วันพุธ, มกราคม 07, 2558

จาตุรนต์ ฉายแสง - เตรียมรับปี 2558 : ปีแห่งการสะสมปัญหา เข้าสู่วิกฤตที่หนักยิ่งขึ้น


ผมเขียนแสดงความเห็นส่งท้ายปีเก่าไปก่อนหน้านี้ และติดค้างบทความต้อนรับปีใหม่ไว้ มาเขียนตอนนี้ หวังว่าคงไม่สายเกินไป

หากว่าไปตามโรดแมปของคสช.แล้ว ถ้าไม่มีเหตุแทรกซ้อน การเมืองปีใหม่นี้คงไม่ถึงกับน่าตื่นเต้นระทึกใจ เพราะคงยังไม่มีจุดหักเหเปลี่ยนแปลงอะไรมากๆ แต่เนื่องจากสิ่งที่คสช.และองค์กรต่างๆภายใต้กำกับของคสช.ทำมาและกำลังจะทำต่อไป เป็นการสะสมปัญหามากขึ้นๆ ปีใหม่นี้จึงยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งถึงขั้นวิกฤตได้

ในเมื่อคสช.และองค์กรต่างๆกำลังพยายามแก้ปัญหาความขัดแย้ง สร้างความปรองดองและกำลังจะปฏิรูปประเทศไทยในทุกด้าน ทำไมผมจึงกลับบอกว่าพวกเขากำลังสะสมปัญหาและสร้างวิกฤต ?

ผมได้พูดไว้แล้วว่า การเข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยการรัฐประหารและใช้อำนาจต่างๆของคณะรัฐประหาร รวมทั้งกฎอัยการศึกนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นการหย่าศึกเพื่อสร้างกติกาที่เป็นธรรมแล้วให้ประชาชนส่วนใหญ่กำหนดหรือตัดสินอนาคตของบ้านเมือง แต่การเข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้งได้กลายเป็นเพียงข้ออ้างในการเข้ามาใช้อำนาจปกครองบ้านเมืองในระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และต่อมาก็ได้เพิ่มความมุ่งหมายให้กว้างขวางกว่าที่อ้างไปอีกมาก จนเป็นการสร้างระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างถาวร

ต้นเหตุสำคัญของวิกฤตการเมืองคือ การที่สังคมไม่ได้แก้ปัญหาการมีความแตกต่างทางความคิดด้วยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย ได้แก่ การมีกฎกติกาที่ดีและใช้กฎกติกาเหล่านั้นแก้ปัญหาอย่างเป็นธรรมเท่าเทียมกัน คนส่วนหนึ่งที่มีอำนาจหรือสนับสนุนร่วมมืออยู่กับผู้มีอำนาจไม่ยอมรับการตัดสินของคนส่วนใหญ่ ล้มกระดานแล้วสร้างกติกาที่ไม่เป็นธรรมขึ้น มิหนำซ้ำยังใช้กติกาที่ตนเองสร้างขึ้นอย่างไม่เป็นธรรมซ้ำแล้วซ้ำอีกด้วย

เมื่อไม่มีการพูดถึงต้นเหตุ ปัญหาย่อมไม่ได้รับการแก้ไข ยิ่งเมื่อไม่เห็นปัญหาหรือยังมีแต่อคติ ยิ่งทำไปก็ยิ่งสร้างปัญหามากขึ้นๆไม่สิ้นสุด

การสะสมปัญหาเข้าสู่วิกฤต จะเกิดขึ้นในเรื่องสำคัญต่อไปนี้

1.ความล้มเหลวในการปรองดอง อันเกิดจากความพยายามที่จะทำลายล้างอีกฝ่ายหนึ่งอย่างไม่ลืมหูลืมตาและไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ กรณีที่สนช.กำลังจะถอดถอนนักการเมือง ทั้งๆที่อำนาจในการถอดถอนหมดสิ้นไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 แล้ว

2.การยกร่างรัฐธรรมนูญที่มุ่งรักษาอำนาจไว้ในมือผู้ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน จนจะทำให้เห็นได้ชัดว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะไม่มีความหมายใดๆ

เท่าที่ติดตามข้อเสนอของผู้ที่มีอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญพบว่า เริ่มจากความพยายามสกัดกั้นไม่ให้พรรคการเมืองบางพรรค นักการเมืองบางพวกบางคนกลับมามีอำนาจแล้วพัฒนาไปเป็นความพยายามลดอำนาจ บทบาทของพรรคการเมืองและนักการเมืองโดยรวม จนในที่สุดกลายเป็นสร้างระบบการปกครองที่แม้มีการเลือกตั้ง แต่ประชาชนไม่สามารถกำหนดหรือตัดสินอะไรได้

หากการยกร่างรัฐธรรมนูญยังเดินหน้าต่อไป ภายใต้แนวความคิดอย่างที่ปรากฏ โดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมหรือแม้แต่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างได้บ้างเลย การยกร่างรัฐธรรมนูญนี้จะเป็นชนวนของความขัดแย้งที่ส่งผลกระทบต่อสังคม ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อไปในระยะยาวด้วย

ทางที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเป็นปัญหาบานปลายและลดความเสียหายจากเรื่องนี้คือ การกำหนดเสียแต่เนิ่นๆว่า เมื่อมีการยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว จะมีการลงประชามติอย่างเป็นธรรมและเสรี ซึ่งจะทำให้ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่กล้าทำอะไรตามใจชอบและต้องรับฟังและปฏิบัติตามความคิดเห็นของประชาชน

3.การปฏิรูปและการกำหนดวิสัยทัศน์ประเทศระยะยาวโดยคนส่วนน้อย ที่ขาดความชอบธรรมและไม่มีส่วนร่วมจากประชาชน

ถ้าถามว่า การที่สนช.กำลังจะปฏิรูปและรวบรวมหัวข้อต่างๆได้แล้วกว่า 700 หัวข้อนั้น มีปัญหาอยู่ตรงไหน คำตอบก็คือ ปัญหาอยู่ที่ไม่ควรคิดจะปฏิรูปตั้งแต่ต้นนั่นเอง

โดยหลักการประชาธิปไตยแล้ว การปฏิรูปไม่อาจเกิดและไม่ควรให้เกิดขึ้นโดยกระบวนการที่สืบเนื่องจากการรัฐประหาร คสช.และองคพายพทั้งหลาย รวมทั้ง ครม. สนช.และสปช. ซึ่งจะดำเนินการต่างๆให้เกิดการปฏิรูปนั้น ไม่ได้มาจากประชาชน ที่ทำกันอยู่ก็ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมหรือแสดงความคิดเห็น ยิ่งทำกันไปก็มีแต่จะเกิดสิ่งที่ขัดกับผลประโยชน์ความต้องการของประชาชนคนส่วนใหญ่มากมายไปหมด ยิ่งทำมากยิ่งผิดมาก การจะมาแก้ปัญหากันภายหลังจะยากเย็นแสนเข็ญและใช้เวลายาวนานมาก กลายเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมที่ทำให้ประเทศล้าหลังและประชาชนเสียโอกาส

ลำพังการปฏิรูปที่กำลังจะทำก็แย่อยู่แล้ว หลังๆยังมีการพูดถึงวิสัยทัศน์ผู้นำ 5 ปีบ้าง วิสัยทัศน์ประเทศ 10 ปีบ้าง ก็ยิ่งไปกันใหญ่

ผู้ที่ใช้กำลังอาวุธทำรัฐประหารและผู้ที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นมา ไม่มีอะไรยึดโยงกับประชาชนเลยสักนิด จะมากำหนดวิสัยทัศน์ 5 ปี 10 ปีให้คนทั้งประเทศต้องเดินตามได้อย่างไร

มิหนำซ้ำ ยังมีความคิดด้วยว่า จะหาทางสร้างระบบกลไกที่จะเป็นหลักประกันว่า แนวทางหรือแผนการและวิสัยทัศน์เหล่านี้จะถูกนำไปปฏิบัติต่อไปอีกเป็นสิบปีด้วย

วิธีลดความเสียหายและป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่จะเกิดมากขึ้นในอนาคตก็คือ ผู้มีอำนาจทั้งหลายต้องยับยั้งชั่งใจและตระหนักว่า ตนไม่ได้มาจากประชาชนและที่เข้ามาใช้อำนาจก็ด้วยข้ออ้างที่ว่า จะเข้ามาแก้ความขัดแย้งแล้วก็จะออกไป ไม่ใช่จะมาสร้างระบบการปกครองแบบที่ตนเองนิยมชมชอบให้เกิดขึ้นอย่างถาวรดังที่ทำกันอยู่

