(คลิปโดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว) 4 มิถุนายน 58 ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ(FCCT) อาคารมณียา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จ...
Posted by Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว on Thursday, June 4, 2015
(คลิปโดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว) ข้อเรียกร้อง 3 ข้อจากศูนย์ทนายความฯ4 มิถุนายน 58 ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ(FCCT) อาคารมณ...
Posted by Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว on Thursday, June 4, 2015
(คลิปโดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว) สัมภาษณ์ "รังสิมันต์ โรม" นักศึกษานิติศาสตร์ มธ. หนึ่งในสี่นักศึกษา(จำนวนล่าสุด4มิ.ย.)ผู้ได้รั...
Posted by Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว on Thursday, June 4, 2015
https://www.facebook.com/300084093490011/videos/vb.300084093490011/460510157447403/?type=2&theater
ooo
รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หนึ่งปีหลังการรัฐประหาร 2557:
กระบวนการยุติธรรมลายพราง ภายใต้ คสช.
(๔ มิ.ย. ๒๕๕๘)
ลิงค์ดาวน์โหลด pdf ได้ ที่นี่
Credit ประชาไท
ที่มา ประชาไท
Thu, 2015-06-04
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนถูกเจ้าหน้าที่สั่งห้ามจัดแถลงข่าว สุดท้ายเหลือเพียงการชี้แจงทูตและตอบข้อซักถามนักข่าว พร้อมแจกรายงานฉบับเต็ม ระบุ 1 ปีประชาชนถูกละเมิดตั้งแต่สิทธิการแสดงออกยันปัญหาปากท้อง เวทีเสวนาถูกปิดอย่างน้อย 71 เวที
4 มิ.ย. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ส่งอีเมลถึงสื่อมวลชน เผยแพร่รายงาน “รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หนึ่งปีหลังการรัฐประหาร 2557” ชี้ทหารไม่ใช่คนกลาง 1 ปีที่ผ่านมา ทำประชาชนถูกละเมิดสิทธิตั้งแต่การแสดงออกขั้นพื้นฐาน จนไปถึงห้ามเรียกร้องปัญหาปากท้อง ชาวบ้านถูกปิดกั้นการมีส่วนร่วมในประเด็นที่ตนได้รับผลกระทบ ทั้งแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบตั้งแต่การควบคุมตัวจนไปถึงการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร เน้นแก้ปัญหาโดยปรับทัศนคติประชาชนให้ตรงกันทหาร สร้างกระบวนการยุติธรรมลายพราง (อ่านรายละเอียดด้านล่าง)
คนทยอยเข้าฟังรายงานสถานการณ์สิทธิ ทนายใช้วิธี 'เดินพูดตามโต๊ะ'
ทั้งนี้ ตามกำหนดการเดิมศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเตรียมจัดแถลงข่าวเผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน 1 ปีหลังรัฐประหารในเย็นวันนี้ (4 มิ.ย.) ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) แต่ในช่วงเที่ยงมีหนังสือจากพันตำรวจเอก พรชัย ชลอเดช ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ขอความร่วมมือให้พิจารณางดการจัดเวทีสาธารณะ ทำให้ทาง FCCT เจ้าของสถานที่ต้องขอให้ยกเลิกงานดังกล่าว
เวลาประมาณ 17.45 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้งานแถลงข่าวจะถูกประกาศยกเลิก แต่ยังคงมีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตต่างๆ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศทยอยเดินทางเข้ามารอรับฟังรายงาน
รายงานจากพื้นที่แจ้งว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบราว 10 นายเฝ้าดูสถานการณ์ที่ชั้นล่างของอาคาร ขณะที่เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบราว 10 นายอยู่ในห้องแถลงข่าว ส่วนผู้เข้าร่วมงานรวมแล้วกว่า 20 คน เวลา 18.00 น. โจนาธาน เฮด ประธาน FCCT ได้แจ้งว่า การแถลงข่าวและเสวนาถูกยกเลิกแล้ว แต่สามารถใช้วิธีสื่อสารแบบไม่เป็นทางการ โดยคนจากศูนย์ทนายฯ จะเดินแจกรายงานพร้อมทั้งพูดคุยกับผู้ที่มารับฟังได้ตามโต๊ะต่างๆ (ในห้องแถลงข่าวแบ่งเป็นโต๊ะกลมหลายโต๊ะ) แต่ขอความร่วมมือห้ามถ่ายภาพ หากต้องการถ่ายภาพต้องเดินออกไปถ่ายภาพภายนอกห้องแถลงข่าว
