ที่ประชุม “ ครม. – คสช. ” ชงแก้ รธน. 7 ประเด็น ทำประชามติต้นปี 59 – “ประยุทธ์” ขอสื่อเลิกถามต่ออายุรัฐบาล 2 ปี ยันไม่ใช้ ม.44 ปลดผู้ว่าฯ กทม. ด้าน ครม. ไฟเขียวกู้ไจก้า 1 หมื่นล้าน ลุยรถไฟชานเมือง
เกาะติดมติครม.คสช.
ที่มา Thai Publica
Date: 9 มิถุนายน 2015เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมร่วมกันของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช. ) ในวันนี้ว่า ที่ประชุมร่วมกันมีมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ซึ่งหลังจากนี้จะต้องส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้พิจารณาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่าง โดย สนช. มีอำนาจเพียงลงมติว่าจะรับหรือไม่รับเท่านั้น ไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาได้ เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม. และ คสช. ซึ่งการให้ความเห็นชอบร่างนี้ จะต้องมีเสียง สนช. เกินกึ่งหนึ่ง หรือ 111 คนขึ้นไป หากได้รับความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยปฏิทินในการประกาศใช้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 คือควรจะให้เสร็จก่อนวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ซึ่งเป็นวันครบระยะเวลาการพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ)
สำหรับประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มีอยู่ 7 ประเด็น
1. แก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ สนช. จากเดิมกำหนดให้คนที่เป็น สนช. ต้อง “ไม่เคย” ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เป็นต้อง “ไม่อยู่ระหว่าง” ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้คนที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแต่พ้นจากระยะเวลานั้นมาแล้ว เข้ามาเป็น สนช. รวมถึงสภาอื่น เช่น สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รวมถึงรัฐมนตรีได้ แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงบุคคลที่เคยถูกเพิกถอนเพราะคดีทุจริตที่ยังคงอยู่
2. แก้ไขให้การเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ไม่ว่าจะเป็นของคณะรัฐมนตรี หรือผู้พิพากษาศาลต่างๆ ไม่จำเป็นต้องกระทำต่อหน้าพระพักตร์ แต่สามารถมอบหมายให้รัชทายาทหรือผู้แทนที่พระองค์แต่งตั้งกระทำหน้าที่แทนได้ เพื่อไม่ให้เป็นพระราชภาระมากจนเกินไป และเพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
3. แก้ไขให้ กมธ.ยกร่างฯ สามารถลงมติขยายเวลาการทำงาน ในการพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 60 วัน ให้สามารถเพิ่มเติมได้อีกไม่เกิน 30 วัน โดย กมธ.ยกร่างฯ จะต้องลงมติว่าจะขอขยายเวลานานเท่าใด จากนั้นจึงแจ้งให้ สปช. รับทราบ
4. แก้ไขให้ต้องมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หลังจาก สปช. ให้ความเห็นชอบ โดยกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้รับผิดชอบในการทำประชามติ ส่วนช่วงเวลาในการทำประชามติ จะต้องมีการพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญส่งให้ถึงมือครัวเรือนไม่น้อยกว่า 80% หรืออย่างน้อย 19 ครัวเรือน จากทั้งหมด 23 ครัวเรือน ถึงจะทำประชามติได้ ภายในระยะเวลา 30-45 วัน หรือประมาณปลายเดือนมกราคม 2558 จนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 สำหรับคำถามในการทำประชามติ นอกจากถามว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ สปช. ให้ความเห็นชอบแล้ว สปช. หรือ สนช. ยังสามารถส่งคำถามเพิ่มเติมมาให้ ครม. พิจารณากลั่นกรององค์กรละ 1 คำถาม เพื่อให้จัดทำประชามติไปพร้อมๆ กันได้
