วันอังคาร, ตุลาคม 06, 2558

"ซิงเกิล เกตเวย์" นโยบายเพื่อใคร? โดยสาวตรี สุขศรี



ที่มา ข่าวสดออนไลน์
วันที่ 05 ตุลาคม พ.ศ. 2558

หมายเหตุ - สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบทความหัวข้อเรื่อง นโยบาย ซิงเกิล อินเตอร์เน็ต เกตเวย์ เพื่อรัฐ เพื่อประชาชน หรือเพื่อใคร?


นโยบาย ซิงเกิล อินเตอร์เน็ต เกตเวย์ ของรัฐบาลที่ถูกกล่าวถึงกันมากในปัจจุบัน คือการที่รัฐจะทำให้ประตูที่จะเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตภายในประเทศออกไปสู่ต่างประเทศ หรืออินเตอร์เนชั่นแนล อินเตอร์เน็ต เกตเวย์ (ไอไอจี) เหลือเพียงบานเดียว

จากที่ปัจจุบันประเทศไทยมีไอไอจีซึ่งเป็นของผู้ให้บริการรายใหญ่ๆ ในประเทศที่ลงทุนสร้างไว้แล้วกว่าสิบบาน ด้วยเหตุผลหลักตามที่ฝ่ายรัฐบาลให้ไว้คือ เพื่อความมั่นคงปลอดภัย เพราะสามารถตรวจสอบคัดกรองข้อมูลได้ง่ายจากทางเข้า-ออกเพียงจุดเดียว

แม้รัฐบาลจะชี้แจงว่า นโยบายอยู่ในชั้นศึกษาความเป็นไปได้เท่านั้น ยังไม่ได้ทำและอย่ารีบออกมาค้าน แต่ผู้คนในโลกไอทีก็แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ตอบโต้แผนการและการชี้แจงดังกล่าวของรัฐบาล ด้วยการรวมตัวกันเข้าไปใช้งานอย่างรัวๆ ในเว็บไซต์หลายแห่ง

ทั้งเว็บกระทรวงไอซีที บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ทำเนียบรัฐบาล บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) กระทั่งเว็บไซต์ของพรรคประชาธิปัตย์

จนไม่สามารถรองรับการใช้งานได้และล่มไปตั้งแต่หัวค่ำของวันที่ 30 ก.ย.

เสมือนเป็นการจำลองภาพสถานการณ์ให้รัฐบาลเห็นว่า ถ้าประเทศไทยจะใช้ซิงเกิล อินเตอร์เน็ต เกตเวย์ ขณะที่ปัจจุบันมีความต้องการใช้อินเตอร์เน็ตจากผู้ใช้ภายในประเทศจำนวนมหาศาล ประกอบกับความไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันอะไรเลยของภาครัฐ สิ่งที่จะเกิดขึ้น คืออะไร

แสดงเป็นนัยว่า ต่อให้นโยบายดังกล่าวจะอยู่ในขั้นศึกษาความเป็นไปได้จริง ก็นับได้ว่าเป็นการใช้งบประมาณของชาติไปศึกษาความเป็นไปได้ที่จะพาประเทศ “ถอยหลังลงคลอง” เสียมากกว่าที่จะก้าวไปข้างหน้า

เหตุใดจึงถอยหลัง ก็เพราะประเทศไทยเคยผ่านการเป็นซิงเกิล อินเตอร์เน็ต เกตเวย์ มาแล้ว ในยุคที่คนไทยมีแต่ กสท เท่านั้นที่บริการไอไอจี ในยุคที่จำนวนประชาชนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ยังมีไม่มาก และในยุคที่ปริมาณข้อมูลที่ไหลเข้าออกระหว่างประเทศยังไม่กระทบกับความเร็วของอินเตอร์เน็ต

นโยบายที่แสดงถึงการ “โหยหา” อยากกลับไปใช้ ซิงเกิล อินเตอร์เน็ต เกตเวย์ อีกครั้ง จึงไม่มีทางเป็นเรื่องของความก้าวหน้าไปได้ หรือมิเช่นนั้นอาจต้องพูดให้ชัดว่า ประเทศ ไทยกำลัง “ก้าวไปข้างหน้าเพื่อให้ทันประเทศจีน”

ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ใช่เพื่อทันกันในแง่ของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่เพื่อให้มาตรการควบคุมตรวจสอบกิจกรรมบนอินเตอร์เน็ต และปิดกั้นเนื้อหาจากการรับรู้ของประชาชนมีศักยภาพทัดเทียมประเทศสังคมนิยมอย่างจีนต่างหาก

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายซิงเกิล อินเตอร์เน็ต เกตเวย์ ขัดแย้งอย่างยิ่งกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล ที่รัฐบาลเพิ่งประกาศไปเมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้ว

เพราะการจะขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจดิจิตอลได้จริงนั้น สิ่งสำคัญประการแรกๆ คือรัฐบาลต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสร้างเสถียรภาพ ขยายขอบเขต และความสามารถในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตให้กว้างขวางยิ่งขึ้น รวมทั้งสร้างความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยให้กับผู้ประกอบการ

แต่ซิงเกิล อินเตอร์เน็ต เกตเวย์ จะนำมาซึ่งปัญหาในหลายระดับ

นับตั้งแต่ 1.ระดับของการประกอบธุรกิจภายในประเทศ เพราะจะทำให้ความคล่องตัวในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันลดน้อยลง เนื่องจากต้องเชื่อมผ่าน “ประตูกลาง” ที่มีอยู่เพียงแห่งเดียว แทนที่จะเลือกใช้ประตูบานที่ใกล้ ที่เหมาะสม หรือตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจตนเองมากที่สุด

2.ระดับของผู้ใช้งาน ไม่ว่าความเร็วในการไหลเวียนข้อมูลลดลง หรือเมื่ออินเตอร์เน็ตล่มไม่ว่าด้วยเหตุผลใด เช่น ถูกโจมตีระบบ ไม่สามารถรองรับการเข้าออกของข้อมูลได้ เมื่อระบบล่มจะพากันล่มทั้งประเทศ อี-คอมเมิร์ซหยุดชะงัก กิจกรรมออนไลน์ดำเนินต่อไม่ได้ เพราะไม่มีประตูอื่นที่คอยมาแชร์ทั้งประสิทธิภาพ และความเสี่ยง

และ 3.ระดับที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลความลับ รวมทั้งปัญหาการละเมิดความเป็นส่วนตัว เพราะไม่ว่าใคร (ไม่เฉพาะรัฐ แต่รวมถึงมิจฉาชีพ และแฮ็กเกอร์ด้วย) สามารถสอดแนม ควบคุม จารกรรมและปิดกั้นข้อมูลได้ง่ายขึ้นที่จุดเดียว ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของบริษัทต่างประเทศในการเข้ามาลงทุน และเหล่านี้เองที่ตรงข้ามกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล

หากสังเกตดูจะพบว่านโยบายซิงเกิล อินเตอร์เน็ต เกตเวย์ สอดคล้องกับชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอลหลายฉบับที่ถูกผลักดันออกมาเมื่อต้นปี 2558 ที่คนในแวดวงกฎหมายและไอทีจำนวนมากก็คัดค้านเช่นกัน

เพราะร่างกฎหมายฉบับหลักๆ ที่ออกมาในครั้งนั้น และตอนนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณา แทนที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนการเปิดเสรี สร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยไซเบอร์ สร้างความมั่นใจในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เชิญชวนให้นักธุรกิจเข้ามาลงทุน

กลับน่าจะทำลายความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและบรรยากาศของการลงทุนมากกว่า เนื่องจากเต็มไปด้วยบทบัญญัติที่ให้อำนาจอย่างกว้างขวางกับเจ้าหน้าที่รัฐในการควบคุมสอดแนมการติดต่อสื่อสาร จับตา ดักรับ

กระทั่งยับยั้งข้อมูลทั้งหลายที่ไหลเวียนเข้าออกบนโลกอินเตอร์เน็ต รวมทั้งใช้งานข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆ ด้วยข้ออ้างเรื่องความมั่นคงเหมือนกัน

ไม่ว่าจะเป็นร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.... ร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. ... และร่างพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย พ.ศ. ...

