วันอาทิตย์, มกราคม 04, 2558

ชี้ความเข้าใจผิดของชวน ที่เชื่อว่าคนไทยยังไม่เข้าใจระบอบ ปชต.ดีพอ แม้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้ว 82 ปี


ชวน เชื่อคนไทยยังไม่เข้าใจระบอบ ปชต.ดีพอ แม้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้ว 82 ปี


คุณชวนเป็นนักการเมืองอาชีพ เล่นการเมืองมาเกือบตลอดชีวิต แต่ไม่เข้าใจ "ประชาธิปไตย" เท่ากับ "ชาวบ้านธรรมดา" เช่น

1) ชาวบ้านธรรมดาเข้าใจว่า ถ้านักการเมืองทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นๆ ต้องตรวจสอบเอาผิดนักการเมืองตามกรอบของกฎหมายเท่านั้น จะใช้วิธีรัฐประหารไม่ได้ ดังนั้นชาวบ้านธรรมดาเขาจึงไม่สนับสนุนรัฐประหารด้วยวิธีใดๆ หรือกล่าวชมผู้นำที่มาจากรัฐประหารอย่างที่คุณชวนทำ

2) ชาวบ้านธรรมดาเขาเข้าใจว่า การที่นักการเมืองและพรรคการเมืองออกมานำและสนับสนุนมวลชนขัดขวางและล้มการเลือกตั้ง เป็นการต่อสู้ที่่ทำลายวิถีทางประชาธิปไตย เพราะเป็นการละเมิด ทำลายสิทธิเลือกตั้งของประชาชน แต่คุณชวนไม่เข้าใจ

อย่างน้อยที่สุด 2 เรื่องนี้ คนเหนือ อีสาน กลาง ระดับ "ชาวบ้านธรรมดา" เขาต่างเข้าใจกันดีว่ามัน "ไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย" พวกเขาจึงไม่เคยสน้บสนุน

พูดง่ายๆ คือชาวบ้านเขามีวุฒิภาวะทางปัญญาพอที่จะเข้าใจได้ว่า "การแก้ปัญหาการทำผิดรัฐธรรมนูญด้วยวิธีรัฐประหารและล้มเลือกตั้งนั้น ไม่ใช่วิถีทางที่เป็นประชาธิปไตย ต้องไม่ทำและสนับสนุนเป็นอันขาด" แต่คุณชวนไม่เข้าใจแม้กระทั่ง "เรื่องง่ายๆ พื้นๆ แบบนี้" ยังมาบอกว่า "คนไทยยังไม่เข้าใจประชาธิปไตย แม้เปลี่ยนแปลงการปกครองมา 82 ปีแล้ว"

อย่างนี้เขาเรียกว่า "พูดเอาฉลาดใส่ตัว เอามั่วใส่ประชาชน" หรือเปล่าครับ?

สุรพศ ทวีศักดิ์
ooo

ผมจะบอกให้เอาบุญนะครับ การเลือกตั้งครั้งแรกของ สหรัฐ(1789) ในช่วงเวลานั้น มีเพียงสหรัฐชน คนกลุ่มน้อย ที่เข้าใจความสำคัญของการเลือกตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแม่ทัพ นายกอง ที่เคยร่วมสงครามใบชา พิชิตรัฐบาลอังกฤษ

ส่วนคนส่วนใหญ่ เกินกว่า 90% ของประเทศ แทบไม่รู้จักกับคำว่าประชาธิปไตย การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นนั้น ไม่มีใครสนใจหรอกว่า นโยบายของใครจะเป็นอย่างไร

รู้แต่ว่า G Washington เป็นนายพลนามระบือ ที่พากองทัพชนะสงคราม "จบ" เขาไม่แคร์ด้วยซ้ำว่าเลือกจอร์จไป เพื่อไปทำอะไร

พอกับไม่รู้จักกับความภาคภูมิแห่งความเป็นสหรัฐด้วยซ้ำ เพราะ ตอนใต้ปกครองโดยชาวสเปน และฝรั่งเศส ไม่ใช้ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษากลาง

ตะวันตกคนผิวขาวต้องสู้รบกับอินเดียนแดง ไม่มีเวลามาเรียนรู้การเมือง ส่วนตอนกลางมีอาณานิคมชาวดัตช์ มาตั้งรกรากมหาศาล และพวกเขาก็ไม่สนใจการเมืองอีกนั่นแหละ

แต่ทุกวันนี้ สหรัฐยิ่งใหญ่มาก เพราะหลังจากการเลือกตั้งครั้งนั้น เขากระจายอำนาจให้ทุกคน ทุกชนชั้น อย่างเท่าเทียมที่สุด และประชาชน ก็ค่อยๆ เรียนรู้กับประโยชน์ของประชาธิปไตย จากที่เคยต้องจ่ายภาษีให้อังกฤษบานเบอะเขาก็ไม่ต้องเสีย จากทีคนผิวดำต้องเป็นทาส เขาก็ไม่ต้องเป็น

ทุกอย่างมันเกิดจากนโยบายหาเสียง ตามระบอบประชาธิปไตย ใครชนะ ก็ทำนโยบายนั้นให้เป็นจริง

