ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 07 มิถุนายน พ.ศ. 2558
หมายเหตุ - นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์พิเศษ "มติชน" กรณีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอให้มีการทำประชามติเพื่อให้มีการปฏิรูป 2 ปี ก่อนการเลือกตั้ง
@แนวคิดที่สมาชิกปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กลุ่มหนึ่งเสนอให้ปฏิรูปประเทศ 2 ปี ก่อนการเลือกตั้ง
ก่อนอื่นเราต้องแยกออกเป็น 2 ประเด็น คือ ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง กับการให้ คสช.และรัฐบาลบริหารประเทศไป 2 ปี ตรงนี้ 2 ข้อจะไม่เหมือนกัน เนื่องจากการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง คิดว่าเป็นความคิดเดียวกันกับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) อันนำมาซึ่งปัญหาอย่างกว้างขวางว่าจะปฏิรูปอะไร ปฏิรูปด้วยกระบวนการอะไร และเอาเข้าจริงข้อเสนอนี้คิดราวกับว่าจะสามารถจัดระบบโครงสร้างทั้งหมดของประเทศให้ลงตัวได้ ก่อนจะนำไปสู่การเลือกตั้ง เพราะบางเรื่องจะทำไม่เสร็จหรอกภายใน 2 ปี
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าประเทศต้นแบบประชาธิปไตยในโลก ทั้งสหรัฐอเมริกา ทุกวันนี้ก็ยังคงมีข้อถกเถียงอยู่ ว่าจะเลือกตั้งประธานาธิบดีในระบบปัจจุบัน ควรจะปรับหรือแก้ไขอย่างไร หรือที่ประเทศอังกฤษก็ยังถกเถียงกันว่าวุฒิสภาควรมีบทบาทน้อยลงหรือไม่ ดังนั้นถ้าจะให้พูดง่ายๆ ไม่มีระบบเลือกตั้งแบบใดหรอกที่จะนำไปสู่จุดที่สมบูรณ์ได้ เพราะฉะนั้นความคิดผมการจะปฏิรูปใดๆ ก็ตามต้องอยู่ภายใต้ระบบการเลือกตั้ง เพราะมันมีหลักการที่เชื่อมโยงกับประชาชน
ส่วนประเด็นที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. อยู่ต่อ 2 ปี คิดว่าอันนี้น่าสนใจ เนื่องด้วยสิ่งที่เราเห็นตอนนี้คือเห็นความเคลื่อนไหวของนักการเมืองเครือข่ายรัฐประหารที่ได้ดิบได้ดี เพราะมีทั้งคนเสนอไอเดีย มีทั้งคนส่งต่อ แล้วก็มีทั้งคนรับลูกกันอย่างเป็นระบบเลย ในแง่นี้ มันจึงเป็นความพยายามในการสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน และคิดว่าคนที่เสนอนั้นก็เป็นการตอบแทนบุญคุณ จากที่ตนเองได้รับการแต่งตั้งมา รวมถึงได้ผลประโยชน์อย่างต่อเนื่องด้วย
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า เมื่อก่อนมักชอบด่าว่าผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ตอนนี้ที่เห็นมันคือความน่าอายอย่างที่สุดของนักการเมืองเครือข่ายรัฐประหารมากกว่าทั้งชงกันเอง อวยกันเอง
@เครือข่ายกลุ่มนี้พยายามสร้างความชอบธรรม ผ่านการทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ
ถ้าสมมติจะทำประชามติจริงๆ ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ไม่ลงสมัครเลือกตั้งตามกระบวนการ แล้วก็ตั้งพรรคการเมืองของตนเองขึ้นมา พร้อมทั้งลงสมัครรับเลือกตั้ง จะดูสง่างามมากกว่า กระนั้นก็ตามผมอยากจะเตือนบรรดาคนที่ออกมาเสนอไอเดียและรับลูกประเด็นเหล่านี้ พร้อมทั้งอ้างโพลจำนวนมากว่าอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อ มันคือความพยายามปิดตาตนเอง เพื่อไม่ให้เห็นถึงคนที่ถูกกักกัน หรือถูกปิดกันทางความคิดอีกเป็นจำนวนมาก ที่พวกเขาไม่สามารถแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างได้ เพราะเวลาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และ คสช. ก็มักจะถูกดำเนินการ เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าคนไทยเพิ่งออกมาจากถ้ำ เพราะคนไทยจำนวนมากตื่นรู้ทางการเมืองมากแล้ว
ดังนั้นสิ่งที่พยายามผลักดันแนวทางดังกล่าวจะไม่ได้ช่วยให้มีความชอบธรรมขึ้นมาเลยในทางตรงกันข้าม ถ้าเสนอมากขึ้นเท่าใดก็ยิ่งทำลายความชอบธรรมมากขึ้นเท่านั้น ถึงที่สุดถ้าอยากจะให้ทำประชามติ เพื่อให้อยู่ต่อจริงๆ ก็ทำไปเลย แล้วอยากเสนออีกว่า อย่าอยู่แค่ 2 ปี แต่อยู่ยาว 4 ปีไปเลย เอาให้เหมือนกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งแปลว่าการทำประชามติตรงนี้ก็เสมือนกับประชาชนได้เลือกผู้บริหารประเทศไปเลย
@หากเป็นไปตามข้อเสนอ โรดแมปที่ คสช.เคยประกาศกับคนในประเทศ และต่างประเทศจะต้องเลื่อนไป จะมีแรงเสียดทานอย่างไร
ในแง่แรงเสียดทานภายในจะเพิ่มสูงมากขึ้น ถ้าเมื่อใดมีความพยายามสืบทอดอำนาจต่อ จะนำมาซึ่งปัญหาที่รอวันปะทุออกมา ตรงนี้ผมคิดว่า ถ้าบรรดาคนที่ยังมองอะไรอยู่ในวงแคบๆ แล้วคิดว่าสังคมยังคงสงบสุข แต่ถ้าคนที่มองพ้น หรือออกจากกรอบจะเห็นว่าสังคมไทยมีปัญหาเป็นจำนวนมาก อีกอย่างถ้าผู้มีอำนาจฝืนไปถึงจุดนั้นจริงๆ คนจำนวนมากในสังคมไทยที่รอคอยการเลือกตั้ง จะเพิ่มแรงกดดันทั้งหมดพุ่งเป้าไปยัง คสช.และรัฐบาล มากไปกว่านั้นบรรดานักธุรกิจอะไรต่างๆ คงไม่มีความสุขนัก เนื่องจากธุรกิจนำเข้า ธุรกิจส่งออก จำนวนมากจะประสบปัญหา
ส่วนแรงกดดันนานาชาติจะเพิ่มแรงกดดันมากขึ้นนั้น ในแง่หนึ่ง ประเทศไทยคงอยู่ได้แถวอาเซียน เพราะประเทศในกลุ่มนี้มีนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของแต่ละประเทศ ดังนั้นการบริหารประเทศก็คงอยู่ได้ แต่ถามว่ามันขยายวงกว้างไปกว่าอาเซียน ตรงนี้แหละจะไม่ง่ายแน่นอน เพราะการอยู่ต่อไปในระยะยาว ความมั่นคง และความหมายในการลงทุนกับต่างประเทศ จะส่งผลกระทบแน่นอน
@มองว่าความรู้สึกที่ถูกกดทับจะนำมาซึ่งปัญหาความรุนแรงที่เป็นเสมือนระเบิดเวลา