จากนั้นไม่นานตัวแทนทนายความได้ออกมานอกห้องแถลงข่าวเพื่อตอบคำถามผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศที่รอเฝ้าอยู่ด้านหน้า มีการสอบถามทั้งประเด็นเนื้อหารายงานและความรู้สึกต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า รู้สึกอย่างไรที่การรายงานสถานการณ์สิทธิจัดไม่ได้หลังรัฐประหารมาแล้ว 1 ปี เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความฯ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเรื่องตลกร้าย เพราะ 1 ปีแล้วสถานการณ์ควรจะดีขึ้น แต่มันกลับไม่เป็นเช่นนั้น เหมือนเป็นทางตัน
นักข่าวต่างชาติถามว่า รู้สึกกังวลแค่ไหนกับการมาแถลงวันนี้ เยาวลักษณ์กล่าวว่าที่เราพูดทั้งหมดเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ไทยรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศหลายฉบับ สิ่งที่ศูนท์ทนายฯ มาพูดวันนี้เป็นประเด็นหลักการสากล แต่หากจะผิดกฎหมายก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร
ทั้งนี้ ปลายปี 2557 การแถลงข่าวรายงานสถานการณ์สิทธิของศูนย์ทนายฯ ก็ถูกเจ้าหน้าที่สั่งห้ามจัดเช่นกัน
นอกจากนี้ศูนย์ทนายยังได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงสถานการณ์ที่ถูกปิดกั้นเวทีแถลงข่าว (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบ) โดยระบุว่า การกระทำดังกล่าวยิ่งเป็นการตอกย้ำสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ได้กระทำการในลักษณะนี้มาตลอดระยะเวลา 1 ปี จากการวบรวมข้อมูลพบว่ามีเวทีเสวนาที่ถูกปิดหรือมีการแทรกแซงการจัดการแล้วอย่างน้อย 71 เวที เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและวางรากฐานประชาธิปไตยในระยะยาว
0000
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หนึ่งปีหลังการรัฐประหาร 2557 โดยนำเสนอใน 5 ประเด็น ได้แก่ (รายงานฉบับเต็มอยู่ในไฟล์แนบด้านล่าง)
1. การแสดงออกภายใต้สถานการณ์ความไม่มั่นคงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ – พบว่าประชาชนอย่างน้อย 751 ถูกเรียกรายงานตัว ซึ่งอย่างน้อย 5 รายถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ต่อ ด้านเสรีภาพการชุมนุมพบว่ากิจกรรมและเวทีเสวนาที่ถูกปิดหรือแทรกแซงอย่างน้อย 71 งาน มีข้อกังวลเรื่องการควบคุมประชาชนโดยปราศจากอำนาจ โดยนำมาลงบันทึกประจำวัน ซึ่งเป็นการคุกคามและสร้างความหวาดกลัว ด้านการใช้มาตรา 112 ประชาชนถูกดำเนินคดีไปแล้ว 67 ราย โทษจำคุกมาตรฐานศาลทหารอยู่ที่กรรมละ 10 ปี สูงกว่าศาลพลเรือน โดยส่วนใหญ่แล้วถูกดำเนินคดีจากการโพสเฟซบุ๊ค แชร์คลิป
2. ยุติธรรมลายพราง กฎอัยการศึกและการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร – พบประชาชน 18 รายร้องเรียนต่อศูนย์ทนายฯ ถึงการซ้อมทรมานระหว่างถูกควบคุมตัว ด้านการใช้ศาลทหารกับพลเรือน ประชาชน 700 รายถูกพิจารณาโดยศาลทหาร ซึ่งศูนย์ทนายฯกังวลถึงความเป็นกลางของตุลาการ การไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ และกระบวนพิจารณาคดีที่ต่างไปจากปกติ แม้จะมีการยกเลิกกฎอัยการศึก แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ยังให้ทหารเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งขัดกับหลักนิติรัฐ
3. การใช้อำนาจโดยปราศจากความรับผิดตามมาตรา 44 – ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งแล้ว 18 ฉบับ ทั้งการแก้ไขกฎหมาย บริหารบุคคลและรักษาความสงบ โดยให้ทหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ในการป้องกัน ปราบปราม จับกุมและสอบสวนในคดีต่างๆ ซึ่งมาตราดังกล่าวให้อำนาจหัวหน้า คสช. อย่างกว้างขวางโดยปราศจากความรับผิดทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ไม่มีผู้ใดฟ้องร้องได้ อันก่อให้เกิดการผลิตซ้ำวัฒนธรรมการลอยนวลของผู้กระทำความผิด อีกทั้งยังมีการนิรโทษกรรมตนเอง อันเป็นการธำรงวัฒนธรรมการลอยนวลของผู้กระทำความผิดให้หยั่งลึกลงอีกในสังคมไทย
