วันพฤหัสบดี, มีนาคม 05, 2558

เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ที่กำลังร่างๆ กันอยู่นี้จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ “อัปลักษณ์” ที่สุดและจะมี “อายุสั้น” ที่สุดของประเทศไทย




รัฐธรรมนูญฉบับที่ ‘มองไม่เห็นหัวคน’

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

ผมเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ที่กำลังร่างๆ กันอยู่นี้จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ “อัปลักษณ์” ที่สุดและจะมี “อายุสั้น” ที่สุดของประเทศไทย

ด้วยเหตุผลนานัปการ แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดคือการที่มองเห็นคนไม่เท่ากันหรือมองไม่เห็นหัวคนนั่นเอง

นับแต่เรามีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 19 ฉบับ ซึ่งสามารถแบ่งประเภทตามเจตนารมณ์ของการร่างได้ 2 ประเภทคือ

1) ฉบับชั่วคราว ซึ่งมาจากการปฏิวัติรัฐประหารเพื่อจัดให้มีฉบับถาวรต่อไป โดยส่วนใหญ่จะใช้ชื่อว่า “ธรรมนูญ” หรือมีคำว่า “ชั่วคราว” ประกอบ เช่น ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 หรือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เป็นต้น

2) ฉบับถาวร ซึ่งผลสืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหรือยกร่างใหม่ทั้งฉบับอันเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเดิมให้อำนาจไว้ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งร่างใหม่ทั้งฉบับโดยอาศัยอำนาจจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 เป็นต้น

อายุการใช้งานของรัฐธรรมนูญไทย

1) สั้นที่สุด คือ ฉบับที่ 1 พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 อายุการใช้งานเพียง 5 เดือน 13 วัน (27 มิ.ย.-10 ธ.ค.2475) มี 39 มาตรา

2) ยาวที่สุดคือฉบับที่ 7 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ซึ่งถึงแม้จะอยู่ในประเภทรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแต่ก็มีอายุการใช้งาน 9 ปีกับอีก 5 เดือนเต็ม มีเพียง 20 มาตรา หนึ่งในนั้นคือมาตรา 17 ที่ให้อำนาจพิเศษให้แก่นายกรัฐมนตรีในอันที่จะสั่งการหรือกระทำการใดๆ ก็ได้ เช่น การสั่งให้ประหารชีวิตหรือยึดทรัพย์สินใครก็ได้ ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันแปลงร่างมาเป็นมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 นั่นเอง

ฉบับที่ดีที่สุด

ยังไม่มี แต่พออนุโลมได้ว่า ฉบับที่ 10 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 และ ฉบับที่ 16 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 น่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีใกล้เคียงกันเพราะปรากฏบทบัญญัติที่เปลี่ยนแปลงไปในทางก้าวหน้าและเป็นแบบเสรีประชาธิปไตย กอปรกับอาศัยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนประกอบการร่างอย่างจริงจังด้วย

ฉบับที่อัปลักษณ์ที่สุด

ถ้าไม่นับช่วงระยะเวลา 101 วัน คือ 20 ตุลาคม 2501 ถึง 28 มกราคม 2502 ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีรัฐธรรมนูญปกครองแผ่นดิน แต่ใช้ประกาศคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์เป็นกฎหมายปกครองบ้านเมืองแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับที่อัปลักษณ์ใกล้เคียงกันก็น่าจะเป็น ฉบับที่ 7 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ,ฉบับที่ 9 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ,ฉบับที่ 11 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519, ฉบับ 12 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 และ ฉบับที่ 19 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่ต่างก็ให้อำนาจพิเศษแก่หัวหน้าคณะรัฐประหาร (ไม่ว่าจะใช้ชื่อใดก็ตาม) มีอำนาจล้นฟ้าล้นแผ่นดิน

