วันจันทร์, พฤษภาคม 23, 2559
2 ปี คสช. ความแปลกแยก ยังเหมือนกัน
“โอกาสที่พวกผมจะได้กลับเมืองไทยคงยาก เตรียมใจอยู่ที่นี่จนตายแล้ว การต่อสู้คงอีกนาน เพราะทั้งสองฝ่ายไม่ต้องการปรองดอง สู้กันต่อไปก็ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะเด็ดขาด”
เป็นคำให้สัมภาษณ์ต่อบีบีซีไทยของ จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยชุดแรก แกนนำ นปช. ก่อนการสลายชุมนุมเสื้อแดงราชประสงค์ ปี ๒๕๕๓ ปัจจุบันนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ขบวนการเสรีไทย ผู้ลี้ภัยการเมืองอยู่ในประเทศฝรั่งเศส
(https://www.facebook.com/BBCThai/videos/1775221816032184/)
มันสะท้อนสภาพแท้จริงทางการเมืองไทยในวันครบรอบสองปีของการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลชุดเลือกตั้งของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยคณะทหารผู้วางแผนชุดเดียวกับที่เคยยึดอำนาจจากอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ในปี ๒๕๔๙ ว่า
ประกาศวัตถุประสงค์หลักอันหนึ่งของคณะรัฐประหาร (ซึ่งผันตัวเองมาเป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ซึ่งกำลังกดดันคนในชาติให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อันมีบทเฉพาะการให้พวกตนคงอำนาจพิเศษกำกับการบริหารประเทศผ่านทางวุฒิสภาแต่งตั้งอีกอย่างน้อย ๕ ปี
และอาจจะเข้าไปเป็นหัวหน้ารัฐบาลเองด้วยบทบัญญัติที่เปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งกำหนดแนวการปกครองที่พวกตนต้องการเบื้องหลังวาทกรรม ‘ปฏิรูป’ ต่อไปอีกไม่น้อยกว่า ๒๐ ปี)
ที่ว่าการปรองดองนั้น น่าจะล้มเหลวในมาดปรารถนาเบื้องต้นจากคนทั่วไปที่ไม่ได้ถือหางข้างใดในสงครามการเมืองระหว่างสีแดง-เหลือง
ทั้งที่ คสช. ได้จัดงานแข่งขันฟุตบอลเชื่อมความปรองดองสองสีเหลือง-แดงขึ้นที่นครราชสีมา ในต้นเดือนมิถุนายน ๒๕๕๘ มีการทำพิธีให้สัตย์ปฏิญานต่อกันอย่างเป็นหลักเป็นฐาน
พันเอกวินธัย สุวารี โฆษก คสช. ยอมรับต่อ Khaosod English ว่า “ทั้งสองฝ่ายยังคงติดยึดอยู่กับแนวทางการเมืองเรื่องสีของแต่ละข้างอยู่ไม่วาย แม้ว่าจะไม่ค่อยมีการส่งเสียงโจ่งแจ้งดั่งเคยเพราะถูกควบคุมจำกัดโดย คสช. ก็ตาม
“ถึงจะไม่มีการแสดงออกมากันนักในเชิงสัญญลักษณ์ ความรู้สึกแบ่งข้างก็ยังอยู่ ไม่ไปไหน” แต่กระนั้นวินธัยก็อดไม่ได้ที่จะรับว่า “มีอยู่อย่างหนึ่งที่ทำให้สองข้างร่วมกันได้”
นั่นคือความรู้สึกแปลกแยกต่อ คสช. เหมือนกัน
โดยที่ “ความเป็นอริมุ่งร้ายต่อกันของสองฝ่ายไม่มากเหมือนก่อน แต่ยังมีความระแวงสงสัยต่อกัน และความหวาดหวั่นจากการกระทำของอำนาจรัฐที่จะเกิดกับตนยังคงมีอยู่ไม่คลาย”
(http://www.khaosodenglish.com/detail.php?newsid=1463806980)
พิจารณาจากบทความสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติการ กปปส. ๓ คน ที่ได้รับบาดเจ็บจากการร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์จนสำเร็จด้วยการรัฐประหารของ คสช. โดยหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ซึ่ง ‘ไม่บังเอิญ’ แสดงถึงความรู้สึกในสามแนวแล้ว ผลงานของคณะรัฐประหารไล่ไม่ติดกับข้ออ้าง อย่างแน่นอน
กัญญา ใหญ่ยอด ตอบว่าการไปร่วมชุมนุมและเกิดเหตุรุนแรง “ไม่คุ้ม”
“โดยเฉพาะประเด็นปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ยังไม่เห็นอะไรที่เป็นผลรูปธรรมชัดเจน แต่สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุดในบ้านเมืองเวลานี้ คงเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่ประเทศกำลังประสบปัญหา อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการตรงนี้...
จากการติดตามยังเห็นว่าเหมือนวนเวียนอยู่กับเรื่องเดิมไม่ไปไหน”
ทางด้าน มณีรัตน์ เมืองแก้ว แม้บาดเจ็บกระทั่งปัจจุบันต้องนั่งรถเข็นก็ยังพอใจ “แม้รัฐบาลเองอาจจะทำตามที่เรียกร้องไม่ได้ทั้งหมด แต่ยอมรับได้กับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง”
“หากถามว่าคุ้มค่าหรือไม่ที่ไปร่วมชุมนุมจนตัวเองต้องได้รับผลกระทบ ยอมรับว่าถ้าเป็นแบบนี้ก็คงไม่ไป ไม่คุ้ม แต่เมื่อไปมาแล้วก็ยอมรับและไม่เสียใจ”
กับ สุภร ภรรยาของประโชติ ชูชาติ ที่บาดเจ็บต้องใส่กะโหลกเทียม เธอ “พอใจกับบ้านเมืองที่เป็นอยู่ในตอนนี้ และหวังว่านายกฯ คนนี้...จะพาประเทศชาติให้ดีขึ้นได้
แต่ก็ “ฝากถึงรัฐบาลเพราะอยากให้บ้านเมืองเดินหน้า โดยเฉพาะในเรื่องของเศรษฐกิจ เนื่องจากการค้าขายตอนนี้ไม่ดีสักอย่าง”
(http://www.posttoday.com/politic/433221)
ยิ่งในด้านของการ ‘ยับยั้ง’ (ตามข้ออ้าง คสช.) และ ‘สูญเสีย’ (ตามความเห็นจากทั่วโลก) การบริหารประเทศโดยพลเรือน ในระบอบประชาธิปไตยแล้ว การยึดอำนาจโดย คสช. และสืบทอดวิธีการปกครองแบบ ‘รัฐทหาร’ ต่อไป เป็นการหน่วงยึดความก้าวหน้าของรัฐชาติไทยอย่างเขลาเบาปัญญา
ลองมาดูความเห็นจากต่างชาติล่าสุดเป็นตัวอย่าง ในบทความของ CRAIG MORAN ที่เว็บ ‘Fair Observer’ (เบาะแสจาก โจนาธาน เฮด) เรื่อง ‘Thailand is headed down a dark path.’ เมื่อสองสามวันก่อน กล่าวถึงสภาพทางการเมืองในประเทศไทยเวลานี้
ว่า ‘สิ้นหวัง’ เสียแล้วกับการที่จะได้เห็นไทยเป็น “เสียงเสรีในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้อันเป็นปัญหา”
บทความอ้างถึงการจับกุมกลุ่มผู้ใช้เฟชบุ๊คด้วยข้อหากระทำการขัดต่อ ม.๑๑๖ (ข้อหาบ่อนทำลาย) ม. ๑๑๒ (ข้อหาหมิ่นกษัตริย์) และ พรบ.คอมพิวเตอร์ การออกระเบียบประชามติ ๑๔ ข้อที่กลายเป็นกฎหมาย ล้วนแล้วแต่สร้างอาณาจักรแห่งความกลัวที่หนักขึ้นในบรรยากาศทางการเมือง
นายมอแรนระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้อำนาจทหารในการกำจัดผู้เห็นต่างต่อไปในการจับกุมและควบคุมตัวเหมือนเดิม ทำให้มองไม่เห็นทางที่ประเทศไทยจะมีรัฐบาลพลเรือนได้อีกในอนาคต
“มันเลยเถิดไปจากจุดที่จะหวนคืนกลับได้แล้ว”
