วันศุกร์, มีนาคม 25, 2559

รุมสับจีนปล่อยน้ำทุกปีเพื่อตัวเองแต่ชอบอ้างช่วยแล้ง-จี้ผู้นำลุ่มน้ำโขงแก้ด่วน





TERRA จวกจีนปล่อยน้ำฉวยโอกาสทางการเมือง อ้างช่วยบรรเทาภัยแล้ง ทั้งที่ตนได้ประโยชน์ ชาวบ้านริมโขงสะท้อนผลกระทบจากระดับน้ำผิดปกติตั้งแต่มีเขื่อนในจีน หวั่นปล่อยน้ำรอบนี้ทำชาวบ้านสูญรายได้หลายล้าน เรียกร้องผู้นำชาติท้ายน้ำหยิบปัญหาแม่น้ำโขงกับจีนมาพิจารณาโดยเร็ว

ที่มา ประชาไท
Wed, 2016-03-23

23 มี.ค. 2559 ที่ห้องประชุมสุจิตรา ชั้น 4 ตึกมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม จัดการประชุม ‘แม่น้ำโขง แม่น้ำของใคร? น้ำโขงจากจีน น้ำโขงของใคร?’ เพื่อสะท้อนปัญหาการจัดการน้ำของจีนที่สร้างผลกระทบให้กับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โดยไทยได้รับผลกระทบโดยตรงและยังส่งผลไปถึงเวียดนาม

มนตรี จันทวงศ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) กล่าวว่า ปัจจุบันมีเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้วในประเทศจีน 6 เขื่อนจาก 12 เขื่อน ซึ่งอยู่บริเวณต้นแม่น้ำโขง โดยในระยะ 23 ปีที่ผ่านมามีข้อมูลที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ระดับน้ำของแม่น้ำโขงมีการไหลที่ผิดปกติไปจากอดีต แต่การปล่อยน้ำ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีของจีนตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งจะปล่อยไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน ที่ทางรัฐบาลจีนอ้างว่าปล่อยน้ำเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่างนั้น ถือเป็นการฉวยโอกาสเพื่อหวังผลทางการเมือง เพราะประเทศจีนปล่อยน้ำเช่นนี้ทุกปีอยู่แล้วเพื่อต้องการให้เรือพาณิชย์ของจีนสามารถล่องลงมาได้และเป็นการพร่องน้ำในเขื่อน สิ่งนี้สะท้อนถึงการควบคุมการจัดการน้ำในแม่น้ำโขงว่าอยู่ในอำนาจของจีน ซึ่งทำให้การไหลของกระแสน้ำไม่เป็นธรรมชาติมาอย่างยาวนาน

ส่วนการที่จีนอ้างว่าเวียดนามขอให้จีนปล่อยน้ำในครั้งนี้ เพื่อให้ช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้งในเวียดนาม มนตรีกล่าวว่ายังไม่เห็นเอกสารที่ว่าแต่อย่างใด เห็นแต่ความเห็นของนักวิชาการเวียดนามที่ระบุว่ายน้ำจีนจะมาถึงเวียดนามเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น





ด้านจีรศักดิ์ อินทยศ ตัวแทนประชาชนกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวถึง ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในประเทศจีนตั้งแต่ปี 2536 ชาวบ้านเห็นว่าระดับการขึ้นลงของน้ำไม่ปกติ ซึ่งกระทบวิถีชีวิตชาวบ้านที่ใช้พื้นที่ริมฝั่งโขงทำการเกษตรและแหล่งทำมาหากินอื่นๆ เนื่องจากชาวบ้านไม่สามารถใช้ภูมิความรู้ดั้งเดิมทำมาหากินในพื้นที่ได้ ไม่เพียงเพราะระดับการขึ้นลงของน้ำที่เปลี่ยนไปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงธรรมชาติริมโขงที่เปลี่ยนแปลง ปลาไม่มีแหล่งอาหารและไม่สามารถวางไข่ได้ตามปกติ บางพื้นที่ก็ปลูกผักไม่ได้เพราะบางปีน้ำท่วม 3-4 รอบ ชาวบ้านที่ลงทุนทำเกษตรต้องประสบการขาดทุน สูญเสียรายได้

ขณะที่ อ้อมบุญ ทิพย์สุนา ตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มแม่น้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่คนริมโขงต้องเผชิญในเหตุการณ์ครั้งล่าสุดคือระดับน้ำสูงขึ้นผิดปกติทั้งที่หน้าแล้ง ส่งผลกระทบต่อการเกษตรริมโขง ประมงพื้นบ้าน รวมไปถึงปัญหาหาดทรายและพื้นดินริมแม่น้ำโขงหายไป ร่องน้ำเกิดเปลี่ยนแปลง ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องธรรมชาติแต่เกิดจากเขื่อนจีน

“ในสถานการณ์ปัจจุบันสิ่งที่พี่น้องชาวอีสานห่วงมากที่สุดคือเรื่องการท่องเที่ยว เทศกาลสงกรานต์ ปกติในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่มีหาดทราย แม่ค้าตัวเล็กตัวน้อยก็จะไปตั้งเพิงร้านค้า องค์กรส่วนท้องถิ่นก็มีรายได้จากการเก็บค่าบำรุงนี้ พี่น้องอีสานที่ไปทำงานในกรุงเทพก็กลับมาเที่ยวในช่วงนี้ ก็เอาเงินมาใช้จ่ายในพื้นที่ อย่างที่หาดแห่ บ้านน้ำก่ำ ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ตัวเลขจากการท่องเที่ยวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนพฤษภาคม ในช่วงเทศกาลท่องเที่ยว รายได้เกือบสามสิบล้านเฉพาะจุดนี้จุดเดียว แล้วตลอดลำน้ำโขงมีหาดแบบนี้ทั้งหมดกี่แห่ง แล้วจะมีชาวบ้าน พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ได้รับผลกระทบทั้งหมดเท่าไหร่” อ้อมบุญ

