วันพฤหัสบดี, มกราคม 15, 2558

เสียงของ “นายทุน-เจ้าสัว-นักธุรกิจ” พบนายกฯ ขอบอกตามตรง “ค้าปลีกตกต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี


ที่มา ThaiPublica
14 มกราคม 2015

องค์ประกอบของเครือข่ายคณะที่ปรึกษา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี เริ่มมีสัดส่วน นายทุน นายธนาคาร นักการเงิน และนักธุรกิจ หนาตามากขึ้น ควบคู่กับการที่องคาพยพของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็เริ่มขยายขยับเข้าสู่ วงใน-วงเดียวกัน

อย่างน้อยก็มี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่นอกจากเป็น 1 ใน 15 องค์คณะ คสช. ยังควบตำแหน่งประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้วย

ทั้งยังมี นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เป็น 1 ในคณะกรรมการซูเปอร์บอร์ด ที่เอาการเอางานเรื่องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และทีมตึกไทยคู่ฟ้า ในฐานะที่ปรึกษา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

และก็ยังมีบริการเสริมจาก นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ร่วมเป็นกุนซือในทำเนียบรัฐบาล

ยังไม่นับรวม “เครือข่ายนายทุน” ที่เป็นพันธมิตรกับรัฐบาล ทั้งนายบัณทูร ล่ำซำ แห่งธนาคารกสิกรไทย และบรรดา “เจ้าสัว” เศรษฐีระดับโลก ที่เข้าได้กับทุกค่าย-ทุกขั้ว อย่าง “เจริญ สิริวัฒนภักดี” และ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ที่มักออกปากสนับสนุนรัฐบาลและ คสช. อย่างน้อย 2 ครั้ง ทั้งในกระทรวงพาณิชย์และที่ทำเนียบรัฐบาล

ภาคเอกชนเข้าพบหารือกับนายกรัฐมนตรี ณ อาคารรับรองเกษะโกมล 12 มกราคม 2557 ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/120115_krit_1/120115krit1-53286.html

ทำให้บรรยากาศการพบกัน 4 ชั่วโมง ระหว่างเครือข่าย 24 นักธุรกิจไทย ที่รวมบรรดาตระกูลเจ้าสัวและมหาเศรษฐี ที่ครอบครองทรัพย์สินมากที่สุดในประเทศ กับพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะนายพล คสช. เมื่อ 12 มกราคม ที่ผ่านมา เป็นไปด้วยความชื่นมื่น สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ

ในกำหนดการที่ส่งเป็นเทียบเชิญถึง 24 สุดยอดนักธุรกิจไทย แจ้งว่า “เป็นการเยี่ยมคารวะหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี” แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นขึ้นคือการประชุม หารือ พิจารณาทิศทางเศรษฐกิจไทย อย่างเข้มข้น ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สวมบทผู้ใหญ่ใจดี เปิดโอกาสให้ตัวแทน-ตัวจริง ของนักธุรกิจเสนอข้อคิดเห็น 4 ชั่วโมง

ข้อเสนอภาคการเงินผ่านตัวแทนกลุ่มนายธนาคารและตลาดทุน ที่มีทั้งนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ, นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย และนางวรวรรณ ธาราภูมิ ในฐานะประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย โดยภาพรวมข้อเสนอกลุ่มนี้มุ่งไปที่ประเด็น “การลงทุนโครงการระยะยาวที่รัฐบาลในสถานการณ์ปกติไม่ดำเนินการ” และการผลักดันกฎหมายหลักประกันธุรกิจ ที่ผลักดันมา 17 ปี เพื่อช่วยให้ SMEs สามารถเข้าถึงเงินลงทุนได้

เสียงของนายธนาคารกลุ่มนี้ระบุว่า “ต้องพยายามผลักดันกฎหมายให้ใช้การได้อย่างแท้จริง การพัฒนาด้านหลักประกันธุรกิจให้กับ SMEs ควรใช้เครือข่ายของธนาคารพาณิชย์ในประเทศกว่า 4,000 สาขา ร่วมกับ บยส. (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) โดย บยส. ต้องพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่”

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอต่อภาพรวมของเศรษฐกิจที่รัฐบาลต้องเร่งรัด อาทิ ควรมีระบบการติดตาม (monitor) ในระดับกิจกรรมของโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ และควรเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางด้านระบบราง ระบบโทรคมนาคม 4G สนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 โดยเน้นโครงการระยะยาวที่รัฐบาลในสถานการณ์ปกติไม่ดำเนินการ เมื่อรัฐบาลลงทุนแล้ว ภาคเอกชนจะลงทุนตาม ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจพลิกฟื้นและเติบโตเต็มศักยภาพ

