ช่วงหนึ่งสัปดาห์จากปลายเดือนมกราคมถึงต้นกุมภาพันธ์ปีใหม่นี้
มีรายงานข่าวของสำนักพิมพ์บลูมเบิร์กธุรกิจสองชิ้นพูดถึงประเทศไทย
ข่าวหนึ่งตามเนื้อหาดูท่าทางจะดี แต่เมื่อพิจารณาผลลัพท์ที่ควรจะได้แล้ว กลับค่อนข้างว่างเปล่า
ไม่ทำให้ตื่นตาเท่าไรนัก
ส่วนอีกข่าวนี่อ่านแล้วเศร้าเอาเลยเชียว
เขากล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา แบบว่า ‘ตกสวรรค์’ ปานนั้น
ข่าวแรกที่อ้างถึงนี้ ตีพิมพ์เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์
ว่าด้วยอัตราการว่างงานในประเทศไทย ผู้เขียน Suttinee Yuvejwattana บอกว่าต่ำที่สุดในโลก
และต่ำมากเสียจนเหลวไหล (ridiculously)
รายงานข่าว 'Thailand's
Unemployment Rate is a Ridiculously Low at 0.6%. Here's Why.'
อ้างถึงอัตราการว่างงานของไทยเมื่อตอนสิ้นปี ๒๕๕๗ ซึ่งอยู่ที่ ๐.๕๖ เปอร์เซ็นต์
จัดว่าต่ำสุดของโลก เทียบกับ ๙.๔ เปอร์เซ็นต์ของอินเดีย กับ ๖
เปอร์เซ็นต์ของฟิลิปปินส์ แล้วดูสดสวยหาที่ติมิได้
ข่าวบอกด้วยว่านี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่สำหรับไทยที่มีอัตราว่างงานต่ำกว่า
๑ เปอร์เซ็นต์ติดต่อกันมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ แถมเคยมีอัตราสูงเพียงครั้งเดียวในปี ๒๕๔๔
เมื่อเริ่มมีการเก็บข้อมูลการว่างงานตามระบบสถิติ แต่นั่นก็สูงแค่ ๕.๗๓ เท่านั้น
(ยิ่งเมื่อเทียบกับอัตราการว่างงานในสหรัฐซึ่งเมื่อเริ่มเข้าสู่เศรษฐกิจกดต่ำ
หรือ recession เมื่อสี่ห้าปีก่อน อยู่ที่ ๑๐
เปอร์เซ็นต์ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย มาบัดนี้ลดเหลือ ๗ เปอร์เซ็นต์
นับว่าฮือฮากันมากเพราะเป็นหนึ่งในสองรัฐที่มีอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างยิ่งยวดในรอบหนึ่งปี
ขณะที่ อัตราเฉลี่ยของทั้งประเทศ
ณ บัดนี้ อยู่ที่ ๕.๖ เปอร์เซ็นต์ ก็ร้องอู้อ้ากันขนานใหญ่แล้ว)
แต่ปัญหาสำหรับตัวเลขว่างงานอันสวยหรูของไทยอยู่ที่
ต่ำจนน่าเกลียดแบบนี้เพราะเหตุใด
โฆษกธนาคารชาติ จิระเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
ชี้ว่าอัตราว่างงานต่ำนี่ไม่ใช่เพราะประเทศไทยมีนิยามในการจัดเก็บข้อมูลไม่เหมือนใคร
(คือเป็นไทยๆ ดังกรณีนิยามความเป็นประชาธิปไตย นิยามคุณธรรมตุลาการ และนิยามเรื่องการคอรัปชั่น,
I
guest) “หากแต่มันเป็นปัญหามาจากโครงสร้าง”
เนื่องจาก “ภาคเกษตรกรรมมักโอบเอาแรงงานเข้าไว้ในอ้อมอก
และผู้ที่ตกงานจะหาทางออกได้ด้วยการเข้าสู่การจ้างงานนอกแบบ (unofficial) หรือหันไปประกอบกิจการของตนเอง”
ทั้งนี้เพราะในประเทศไทยไม่มีระบบประกันการว่างงาน
ผู้ที่ตกงานจึงต้องไขว่คว้าหาอะไรทำแทนในทันใด ไม่ว่าจะเป็นงานนอกเวลา (part