ถ้าผู้มีอำนาจใช้อำนาจในการจัดการคนที่เห็นต่างมากจะส่งผลให้ฐานแห่งความชอบธรรมอ่อนแอลงไป คิดง่ายๆ ปัจจุบันก็ยังมีกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นคัดค้านรัฐบาลและ คสช.อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัญหาในสังคมไทยจำนวนมากที่ต้องรอการแก้ไขผ่านกระบวนการประชาธิปไตย ให้มีการแสดงออกได้อย่างเสรี อาทิ ผู้ใช้แรงงานจะเรียกร้องแรงงานขั้นต่ำ ชาวบ้านขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐในการจัดสรรทรัพยากร แปลว่ามันต้องใช้กระบวนการประชาธิปไตย ถ้าไม่ใช่กระบวนการนี้กลุ่มคนต่างๆ ก็จะไม่มีเครื่องมือ เพราะฉะนั้นการที่ใช้อำนาจดำเนินการ อย่างมากก็เป็นการแก้ไขปัญหาที่เสมือนกับการกวาดฝุ่นให้หมกไว้ในพรมชั่วคราว ไม่ได้เป็นการปฏิรูปอย่างแท้จริง
@คิดว่าผู้มีอำนาจประเมินสถานการณ์ดังกล่าวออกหรือไม่ อย่างไร
ต้องเข้าใจว่าข้อดีของระบอบประชาธิปไตย คือคนที่ขึ้นสู่อำนาจสูงสุด อย่างไรเสียก็ต้องฟังเสียงของสังคม และการตรวจสอบจากประชาชน ถ้าไม่ฟังก็ต้องพ้นจากตำแหน่งจากการเลือกตั้ง หรือไม่ก็ถูกขับไล่ ทว่านักการเมืองที่มาจากรัฐประหารนั้นไม่มีกลไกแบบนั้น จึงไม่จำเป็นต้องฟังเสียงประชาชน ในแง่นี้คนรอบข้างนั่นแหละ ตัวสำคัญ อันเป็นเสมือนกำแพงปิดกั้น และบดบังเสียงดังกล่าวไว้ แล้วก็ต่างเอาใจนายว่าทุกคนเห็นด้วยกันท่าน ทุกคนรักท่าน อยากจะบอกว่าเวลาพ้นจากอำนาจไปก็จะเดียวดายกันเป็นแถว
@ผู้นำดูมั่นใจว่าจะลงหลังเสือได้อย่างสง่างาม
การพ้นจากอำนาจของคนที่ขึ้นมาสู่จุดสูงสุดนั้นในปัจจุบันถ้า คสช.และรัฐบาลดำเนินการตามกระบวนการที่มีอยู่ การลงสู่อำนาจก็จะไม่เผชิญปัญหาอะไรมาก ยกตัวอย่าง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขึ้นสู่อำนาจจากการทำรัฐประหาร ในแง่หนึ่งก็ให้ระบบทั้งหมดเดินไป โดยที่ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องอะไรมากนัก ก็ลงมาเล่นการเมืองตามกระบวนการปกติ แต่ผู้นำที่ขึ้นสู่อำนาจแล้วใช้อำนาจที่ไม่มีความชอบธรรม ก็จะประสบชะตากรรมที่ไม่ดีก็มีให้เห็นอยู่ ตรงนี้จะเป็นข้อเตือนใจของผู้มีอำนาจต้องระวัง และสังคมไทยได้ผ่านประสบการณ์แห่งความสูญเสียมากมากพอสมควร แล้วก็ยังเป็นสังคมไทยในทศวรรษที่ 21 ไม่ใช่ยุค 1960 ดังนั้นถ้าทำอะไรได้ตามอำเภอใจ ไม่ชอบธรรม จะประสบชะตากรรมเหมือนเช่นผู้นำในอดีตแน่นอน
@ประเทศไทยจะมีกระบวนการทางกฎหมายดำเนินการกับผู้ก่อการรัฐประหารได้อย่างไร
มันเป็นปัญหาระยะยาวที่ต้องจัดการบวกกับรายงานสถานการณ์ที่ประเมินถึงระบบนิติรัฐไทยก็น่าจะสะท้อนได้อย่างโจ่งแจ้งมากๆ ว่าตกต่ำลง แม้ว่าบ้านเราพยายามหลอกตนเองอยู่ก็ตามว่ายังคงเป็นระบบที่เป็นกลาง น่าเชื่อถือ ไม่สองมาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม จากข้อเสนอทั้ง 2 ข้อ นั้นอยากจะนิยามว่า การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ไม่ใช่เรื่องจริงหรอก มันเป็นเพียงการสับขาหลอกเท่านั้น ในทางตรงกันข้ามเป็นความพยายามสืบทอดอำนาจให้ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซ้ำร้ายไปกว่านั้นความพยายามของนักการเมืองเครือข่ายรัฐประหารกลุ่มนี้ จึงเป็นเพียงความทะเยอทะยานของคนที่เกาะรถถังเข้ามาสู่วงจรอำนาจทางการเมืองเท่านั้นเอง