“น่าเศร้า” ที่ “แม้แต่การที่ร่างรับธรรมนูญถุกตีตกไปในการออกเสียงประชามติ” บทความชี้ “ก็ยิ่งตกบ่วงอำนาจในมือของคณะทหารอีกเช่นกัน”
“เบื้องลึกที่แฝงเร้นในที่นี้อยู่ที่คณะทหารฮุนต้าจะยอมรับก็แต่ระบอบประชาธิปไตยที่ย้อนแย้งด้วยการปกครองขององค์คณะที่ไม่ผ่านการเลือกตั้งและให้การคุ้มครองโดยทหาร”
“ความทะเยอทะยานของรัฐบาลประยุทธ์ก้าวล่วงไปเกินกว่ารักษาตำนานแห่งความยั่งยืนของสถาบันกษัตริย์
อีกทั้งพระอาการทรุดลงของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ได้เป็นกระดานเด้งอันสมบูรณ์แบบให้แก่ความทะยานอยากอย่างเหยียดหยันของประยุทธ์ ที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปนานๆ”
(http://www.fairobserver.com/…/thailand-is-headed-down-a-da…/)
โดยเฉพาะในเมื่อพระอาการล่าสุดของพระเจ้าอยู่หัว ตามแถลงการณ์ของคณะแพทย์ฉบับที่ ๒๔ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม เกี่ยวกับ “น้ำไขสันหลังในโพลงพระสมองมีมากกว่าปกติ”
เนื่องจากเมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พบว่า “มีการเคลื่อนไหวผิดปรกติของกล้ามเนื้อพระพักตร์”
คณะแพทย์ฯ จึงได้ถวายการรักษาด้วยวิธีใส่สายระบายน้ำจากช่องสันหลังบริเวณบั้นเอวเข้าสู่ช่องท้อง...ผลเป็นที่พอใจ
ซึ่ง Somsak Jeamteerasakul ตั้งข้อสงสัยว่านี่เป็น ‘การผ่าตัดเล็ก’ ที่มีการออกแถลงการณ์ภายในไม่กี่ (๓) ชั่วโมงหลังจากผ่าตัดเสร็จเมื่อประมาณสองทุ่ม อันถือว่า ‘ดึกมาก’ ตามมาตรฐานการแถลงข่าวพระอาการที่ผ่านๆ มานับสิบครั้ง
สศจ. คิดว่า “การออกแถลงการณ์เมื่อคืน ‘แปลก’ แต่อธิบายไม่ได้ เพราะข้อมูลไม่พอ
แต่ถ้าจะเดา ก็คงมีเหตุผลให้คิดไปในทางว่า พระอาการหลังๆ แย่ลงเรื่อยๆ และมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอะไรแบบกระทันหัน (เช่นแม้แต่การ ‘ผ่าตัดเล็ก’ ก็อาจจะกลายเป็น ‘เรื่องใหญ่’ ขึ้นมาได้) ก็เลยรีบออกแถลงการณ์ออกมา”
(https://www.facebook.com/somsakjeam/posts/1009442132442399?pnref=story)
นั่นเป็นการยืนยันข้อขียนของนายเครก มอแรน อย่างน้อยหนึ่งประเด็นเกี่ยวกับตำนานความยั่งยืนของสถาบันกษัตริย์ไทย ส่วนเรื่องกระดานเด้งยังต้องดูกันต่อไป ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญ คสช. ‘มีชัย’ จะผ่านหรือไม่ผ่านประชามติ