แต่ถ้ามีการขอทำประชามติคำถามอื่น ซึ่งมีประเด็นขัดหรือแย้งกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ แล้วปรากฏว่าประชาชนให้ความเห็นชอบ ให้ กมธ.ยกร่างฯ ปรับปรุงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับประเด็นคำถามนั้นภายใน 30 วัน จากนั้นให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา หากยังไม่สอดคล้องให้ กมธ.ยกร่างฯ แก้ไขให้สอดคล้อง แต่ถ้าสอดคล้องแล้ว ให้ส่งนายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
5. แก้ไขว่า เมื่อ สปช. ลงมติว่าเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ให้ถือว่าภารกิจเสร็จสิ้น ให้ยุบ สปช. พร้อมกับตั้ง “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” มีสมาชิก 200 คน ซึ่งนายกฯ แต่งตั้ง โดยไม่ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยคุณสมบัติของสภาขับเคลื่อนฯ คือต้องมีอายุ 35 ปีขึ้นไป และอาจจะเคยหรือไม่เคยเป็น สปช. มาก่อนก็ได้ และให้มีหน้าที่เพียงอย่างเดียวคือเสนอแนะเรื่องการปฏิรูปประเทศ โดยไม่ให้เกี่ยวข้องกับการยกร่างรัฐธรรมนูญอีก
6. แก้ไขว่า เมื่อ กมธ.ยกร่างฯ ซึ่งมีสมาชิก 36 คน ต้องสิ้นสุดลงไม่ว่าในกรณีใด ทั้ง สปช. ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หรือร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ ให้หัวหน้า คสช. แต่งตั้งผู้ที่จะมาทำการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป โดยให้ใช้ชื่อว่า “กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ” มีสมาชิก 21 คน ซึ่งต้องรับฟังความเห็นชอบประชาชน และยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน จากนั้นต้องนำไปทำประชามติอีกครั้ง
และ 7. แก้ไขรายละเอียดมาตราต่างๆ ที่คลาดเคลื่อนให้สอดคล้องกัน โดยเนื้อหาเดิมในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมมากที่สุดคือมาตรา 37 ที่เขียนจะเพิ่มเติมเนื้อหาเป็นทับไป เช่น มาตรา 37/1 มาตรา 37/2 มาตรา 37/3 ขณะที่มาตราอื่นๆ ที่เหลือยังคงเดิม เช่น มาตรา 44 ก็ยังคงอยู่
“คาดว่าจะสามารถส่งร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ให้กับ สนช. ได้ภายใน 2 วันนี้” นายวิษณุกล่าว
ไม่ตอบประชามติต่ออายุเหมาะสมหรือไม่
จากนั้นเป็นช่วงของการถาม-ตอบ
เมื่อถามว่า วาระการทำงานของสภาขับเคลื่อนฯ มีกี่ปี นายวิษณุกล่าวว่า แล้วแต่ร่างรัฐธรรมนูญจะกำหนดไว้ หากให้อยู่ต่อก็จะเขียนไว้ว่ากี่ปี หรืออาจมีการตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาขับเคลื่อนการปฏิรูปแทน แล้วให้มีการเลือกสมาชิกใหม่ก็ได้
เมื่อถามว่า ขณะนี้สังคมกำลังจับตาว่าจะมีการสืบทอดอำนาจหรือไม่ เหตุใดจึงไม่กำหนดเป็นลักษณะต้องห้ามไว้ว่าสภาขับเคลื่อนฯ ต้องไม่เคยเป็น สปช. มาก่อน นายวิษณุกล่าวว่า ตามเนื้อหาเดิม สปช. ยังสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ หากให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ และในร่างรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้ สปช. บางส่วนเข้าไปเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปได้อีก แต่ในเนื้อหาใหม่ที่ ครม. และ คสช. เสนอ ไปตัดอายุ สปช. ให้ไม่ว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไป จะทำให้เกิดช่องว่างในการปฏิรูป เพราะกว่าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะประกาศใช้ ก็ต้องรอถึงต้นปี 2559 หรือเกือบ 5 เดือนถัดไป
เมื่อถามว่า หาก สปช. หรือ สนช. เสนอคำถามในการทำประชามติเพิ่มเติม ว่าให้ต่ออายุรัฐบาลอีก 2 ปี ครม. จะพิจารณาอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า เขาก็เสนอได้ แต่ 1. ต้องผ่านด่านเขาเองก่อน 2. ต้องผ่านด่าน ครม. ให้ได้ แล้วอย่าไปคิดว่าเขาจะถามอย่างนั้น อาจจะใช่ แต่มันมีแค่คำถามเดียวเท่านั้น อาจจะมีสิ่งที่ให้ถามได้มากมาย แต่พอเรากำหนดให้เหลือข้อเดียว เขาก็ต้องพิจารณาว่าข้อใดคุ้ม ไหนๆ ก็จะเสียเงิน 3,000 ล้านบาทแล้ว ข้อใดถึงจะคุ้ม