การปฏิรูปถ้ายังจะมีอยู่ ควรจะจำกัดขอบเขตลงมาให้แคบที่สุด คือ ทำเท่าที่จำเป็นและเห็นตรงกันทั้งสังคมจริงๆ นอกจากนี้ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้มากขึ้นหรืออย่างเสรี อาจเริ่มจากการผ่อนผันการใช้กฎอัยการศึก หรือถ้าจะให้ดีก็ยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเสียในเร็วๆนี้

ส่วนการกำหนดวิสัยทัศน์ของผู้นำหรือของประเทศ 5 ปี 10 ปีนั้น ควรล้มเลิกความตั้งใจเสีย ไม่ควรทำต่อไป ควรให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้กำหนดโดยความเห็นชอบของประชาชน

4.การบริหารประเทศที่ไม่มีประสิทธิภาพและขาดการตรวจสอบถ่วงดุล ที่จะทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาของประชาชนได้และยังมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาคอรัปชั่นมากขึ้น

5.ปัญหาเศรษฐกิจอาจจะตัวแปรที่สำคัญต่อการเมือง โดยเฉพาะหากการปกครองของคสช.และรัฐบาลเป็นตัวถ่วงรั้งมากกว่าจะกระตุ้นการเติบโตและพัฒนาของเศรษฐกิจ จนประชาชนจำนวนมากต้องเดือดร้อนอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่า การที่ราคาน้ำมันต่ำลงจะเป็นตัวช่วยบรรเทาปัญหาได้พอสมควร แต่การบริหารงานทางด้านเศรษฐกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้น อาจทำให้เศรษฐกิจไทยยังต้องประสบปัญหาต่อไป การเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จในปีที่ผ่านมา จะเป็นตัวชี้ว่า โครงการของรัฐบาลที่จะเริ่มในปีนี้จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงตามที่คาดการณ์กันไว้หรือไม่

ปัญหาที่ยังน่าเป็นห่วงก็คือ ปัญหาของผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย ผู้ให้บริการ ผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรจำนวนมาก ที่จะต้องเผชิญกับความเดือดร้อนต่อไปอีก ในขณะที่เสรีภาพที่จะร้องเรียนหรือเสนอความคิดเห็นก็ถูกจำกัด

จะเห็นได้ว่า สิ่งที่เป็นผลสืบเนื่องจากการรัฐประหารทั้ง 5 เรื่องดังกล่าว กำลังเป็นการสร้างและสะสมปัญหาที่สลับซับซ้อนให้กับสังคมไทยไปอีกนาน คงไม่มีใครบอกได้ว่า ปัญหาที่ทับถมมากขึ้นๆนี้ จะกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงขึ้นอีกเมื่อใด

สิ่งที่ควรทำ สำหรับเตรียมรับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในปีใหม่นี้คือ การหาทางลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ป้องกันไม่ให้สังคมไทยถลำลึกไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงที่ไม่มีวันสิ้นสุด

ผู้มีอำนาจทั้งหลาย สามารถทำได้ไม่ยากด้วยการปรับเปลี่ยนจุดมุ่งหมายของตนเสียใหม่คือ แทนที่จะพยายามทำอะไรสารพัดเพื่อสร้างระบบการปกครองที่ตนและพวกพ้องที่ไม่มีความยึดโยงใดๆกับประชาชน จะมีอำนาจอยู่ในมือต่อไปอีกนานแสนนาน กลับมาเป็นทำตามข้ออ้างของการรัฐประหารคือ การเข้ามาหย่าศึกยุติปัญหาความขัดแย้ง เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างกติกาที่เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย แล้วปล่อยให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดอนาคตของประเทศเอง

ทางด้านประชาชนก็สามารถทำได้ด้วยการติดตามความเป็นไปของบ้านเมืองและช่วยกันผลักดันให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย การอยู่นิ่งเฉยโดยปล่อยให้ผู้มีอำนาจทั้งหลายทำอะไรกันไปตามใจชอบนั้น ไม่เพียงแต่ไม่มีหลักประกันเลยแม้แต่น้อยว่าต่อไปบ้านเมืองก็จะดีไปเองเท่านั้น แต่แนวโน้มที่เห็นได้ไม่ยากก็คือ ปัญหาที่หนักหนาสาหัสกว่าเดิม กำลังรออยู่ข้างหน้าแล้ว

ถ้าเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีการพูดจาหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาทางแก้ปัญหากันอย่างจริงจัง สังคมไทยอาจจะหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งเหล่านี้ได้ และปี 2558 ก็อาจจะไม่เลวร้ายจนเกินไปก็ได้

ที่มา FB Chaturon Chaisang