วันศุกร์, มกราคม 23, 2558

“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” บนทางของเสือ รอยของทักษิณ เว้นวรรค 5 ปี ปิดตำนานวรรคทอง “แก้ไข ไม่แก้แค้น”


ที่มา Thai Publica
23 มกราคม 2015

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องหล่นลงจากหลังเสือ เมื่อสุเทพ เทือกสุบรรณ ทอดตัวอยู่ในดงนายพลบูรพาพยัคฆ์ และพรรคพวกชนชั้นนำตั้งแต่ 9 ธันวาคม 2556

เขี้ยวจากศัตรูการเมืองขั้วตรงข้าม ขย้ำ “นางสาวยิ่งลักษณ์” จนต้องยุบสภา หาที่ยืนไม่ได้แม้กระทั่งการเป็น “รัฐบาลรักษาการ” ถูกเรียกไปยึดอำนาจ รัฐประหารซ้ำ ในค่ายทหารใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557

ข้อหาใหญ่ สะเทือนใจคนการเมือง มีทั้งใช้อำนาจตามอำเภอใจ ผ่านกฎหมาย “นิรโทษกรรม” หวังช่วยเครือข่ายอำนาจเก่าของพี่ชาย “พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร” พี่สาว “นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์” และพรรคพวก แนบท้ายด้วยทำนโยบายประชานิยม จนประเทศชาติเสียหาย โดยเฉพาะนโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ด ด้วยตัวเลขขาดทุนมหาศาล สะเทือนตลาดข้าวทั้งระดับตลาดในประเทศและตลาดโลก

เมื่อ “สุเทพ” ขึ้นควบขบวนมวลมหาประชาชน รุกรบด้วยแนวร่วมชนชั้นนำ (elite) หัวขบวนฝ่ายอนุรักษ์นิยม เครือข่ายอำมาตย์ ทหารเก่า-ข้าราชเกษียณ และข้าราชการระดับสูง สลับกันขึ้นเวทีต่อเนื่อง 7 เดือน 21 วัน กร่อนจนอำนาจฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ไม่สามารถขยับเขยื้อนได้

“นางสาวยิ่งลักษณ์” ยืนอยู่อย่างโดดเดี่ยว เปราะอ่อนราวกับปราสาททราย ในฐานะประมุขตึกไทยคู่ฟ้า หัวหน้าฝ่ายบริหาร เพียง 2 ปี 9 เดือน 2 วัน ก็ล้มครืนไม่เหลือร่องเหลือรอย

“นางสาวยิ่งลักษณ์” นับเป็นนักการเมืองในตระกูล “ชินวัตร” คนที่ 5 ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี หลังจากที่พี่ชาย-พี่สาว-พี่เขยและหลานสาว ทั้ง 4 คน ถูกพายุอำนาจ กวาดตระกูล “ชินวัตร” พ้นจากกระดานการเมืองมาแล้ว ในช่วง 2 ทศวรรษ ทั้ง “พ.ต.ท. ทักษิณ-นายสมชาย-นางเยาวภา-น.ส.ชินณิชา” ก็เคยถูกตัดสิทธิมาแล้ว เพราะเหตุแห่งการถูกยุบพรรคและ “คดีซุกหุ้น”

นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ถูกประกาศตามพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 28 หลังจากพี่ชาย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เคยได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พี่เขย ที่เคยได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 26

ธิดาคนเล็กของตระกูล “ชินวัตร” ใช้เวลาเพียง 45 วัน บวกกับต้นทุนธุรกิจ-การเมือง ของวงศ์ตระกูล ลงสู่สนามการเมือง ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ด้วยการเดินสายดูงานการเมือง ร่วมกับพี่สาว-พี่เขย “เยาวภา-สมชาย”

เธอเข้าสู่สนามเลือกตั้ง เป็นผู้สมัครตัวจริง หมายเลข 1 ของพรรคเพื่อไทย พร้อมกับน้ำตา และวาทกรรม “แก้ไข ไม่แก้แค้น”