เมื่อถามว่า หากคำถามเพิ่มเติมในการทำประชามติที่ สปช. หรือ สนช. เสนอ เป็นเรื่องของการขยายเวลาการทำงานของ ครม. แล้วปรากฏว่า ครม. ให้ความเห็นชอบนำไปทำประชามติ จะถือว่าเข้าข่ายเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า อยู่ที่ว่าจะตั้งคำถามอย่างไร เพราะถ้าตั้งหลักจะตั้งคำถามแบบนี้ จะต้องถูกครหาแน่นอน ฉะนั้นอย่าไปคิดว่าเขาจะถามแบบนี้ แต่ไม่รู้นะ เขาอาจจะถามมาแล้ว ครม. อาจจะตีกลับก็ได้ ตนจึงไม่ขอตอบเรื่องความเหมาะสมหรือไม่ เรื่องนี้ไว้พูดกันตอนที่เขาตั้งคำถาม
เมื่อถามว่า หากคำถามเข้าข่ายเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจะถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ต้องย้อนถามว่าการตั้งคำถามเหล่านี้เป็นการใช้สิทธิตามอะไร ก็ตามรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแล้วจะเรียบว่าทับซ้อนหรือไม่ ก็ต้องไปคิดเองก็แล้วกัน
“ครม. ยังคาดไม่ได้หรอกว่าจะถามว่าอะไร แล้วเราล็อกไว้องค์กรละ 1 ข้อ ไม่เช่นนั้นจะถามเข้ามาเรื่อย ดังนั้น ครม. จึงต้องกรอง เพราะคำถามอาจจะมาในสิ่งที่เราไม่ได้คาดหมาย ซึ่ง ครม. อาจจะไม่เอาเลยก็ได้ เพราะ ครม. เองก็ต้องรับผิดชอบหากเกิดไปรับคำถามใดเข้า” นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติแล้ว ยกร่างขึ้นมาใหม่ก็ยังไม่ผ่านการทำประชามติอีกจะทำอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องนี้ก็มีคนถามในที่ประชุมร่วมกันของ ครม. กับ คสช. เหมือนกัน ซึ่งตนก็ตอบไปว่า อาจจะใช้วิธีอื่น เช่น แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 อีกครั้ง ให้หยิบรัฐธรรมนูญในอดีตสักฉบับขึ้นมาปรับใช้ เพราะเราอยากให้กระบวนการมันกระชับที่สุด แต่อาจจะรอให้ถึงเวลานั้นก่อนแล้วค่อยคิด
เมื่อถามว่า เหตุใดจึงไม่เขียนให้หยิบรัฐธรรมนูญในอดีตสักฉบับมาปรับใช้ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติตั้งแต่แรก นายวิษณุกล่าวว่า เพราะเราไม่รู้ว่าประชาชนต้องการฉบับใด ดังนั้นจึงต้องร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาอีกฉบับ โดยต้องรับฟังความเห็นของประชาชน แล้วนำไปทำประชามติอีกครั้ง
ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. กล่าวว่า หากอยากเลือกตั้งเร็วๆ ง่ายนิดเดียว ก็ผ่านร่างรัฐธรรมนูญในการทำประชามติ ก็จะได้เลือกตั้งตามกรอบที่ตนวางเอาไว้ สำหรับการทำประชามติเป็นอำนาจของ กกต. โดยจะใช้งบประมาณราว 3,000 ล้านบาท ส่วนกรณีที่ สปช. เสนอให้ทำประชามติเพื่อต่ออายุรัฐบาลอีก 2 ปี ตนได้สั่งการในที่ประชุมร่วมกันของ ครม. และ คสช. ว่าโรดแมปมีแค่ไหนก็ให้ทำเท่านั้น ส่วนเรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 กำหนดไว้แล้ว
“ผมไม่อยากให้มาถามมากนักว่า คสช. จะอยู่ต่อหรือไม่ ผมตอบแล้วว่าเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ผมพูดอะไรมากกว่านี้ไม่ได้ พูดอะไรก็เข้าเนื้อตัวเองหมด ทั้งที่ผมก็มีเจตนาบริสุทธิ์ที่จะทำให้บ้านเมืองเกิดการปฏิรูป ไม่ใช่เพื่อจะเอาอำนาจแล้วอยู่ต่อ ผมไม่เคยคิดอย่างนั้น คนอื่นอาจจะไม่คิดแบบผม เขาอยากจะมีอำนาจเลยจะอยู่ต่อ แต่ผมเคยชินกันอำนาจมาเยอะแล้ว เป็น ผบ.ทบ. มา 4 ปี เป็นหัวหน้าหน่วย ผู้พัน ผู้การ แม่ทัพ เป็นมาหมดแล้ว ก็เบื่อกับการใช้อำนาจพอสมควร วันนี้ อำนาจของผมก็ใช้ในเรื่องการบบริหารราชการแผ่นดิน และใช้อำนาจพิเศษในการแก้ปัญหา” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนยังกังวลว่าเมื่อมีเลือกตั้ง มีคะแนนนิยมเข้ามาเกี่ยวข้อง จะทำให้การสานต่องานที่ทำมาแล้วได้ลำบาก วันนี้จึงสั่งในที่ประชุม ครม. ให้สรุปงานในระยะที่ 1 ว่าดำเนินการเรื่องใดบ้าง และภายในเดือนเมษายน 2559 จะมีเรื่องใดที่ไม่แล้วเสร็จ ต้องส่งมอบให้รัฐบาลต่อไปเข้ามาสานต่อ
ไม่ใช้ ม.44 ปลดผู้ว่าฯ กทม.
พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ฝนตกว่า ขณะนี้เริ่มฤดูฝนมาระยะหนึ่งแล้ว ตนได้สั่งการให้ คสช. ตั้งหน่วยติดตามสถานการณ์น้ำท่วมทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด ดังเช่นที่เคยทำมาสมัยเป็น ผบ.ทบ. หากพื้นที่ใดเป็นจุดเสี่ยง ตนให้เตรียมพร้อมสำหรับการช่วยเหลือ ไม่อยากให้การจราจรติดขัดเป็นระยะเวลานาน
ส่วนที่มีการเสนอให้ใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ปลด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กทม. พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “ผมจะไม่ใช้อำนาจ เพราะจะทำให้เกิดความวุ่นวาย”
แจงปมขนาดรางรถไฟ – เล็งขยายเมือง
นายกฯ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งสร้างถนนและรถไฟ ว่า เพราะเส้นทางเหล่านี้จะไปเชื่อมโยงกับประชาคมโลกจึงต้องทำ เหตุที่ต้องมีขนาดรางรถไฟหลายขนาด เพราะเส้นทางรถไฟขนาด 1 เมตร สำหรับในประเทศขนาดเท่านี้ก็เพียงพอ แต่เส้นทางในเขตระเบียงเศรษฐกิจจะต้องปรับให้มีขนาด 1.435 เมตร ส่วนเรื่องการสร้างความทันสมัย การลงทุนที่ต้องมีการเชื่อมโยงกับประเทศที่อยู่ไกลออกไป ต้องปรับเป็นรถไฟความเร็วสูงหรือไม่ ก็ต้องไปคิดมา ประเทศไหนที่สนใจก็สามารถเข้ามาเจรจาพูดคุยกันได้ เป็นการเจรจาระหว่างรัฐต่อรัฐ (G to G) ไม่ใช่เป็นการเปิดประมูล ส่วนอีกวิธีคือการลงทุนร่วม
นายกฯ ยังกล่าวถึงการสร้างระบบเครือข่ายคมนาคมใน กทม. และปริมณฑลว่า ตนต้องการให้เมืองขยายออกไป โดยต้องดูปลายทางรถไฟฟ้าว่าอยู่จุดไหน และหาแนวทางในการเชื่อมโยงระบบคมนาคมในจุดนั้น ทำให้บริเวณนั้นเกิดชุมชนขึ้นมาต้องมีการวางแผนที่จัดเจน เพื่อให้สามารถวางแผนการลงทุนได้อย่างถูกต้อง
“พื้นที่เหล่านั้นจะกลายเป็นเหมือนตลาด 4 มุมเมือง คนในเมืองก็อาจจะต้องออกไปข้างนอก เพื่อไปอยู่ในที่ที่เขาสร้างไว้ให้ เหมือนในต่างประเทศ วันนี้ผมก็บอกว่าเป็นไปได้ไหม หากให้เอกชนมาร่วมลงทุนแล้วทำเป็นสัญญาให้ประชาชนเข้าไปอยู่อาศัย ราคาประมาณ 300,000 บาทได้ไหม และมีเส้นทางให้ประชาชนสามารถเดินทางไปมาได้ในราคาถูก ผมคิดอย่างนี้นะ” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
หาวิธีช่วยชาวสวนยางในพื้นที่ถูกทวงคืน
พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการทวนคืนพื้นที่ซึ่งบุกรุกป่าสงวนไปทำสวนยางว่า จะต้องไปดูแลคนกรีดยาง ว่าจะทำอย่างไรให้คนเหล่านั้นยังมีรายได้ โดยอาจทำการว่าจ้างให้กรีดยางเช่นเดิม แต่ยางเหล่านั้นเป็นผลิตผลของรัฐ ซึ่งยางทั้งหมดที่ได้จะไม่นำเข้าระบบตลาด เพราะเกรงจะทำให้ราคาตก แต่อาจทำการรวบรวมไว้เป็นต้นทุนสำหรับใช้ทำสนามกีฬา เป็นวัสดุต้นทุนเพื่อแปรรูปอื่นๆ หรือดึง SME เข้ามาลงทุน เพื่อเป็นการสร้างเถ้าแก่ใหม่
ซึ่งความคืบหน้าในการจัดสรรที่ดิน พล.อ. ประยุทธ์ เปิดเผยว่า วันนี้จัดสรรไปได้เพียงไม่กี่หมื่นราย แต่ในระยะยาวต้องเรียกคืนที่ดินที่ถูกบุกรุกกลับมา จะทำการจัดสรรให้ประชาชนอย่างไร และป้องกันการขายต่อที่เหล่านั้นอย่างไร ต้นยางบางส่วนอาจต้องทิ้ง โดยไม้ที่ได้มาอาจมีการนำไปแปรรูปให้ชาวบ้านสำหรับใช้ประโยชน์