4. ทรัพยากรที่ถูก “บุกรุก” – พบว่าคำสั่ง คสช. 64/2557 และแผนแม่บทป่าไม้ มุ่งใช้กับการจับกุมประชาชน ไล่รื้อที่ดิน สร้างผลกระทบต่อผู้ยากจนและผู้ไร้ที่ดินทำกิน เอื้อประโยชน์นายทุน มาตรการต่างๆละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เน้นใช้ปราบปรามและใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด โดยในสนใจบริบททางประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรมของชุมชน โดย สตช. แถลงจับกุมผู้ต้องหา 1,622 คน ซึ่งขั้นตอนการจับกุมและดำเนินคดีล่วนสร้างความหวาดกลัวกับชาวบ้าน เช่น การเข้าตัดฟันทำลายพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งรื้อถอนบ้านเรือนของประชาชน การรัฐประหารจึงเป็นการฉวยใช้อำนาจและโอกาสในการทำลายอำนาจต่อรองของประชาชนและให้เอื้อประโยชน์กลุ่มทุน
5. ความยุติธรรมที่ยังมาไม่ถึง: การแทรกแซงกระบวนการสืบหาข้อเท็จจริงและการดำเนินคดีต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุม เดือนเมษา-พฤษภา 2553 – ภายหลังการรัฐประหาร ศูนย์ทนายฯ ได้รับแจ้งจากกลุ่มผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ปี 2553 ว่ามีจดหมายจากกรมสอบสวนคดีพิเศษส่งถึงที่บ้านเพื่อเรียกเข้าให้ปากคำในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและผู้คุมกำลังในเหตุการณ์ปี 2553 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงใหม่ กรณีที่เกิดขึ้นจึงมีข้อกังวลว่าจะสามารถสอบสวนได้อย่างเป็นธรรม ในฐานะคนกลางหรือไม่
โดยสรุป ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า แม้ คสช. จะพยายามเข้ามาเป็นตัวกลางในการแก้ปัญหาต่างๆ แต่นับแต่ปี 53 เป็นต้นมา กองทัพกลับเป็นคู่ขัดแย้งของประชาชน ทั้งการสลายการชุมนุม การจับกุม ไล่รื้อที่ การปรับทัศนคติ โดยเน้นให้ตรงกับ คสช. และการใช้เครื่องมือคือศาลทหารในการตัดสินประชาชน อันถือเป็นกระบวนการยุติธรรมลายพราง ซึ่งไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริง
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงยืนยันให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ
1. ยกเลิกและยุติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร
2. ยกเลิกและยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557
3. ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาจากประชาชน และจัดให้มีการเลือกตั้ง คืนอำนาจสู่ประชาชนโดยเร็ว
ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสทธิมนุษยชน
แถลงการณ์ชี้แจง
การคุกคามการจัดเวทีสาธารณะเผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหนึ่งปีหลังรัฐประหาร
ตามที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้วางแผนจัดเวทีสาธารณะเพื่อเผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหนึ่งปีหลังรัฐประหารในวันที่ 4 มิถุนายน 2558 เวลา 18.00 น. ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) แต่วันนี้ (4 มิ.ย.58) เวลาประมาณ 12.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งจากทาง FCCT ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประสานงานขอความร่วมมือไม่ให้ใช้สถานที่จัดกิจกรรมดังกล่าว
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นคุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามข้อ 19 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งบุคคลมีสิทธิในการแสดงความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และบุคคลมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงสิทธิที่จะแสวงหารับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท
ทั้งนี้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการปกครองระบอบประชาธิปไตย นอกจากการกระทำดังกล่าวยิ่งเป็นการตอกย้ำสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐยังคงจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนโดยข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีทางกฎหมาย โดยที่หากมีการละเมิดกฎหมายดังกล่าวพลเรือนจะต้องถูกดำเนินคดียังศาลทหาร อันเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอยืนยันว่าว่าพฤติการณ์ดังกล่าวซึ่งเจ้าหน้าที่ได้กระทำมาตลอดระยะเวลาหนึ่งปีมีเวทีเสวนาที่ถูกปิดหรือมีการแทรกแซงการจัดการแล้วอย่างน้อย 71 เวที เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและวางรากฐานประชาธิปไตยในระยะยาว
ด้วยความเคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ooo