ในฤดูกาลหาเสียงเลือกตั้ง กรกฎาคม 2554 ทันทีที่แคมเปญเลือกตั้งถูกระเบิดออก ชื่อของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี คือชื่อสำคัญที่ 2 ที่พี่น้องอดีตนายกรัฐมนตรีปรารถนาจะเข้าถึง

“พ.ต.ท. ทักษิณ” ส่งสัญญาณข้ามโลกมาในห้วงเวลานั้นว่า “ใครที่โกรธเกลียดผม หากได้กลับเมืองไทย ผมจะแวะไปหาทุกคน เพื่อถามว่าโกรธเกลียดอะไรผม รวมถึงท่านประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ถ้าท่านให้ผมไปคุย ผมคุย วันนี้ถ้าท่านให้ผมโทรศัพท์คุย ก็คุย ผมไม่มีอะไร ผมคนไทย เราเคารพผู้ใหญ่ด้วยคุณวุฒิและวัยวุฒิ เพราะฉะนั้น ทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิของท่าน ผมเคารพได้ ไม่มีปัญหา”

ขณะที่ “นางสาวยิ่งลักษณ์” ส่งสัญญาณข้ามรั้วบ้านสี่เสาเทเวศร์ไปว่า “อยากเห็นประเทศก้าวสู่ความสามัคคีปรองดอง ทำให้บ้านเมืองกลับไปสู่หลักนิติธรรม…การปรองดองเป็นโจทย์ที่ประเทศชาติต้องการ”

เธอบอกกับนักข่าวว่า “หากมีโอกาสได้พบกับท่าน (พล.อ. เปรม) ก็จะขอคำแนะนำ คงไม่กล้าที่จะบอกว่าคุย” แต่หลังจากเธอชนะเลือกตั้ง เธอก็มีโอกาสได้มากกว่า “คุย” กับบุคคลที่เธอและพี่ชายปรารถนาจะเข้าถึงและเข้าใจ

เมื่อเธอถูกชูขึ้นมาเป็นคู่ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางข้อครหาว่าเธอเป็นเพียง “หุ่นเชิด” ของพี่ชาย เธอบอกว่า “ดิฉันตัดสินใจเอง ชีวิตเราต้องตัดสินใจเอง”

นโยบายแรกที่ออกจากปากเธอ หลังใส่เสื้อคลุมพรรคเพื่อไทย คือ “ยุคอภิสิทธิ์ มี 3 จี แต่ยุคยิ่งลักษณ์ต้องมี 4 จี”

อดีตนักธุรกิจสาวใหญ่วัย 44 ก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ด้วยเวลาเพียง 45 วัน ด้วยทีมกุนซือฝ่ายซ้ายและฝ่ายการตลาด ทั้งองคาพยพของ “ชินวัตร” รุมเป็นตัวช่วยให้บริการเสริมทุกจังหวะก้าว

ภารกิจส่ง “นางสาวยิ่งลักษณ์” ขึ้นทำเนียบ จึงเป็นหน้าที่ของทีมงานยุทธศาสตร์-ยุทธวิธี ทั้งสุรนันทน์ เวชชาชีวะ, ภูมิธรรม เวชยชัย, จาตุรนต์ ฉายแสง, พงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล, วัฒนา เมืองสุข ฯลฯ ส่วนทีมงานหน้าม่านการเมือง ก็มีณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, พิชัย นริพทะพันธ์ุ, โอฬาร ไชยประวัติ, สุชาติ ธาดาธำรงเวช และสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล

ในพื้นที่ข่าวการเมือง เริ่มมีคีย์เวิร์ดการเมืองจากปากของเธอ ในนาม ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หมายเลข 1 เช่น “เลือกประชาธิปัตย์ ข้าวยากหมากแพง เลือกเพื่อไทย อยู่ดีกินดี” ส่วนนโยบายนิรโทษกรรมในเวลานั้น เธอถูกให้สื่อสารทำนองว่า “ต้องนิรโทษด้วยรัฐธรรมนูญ”

เป้าหมายทางการเมือง บันได 3 ขั้น ที่ “นางสาวยิ่งลักษณ์” จะต้องทำให้สำเร็จหลังชนะเลือกตั้ง คือ บันไดขั้นแรก จัดตั้งรัฐบาล-วางเค้าโครงกฎหมายนิรโทษกรรม ทำให้คนการเมืองบ้านเลขที่ 111 กลับเข้าสู่วงจรอำนาจ และ พ.ต.ท. ทักษิณได้กลับบ้าน