ยันไทยแก้ปัญหาการบินเต็มที่ ถ้าเป็น ICAO จะให้ผ่าน
สำหรับเรื่องการแก้ปัญหาที่กรมการบินพลเรือน (บพ.) สอบตกมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization – ICAO) พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น ICAO ค้ามนุษย์ ฯลฯ อย่างไปเร่งลัด รัฐบาลทำงานเต็มที่แล้ว ปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถแก้ได้ภายในวันเดียวหรือเดือนเดียว การแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ว่าตนไม่มั่นใจ ซึ่งหากตนเป็นคณะกรรมการตนให้ผ่าน เพราะไทยมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะแก้ปัญหา พยายามทำให้เร็ว แต่มันเร็วมากไม่ได้ ต้องใช้ความเข้าใจ ใช้กฎหมาย ต้องมีการจัดระเบียบสายการบินใหม่ทั้งหมด วันนี้ก็กำลังทำอยู่
กู้ไจก้าเพิ่ม 1 หมื่นล้าน ลุยรถไฟชานเมือง – ตั้ง “อำพน” เป็นประธานบอร์ด ธปท. อีกสมัย
วันเดียวกันยังมีการประชุม ครม. โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญ อาทิ
พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้กระทรวงการคลังกู้เงินจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) สำหรับดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะที่ 2 วงเงิน 3.8 หมื่นล้านเยน หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท มีระยะเวลากู้เงิน 20 ปี คิดดอกเบี้ย 0.4% ระยะเวลาปลอดหนี้ 6 ปีแรก ถือเป็นกู้เงินจาก JICA งวดที่สอง หลังจากเคยกู้เงินงวดแรก เมื่อปี 2552 วงเงิน 6.3 หมื่นล้านเยน หรือประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้เบิกจ่ายไปจนเกือบครบแล้ว
พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม หลักเกณฑ์ และวิธีการชำระค่าธรรมเนียมสำหรับการประกอบธุรกิจโรงแรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ได้รับผลกระทบจากการขั้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ โดยสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงนี้ คือการลดการเก็บเงินค่าธรรมเนียมสำหรับประกอบธุรกิจโรงแรม จากห้องละ 80 บาท/ปี มาเป็นห้องละ 40 บาท/ปี
พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการเร่งรัด ติดตามเกี่ยวกับกรณีเงินขาดบัญชีหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญ คือการกำหนดให้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) สามารถเรียกเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่มีเงินขาดบัญชีหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตมาตรวจสอบได้ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ต้องรายงานความคืบหน้ากับการเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำเงินขาดบัญชีหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตมายัง สปน. ทุก 4 เดือน ถือเป็นอีกมาตรการในการปราบปรามการทุจริต
พล.ต. สรรเสริญ ยังกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแต่งตั้งให้นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (บอร์ด ธปท.) ต่ออีกวาระ