ตัวแทนนายธนาคารระดับท็อปไฟว์ อภิปรายข้อเสนอเพิ่มเติมว่า รัฐบาลควรเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ให้มากขึ้น ทั้งการเจรจาทบทวนความตกลงกับญี่ปุ่น (JTEPA) ให้เสร็จโดยเร็ว รวมทั้งความตกลงกับสหภาพยุโรป (EU) และจีน โดยควรดำเนินการจัดทำข้อตกลงร่วมกันในทางเทคนิคให้พร้อม

กลุ่มนักธุรกิจที่เป็นเครือข่าย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในภาคค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภค อย่างเครือเซ็นทรัลและค่ายเดอะมอลล์ ทั้งนายทศ จิราธิวัฒน์ และนางศุภลักษณ์ อัมพุช รวมทั้งนายเวทิต โชควัฒนา กรรมการบริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ เจ้าพ่อตลาด “มาม่า” กลุ่มนี้ชงข้อเสนอและเล่าข้อมูลที่เป็นจริง ให้น้ำหนักไปกับผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ ที่กำลังซื้อตกต่ำระดับ “ยอดขายของห้างค้าปลีกตกต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี”

นักธุรกิจกลุ่มนี้ เล่าให้ พล.อ. ประยุทธ์ฟังว่า “ปีที่ผ่านมายอดขายของค้าปลีกตกต่ำที่สุดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ปัญหาที่สำคัญคือราคาสินค้าเกษตรตกต่ำทำให้ประชาชนขาดกำลังซื้อ นอกจากนี้ยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นมาก ในขณะที่กลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงกลับไปเที่ยวต่างประเทศและจับจ่ายใช้สอยในต่างประเทศสูงขึ้น”

และได้เสนอให้รัฐบาลพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการค้า-การลงทุน และระบบโลจิสติกส์ คือ ควรพัฒนาท่าเรือน้ำลึก เช่น ที่จังหวัดภูเก็ต ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำของภูมิภาคนี้ และสามารถดึงดูดการค้าการลงทุน การจับจ่ายใช้สอยให้เข้าสู่ประเทศไทย และควรพิจารณาลงทุนสร้างเส้นทางที่เชื่อมระหว่างย่างกุ้ง กรุงเทพฯ มาบตาพุด พนมเปญ และโฮจิมินห์ ซึ่งจะสามารถพลิกโฉมการค้าการลงทุนในไทยและอินโดจีน

และเพื่อให้เกิดระบบ “การค้า” ที่ชัดเจน รัฐบาลควรผลักดันการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดน ซึ่งจะส่งผลให้การลงทุนและการพัฒนาพื้นที่ติดตามมาในอนาคตและสามารถดึงดูดนักลงทุนได้

ถัดไปเป็นการเสนอความเห็นของกลุ่มการพัฒนาธุรกิจ SMEs โดยมีตัวแทนคือ “เพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด” นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ควบตำแหน่งบอร์ดคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สรุปข้อเสนอผู้ประกอบการธุรกิจซึ่งเห็นตรงกันว่า SMEs เป็นโครงสร้างที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยและจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ดังนั้น รัฐบาลจึงควรเร่งพัฒนาความเข้มแข็งของ SMEs เพื่อให้สามารถก้าวสู่เวทีภูมิภาคและเวทีโลก

ข้อเสนอกลุ่ม SMEs พาดพิงกับธุรกิจค้าปลีกด้วยว่า “การพัฒนา SMEs สามารถใช้เครือข่ายห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (modern trade) ที่มีทุกจังหวัด ตลอดจนการร่วมกันขับเคลื่อนของผู้ประกอบการขนาดใหญ่กับ SMEs ไปตลาดต่างประเทศ ควรวางตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ (positioning) ของประเทศไทยหรือการสร้างแบรนด์ประเทศไทย (branding Thailand) ว่าจะเด่นด้านใดในอาเซียนและเวทีโลก เช่น ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยเพิ่มการขายสินค้าให้กับ SMEs ได้สูงขึ้น และควรจัดทำฐานข้อมูล SMEs แห่งชาติ”