เหล่านี้ยังไม่รวมข้อกล่าวหาของประชาชนและองค์กรผู้คัดค้านที่ว่า รัฐบาลชุดนี้พยายามดึงคลื่นความถี่ที่เคยเสรีกลับไปบริหารจัดการเสียเองโดยผลของร่างพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ...

แถมท้ายด้วย คำสั่งคสช. ฉบับที่ 94/2557 ที่ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ชะลอการประมูลระบบอินเตอร์เน็ต 4จี ออกไปอีก 1 ปี โดยไม่ให้เหตุผลใดๆ

เช่นนี้แล้วจึงอาจตีความไปได้เลยว่า แท้ที่จริงแล้ว ซิงเกิล อินเตอร์เน็ต เกตเวย์ ก็คือ “จิ๊กซอว์” ตัวหนึ่งที่จะทำให้ภาพของการควบคุมเนื้อหาและกิจกรรมบนอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์นั่นเอง

ทำไมต้องควบคุมสอดแนมกิจกรรมในอินเตอร์เน็ต หรือทำไมต้องควบคุมเนื้อหา เพื่อความมั่นคงปลอดภัย ป้องกันการก่อการร้าย ป้องกันอาชญากรรมคอมพิวเตอร์?

คำตอบในที่นี้อาจมีทั้ง ใช่ และไม่ใช่

ที่ “ไม่ใช่” เพราะเครื่องมือของรัฐในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายให้อำนาจควบคุมเนื้อหา เครื่องมือสอดแนม รวมทั้งนโยบายซิงเกิล อินเตอร์เน็ต เกตเวย์ อาจถูกนำไปใช้ได้ทั้งเพื่อความมั่นคงปลอดภัย ตรวจสอบเส้นทางข้อมูลหรือแผนการก่อการร้าย ตามหาตัวอาชญากรคอมพิวเตอร์ และเพื่อเป้าหมายทางการเมือง

อย่างไรก็ดี หากแม้คำตอบคือ “ใช่” คือ รัฐบาลจำเป็นต้องควบคุมการใช้งานอินเตอร์เน็ตและเนื้อหา เพียงเพื่อเป้าหมายเรื่องประสิทธิ ภาพในด้านความมั่นคงปลอดภัย ป้องกันการก่อการร้าย และป้องกันอันตรายจากอาชญากรคอมพิวเตอร์เท่านั้นจริงๆ

คนไทยควรระมัดระวังให้ดีและตั้งข้อสงสัยไว้หลายๆ ข้อ เช่น การสอดแนมข้อมูลอย่างเหมารวมนั้นป้องกันการก่อการร้ายได้จริงหรือ การปิดกั้นเซ็นเซอร์ข้อมูลจะทำให้เนื้อหาผิดกฎหมายลดลงได้จริงหรือเปล่า เกตเวย์เดียวจะทำให้เจ้าหน้าที่ค้นหาอาชญากรคอมพิวเตอร์ได้ดีและมีประสิทธิภาพกว่าการมีหลายเกตเวย์ คุ้มค่าหรือไม่หากเปรียบเทียบกับข้อเสียอื่นๆ ที่จะเกิดจากการใช้ ซิงเกิล อินเตอร์เน็ต เกตเวย์

กระทั่งคำถามที่ว่า ปัจจุบัน มีประเทศมหาอำนาจ (ยกเว้นจีน) ประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ ประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคาม การก่อการร้าย หรือสงครามไซเบอร์ยิ่งกว่าประเทศไทย ที่ไหนในโลกอีกบ้าง ที่มีนโยบายย้อนกลับไปใช้ ซิงเกิล อินเตอร์เน็ต เกตเวย์ ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อความมั่นคงปลอดภัย

และคำถามสุดท้าย คือ เอาเข้าจริงแล้ว คำว่า “ภัยความมั่นคงไซเบอร์” ในสายตาของรัฐบาลชุดนี้ มันหมายถึง ภัยก่อการร้ายสากล สงครามไซเบอร์ หรือการโจมตีระบบสาธารณูปโภคหรือโครงสร้างพื้นฐานให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจริงๆ หรือไม่

หรือมีนิยามแคบๆ ว่าหมายถึง การเผยแพร่ข้อมูลหรือเนื้อหาเชิดชูประชาธิปไตย ต่อต้านรัฐประหาร วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และเนื้อหาที่อาจเข้าข่ายมาตรา 112