วันศุกร์, มีนาคม 06, 2558

ชี้หนี้ครัวเรือนรวมกู้นอกระบบ พุ่งเกิน100%เข้าขั้น"ล้มละลาย"




ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
04 มี.ค. 2558

ซิตี้แบงก์ชี้หนี้ครัวเรือนไทยน่าห่วง 7 ปี โตเฉลี่ยปีละ 15% หวั่นพุ่งแตะ100% ของจีดีพี เสี่ยงชาวบ้านล้มละลาย ไร้ฟูกรองรับ เหตุอัตราการออมลดฮวบเหลือ 1.2% จาก 10 ปีก่อนสูง 20% แนะรัฐเร่งแก้ปัญหาเพิ่มเงินออม

นายดาเรน บัคลีย์

กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ เปิดเผยว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยเติบโตขึ้นอย่างมากในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา (2551-2557) จากระดับ 55.6% ต่อจีดีพี เพิ่มเป็น 85% ต่อจีดีพี (หรือประมาณ 12 ล้านล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ การกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ และการลดเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อและการแข่งขันด้านสินเชื่อของสถาบันการเงิน ถือเป็นขั้นวิกฤตที่กระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคได้ และที่สำคัญในระยะ 2-3 ปีข้างหน้ายังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 89% และหากยังไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ระดับหนี้ครัวเรือนไทยมีโอกาสทะลุระดับ 100% ได้

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ตามมาในขณะนี้คือ อัตราการผิดนัดชำระหนี้เริ่มเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อบุคคลที่น่าเป็นห่วงเพิ่มจากระดับ 2.7% ในปี 2554 เป็น 4.7% ในปี 2557 ขณะที่อัตราผิดนัดชำระหนี้ในกลุ่มบัตรเครดิต สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่อัตราการออมกลับปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

"หนี้ครัวเรือนไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 15% มาตั้งแต่ปี 2553 ยกตัวอย่างสินเชื่อบุคคลโตขึ้นมากกว่า 18-19% สินเชื่อเช่าซื้อโตขึ้นกว่า 30% ทำให้ปริมาณหนี้ก่อตัวเพิ่มขึ้นมาก แต่อัตราการเติบโตในภาคการออมกลับลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2545-2550 อัตราการออมเฉลี่ยของครัวเรือนไทยอยู่ที่ระดับ 20.2% แต่ในช่วงปี 2551-2553 กลับลดลงมาอยู่ที่ 4.6% ต่อปี และข้อมูลล่าสุดในปี 2555 เหลือแค่ 1.2% ต่อปี นับเป็นสัญญาณเตือนให้ทุกคนและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน"

นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานสถาบันคีนันแห่งเอเซียกล่าวว่า หากนับรวมหนี้นอกระบบเชื่อว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยน่าจะอยู่ในระดับที่เกิน 100% ซึ่งถือเป็นระดับล้มละลายของหนี้ครัวเรือน และจะทำให้เกิดการล้มละลายในภาคประชาชน กลายเป็นปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคต

ทั้งนี้ มูลนิธิซิตี้ร่วมกับสถาบันคีนันฯทำการวิจัยเชิงลึกเรื่อง "รากปัญหาหนี้ครัวเรือน" เป็นโครงการระยะ 3 ปี (2557-2559) ซึ่งในปีแรกเป็นส่วนของการหาสาเหตุของปัญหา พบว่ามีสาเหตุ 3 ประการ ดังนี้ ระดับความรู้ด้านการเงิน ทัศนคติต่อการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคล และความไม่สมดุลของการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และกลุ่มที่มีความน่าเป็นห่วงมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มนักศึกษา กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มแรงงานรายได้ต่ำ (10,000 บาทต่อเดือน)

ส่วนในปีที่ 2 จะเสนอบทวิจัยแก่หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง และร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างจริงจังด้วยการให้ความรู้ทางการเงินที่ถูกต้องกับประชาชนในทุกกลุ่ม ตั้งแต่ระดับการศึกษา วัยทำงาน แม่บ้าน เป็นต้น ในโครงการ "คนไทยก้าวไกลใส่ใจการเงิน"

"การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว และรูปแบบการใช้ชีวิตที่ผู้คนใช้สอยเกินตัวกว่ารายได้ที่หามาได้ในประเทศขณะนี้ จะทำให้เกิดภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว ดังนั้น สิ่งสำคัญคือต้องเริ่มควบคุมการเป็นหนี้ และส่งเสริมการออมให้เกิดขึ้น ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้โครงการภาคบังคับเพื่อให้เกิดการออมจะดีกว่าภาคสมัครใจ เช่น มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่อาจจะไม่เพียงพอ" นายปิยะบุตรกล่าว

ooo

วิกฤตเที่ยวนี้.. จะแก้ยากกว่าปี"40


ที่มา ข่าวสดออนไลน์
04 มีนาคม พ.ศ. 2558

คอลัมน์ เมืองไทย 25 น.