การประชุมเริ่มเข้มข้นขึ้น เมื่อกลุ่มนักธุรกิจสายอสังหาริมทรัพย์และนิคมอุตสาหกรรมที่ประกอบด้วย นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์, นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ แห่ง “บ้านพฤกษา” เศรษฐีหุ้นอันดับต้นของเมืองไทย และนายวิกรม กรมดิษฐ์ เซเลบริตี้แห่งนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร กลุ่มนี้จัดหนักอภิปรายประเด็นปัญหาการทำธุรกิจที่เป็นผลมาจากการทำงานของส่วนราชการล้วนๆ อาทิ การแก้ปัญหา EIA ที่ล่าช้า รัฐบาลควรมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น เช่น กรุงเทพฯ สามารถทำได้เอง

ผลกระทบที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับกิจการค้าปลีกคือ “ตกต่ำที่สุด” เมื่อตัวแทนของกลุ่มนี้ระบุว่า “นิคมอุตสาหกรรมในปีที่ผ่านมาตกต่ำที่สุด จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า ปัญหาสำคัญอีกประการคือเรื่องการขาดแคลนแรงงาน นิคมอุตสาหกรรมไทยในอนาคตจะแข่งขันได้ต้องมุ่งเน้นด้านการวิจัยและพัฒนามากขึ้น”

ปัญหาถูกนำเสนอราวกับลูกระนาด ด้วยการขอให้รัฐบาลสางปัญหา “ระบบราชการ” และขอให้รัฐบาลแก้ไขเรื่องศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพและมีงบประมาณที่เพียงพอ เนื่องจากเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และขอให้รัฐบาลและ คสช. เร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานและปัญหาแรงงานต่างด้าว

นักธุรกิจกลุ่มการลงทุนด้านพื้นฐาน ที่นำเสนอทั้งปัญหายาขม และชื่นชมด้วยคำหวาน ต้องยกให้ทายาทเจ้าสัวธนินท์ คือ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ที่กล่าวลีสำคัญด้วยข้อเสนอ 9 ข้อ โดยข้อที่ 9 มีคีย์เวิร์ดว่า “ผู้นำ เป็นดวงประทีป…ความเป็นผู้นำจะทำให้สังคมเชื่อมั่น เชื่อถือในทุกด้าน และจะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม”

ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/120115_krit_1/120115krit1-53282.html

นักธุรกิจกลุ่มนี้นำเสนอว่า รัฐบาลและเอกชนควรร่วมกันเป็น Public-Private Partnership (PPP) อย่างจริงจัง โดยมีการกำหนดบทบาทของเอกชนให้มีความชัดเจน รัฐควรเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนและเอกชนจะทำหน้าที่การลงทุนและใช้โครงสร้างพื้นฐานในสภาพแวดล้อมนั้นๆ ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ การทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน ควรมีการประชุมหารือกันอย่างต่อเนื่อง ยุทธศาสตร์และแผนการของรัฐจะต้องชัดเจน และมีการระบุบทบาทของเอกชนในแต่ละขั้นตอนการปฏิบัติให้ชัดเจน

ในประเด็นสำคัญอื่นๆ ที่รัฐบาลควรเน้นคือ การลงทุนอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศ การปฏิรูปการศึกษา และสร้างแรงจูงใจในการยกระดับการวิจัยและพัฒนาของประเทศ

กลุ่มที่ถือว่าผลประกอบการอยู่ในแดนลบ ถูกรวมไว้ในหมวดการเสนอความเห็นในภาคการส่งออก มีตัวแทนระดับพ่อค้าข้าวอันดับต้นๆ ของเมืองไทย คือ นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ ร่วมด้วยนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์, นายวิสาร ฉันท์เศรษฐ์, นพพร เทพสิทธา และนายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล

กลุ่มนี้นำเสนอปัญหาตรงใจ-เข้าประเด็นรวดเร็ว พุ่งตรงไปที่ปัญหาสต็อกข้าว 17 ล้านตัน ที่เป็นแรงกดดันสร้างปัญหาให้กับตลาดข้าว ทำให้ราคาข้าวไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นได้ ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งระบายข้าวโดยเร็ว เช่น ควรระบายข้าวครึ่งหนึ่งของสต็อกข้าวไปให้กับอุตสาหกรรมอาหารและเอทานอลของประเทศในราคาที่เหมาะสม

จากนั้น มีการเสนอปัญหาการส่งออกสินค้าประมง ที่เต็มไปด้วยข้อเสนอสุดหิน-สุดยาก คือต้องเร่งแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานและปัญหาประมงผิดกฎหมาย (IUU) การค้ามนุษย์ (TIP Report) โดยควรดำเนินการให้หลุดจากบัญชี 3 ให้ได้ในปีนี้ และแก้ความไม่โปร่งใสของระบบราชการ และการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องให้เสร็จโดยเร็ว และเร่งทำรายละเอียดของยุทธศาสตร์การเป็นชาติการค้า (trading nation)