time) หรือว่างานนอกระบบ
ซึ่งล้วนแต่นับรวมเป็นการจ้างงานแล้วทั้งสิ้น
งานนอกระบบในประเทศไทยอาจหมายถึงการเข็นรถขายของ ขับแท็กซี่
ขับมอเตอร์ไซค์ รวมไปถึงงานที่ก้ำกึ่งอยู่ในพื้นที่สีเทาอีกมากมาย เหล่านี้เมื่อปี
๒๕๕๖ เป็นจำนวนถึง ๖๔ เปอร์เซ็นต์ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศ
ที่ซึ่งนับรวมอยู่ในภาคส่วนอัตราสวยงามของการจ้างงานเต็มรูปแบบ
อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานต่ำ
มันเป็นผลมาจากสัดส่วนของประชากร ขณะที่อัตราพันธุกรรมสมบูรณ์ (fertility) (อันเป็นผลต่อไปถึงการเพิ่มแรงงานรุ่นใหม่) อยู่ที่ ๑.๔ เปอร์เซ็นต์
แต่ของฟิลิปปินส์อยู่ที่ ๓.๔ ขณะเดียวกันจำนวนคนสูงวัยพ้นจากการจ้างงานของไทยเพิ่มจาก ๗
เปอร์เซ็นต์ในปี ๒๕๓๗ มาเป็น ๑๕ เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้ว
ชัดแจ้งตามตัวเลขอีกเช่นกันว่า จำนวนคนเข้าสู่ตลาดแรงงานน้อยกว่าจำนวนที่ปลดระวางไป
ไม่อาจช่วยอะไรได้มากนักต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งคาดหมายในปีนี้ว่าจะโตในอัตราต่ำๆ
ระหว่าง ๑ ถึง ๔ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อัตราการว่างงานอันสวยหรู ๐.๖
เปอร์เซ็นต์จึงดู ‘ท่าดี’
ท่วงทีเป็นอย่างไรไว้ลุ้นกันข้างหน้า
จึงมาถึงข่าวที่สองของบลูมเบิร์กที่ (เรา)
ยกเอามาให้พิเคราะห์กัน
ย้อนเวลาถอยไปเพียงเจ็ดวัน บลูมเบิร์กธุรกิจตีพิมพ์ข่าวเกี่ยวกับประเทศฟิลิปปินส์
ที่กระทุ้งอุ้งท้องประเทศไทยเข้าเต็มเปาอย่างช่วยไม่ได้
รายงานข่าวชื่อ 'Move
Over Thailand, the Philippines is Southeast Asia's Strong man.' เขียนโดย Rina Chandran และ Sharon Chen
บอกว่าฟิลิปปินส์ไม่ใช่ ‘คนป่วยแห่งเอเซีย’
อีกต่อไป เนื่องจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (ปีนี้ ๖.๙) เกิน ๖
เปอร์เซ็นต์ติดต่อกันเป็นปีที่สาม
กระแทกประเทศไทยตกเก้าอี้จากที่เคยนั่งแท่น ‘โตเอาๆ’ ของเอเซียอาคเนย์ไปอย่างไม่เป็นท่า
ข่าวชี้ว่าในปี ๒๕๔๙ ไทยกับฟิลิปปินส์มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเคียงไหล่กันเด๊ะ
แต่เศรษฐกิจไทยมีอันต้องล้มลุกคลุกคลานนับแต่มีการรัฐประหารในปีนั้น ซ้ำมีอาการตัวร้อนรุมๆ
ของการเมืองต่อเนื่องเรื่อยมา ผสมกับวินาศกรรมน้ำท่วมปี ๒๕๕๔
อุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วน (manufacturing) หงายหลังแล้วยังกระโผลกกระเผกมาจนบัดนี้
โดยที่ทางฟิลิปปินส์กลับเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง
เมื่อปีที่แล้วดัชนีความแข็งขันในการผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ
ของไทยตามเกณฑ์ของภาคีเศรษฐกิจโลก ตกจากอันดับ ๓๓ ไปอยู่ที่ ๖๗