โดย ทวี มีเงิน

หลายคนเริ่มห่วงว่าวิกฤตเศรษฐกิจปีนี้จะหนักกว่าวิกฤตปี 2540 ครั้งนั้นเป็น "วิกฤตหนี้ต่างประเทศ" เกิดจากรัฐบาลมีนโยบายเปิดเสรีการเงินแต่ไปฟิกค่าเงินไว้ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์ สถาบันการเงิน ธุรกิจ แห่กู้หนี้ต่างประเทศ ดอกเบี้ยถูกๆ มาลงทุนเกินตัว ใช้จ่ายกันมือเติบเพราะไม่มีความเสี่ยง

โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ จนเกิด "ฟองสบู่" ธนาคาร ก็กู้หนี้ระยะสั้นมาปล่อยกู้ระยะยาว "กินส่วนต่าง" ดอกเบี้ย เมื่อเศรษฐกิจออกอาการ ส่งออกเริ่มหดตัวแต่นำเข้ายังสูง ต่อเนื่อง รายได้น้อยกว่ารายจ่าย ส่งผล "ขาดดุลบัญชี เดินสะพัด" สูงจนน่าห่วง สถาบันการเงินเริ่มขาดความ เชื่อมั่น รัฐบาลทยอยปิดแบงก์และบริษัทหลักทรัพย์

เมื่อนักเก็งกำไรสบช่องโจมตีค่าเงินบาท เจ้าหนี้เรียก หนี้คืน ส่งผลให้ทั้งภาคธุรกิจและสถาบันการเงินต้องปิดกิจการล้มกันระเนนระนาด จนรัฐบาลต้องเข้าไปพึ่งไอเอ็มเอฟ

วิกฤตคราวนั้นเรียกว่า "วิกฤตคนรวย" แม้โรงงานต้อง ปิดตัว ยังมีภาคเกษตรรองรับชาวบ้านไม่เดือดร้อน ยิ่งรัฐบาลตัดสินใจ "ลอยตัวค่าเงินบาท" ส่งผลให้สินค้าเกษตรกลับได้ราคาดี เกษตรกรชาวไร่ชาวนารากหญ้ามีเงินในกระเป๋ามากขึ้น

ต่างกันลิบลับกับปี 2558 คราวนี้คนระดับรากหญ้าไม่มีเงินในกระเป๋า ผลมาจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำหนักสุดในรอบหลายปีจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันตกต่ำ ทำให้ราคาสินค้าเกษตรไม่ว่าจะเป็นยางพารา มันสำปะหลัง โดยเฉพาะข้าวที่ราคาตกต่ำตั้งแต่ยกเลิกโครงการรับจำนำ แถมยังโดนภาวะฝนแล้งซ้ำเติม ผลผลิตออกมาต่ำกว่าที่คาด กลายเป็นโดน 2 เด้ง

นอกจากนี้ยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนจากโครงการรถคันแรก ทำให้คนชั้นกลาง ข้าราชการ ต้องแบกภาระอีกอย่างน้อย 3 ปี ทั้งหลายทั้งปวงล้วนแต่เป็นตัว "ฉุดกำลังซื้อ" ในชนบทลดต่ำลง คาดว่าไม่น้อยกว่า 30%

ปราฏการณ์นี้สะท้อนจากยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ ที่ไปลงทุนในต่างจังหวัดทยอยม้วนเสื่อกลับบ้าน สินเชื่อแบงก์ชะลอตัว ยอดขายสินค้าอุปโภค แม้แต่มาม่า ยอดขายลดลงอย่างไม่เคยมีมาก่อน

วิกฤตเที่ยวนี้เป็นวิกฤต "คนจน" น่าห่วงว่าจะแก้ยากกว่าวิกฤตปี 2540 ซึ่งเป็นวิกฤต "คนรวย"