วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 04, 2558

รายชื่อ 29 ผู้ต้องหา ‘คดี 112’ ในต่างแดน ‘แบล็คลิสต์’ รัฐบาล-คสช.



ที่มา สำนักข่าวอิศรา
วันพุธ ที่ 03 มิถุนายน 2558

เปิดรายชื่อ 29 “ผู้ต้องหา” คดี 112 ในต่างแดน ถูกขึ้นบัญชีดำล่าตัวของรัฐบาล-คสช. ครบ “ชูพงศ์ ถี่ถ้วน เอนก ซานฟราน ปวิณ จรัล ตั้ง อาซีวะ สุดา โกตี๋ ” สเปนยังมี - ประเทศเพื่อนบ้านอื้อ 17 คน


เริ่มมีความเคลื่อนไหวการดำเนินคดีกับ “ผู้ต้องหา” คดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งในประเทศ-นอกประเทศ โดย “พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาคดีความมั่นคงภายในราชอาณาจักร นั่งหัวโต๊ะประชุมสั่งเร่งให้ “หน่วยงานความมั่นคง” เดินหน้านำตัว “ผู้ต้องหา” มาดำเนินคดีให้ได้

เบื้องต้น “สุวณา สุวรรณจูฑะ” อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รายงานว่าได้จัดทำรายชื่อบุคคลเฝ้าระวังในคดีมาตรา 112 ไว้ 3 กลุ่ม

1.คนอยู่ต่างประเทศที่ถูกออกหมายจับ
2.คนที่อยู่ในประเทศซึ่งเป็นกลุ่มเฝ้าระวัง
3.บุคคลที่กำลังติดตามพฤติกรรม

ทว่า “บิ๊กต๊อก” ให้ความสำคัญกับการตามตัว “ผู้ต้องหา” ที่หลบหนีอยู่ต่างประเทศมากที่สุด เพราะถือเป็นภัยความมั่นคงที่รัฐบาลต้องจับตา จึงสั่งการให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวรวบรวมข้อมูลส่งต่อให้ “กระทรวงการต่างประเทศ” ดำเนินการประสานงานทางการทูตกับประเทศที่ “ผู้ต้องหา” ใช้เป็นพื้นที่หลบหนี โดยกำชับให้รวบรวมข้อมูลให้เน้นที่สุด เพื่อไม่ให้เสียเวลา

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูล “ผู้ต้องหา” คดีหมิ่นสถาบัน มาตรา 112 พร้อมประเทศที่ใช้หลบหนีจาก “หน่วยงานความมั่นคง” ที่คอยติดตามความเคลื่อนไหวของ “ผู้ต้องหา” คดีดังกล่าวมาเปิดเผย โดยมีรายชื่อชงเข้าสู่ที่ประชุมว่า ขณะนี้มีผู้กระทำผิดตามคดีความมั่นคง มาตรา 112 ที่หลบหนีอยู่ต่างประเทศ จำนวน 31 ราย ซึ่งเป็นการกระทำความผิดในการกล่าวพาดพิงสถาบันฯ และวิจารณ์สถาบันฯผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีรายชื่อดังนี้

สหรัฐอเมริกา : 5 ราย ประกอบด้วย

1.นายชูพงศ์ ถี่ถ้วน
2.นายเสน่ห์ ถิ่นแสน หรือเพียงดิน 
3.นายมนูญ ชัยชนะ หรือเอนก ซานฟราน 
4.นายริชาร์ด สายสมร 
5.นายจุติเทพ (เลอพงษ์) วิไชยคำมาตย์ หรือโจ กอร์ดอน

ออสเตรเลีย : 1 ราย คือนายองอาจ ธนกมลนันท์

ญี่ปุ่น : 1 ราย คือนายปวิณ ชัชวาลพงศ์พันธ์

ฝรั่งเศส : 1 ราย คือนายจรัล ดิษฐาภิชัย

นิวซีแลนด์ : 1 ราย คือนายเอกภาพ เหลือรา หรือตั้ง อาซีวะ

สเปน : 1 ราย คือนายอิมิลิเอ เอสเทแบบ

ฟินแลนด์ : 1 ราย คือนางจรรยา ยิ้มประเสริฐ

แคนาดา : 1 ราย คือพ.ต.อ.หญิง ณหทัย ตัญญะ

กัมพูชา : 3 ราย ประกอบด้วย 
1.นายพิษณุ พรหมศร 
2.นายจักรภพ เพ็ญแข 
3.นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