แน่นอน นโยบาย ล้วนมีค่าใช้จ่าย การเลิกทาสของ ลินคอร์น ทำให้มีคนตายประมาณ 4 แสนคน แต่ถือว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ทางประชาธิปไตย

ประชาชนได้มีสิทธิ์ เลือก และลอง กับสิ่งที่ตนเลือก

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยสหรัฐไม่สะดุดหยุดกึก ก็เพราะ เขาได้เรียนรู้ สิ่งที่เขาเลือกเอง อยู่ตลอด สุดท้ายประชาชนก็ตกผลึก และรู้ว่าควรจะเลือกใครมาเป็นตัวแทนตน ในการบริหารประเทศ

ผิดกับไทย ที่มีคนอย่าง "ชวน" ซึ่งเอะอะ ก็บอกว่าคนไทยไม่พร้อมกับประชาธิปไตย ไม่ปล่อยให้คนไทยได้เรียนรู้อย่างเป็นเรื่อง เป็นราว สุดท้าย ก็อ้าแขนรับเผด็จการ

ประชาธิปไตย ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับความสมบูรณ์พร้อม แต่มันต้องอาศัยเวลาให้ประชาชนเรียนรู้

ประชาธิปไตย มันเติบโตไปพร้อมกับประชาชน

Kulwit
ooo
“ความเข้าใจผิด 10 ประการเกี่ยวกับประชาธิปไตยไทย” 

1. ประชาธิปไตยเป็นระบอบของคุณธรรม เป็นระบอบการเมืองที่เลวน้อยที่สุด
ไม่ใช่ ประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมืองที่จำเป็นสำหรับสังคมหลากหลายซับซ้อน

2. คอรัปชั่นเป็นดัชนีของความเป็นประชาธิปไตย
ไม่จริง คอรัปชั่นมากน้อยเกิดขึ้นได้ในทุกระบบ บ่งบอกการใช้อภิสิทธิ์และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

3. ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของความรู้สอนกันได้ เผยแพร่ได้
ประชาธิปไตยไม่ใช่หลักสูตรวิชาความรู้ที่สอนกันได้ แต่เป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ต้องเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติที่ทุกคนต้องรักษาผลประโยชน์ของตัวเองตามกติกา

4. ประชาธิปไตยคือการต่อสู้กับเผด็จการทหารเท่านั้น
ถูกส่วนเดียว ประชาธิปไตยคือการต่อสู้กับอำนาจใดๆก็ตามที่ขัดขวางการใช้อำนาจของประชาชน ไม่ว่าเป็นเผด็จการทหาร นักการเมือง หรือกลุ่มเจ้า

5. กลุ่มเจ้าคือคนดีที่อยู่เหนือการเมือง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นตัวตรวจสอบถ่วงดุลกับอำนาจนักการเมือง
ความจริงคือกลุ่มเจ้ายุ่งเกี่ยวกับการเมืองและมีอำนาจมากในระบอบรัฐของไทยตลอด 40-50 ปีที่ผ่านมา โดยอ้างว่าเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลนักการเมือง

6. นักการเมืองมีอำนาจมากที่สุดในประเทศไทย และเป็นตัวแทนทุนสามานย์
ไม่จริง ในระบอบรัฐของไทย รัฐบาลมีอำนาจจำกัด มีอำนาจเหนือรัฐบาลเสมอ ซึ่งก็เป็นทุนสามานย์เช่นกัน ไม่ดีเลวไปกว่ากัน

7. เสียงข้างมากในสภา = เผด็จการรัฐสภา ต้องสร้างกลไกที่ปลอดการเมืองมาถ่วงดุล
ถ้าอย่างนั้นระบอบรัฐสภาแบบอังกฤษในหลายประเทศทั้งโลกก็เป็นเผด็จการรัฐสภา และดูข้อ 5

8. ในประวัติศาสตร์ไทย กลุ่มเจ้าตระเตรียมประชาธิปไตยไว้ให้ประชาชนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้า รัชกาลที่เจ็ดก็เตรียมจะให้ประชาธิปไตยแต่คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม
ไม่จริง กลุ่มเจ้าเตรียมผ่อนคลายความไม่พอใจของประชาชนต่อการผูกขาดอำนาจของกลุ่มเจ้าและต้องการมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจ แต่กลุ่มเจ้าปรับตัวน้อยเกินไปและสายเกินการณ์

9. เผด็จการทหารเริ่มที่การปฎิวัติ 2475
เผด็จการทหารเริ่มที่การปฎิวัติ 2490 ซึ่งกลุ่มเจ้าและกองทัพบกร่วมกันก่อขึ้น
10. 14 ตุลาเป็นจุดเริ่มต้นประชาธิปไตยของประชาชน
ไม่ผิด แต่เป็นความจริงเพียงส่วนเดียว ส่วนที่มักถูกมองข้ามคือเป็นการเริ่มต้นของระบอบรัฐของไทยที่กลุ่มเจ้ามีอำนาจเหนือประชาธิปไตย

อ.ธงชัย วินิจกูล