วันพุธ, มกราคม 28, 2558

จาตุรนต์ ฉายแสง : ที่มากกว่าการถอดถอนอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์



ทั้งก่อนและหลังการถอดถอนอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ มีเสียงเรียกร้องจากแม่ทัพนายกองให้ยอมรับการถอดถอน แต่การถอดถอนนี้ขัดหลักการประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมอย่างสิ้นเชิงมาตั้งแต่ต้น ใครที่รักความถูกต้องเป็นธรรมคงไม่อาจยอมรับได้

วัตถุประสงค์สำคัญที่ชัดเจนของการถอดถอนครั้งนี้ คือ การกำจัดตระกูลชินวัตรให้พ้นไปจากการเมืองและทำลายศักยภาพของพรรคเพื่อไทย ซึ่งก็มีคนมองอีกมุมหนึ่งว่า กลับทำให้ฝ่ายที่ถูกทำลายล้างได้รับความเห็นใจและพรรคเพื่อไทยจะยิ่งชนะการเลือกตั้ง

แต่การเมืองไทยจากนี้ไป ไม่ใช่เรื่องที่จะสรุปอะไรง่ายๆอย่างนั้นเสียแล้ว

การถอดถอนครั้งนี้ เป็นผลจากการรัฐประหารและเป็นไปตามความมุ่งหมายของผู้ทำรัฐประหารและผู้ที่สนับสนุนให้เกิดการรัฐประหาร

ไม่มีการรัฐประหารก็ไม่มีการถอดถอนแบบนี้

การถอดถอนครั้งนี้ แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ตามที่คสช.ได้ให้เหตุผลว่า จำเป็นจะต้องเข้ายึดอำนาจเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม และต่อมามักพูดถึงการปรองดองอยู่บ่อยๆนั้น เป็นเพียงข้ออ้าง

เอาเข้าจริงมิใช่เช่นนั้นเลย

ที่สำคัญ กระบวนการต่อเนื่องของการรัฐประหารยังไม่จบแค่นี้

การถอดถอนอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสร้างระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ที่จะต้องมีหลักประกันว่า เมื่อยอมให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว อำนาจในการบริหารปกครองประเทศยังต้องอยู่ในมือของคนส่วนน้อยที่ไม่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ใช่ประชาชน

หากติดตามการนำเสนอแนวความคิดของชนชั้นนำและผู้มีอำนาจทั้งหลายตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารมาจนถึงช่วงนี้ พอจะถอดรหัสได้ไม่ยากว่า การสร้างระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยดังกล่าวนี้เกิดขึ้นโดย

1.กำจัดตระกูลชินวัตรออกจากการเมืองและลดศักยภาพของพรรคเพื่อไทย
2.ลดอำนาจและบทบาทของพรรคการเมืองและนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหลาย
3.กำหนดให้คนนอกเป็นนายกฯได้
4.วุฒิสภาและองค์กรอิสระ หรือองค์กรตรวจสอบที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สามารถกำหนดที่มาและการดำรงอยู่ของรัฐบาลได้
5.นโยบายในการบริหารประเทศทั้งระยะสั้นและระยะยาวถูกกำหนดไว้หมดแล้วในรัฐธรรมนูญและแนวทางการปฏิรูปและวิสัยทัศน์ของประเทศ
6.มีกลไกที่คอยกำกับให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งต้องทำตามสิ่งที่กำหนดไว้และป้องกันไม่ให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้
7.เพิ่มอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 7 เพื่อให้ผู้มีอำนาจสามารถเปลี่ยนรัฐบาลและแก้ไขกติกาได้ โดยไม่ต้องทำรัฐประหารให้เหนื่อยแรง

นี่คือโรดแมพของการสร้างระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ที่จะเกิดขึ้นและต้องการให้ดำรงอยู่ไปอีกนาน

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น จะไม่มีความหมายอย่างการเลือกตั้งในอารยประเทศ

ฉะนั้น ความคิดหรือความเชื่อที่ว่า ปล่อยให้พวกเขาทำไปเถอะ เลือกตั้งเมื่อไหร่ก็ดีเองนั้น ใช้ไม่ได้แน่แล้ว

แต่การสร้างระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนี้ ขัดแย้งและสวนทางกับพัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทย และแตกต่างจากความคาดหวังของประชาชนที่มีประสบการณ์จากพัฒนาการทางการเมืองใน 10-20 กว่าปีมานี้อย่างมาก หากดำเนินต่อไป ย่อมมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีเกิดเป็นความขัดแย้งและความเสียหายอย่างมากสำหรับสังคมไทย

ผู้รักประชาธิปไตยและผู้ที่ต้องการให้บ้านเมืองพัฒนาไปโดยไม่ติดหล่มแห่งความขัดแย้ง จึงจำเป็นต้องช่วยกันระงับยับยั้งกระบวนการสร้างระบบการปกครองที่ล้าหลังและเป็นอันตรายอย่างยิ่งนี้

การถอดถอนนายกฯยิ่งลักษณ์ไม่เพียงแต่เป็นความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นแก่บุคคลหรือครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับประชาชนอีกเป็นจำนวนมาก เป็นส่วนหนึ่งของการทำลายประชาธิปไตย การปล้นอำนาจไปจากประชาชนแล้วไม่ยอมคืน และการสร้างระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่ต้องการให้คงอยู่อย่างถาวร

ต้องช่วยกันแปรความไม่พอใจ ความอัดอั้นตันใจที่เกิดจากการถอดถอนนายกฯยิ่งลักษณ์เป็นความเข้าใจต่อความเลวร้ายและหายนะที่กำลังเกิดขึ้นกับบ้านเมืองของเรา และช่วยกันหาทางป้องกันแก้ไขเท่าที่จะทำได้

ผมไม่ได้กำลังเสนอให้ใครไปชุมนุมหรือเดินขบวนที่ไหน แต่เสียงของประชาชนก็ยังมีความหมายเสมอ และหากประชาชนเห็นปัญหาร่วมกันมากขึ้นๆ เสียงของประชาชนก็ย่อมมีพลังพอที่จะช่วยกันหยุดยั้งหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ได้

เห็นผู้ที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญและปฏิรูปประเทศเขาบอกว่า ยินดีรับฟังความเห็นประชาชนไม่ใช่หรือ ?

๒๕ มกราคม ๒๕๕๘

ที่มา FB Chaturon Chaisang