ที่มา Thai Publica
8 พฤษภาคม 2016
ปลายเดือนเมษายน 2559 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้รับจดหมายจากหน่วยงานของรัฐ 2 แห่ง เพื่อแจ้งผลการดำเนินการ จากกรณีที่ไปใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ยื่นคำร้องขอข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ บนพื้นที่โรงเรียนนายสิบทหารบก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต่อศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร กองทัพบก (ทบ.) ซึ่งยื่นขอไปตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 หรือเมื่อกว่า 6 เดือนก่อน
โดยหน่วยงานที่ส่งจดหมายตอบกลับมาประกอบด้วย สำนักงานเลขานุการ ทบ. (เอกสารในจดหมาย ลงวันที่ 20 เมษายน 2559) และสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ หรือ สขร. (เอกสารในจดหมาย ลงวันที่ 28 เมษายน 2559) มีเนื้อหาโดยสรุปก็คือ “ทบ. ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลข่าวสารตามที่คำร้องขอ”
สำหรับข้อมูลข่าวสารที่ผู้สื่อข่าวยื่นคำร้องขอจาก ทบ. เป็นข้อมูลข่าวสารซึ่งต้องเปิดเผย “โดยอัตโนมัติ” ตามกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั่นคือ
“ราคากลาง” ของโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งต้องเปิดเผยให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงานนั้นๆ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (กฎหมาย ป.ป.ช.) มาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง และมติ ครม. เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 ที่สั่งการให้หน่วยงานของรัฐทุกกระทรวง ทบวง กรม ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตราดังกล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวยื่นคำร้องขอข้อมูลข่าวสารจาก ทบ. รวม 2 รายการ คือ “สรุปผลการจัดซื้อจัดจ้างประจำเดือน” ของหน่วยงานภายใต้ ทบ. ที่น่าจะเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ และ “ราคากลาง” ของรายการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ที่ผ่านมาได้รับเอกสารเพียงสรุปผลการจัดซื้อจัดจ้างประจำเดือนเท่านั้น ส่วนราคากลางยังไม่ได้รับเอกสารใดๆ
ซึ่งท่าทีดังกล่าวของ ทบ. สวนทางกับที่ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่อำนาจในการบริหารจัดการในรัฐบาลหรือ ทบ. เคยให้สัมภาษณ์ว่า “พร้อมเปิดเผยข้อมูล” เกี่ยวกับโครงการนี้ให้สาธารณชนร่วมกันตรวจสอบ เพื่อยืนยันความโปร่งใส
สำหรับสาระสำคัญในจดหมายของสำนักงานเลขานุการ ทบ. ซึ่งลงนามโดย พล.ต. ปัณณฑัต กาญจนะวสิต เลขานุการ ทบ.มีดังนี้
“ขอแจ้งให้ทราบว่า ข้อมูลดังกล่าวปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฯ อย่างถูกต้อง และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงอยู่ในขณะนี้ จึงไม่สมควรที่จะจัดส่งข้อมูลให้ตามคำร้องขอของท่าน แต่อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ กระทรวงกลาโหม สตง. และ ป.ป.ท. ได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงต่อกรณีดังกล่าว และได้รายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงให้สาธารณะชนทราบแล้ว จึงสมควรที่ท่านควรร้องขอข้อมูลข่าวสารราชการจากหน่วยงานดังกล่าวต่อไป”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อปลายเดือนมกราคม 2559 ทบ. เคยอ้างเหตุที่ยังไม่สามารถจัดส่งข้อมูลให้ได้ว่า เนื่องจากโครงการนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบโดย สตง. แต่ล่าสุดอ้างเหตุที่ว่าโครงการนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบโดย ป.ป.ช. จึงปฏิเสธการให้ข้อมูลข่าวสารตามที่ร้องขอ
ขณะที่สาระสำคัญในจดหมายของ สขร. ได้แจ้งผลดำเนินการกรณีที่ผู้สื่อข่าวไปยื่นร้องเรียน หลังจาก ทบ. จัดส่งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ตามที่ร้องขอ “ล่าช้า” โดย สขร. แจ้งว่า ทบ. ได้ปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เหลือ (ซึ่งได้แก่ข้อมูล”ราคากลาง” รายการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์) ตามคำร้องขอของผู้สื่อข่าว แต่เนื่องจากทาง ทบ. ไม่ได้แจ้งสิทธิการอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มาตรา 18 ที่ระบุว่า ผู้ยื่นคำร้องขอสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อ “คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.)” ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากหน่วยงานของรัฐว่าปฏิเสธคำร้องขอเปิดข้อมูลข่าวสารใดๆ
“กรณีนี้ หน่วยงานไม่ได้แจ้งสิทธิการอุทธรณ์ ดังนั้น ระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์จึงได้ขยายออกไปเป็น 1 ปี ตามมาตรา 40 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539” จดหมายจาก สขร. ระบุ
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (กฎหมาย ป.ป.ช.) มาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผย “ราคากลาง” การจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่างๆ ไว้บนเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ “โดยอัตโนมัติ”
ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้า ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จะเดินทางไปยื่นอุทธรณ์กรณีที่ ทบ. ไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ต่อ กวฉ.
รวมถึงจะยื่นร้องเรียนต่อ สขร. กรณีที่กระทรวงกลาโหม (กห.) พิจารณาคำร้องขอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ล่าช้า โดยเฉพาะผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในโครงการนี้ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ชุดที่มี พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รองปลัด กห. เป็นประธาน รวมถึงรายชื่อคู่สัญญาที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ทั้งหมด ซึ่งผู้สื่อข่าวยื่นคำร้องขอต่อศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร กห. ไปตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2558 และเคยมีการโทรศัพท์ไปติดตามความคืบหน้าจากผู้เกี่ยวข้อง 1 ครั้ง แต่ถึงปัจจุบัน กลับยังไม่ได้เอกสารใดๆ มาเลยแม้แต่แผ่นเดียว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามกฎหมาย ป.ป.ช. ได้กำหนดบทลงโทษกรณีไม่ปฏิบัติตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง เรื่องการเปิดเผย “ราคากลาง” การจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่างๆ ไว้ในมาตรา 103/8 วรรคสอง ที่ระบุว่า “ให้ถือว่าผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องมีความผิดทางวินัยหรือเป็นเหตุที่จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งหรือต้องพ้นจากตำแหน่ง แล้วแต่กรณี”