ท่านสามารถสนับสนุนได้ที่... Change.Org
Petitioning รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา and 6 others
รื้อคดี "ทนายสมชาย" อย่างโปร่งใสและอิสระ
12 ปีแล้วที่ดิฉัน อังคณา นีละไพจิตร และลูกๆ อีก 5 คนไม่ได้พบหน้าทนายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมและรองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ และที่สำคัญกว่านั้นคือ “สามี” ของดิฉันและ “พ่อ” ของลูกๆ สิ่งที่เหลือมีเพียงความโศกเศร้า คำถาม และคดีความที่จบลงด้วยการพ่ายแพ้
ก่อนหายตัวไป “ทนายสมชาย” ว่าความให้ประชาชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่อ้างว่าถูกทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้รับสารภาพ จนกระทั่งคืนวันที่ 12 มีนาคม 2547 ไม่มีใครพบเห็นเขาอีกเลยหลังจากที่เขาแยกตัวกับเพื่อนทนายย่านรามคำแหง ดิฉันและครอบครัวยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นตำรวจ 5 นาย 1 ในนั้นคือตำรวจที่ลูกความของทนายสมชายกล่าวหาว่าทรมานผู้ต้องสงสัยด้วย
ในขณะที่ความหวังที่ครอบครัวนีละไพจิตรจะได้อยู่พร้อมหน้าอีกครั้งริบหรี่ลงเรื่อยๆ โอกาสครั้งสำคัญที่ดิฉันและลูกๆ จะได้รับรู้รสชาติความยุติธรรมก็จบลงเช่นกัน ศาลฎีกาตัดสินเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ยกฟ้องตำรวจทั้ง 5 นาย โดยไม่พิจารณาหลักฐานเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ที่มีความน่าเชื่อถือซึ่งฝ่ายดิฉันยื่นไป สิ่งที่เกิดขึ้นเสมือนเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ทรมานทางจิตใจตลอด 12 ปีของพวกเราให้เพิ่มขึ้นทวีคูณ
วันนี้ ดิฉันในฐานะภรรยาของทนายสมชายและผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งช่วยจัดทำแคมเปญนี้ขึ้นมา ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง;
เร่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้สืบคดีของนายสมชาย นีละไพจิตรอย่างจริงจัง
สอบสวนการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร และผู้ที่คาดว่าถูกอุ้มหายทุกคนในประเทศไทย อย่างเป็นอิสระ โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ มีการสั่งพักงานเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นไปได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุ้มหาย ตลอดจนนำตัวผู้ต้องสงสัยเข้าสู่การพิจารณาคดีที่เป็นธรรม
ผ่าน ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. .... โดยที่เนื้อหาต้องสอดคล้องกับ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ซึ่งรวมถึงการกำหนดให้การทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย (อุ้มหาย) เป็นความผิดทางอาญาอย่างชัดเจนตามนิยามในอนุสัญญาฉบับดังกล่าวด้วย
ให้สัตยาบันต่อ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และบังคับใช้กฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับข้อบทของอนุสัญญาดังกล่าว
ระบุที่อยู่และชะตากรรมของผู้ที่คาดว่าถูกอุ้มหาย ตลอดจนนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
รับประกันว่าผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและครอบครัวจะได้รับการเยียวยาอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ แม้ดิฉันจะได้รับข้อมูลว่าทนายสมชายถูกทรมานจนเสียชีวิต แต่ก็ไม่มีหน่วยงานรัฐไหนที่รายงานอย่างเป็นทางการได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับทนายคนสำคัญของไทยและสมาชิกคนสำคัญของครอบครัวนีละไพจิตรคนนี้กันแน่
“ความจริง” ยังคงหลบซ่อนอยู่ในมุมมืดที่ใดสักแห่งในสังคมไทย ดิฉันขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยร่วมกันใช้โอกาสครบรอบ 12 ปีการหายตัวไปของทนายสมชายเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องนำความยุติธรรมมาสู่ทนายสมชาย ครอบครัวนีละไพจิตร ตลอดจนผู้ที่คาดว่าถูกอุ้มหายคนอื่นๆ ในประเทศต่อไปด้วย
"การบังคับสูญหายไม่ใช่เรื่องไกลตัว มันอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ อาจเป็นคนในครอบครัวคุณหรือคนที่คุณรัก ... ร่วมรณรงค์กับเราเพื่อยุติการบังคับสูญหายในประเทศไทย"
— อังคณา นีละไพจิตร
--------------------------------------------------
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับทนายสมชายได้ที่นี่
เรื่องเกี่ยวข้อง...
ที่มา Thai PBS
หุ่นกระดาษที่ทำเป็นชื่อบุคคลสูญหายถูกวางบนเก้าอี้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายตลอดระยะเวลา 20 ปีในประเทศไทย
ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่นายสมชาย นีละไพจิตร หนึ่งในผู้สูญหาย หายตัวไป ครอบครัวนีละไพจิตรเฝ้าเพียรพยายามติดตามความคืบหน้าของคดี ทั้งการยื่นร้องเรียนไปยังทุกหน่วยงานในไทยและต่างประเทศรวมถึงการทำกิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นสังคม จนคดีขึ้นสู่ชั้นศาลแม้ศาลฎีกาจะยกฟ้องตำรวจทั้ง 5 นาย แต่ความพยายามของคนในครอบครัวยังไม่จบยังคงเร่งผลักดันให้รัฐบาลควรต้องเห็นความสำคัญของ พระราชบัญญัติเพื่อป้องกันการถูกบังคับให้สูญหาย หรือการถูกอุ้มหายในไทย
ก่อนหน้านี้ย้อนไปเมื่อ 61 ปี นายหะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนาเป็นหนึ่งในผู้ถูกบังคับให้สูญหายหรือถูกอุ้มหาย คนแรกๆ หลังจากนั้น มีหลายๆคนถูกอุ้มหาย ไม่ว่าจะเป็นนายทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงาน นายสมชาย นีละไพจิตร จนถึงล่าสุด นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ซึ่งหายไปเป็นระยะเวลา 2 ปี และล่าสุดคือนายณัฐพงษ์ศรีคะโชติ ถูกตำรวจพาออกจากบ้านกลางดึกของวันที่ 4 ธันวาคม ปีที่แล้ว และ นายฟาเดล เสาะหมาน ถูกกลุ่มชายจำนวนหนึ่งบังคับให้ขึ้นรถยนต์ไปเมื่อวันที่ 24 มกราคม
หลังนายสมชายหายตัวไปเมื่อปี 2547 รัฐบาลได้ลงนามอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลไม่ให้สูญหาย โดยต่อมากระทรวงยุติธรรมได้มีการจัดทำ ร่างพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย เสร็จสิ้นเมื่อประมาณช่วงปลายปี 2557
ดูวิดีโอข้างล่างนี้ได้ที่นี่
http://news.thaipbs.or.th/content/250879http://news.thaipbs.or.th/content/250879