อ้อมบุญ กล่าวอีกว่า ยังมีเขื่อนที่กำลังสร้างในลาวอีกกว่า 10 แห่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเขื่อนไซยะบุรีที่กำลังสร้างขึ้นในลาวเวลานี้ ที่ประชาชนภาคอีสานได้ดำเนินการฟ้องศาลปกครองอยู่

โดยทางเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ออกแถลงการณ์และเรียกร้องให้ผู้นำไทยและผู้นำในประเทศลุ่มน้ำโขงต้องยอมรับและนำปัญหาการจัดการน้ำของจีนมาพิจารณาอย่างเร่งด่วน, หาทางบรรเทาผลกระทบข้ามแดนและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น, หยุดและชะลอการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนล่างที่กำลังดำเนินไปโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และสร้างกลไกการบริหารจัดการแม่น้ำโขงอย่างรับผิดชอบและมีส่วนร่วม


ไซยะบุรี เขื่อนลาว-ไทยสร้าง กำลังจะซ้ำเติมปัญหา?

เขื่อนไซยะบุรีตั้งอยู่บริเวณตอนเหนือของประเทศลาว เป็นโครงการเริ่มมีการสำรวจเมื่อปี 2550 โดยมีบริษัทของไทย คือบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ได้รับสิทธิจากรัฐบาลลาวในการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาและก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี โดยเขื่อนแห่งนี้มีกำลังผลิตไฟฟ้า 1,260 เมกะวัตต์ งบประมาณลงทุนก่อสร้างสูงกว่า 1 แสนล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย 4 แห่ง

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานรัฐบาลกับเอกชนของไทยได้ดำเนินโครงการนี้ตั้งแต่ลาวยังไม่ได้นำโครงการเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าในคณะกรรมการร่วมตามพันธะที่ลาวมีต่อคณะกรรมการร่วมภายใต้ความตกลงแม่น้ำโขง ทางการไทยโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นประธานการประชุม ณ ขณะนั้น ได้มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจในการรับซื้อไฟฟ้า 1,220 เมกะวัตต์จากโครงการไซยะบุรี และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ กฟผ. ลงนามข้อตกลงรับซื้อเบื้องต้นกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลลาวเป็นเวลา 30 ปี

โครงการสร้างเขื่อนในลาวสร้างความขัดแย้งในประเทศลุ่มน้ำโขงอย่างมาก ทำให้คณะกรรมการแม่น้ำโขงหรือ MRC ได้จัดทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์เกี่ยวกับเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายหลัก จัดทำโดย ICEM (International Center for Environmental Management) รายงานกล่าวว่าการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงสายหลักจะสร้างผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศพื้นฐาน การไหลของน้ำและตะกอน การขึ้นลงของน้ำตามธรรมชาติ การอพยพย้ายถิ่นของปลาในแม่น้ำโขง และวิถีชีวิตของผู้คนชายฝั่ง รายงานดังกล่าวมีข้อแนะนำให้ชะลอโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธานทั้งหมดไว้ 10 ปี เพื่อให้มีเวลาศึกษาผลกระทบอย่างละเอียดรอบด้าน

ทั้งนี้รายงานฉบับเดียวกันยังกล่าวว่าการสร้างเขื่อนไม่มีความสำคัญมากนักในด้านของพลังงานไฟฟ้าทั้งในไทยและเวียดนาม โดยจะมีผลกระทบกับราคาไฟฟ้าแค่ไม่ถึงร้อยละ 1.5 และส่งผลน้อยมากต่อยุทธศาสตร์ในการจัดหาแหล่งพลังงานของทั้งสองประเทศ

และหากเขื่อนไซยะบุรีดำเนินการเสร็จสิ้นในปี 2562 จะทำให้เกิดผลกระทบกินพื้นที่ยาวไปจนถึงประเทศกัมพูชา เขื่อนจะปล่อยกระแสน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในอัตรา 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในขณะที่อัตราการไหลเฉลี่ยของแม่น้ำโขงในหน้าแล้งคือ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำของลำน้ำโขงตอนล่างของเขื่อนเปลี่ยนแปลงราว 3–5 เมตรใน 1 วัน ซึ่งก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงทั้งด้านทรัพยากรและวิถีชีวิตของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำ

ขณะที่ไทยกำลังได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำของจีนและต้องการให้จีนรับผิดชอบอยู่ในเวลา แล้วในฐานะที่ลาวในฐานะเจ้าของเขื่อนและไทยที่บริษัทเอกชนของเราเป็นทั้งผู้ก่อสร้างและได้รับสัมปทานในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งย่อมต้องมีอำนาจในการปิด-เปิดเขื่อนเช่นกัน ก็น่าคิดว่า ในอนาคต ลาวและไทยจะตอบคำถามต่อความเสียหายที่จะเกิดกับคนปลายน้ำอย่างกัมพูชาและเวียดนามอย่างไร


ooo