ที่มา เวปที่นี่และที่นั่น
June 4, 2015
รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไตรมาสที่ 1 ปี 2558 (เดือนมกราคม – มีนาคม 2558) ซึ่งเผยแพร่โดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ซึ่งเป็นการสรุปสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ของไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2558 (เดือนมกราคม-มีนาคม 2558) ล่าสุด ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช.มีข้อมูลหลายส่วนระบุอย่างชัดเจนว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ กลุ่ม SME ซึ่งล้วนแต่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยและมีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศไทย ยังอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงอย่างหนัก โดยมีดัชนีชี้วัดที่ชี้ให้เห็นว่า ยังคง “ติดลบ” ต่อเนื่อง จำนวนมาก
โดย รายงานฉบับดังกล่าว ระบุว่า “การจัดตั้งและยกเลิกกิจการ ไตรมาสที่ 1 ปี 2558 (เดือนมกราคม – มีนาคม 2558)” พบว่า มีจำนวนการจัดตั้งกิจการ รวมทั้งสิ้น 17,309 ราย ขยายตัวลงร้อยละ 12.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปีที่ผ่านมา มีการยกเลิกกิจการ จำนวน 3,674 ราย ขยายตัวร้อยละ 27.03 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปีที่ผ่านมา ธุรกิจที่มีการจัดตั้งกิจการใหม่สูงสุด ได้แก่ หมวดก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย มีจำนวน 1,832 ราย ซึ่งมีทุนจดทะเบียนรวม คิดเป็นมูลค่า 3,378 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดการทำบัญชีและตรวจสอบบัญชี และหมวดขายส่งเครื่องจักรและเครื่องมือเครื่องใช้ ตามลำดับ
ส่วนธุรกิจที่มีการยกเลิกกิจการ สูงสุด ได้แก่ หมวดกิจกรรมขายสลากกินแบ่ง มีจำนวน 1,067 ราย ซึ่งมีทุนจดทะเบียนรวม คิดเป็นมูลค่า 288 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดก่อสร้างที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย และหมวดซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ใช่ที่พัก อาศัย ตามลำดับ
ในส่วนของ “ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม SMEs (มูลค่าเพิ่ม) เฉลี่ยปี 2558 อยู่ที่ระดับ 81.52 ลดลงจาก ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 82.77 ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต ปี 2558 อยู่ที่ระดับ 42.88 ลดลงจากช่วง เดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีดัชนีอยู่ที่ 43.60″
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการค้าและบริการ (TSSI) ในช่วงปี 2558 ค่าดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ใน ระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบันปี 2558 อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าฐานที่ 50 โดยในไตรมาสแรกของปีค่าดัชนีอยู่ในระดับที่ 47.3 โดยมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบในด้านต่างๆ เข้ามากระทบต่อความเชื่อมั่นค่อนข้างมาก โดยในส่วนของปัจจัยบวก ได้แก่ สถานการณ์ค่าครองชีพปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน ในส่วนของปัจจัยลบ ได้แก่ สถานการณ์ด้านการบริโภคยังคงซึมตัวต่อเนื่อง การส่งออกในเดือนมีนาคมมีมูลค่าการส่งออกลดลง ระดับราคาสินค้าพืชผลทางการเกษตรปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ด้านการลงทุนในประเทศปรับตัวในทิศทางที่ลดลง สถานการณ์ภาคอุตสาหกรรมยังคงไม่สู้ดีนักอันเป็นผลจากสถานการณ์การบริโภคและการส่งออกที่ ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเปรียบเทียบดัชนีความเชื่อมั่น 4 ภาคธุรกิจ ระหว่าง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ภาคการค้าและบริการ (TSSI) ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) และ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) พบว่า ในไตรมาสแรกปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด