้แจง ยังมีการกระทำในส่ิงที่เป็นข้อห่วงใยจากประเทศต่างๆ จึงพูดถึงประเทศไทยแบบเป็นตัวตลก และน่าละอาย เรื่องนี้จะส่งผลเสียต่อประเทศไทย ต่อระบบการบังคับใช้กฎหมาย ระบบยุติธรรม การเคารพแลปฏิบัติตามตามพันธกรณีระหว่างประเทศไทย และส่งผลเสียต่อการคบค้าสมาคมกับประเทศต่างๆ รวมถึงการหาทางแก้ไขปัญหาที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ ที่ต้องอาศัยการเจรจาหารือกับประเทศต่างๆ.