แต่ว่าฟิลิปปินส์กลับไต่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเพิ่มพูนปริมาณสินค้าส่งออกเฮือกขึ้นเหนือกว่า
๑๒ เปอร์เซ็นต์ ทั้งประเภทชิ้นส่วนอีเล็คโทรนิคและสิ่งทอ
(ซึ่งเคยเป็นหน้าตาของไทยในด้านเอ็กซ์ปอร์ต)
ไม่แต่เท่านั้นปัจจัยสำคัญของการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการกระตุ้นการจับจ่ายภายในประเทศ
ให้เกิดวงจรหมุนเวียนท่ามกลางสภาพซบเซาอันเนื่องมาแต่ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก
เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์จากผลของการขยายตัวทางการผลิตและการจ้างงาน
(วัฏจักรทางเศรษฐกิจพื้นฐาน ตามทฤษฎีคีย์สเช่นนี้ไม่เกิดในประเทศไทย
เพราะมีขบวนการประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้สมกับที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
หรือชื่อย่อว่า กปปส. ที่ขณะนี้พากันย้ายที่ส้องสุมไปอยู่สวนโมกข์ ได้ทำการ Shutdown Bangkok ด้วยความรุนแรงต่างๆ
จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารดังตั้งใจ)
และอีกเช่นกัน นอกจากรายงานข่าวจะบอกว่าเศรษฐกิจไทยล้มแล้วลุกไม่ขึ้นหลังจากโดนรัฐประหารกระแทก
ยังมีปัจจัยเรื่องความแข็งขันเนื่องจากวัยของ ‘คน’ ในตลาดแรงงานเข้ามาเกี่ยวข้องอีก ให้ต้องหงอยหงอทางเศรษฐกิจต่อไปไม่รู้จะนานแค่ไหน
หรืออย่างน้อยไล่ไม่ทันฟิลิปปินส์ไปพักใหญ่
ตามรายงานของกองทุนประชากรสหประชาชาติ
เมื่อปีที่แล้วฟิลิปปินส์มีประชากรในวัยทำงานอายุ ๑๐- ๒๔ ปี อยู่ถึง ๓๑
เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ไทยมีอยู่แค่ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ บวกกับอัตราพันธุกรรมสมบูรณ์ในไทยที่ลดน้อย
เหลือแค่ ๑.๔ เปอร์เซ็นต์ด้วยแล้ว
ไทยอาจกลายเป็นประเทศที่โตช้ากว่าใครในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ไปอีกนาน
ธุรกิจคึกคักในฟิลิปปินส์ |
รวมความว่าข่าวบลูมเบิร์กทั้งสองชิ้นกล่าวถึงประเทศไทยทางเศรษฐกิจในท่วงท่าที่เคย
‘ดี’ มาแล้วไม่น้อย หากแต่เนื้อแท้ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ล้วนเห็นภาพ
‘ทีเหลว’ แทบทั้งสิ้น
ไม่แต่เท่านั้นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยง่อยเปลี้ย ปัจจัยน่าคิดอยู่ที่ชักจะมีคนพ้นวัยทำงานไม่กระปี้กระเปร่ามากไปหน่อยแล้ว
จริงไหม
ครั้นจะให้ผู้ที่กุมอำนาจบ้านเมืองอยู่ขณะนี้มาตอบ หรือแม้แต่รับฟังคงยาก
เพราะคณะผู้นำเหล่านี้ล้วนพ้นหรือใกล้วัยเกษียณกันทั้งนั้น ยิ่งพวกปูชนียะวัยทองที่มักออกมาสอนสั่งประชากร
นั่นล้วนแต่ชอบมองย้อนหลังไปไกลลับ ให้กลับกลายเป็นสิ้นหวังทั้งเพบ่อยไป