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักส่งออกเสนอความเห็นที่มีไมตรีอย่างยิ่งต่อ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ด้วยการให้ความเห็นว่า “เป้าส่งออก 4% ในปีนี้ควรเป็นภารกิจร่วมกันของรัฐบาล ไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์แต่ฝ่ายเดียว เนื่องจากเกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลายส่วน และควรเร่งให้มีการใช้สิทธิประโยชน์ตามความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่เพิ่งมีการใช้เพียง 50%”

หลังจากฟังข้อเสนอของนักธุรกิจทั้งหมดแล้ว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ขอพูดบ้าง โดยใช้เวลากล่อมนักธุรกิจไปราว 1 ชั่วโมง

นายกรัฐมนตรีบอกนักธุกริจว่า “ข้อเสนอแนะหลายๆ ด้านสอดคล้องกับสิ่งที่ คสช. และรัฐบาลได้เร่งดำเนินการในห้วง 8 เดือนที่ผ่านมา แต่ยอมรับว่างานหลายด้านซึ่งได้สั่งการไปแล้วในทางปฏิบัติยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร ซึ่งจะนำข้อคิดเห็นไปเร่งรัดดำเนินการต่อไป เห็นว่าการประชาสัมพันธ์หรือสื่อสารการดำเนินการและผลงานของรัฐบาลจะต้องมีความเข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อให้ภาคเอกชนและประชาชนได้รับทราบและร่วมกันขับเคลื่อนงานให้บรรลุผล”

พล.อ. ประยุทธ์บอกด้วยว่า มีงานที่รัฐบาลกำลังผลักดัน เช่น การสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา การทบทวนพิจารณาการเช่าที่ดินจาก 30 ปี เป็น 60 ปี การลดขั้นตอนการดำเนินงาน เช่น การจัดทำ one stop service ที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว (เช่น BOI และศูนย์ดำรงธรรม)

นายกรัฐมนตรีเรียบเรียงปัญหาให้นักธุรกิจฟังว่า ปัญหาการใช้จ่ายงบประมาณ รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณประจำปี 2558 ไปแล้ว แต่ยังติดอุปสรรคในระดับปฏิบัติตามกระทรวง กรม และหน่วยงานระดับภูมิภาคต่างๆ ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้มีการทำ TOR สัญญาและเร่งเบิกจ่ายงบประมาณต่อไป และได้สั่งการให้ข้าราชการในทุกหน่วยงานทำงานในเชิงรุกมากกว่าเชิงรับ โดยไม่อ้างกฎหมายเป็นอุปสรรค แต่พยายามใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงานให้บรรลุผลสัมฤทธิ์

“ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องขับเคลื่อนการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ดังนั้น ขอให้ภาคเอกชนพิจารณาเสนอแนวความเห็นเพื่อร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการจากภาคเอกชน เพื่อมาประสานกับรัฐบาลในการเป็นตัวแทน (dealer) ไปเจรจากับผู้ค้าผู้ลงทุนในต่างประเทศ เพื่อดึงดูดการลงทุนและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและเวทีโลก”

“ด้านการลงทุนของภาคเอกชนไทยในต่างประเทศ ขอให้ผู้ประกอบการเอกชนจัดทำข้อเสนอให้กับรัฐบาลว่าต้องการไปลงทุนในสาขาใดและประเทศใด เพื่อรัฐบาลจะช่วยเจรจาและอำนวยความสะดวกให้ ตลอดจนในด้านความต้องการแรงงานจากต่างประเทศ ให้รวบรวมตัวเลขมาว่าแต่ละสาขาต้องการจำนวนเท่าใดจากประเทศใด รัฐบาลก็จะสามารถช่วยเจรจากับผู้นำของประเทศนั้นๆ ได้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นับเป็น 4 ชั่วโมง ที่ไม่เสียของ ทำให้นายทุนได้ผล-ได้ดอกติดไม้ติดมือ อย่างน้อยก็ได้กำไรเฉพาะหน้า ได้นำเสนอปัญหาแบบตัวต่อตัวกับนายกรัฐมนตรีและเหล่านายพลในคณะ คสช. ซึ่งล้วนรับปาก รับไมตรี ไปปฏิบัติการล้างท่อ-สางปมปัญหาให้แบบ “ทำทันที” ในการไล่บี้คณะรัฐมนตรีในวันถัดมา