ในช่วงโค้งสุดท้าย 15 วันก่อนการหย่อนบัตรเลือกตั้งนั้น ทีมงานยุทธศาสตร์พรรคปั่นกระแสด้วยการประกาศแผนปรองดองกับทุกขั้วการเมือง ทุกชนชั้น ข่าวลับ-วงในของพรรคระบุว่า “ต้องให้กองทัพ-ข้างบน-ชนชั้นสูง วางใจในฝ่ายทักษิณ” แคมเปญหาเสียงจึงต้องการมัดใจโน้มน้าวชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง และกองทัพ ด้วยการประกาศขอเข้าพบ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น แต่ถูกปฏิเสธ

ด้วยยุทธการการเมืองทั้งปวงของพรรคเพื่อไทย และสรรพกำลังของธุรกิจ “ชินวัตร” ส่ง “นางสาวยิ่งลักษณ์” ถึงทำเนียบรัฐบาลหลังชนะการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554

เมื่อปิดหีบลงคะแนน 24 ชั่วโมง รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ 1” ก็ถูกจัดตั้งขึ้นทันที เป็นการชนะการเลือกตั้งของฝ่าย “พ.ต.ท. ทักษิณและพวก” ครั้งที่ 4 ในรอบ 10 ปี ผลักพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นฝ่ายแพ้เลือกตั้งเป็นครั้งที่ 6 ด้วยจำนวน 159 ต่อ 265 ที่นั่ง

ไม่ควรลืมว่า ในคราการจัดโผคณะรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2554 มีทั้งเครือข่ายอำมาตย์อำนาจเก่า เข้าสู่ “โผ” แต่ไม่ผ่านการคัดกรองเป็นรัฐมนตรี “ตัวจริง” มีชื่อที่ปรากฏในโผรัฐมนตรีเศรษฐกิจอย่างครึกโครม ทั้งชื่อนายวิชิต สุรพงษ์ชัย จากธนาคารไทยพาณิชย์ ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ซีอีโอบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และชื่อ พิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการ บมจ.ไทยออยล์ รวมทั้ง อิสระ ว่องกุศลกิจ ก็ติดอยู่ในโผแรก

บุคคลสำคัญทางการเมืองในพรรคเพื่อไทยในเวลานั้น อธิบายหลังเครือข่ายอำมาตย์ไม่ติดทำเนียบชื่อรัฐมนตรีตัวจริง ว่าเพราะมีการถูกระตุกขาจากบรรดาชนชั้นสูง ส่งสัญญาณไม่ให้บุคคลระดับวีไอพีเข้าร่วมวงอำนาจกับฝ่าย “ชินวัตร”

กว่า 2 ปี 9 เดือน ที่ “นางสาวยิ่งลักษณ์” อยู่บนหลังเสือ และเผชิญหน้ากับฝ่ายค้านตัวจริงในสภาผู้แทนราษฎร และฝ่ายค้านบริการเสริมจากนอกสภา ทั้งองคาพยพของชนชั้นนำ-กองทัพ-ฝ่ายอนุรักษนิยม ที่ร่วมรบเป็นแนวต้าน

สุดท้ายความพลั้งพลาด-ปล่อยปละละเลย ไม่ระงับยับยั้งการดำเนินนโยบาย “จำนำข้าว” ทำให้ชื่อ “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ถูกลบออกจากกระดานอำนาจ 5 ปี ด้วยมติแห่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 190 เสียง ตามสำนวนของ วิชา มหาคุณ มือปราบคอร์รัปชัน 4 รัฐบาล

23 มกราคม 2558 ปิดตำนาน “เทพธิดาดาวแดง แห่งตึกไทยคู่ฟ้า” ที่เวลานี้มิอาจเป็น “ไพ่ตาย” ให้ฝ่าย “ชินวัตร” ใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง อย่างน้อยก็อีกครึ่งทศวรรษ อย่างมากก็ตลอดชีวิต