เมื่อหันมาดูร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นในด้านวิธีการที่ได้มาของกรรมาธิการร่างซึ่งสั่งตรงมาจากต้นกำเนิดของแม่น้ำห้าสาย (ไม่ใช่แม่น้ำห้าสายมารวมกันนะครับ) และเนื้อหาที่พิลึกพิลั่น พิสดารพันลึก ทั้งการปะผุจากของเก่า ทั้งการเอาขนมมาผสมน้ำยา ทั้งถอยหลังเข้ารกเข้าพง เช่น นายกฯไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง, ส.ว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่เพิ่มอำนาจจนใหญ่คับบ้านคับเมือง ซึ่งนอกจากเสนอกฎหมายโดยเริ่มจากวุฒิสภาได้เองแล้วยังสามารถแทรกแซงฝ่ายบริหารโดยมีหน้าที่ตรวจสอบรัฐมนตรีก่อนเข้าสู่ตำแหน่งอีกด้วย, ส่วน ส.ส. นั้นเล่าก็ไปลอกระบบการเลือกตั้งจากเยอรมันแต่ลอกมาไม่หมด

ทั้งยังจินตนาการว่าถ้าคนดีซะอย่างทุกอย่างก็จะดีเอง เช่น การตั้งสมัชชาคุณธรรม (คุณ- น่ะ-ทำ แต่ ผม-ไม่-ทำ) แห่งชาติ ที่มีอำนาจล้นฟ้า (จริงๆ ถ้าทำได้ก็น่าจะดีนะครับโดยกำหนดคุณสมบัติขั้นต่ำต้องเป็นพระอนาคามีหรือเทียบเท่าขึ้นไปสำหรับศาสนิกอื่น ส่วนการเป็นพระอรหันต์นั้นเอาไว้ให้เป็นคุณสมบัติของกรรมการสรรหาเสีย), การยุบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินเข้ากับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกลายเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ทั้งๆ ที่โครงสร้างเดิมภารกิจและอำนาจหน้าที่คนละเรื่องกัน หรือ การล็อกหลายชั้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยแทบจะไม่มีความเป็นไปได้ในการแก้ไขตามวิถีทางปกติ อีกทั้งยังให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งๆ ที่โดยลักษณะของการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมันต้องขัดกับรัฐธรรมนูญเดิมในตัวเองอยู่แล้ว ไม่งั้นจะไปแก้ไขให้เมื่อยตุ้มทำไม ฯลฯ

จากวิธีการและเนื้อหาที่ย้อนยุคและมองว่าคนเราไม่เท่ากันอีกทั้งยังเอื้อประโยชน์แก่ผู้คนบางกลุ่มบางเหล่าและมีแนวโน้มที่เป็นการปกครองในรูปแบบของรัฐราชการที่ล้าหลัง งุ่มง่าม และสืบทอดอำนาจแล้ว ผมเชื่อว่าไม่ช้าก็เร็วก็ต้องมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อมีการประกาศใช้ไปแล้ว

วิธีการยกเลิกรัฐธรรมนูญมีอยู่ 2 วิธี คือ

1) การยกเลิกโดยวิถีทางรัฐธรรมนูญ เหมือนเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต แต่เมื่อดูจากเนื้อและวิธีการแก้ไขที่วางหมากไว้แล้วทำได้ค่อนข้างยากถึงยากที่สุด แต่ก็เป็นไปได้หากประชาชนเกือบทั้งประเทศเอาด้วยเมื่อเห็นว่าหากขืนดันทุรังใช้ต่อไปจะทำให้ประเทศล่มจมลง

2) การยกเลิกนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปฏิวัติ (revolution) อันเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ เช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส ปฏิวัติรัสเซีย หรือการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ของไทย เป็นต้นหรือเป็นผลมาจากการรัฐประหาร (coup หรือ putsch) ที่ไม่ว่าจะใช้ชื่อใดก็ตาม เช่นคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม หรือคณะปฏิรูป คณะรักษาความสงบ ฯลฯซึ่งสำหรับเมืองไทยเราแล้วโอกาสที่จะไม่เกิดการยกเลิกนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญมีค่าเป็นศูนย์เพราะสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพียงแต่ว่าจะเกิดจากการปฏิวัติโดยประชาชนหรือการรัฐประหารโดยกองทัพเท่านั้นเอง

ผมไม่คิดว่าระยะเวลาที่เหลือนี้จะทำให้เกิดการแก้ไขปรับปรุงหลักการหรือเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับนี้ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงจาก ครม. คสช.หรือ สปช. คงเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และก็คงเข็นกันออกมาจนได้ แล้วเราก็คงได้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ “อัปลักษณ์” ที่สุด และ “อายุสั้น” ที่สุดเพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่มองไม่เห็นหัวคน นั่นเอง