วันพุธ, กุมภาพันธ์ 04, 2558

4 องค์กรประชาสังคมยื่น กมธ.รัฐธรรมนูญ สนช. สปช. ทบทวนชุดกฎหมาย “ความมั่นคงดิจิทัล”


ที่มา Thainetizen
2015.02.03

วันนี้ (3 ก.พ. 2558) เมื่อเวลา 10.30 น ณ อาคารรัฐสภา นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล ประธานมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมืองพร้อมด้วยองค์กรเครือข่าย สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน, มูลนิธิโลกสีเขียว, และสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นายมณเฑียร บุญตัน คณะกรรมาธิการการสื่อสารมวลชน การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสารสนเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ, นายจุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พร้อมด้วย นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้มีการพิจารณา ทบทวน และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป ต่อชุดร่างกฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิทัล”

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กล่าวถึงเหตุผลในการยื่นจดหมายให้กับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการปฏิรูปแห่งชาติและสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันนี้ว่า เนื่องจากชุดกฎหมายชุดนี้ไม่ใช่กฎหมายทั่วไปที่ว่าด้วยการทำงานของรัฐ แต่เป็นกฎหมายเชิงโครงสร้างและเชิงปฏิรูปที่จะยกเครื่องการทำงานด้านทรัพยากรคลื่นความถี่ การสื่อสารโทรคมนาคมต่างๆ รวมทั้งยังเป็นการวางรากฐาน “เศรษฐกิจดิจิทัล” เป็นครั้งแรก ดังนั้นสภาปฏิรูปหรือฝ่ายต่างๆ ควรรับรู้และหาทางแก้ไข ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสี่ยงในการบริหารประเทศ

ขณะเดียวกัน การที่สาระของชุดกฎหมายละเมิดสิทธิอย่างกว้างขวาง ทั้งเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนบุคคล คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือสภาปฏิรูปแห่งชาติจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะเข้ามาพิจารณา และหาแนวทางเพื่อทำงานกับรัฐบาลหรือฝ่ายยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะท้ายที่สุดแล้วกฎหมายชุดนี้อาจไปละเมิดสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้

ที่ผ่านมาภายหลังจากการที่ครม.มีมติเห็นชอบชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล มีการสะท้อนข้อคิดเห็นและข้อกังวลต่อชุดกฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นจำนวนมากจากหลายฝ่าย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชุดกฎหมายดังกล่าวนั้น เป็นกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง แม้ว่าภาครัฐจะชี้แจงว่า ยังอยู่ในขั้นตอนรับหลักการเท่านั้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าชุดร่างกฎหมายนี้สะท้อนเรื่องความมั่นคงมากกว่าการส่งเสริมเศรษฐกิจ

สาระของร่างกฎหมายดังกล่าวก็มีข้อกังวลที่อาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานหลายประการ อาทิ การให้อำนาจหน่วยงานและเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวาง การขาดกลไกตรวจสอบอำนาจรัฐและกลไกคุ้มครองสิทธิที่ชัดเจนจนอาจคุกคามหรือรอนสิทธิเสรีภาพต่างๆ นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลทางด้านคณะกรรมการชุดต่างๆ ยังไม่มีการรับประกันสัดส่วนจากผู้แทนด้านสิทธิ เช่น คณะกรรมการตามร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ไม่มีกรรมการโดยตำแหน่งที่มาจากด้านสิทธิเสรีภาพหรือการคุ้มครองผู้บริโภคเลยแม้แต่ตำแหน่งเดียว

ก่อนหน้านี้กระบวนการร่างกฎหมายทั้งหมดไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นและไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชน แม้ว่า ณ ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางภาครัฐได้ดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อรวบรวมส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ถือได้ว่ายังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนที่จะทำให้ประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง

ด้วยเหตนี้เครือข่ายพลเมืองเน็ตจึงรณรงค์ให้มีการ “หยุดชุดกฎหมาย ‘ความมั่นคงดิจิทัล’” ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค ผ่านทางเว็บไซต์ Change.org โดยล่าสุด มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้ว 20,678 รายเพื่อเรียกร้องให้มีการชะลอกระบวนการร่างกฎหมายและให้ประชาชนจากทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายนี้ โดยที่มีกลไกหรือกติการ่วมให้ภาคประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นได้ในรูปแบบที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่ากฎหมายชุดนี้จะไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และจะสามารถสร้าง“เศรษฐกิจดิจิทัล” ได้

ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ประธานสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน กล่าวถึงภาพรวมของชุดกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า เป็นการย้อนกลับของอำนาจในการจัดสรรคลื่นที่เป็นทรัพยากรของชาติ ให้กลับไปอยู่ในอำนาจของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่สวนทางกับแนวทางการปฏิรูปสื่อและกิจการโทรคมนาคม แม้ว่าที่ผ่านมานับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 การปฏิรูปดังกล่าวจะยังไม่เห็นผลตามเจตนารมณ์มากนัก เพราะการจะปฏิรูปให้สำเร็จเป็นสิ่งที่จะต้องใช้เวลาและการให้เวลาถือเป็นสิ่งที่จะพิสูจน์ถึงความจริงใจต่อการปฏิรูปของประเทศ ซึ่งหากกฎหมายชุดนี้ผ่าน ก็เป็นสิ่งที่แทบสรุปได้เลยว่า เป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่แอบอิงอยู่กับอำนาจของหน่วยงานภาครัฐมากกว่าการทำเพื่อพัฒนาประเทศ รวมถึงยังเป็นการตอกย้ำว่า การปฏิรูปที่ไม่เกิดผลที่ผ่านมา เพราะมีอำนาจดั้งเดิมเข้ามาแทรกแซงอยู่เสมอมา นั่นทำให้เข้าใจได้ว่าการปฏิรูปถือเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยในประเทศไทย

///////////////////////////////////////

ประสานงานเพิ่มเติม โทร 0-897-894-845


...

เรื่องเกี่ยวข้อง...

เปิดความเห็น 3 กสทช. ประวิทย์-สุภิญญา-ธวัชชัย การแก้กฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล 10 ฉบับ


เปิดความเห็น 3 กสทช. การแก้กฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล 10 ฉบับ

จากการประชุม กสทช. ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2558 มีการพิจารณาวาระที่ 5.3.8 เรื่อง ร่าง (แก้ไข) พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ และร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่ประชุมได้มีมติมอบหมายให้กรรมการ กสทช. ทุกท่าน ได้ศึกษาในรายละเอียดร่าง (แก้ไข) กฎหมายดังกล่าว และจัดส่งความเห็นให้ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เพื่อรวบรวมและประมวลสรุปแจ้งเวียนกรรมการ กสทช. ทุกท่าน เพื่อพิจารณาฯ นั้น

ในวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา นางสาว สุภิญญา กลางณรงค์ และ ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ ได้พิจารณาพร้อมจัดทำความคิดเห็นร่วมกันต่อการแก้กฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล 10 ฉบับ ในประเด็นต่างๆ อาทิ ส่วนของกระบวนการการแก้ไขกฎหมาย ส่วนของเนื้อหาของร่างกฎหมาย ประเด็นเรื่องความเป็นอิสระของ กสทช. ประเด็นเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่และการพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ประเด็นเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประเด็นที่เป็นจุดอ่อนอันควรแก้ไขในพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศฯ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และ กฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง แต่กลับไม่ได้รับการแก้ไข และประเด็นอื่นๆ รายละเอียด คลิกลิ้งข้างล่างนี้