สปป. ลาว : 14 ราย ประกอบด้วย

1.นายศรัญ ฉุยฉาย หรืออั้ม เนโกะ (พยายามขอลี้ภัยไปยังประเทศฝรั่งเศส) 
2.นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสร หรือสุรชัย แซ่ด่าน 
3.นายอิทธิพล สุขแป้น หรือดีเจเบียร์ 
4.นายวัฒน์ วรรลยางกูร 
5.พุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ 
6.นายชูชีพ ชีวสุทธิ์ หรือชีพ ชูชัย 
7.นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล 
8.นายพิพัฒน์ พรรณสุวรรณ 
9.นายนิธิวัต วรรณศิริ 
10นายธกฤ โยนกนาคพันธุ์ 
11นายชัยอนันต์ ไผ่สีทอง 
12.นายไตรรงค์ สินสืบวงศ์ 
13.นางสุดา รังกุพันธ์ หรืออาจารย์หวาน 
14.นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

ทั้งหมดเป็น“ผู้ต้องหา” ถึงที่สุดก็ต้องสู้ข้อเท็จจริงกันต่อไป

ooo


ความเห็นคุณจรรยา ยิ้มประเสริฐ ต่อข่าว...

ข้อมูลเก่าไปและช้าไปแล้วนะต๋อย
ส่วนใหญ่พวกเราได้รับสถานภาพผู้ลี้ภัย
และย้ายไปประเทศที่สองที่สามกันตั้งแต่ปีมะโว้แล้วครับผม!

อ้อ และที่แถกับประเทศต่างๆ ที่รับผู้ลี้ภัยชาวไทย
ว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ลี้ภัยการเมือง
แถจนสีข้างเลือดกระฉูด ก็ไม่เป็นผลนะครับ
เพราะขอบเขตการรับผู้ลี้ภัยนั้น
คำนึงถึงความปลอดภัยและการจะไม่ได้รับความยุติธรรมที่ประเทศบ้านเกิดเป็นหลัก

และผู้ลี้ภัยทุกคนที่ถูกพวกทหารล่าราวกับอาชญากรร้ายเหล่านี้
ไม่มีทางได้รับความยุติธรรมที่บ้านเกิดอย่างแน่นอนอยู่แล้ว
ยังไงๆ ก็ส่งคืนให้ประเทศไทยไม่ได้ครับ

แค่ขยับทำท่าจะส่ง ประเทศนั้นๆ ก็ถูกนานาชาติประณามแล้วล่ะ

ทหารอย่าขยันสร้างภาพขึงขัง
เพื่อกลบความไร้น้ำยาในการบริหารประเทศ
ด้วยการประกาศข่าวไล่ล่าพวกเราเลย
ใครๆ ก็รู้ว่ามันพฤติกรรมที่ทุเรศมากๆ ครับ!

ooo

กต.ไล่บี้ผู้ต้องหา ม.112 ชี้เป็นคดีอาญาไม่ใช่การเมือง เริ่มประสานงานต่างประเทศแล้ว

Wed, 2015-06-03 19:34
ที่มา ประชาไท

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาคดีความมั่นคงในราชอาณาจักร หรือคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กล่าวถึงความคืบหน้าในการติดตามผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในต่างประเทศว่า ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศเองรอให้มีความชัดเจนในการทำเรื่องจากฝั่งอัยการ เพราะหากจะให้กระทรวงต่างประเทศดำเนินการต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้องก่อนคือ ตำรวจจะต้องแจ้งอัยการ จากนั้นส่งมายังกระทรวงการต่างประเทศ ทราบว่าขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นเมื่อไม่นานมานี้ทางอัยการได้แจ้งมาแล้วจำนวน 1 ราย และได้มีการประสานไปยังประเทศนั้นๆ แล้ว แต่ไม่ขอบอกว่าเป็นประเทศอะไร ทั้งนี้ ในการประสานกับต่างประเทศเราจะมีการให้ข้อมูลด้วยว่า มาตราดังกล่าวเป็นกฎหมายอาญา ไม่ใช่เรื่องการเมือง

ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวโน้มมีโอกาสจะติดตามคนเหล่านี้กลับมาได้หรือไม่ ดอน กล่าวว่า ไม่สามารถพูดได้ในตอนนี้ เพราะอยู่ในขั้นตอนของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ที่มา : มติชนออนไลน์