วันศุกร์, มกราคม 23, 2558

รัฐประหารเพื่ออะไร :บทเรียน ๒๒ พฤษภา ๕๗



บทเรียน 22 พ.ค. 57 (1):
รัฐประหารเพื่ออะไร?
รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข” ฉบับวันศุกร์ที่ 23 มกราคม 2558

                ด้วยความผิดพลาดอย่างร้ายแรงของพรรคเพื่อไทยในการผลักดันพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม (ฉบับเหมาเข่ง) จึงเป็นโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามกับประชาธิปไตยก่อกระแสมวลชน สร้างสถานการณ์จลาจล เป็นความชอบธรรมให้ฝ่ายทหารก่อรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557

                รัฐประหารครั้งนี้ เป็นความต่อเนื่องกับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มุ่งแก้ไขความล้มเหลวสองประการของรัฐประหาร 2549 ได้แก่ การที่ไม่สามารถจัดการกับพ.ต.ท.ทักษิณและเครือข่ายได้ แล้วยังเกิดผลข้างเคียงที่คาดไม่ถึงคือ การก่อตัวของขบวนประชาธิปไตยขนาดใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีการก่อน แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ภายในของกลุ่มปกครองเองก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระหว่างเจ็ดปีนี้ จึงทำให้รัฐประหารครั้งนี้มีลักษณะพิเศษและเป้าหมายที่แตกต่างจากรัฐประหาร 2549 อีกด้วย

                ประการแรก รัฐประหารครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญคือ การจัดการกับ “การเปลี่ยนผ่าน” ให้เป็นไปอย่างเป็นเอกภาพและราบรื่น ตลอดจนดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้มั่นใจว่า ระบอบการปกครองใหม่หลังจากนั้นมีเสถียรภาพ มั่นคง และปราศจากภัยคุกคามใด ๆ อย่างแท้จริง

                ประการที่สอง รัฐประหารครั้งนี้มุ่งที่จะดำเนินการปราบปรามกลุ่มมวลชนประชาธิปไตยที่ฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่า เป็นภัยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เรียกว่า “พวกล้มเจ้า” มาตรการกดดันปราบปรามที่นำมาใช้แทบทั้งหมดพุ่งเป้าไปยังปัญญาชน นักวิชาการและมวลชนเฉพาะบางกลุ่มที่ถูกกล่าวหามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 รวมทั้งการใช้ ป.อาญา ม.112 อย่างดุดัน เข้มข้น ครอบคลุมกว้างขวาง โดยไม่สนใจต่อผลกระทบทางสังคมการเมืองในระยะยาวและต่อแรงกดดันจากประชาคมโลกแต่อย่างใด

                ประการที่สาม รัฐประหารครั้งนี้มุ่งที่จะจัดการกับตระกูลชินวัตร เครือข่ายพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง บั่นทอนให้อ่อนแอและสลายกำลัง ไม่เป็นอุปสรรคต่อระบอบรัฐสภาหุ่นเชิดที่พวกเขาจะสถาปนาขึ้นอีกครั้งหลังจากที่รัฐประหารครั้งนี้บรรลุภารกิจแล้ว แต่เนื่องจากเป้าหมายเฉพาะหน้าอยู่ที่กลุ่มที่ถูกเชื่อว่า เป็น “พวกล้มเจ้า” ขณะที่เครือข่ายพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงในระยะแรกยังแผ่กว้างและเข้มแข็ง รวมทั้งเพื่อให้ขั้นตอนการเข้ายึดกุมอำนาจรัฐสามารถดำเนินไปอย่างราบรื่นปราศจากการต่อต้าน รัฐประหารครั้งนี้ในระยะแรกจึงได้ “ละเว้น” ตระกูลชินวัตรและพรรคเพื่อไทยไว้ก่อน เป็นการแลกเปลี่ยนกับการที่ตระกูลชินวัตรจะยินยอมร่วมมือ ไม่ขัดขืนและไม่ขัดขวางรัฐประหารไม่ว่าในทางใด

                แน่นอนว่า เมื่อคณะรัฐประหารสามารถบรรลุเป้าหมายประการที่สองข้างต้นได้แล้ว รวมทั้งใช้เครือข่ายความมั่นคงไปกดดันแยกสลายกลุ่มคนเสื้อแดงทั่วประเทศอย่างช้า ๆ จนไม่สามารถจัดตั้งรวมตัวกันได้อีกต่อไป ปลายหอกรัฐประหารก็จะหันกลับมาพุ่งใส่นางสาวยิ่งลักษณ์ และตระกูลชินวัตรทันที

                ประการสุดท้าย เมื่อรัฐประหารนี้บรรลุเป้าหมายข้างต้นทั้งหมดแล้ว ก็จะผ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สถาปนาระบอบรัฐสภาหุ่นเชิดขึ้น เพื่อปกปิดเนื้อในที่เป็นอำนาจนิยมของกลุ่มจารีตนิยมใหม่ เป็นระบอบรัฐสภาที่สภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งไม่มีอำนาจที่แท้จริงในการกำหนดตัวนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ไม่มีแม้แต่อำนาจนิติบัญญัติที่แท้จริงในการเสนอ พิจารณา แก้ไข และผ่านกฎหมายเชิงนโยบายที่สำคัญอีกต่อไป โดยที่อำนาจรัฐจะถูกรวบอยู่ในมือของพวกจารีตนิยมอย่างเหนียวแน่นผ่านองค์กรพิเศษชนิดต่าง ๆ ที่พวกเขาประดิษฐ์ขึ้นตลอดไป

                รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีลักษณะปรากฏการณ์ภายนอกที่คล้ายคลึงอย่างมากกับรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 ของเผด็จการถนอม-ประภาส แม้จะมีเนื้อในและเป้าหมายที่ต่างกัน คือต่างก็เป็นเผด็จการทหารที่มุ่งเข้าควบคุมบังคับทุกองคาพยพของสังคมและการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จ แต่ทว่า ปริบททางเศรษฐกิจการเมืองและสากลนั้นแตกต่างกันอย่างมาก และประการหลังนี้แหละจะกำหนดผลสุดท้ายของรัฐประหารครั้งนี้

                รัฐประหาร 2557 เกิดขึ้นในการเมืองไทยยุคโลกาภิวัฒน์ที่ผ่านการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างถึงราก ซึ่งพลเมืองสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างกว้างขวาง คณะรัฐประหารสามารถควบคุมได้แต่สื่อมวลชนและช่องทางสื่อสารในประเทศ แต่ไม่สามารถควบคุมแทรกแซงเครือข่ายข้อมูลข่าวสารข้ามพรมแดนได้ การสร้างความชอบธรรมด้วยการโฆษณาชวนเชื่อและครอบงำทางความคิดที่เคยได้ผลในอดีต จึงไม่สามารถกระทำได้อีกต่อไป

                รัฐประหารครั้งนี้ยังเกิดขึ้นในขณะที่ประชาชนจำนวนมากได้ตื่นตัวทางประชาธิปไตยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน พลังประชาธิปไตยนี้ได้ก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 และมีความเข้มแข็งในระดับหนึ่ง แม้ว่าในเฉพาะหน้านี้คณะรัฐประหารจะสามารถใช้กฎอัยการศึกควบคุมกดดันไม่ให้มีการเคลื่อนไหวต่อต้านได้ แต่ก็ไม่มีทางที่จะแยกสลายพลังประชาธิปไตยให้หมดสิ้นไปได้ อีกทั้งการปกครองเผด็จอำนาจภายใต้การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารข้ามพรมแดนข้างต้นกลับจะยิ่งทำให้มีการตื่นตัวทางประชาธิปไตยในหมู่ประชาชนเพิ่มขึ้นอีก

                รัฐประหารครั้งนี้มิได้เกิดขึ้นในยุคสงครามเย็นที่ชาติตะวันตกมุ่งสนับสนุนเผด็จการทหารไทยเพื่อไปต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ หากแต่เกิดขึ้นในยุคโลกาภิวัฒน์ที่กระแสประชาธิปไตยเสรีนิยมเป็นกระแสหลักทั่วโลก รัฐประหารครั้งนี้จึงได้รับการต่อต้านจากประชาคมนานาชาติ อำนาจรัฐไทยตกอยู่ในสถานะโดดเดี่ยว ถูกปิดล้อมทางสากล ในขณะที่พลังประชาธิปไตยของไทยได้รับการสนับสนุนทั้งทางการเมือง ทางการทูต และทางขวัญกำลังใจอย่างมาก

                รัฐประหารครั้งนี้ยังเกิดขึ้นในปริบทที่ระบบทุนนิยมไทยได้พัฒนาสลับซับซ้อนและเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ของโลกอย่างลึกซึ้งเหนียวแน่น คณะรัฐประหารไม่มีความเข้าใจและจะไม่สามารถบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจอันซับซ้อนนี้ได้อย่างราบรื่น ปัญหาความชะงักงันในกลไกเศรษฐกิจกำลังสะสม ส่งผลกระทบต่อสถานะทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจหนักหน่วงยิ่งขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป บั่นทอนความชอบธรรมของรัฐประหารครั้งนี้ลงไปเรื่อย ๆ

                เนื่องจากภารกิจสำคัญของรัฐประหารครั้งนี้เป็นกระบวนการที่ยืดยาว ใช้เวลา อีกทั้งความเชื่อของฝ่ายความมั่นคงที่ว่า “พวกล้มเจ้า” มีขบวนการเครือข่ายเป็นระบบหยั่งลึก จึงทำให้รัฐประหารครั้งนี้มีเป้าหมายอยู่ที่ “การยื้อระบอบ” โดยตรง มุ่งปฏิบัติภารกิจที่ซับซ้อนยุ่งยากยิ่งกว่ารัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา 

                ระบอบรัฐประหารครั้งนื้จึงมีลักษณะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและจะอยู่อย่างยืดเยื้อกว่าทุกครั้ง แต่ขณะเดียวกันก็มีลักษณะปฏิกิริยาถอยหลัง ย้อนทวนทิศทางกระแสประชาธิปไตยและโลกาภิวัฒน์ ทั้งในสังคมไทยและในสากลอย่างสุดขั้ว รัฐประหาร 2557 เกิดขึ้นในเงื่อนไขและสภาวะแวดล้อมที่คับขัน ยากลำบากและไม่เป็นคุณต่อกลุ่มปกครองไทยยิ่งกว่ารัฐประหาร 2549 เสียอีก 

                รัฐประหารครั้งนี้จะเป็น “ความพยายามครั้งสุดท้าย” และจะไม่สามารถบรรลุภารกิจที่ได้วางไว้ในที่สุด