Credit
หยุดดัดจริตประเทศไทย
ooo
สถานการณ์ราคายางพาราที่ดิ่งเหวไม่ได้เป็นชนวนทำให้เกิดม็อบรบกวนบรรยากาศการปฏิรูปเพียงด้านเดียวอย่างที่ คสช.พยายามอธิบาย ทว่ามันกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนที่ชายแดนใต้อย่างรุนแรงด้วย เพียงแต่ชาวบ้านที่นั่นเขาไม่ได้จัดม็อบแค่นั้นเอง
ที่มา สำนักข่าวอิศรา
ราคายางที่ต่ำเตี้ยอย่างหนักถือว่าซ้ำเติมคนสามจังหวัด ทั้งปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพราะชาวสวนยางที่นั่นเขาไม่ได้ทำยางเหมือนพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ คือ ไม่ได้เน้นกรีดเพื่อขายน้ำยาง หรือนำไปทำเป็นยางแผ่น แต่ด้วยสถานการณ์ความรุนแรงทั้งยิงและระเบิดในสวนยาง ทำให้ไม่สามารถเดินทางเข้าสวนไปกรีดยางช่วงเช้ามืดได้ (ซึ่งน้ำยางออกดี) จึงต้องหันมาทำ"ยางถ้วย" หรือ "ขี้ยาง" แทน
การทำ "ยางถ้วย" หรือ "ยางก้นถ้วย" คือ การกรีดต้นยางทิ้งไว้ แล้วปล่อยให้น้ำยางไหลลงถ้วยหรือกะลาที่เตรียมไว้จนแห้ง จากนั้นอีก 2-3 วันจึงค่อยแงะเอายางที่จับกันเป็นก้อนนั้นไปขาย
ราคายางถ้วยจึงถูกกว่าน้ำยางหรือยางแผ่น ราคาที่พูดๆ กันวันนี้ในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลางและตอนบนราวๆ 30-40 บาทต่อกิโลกรัมนั้น ที่ใต้ล่างหรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ราคาอยู่ที่ราวๆ 10 กว่าบาทเท่านั้นเอง
และนี่คือผลกระทบที่เกิดกับวิถีชีวิตชาวบ้าน ซึ่งมีทั้งต้องดั้นด้นข้ามแดนไปรับจ้างกรีดยางถึงฝั่งมาเลเซีย, การให้ลูกออกจากโรงเรียน หรือแม้แต่การให้ลูกถือศีลอด เพื่อประหยัดค่าข้าว!
นายมะนาเซร์ (สงวนนามสกุล) ชาวสาวยางใน จ.ยะลา เล่าว่า เริ่มเดือดร้อนมาตั้งแต่ราคายางตกลงมาเหลือ 20 กว่าบาทแล้ว จากนั้นก็ทำให้เกิดวิกฤติอย่างหนักในครอบครัว กระทบทั้งค่าผ่อนรถกระบะ ค่าใช้จ่ายลูกไปโรงเรียน ถึงขั้นไม่สามารถส่งลูกไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนเดิมได้
มะนาเซร์ แจกแจงให้ฟังว่า แรกๆ ตัดสินใจย้ายโรงเรียนของลูกก่อน จากที่เคยเรียนในเมือง เดินทางโดยรถรับส่ง ก็ย้ายลูกมาเรียนที่โรงเรียนในชุมชน จะได้ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แต่ก็ทนมาได้ไม่ถึง 2 เดือน ราคายางยิ่งลดลงทุกวัน ทำให้ไม่มีเงินส่งค่างวดรถที่ต้องจ่ายเดือนละ 4,000 บาท
ช่วงนั้นก็เลยนั่งคุยกับภรรยาว่า ตอนนี้เรามีลูกแค่ 2 คน มีแค่ค่าผ่อนรถเดือนละ 4 พัน ค่าใช้จ่ายเดือนหนึ่งรวมแล้วที่เราใช้ไม่เกิน 7,000 บาท เรายังมีรายได้จากการกรีดยางไม่ถึงเลย ถ้าราคายางลดลงกว่านี้ รถโดนยึดแน่ ก็เลยตัดสินใจพร้อมกับเพื่อนบ้านประมาณ 5 ครอบครัว ข้ามไปกรีดยางที่มาเลเซีย
"เมื่อก่อนกรีดยางได้วันละ 300 บาท รายได้เท่านี้เรายังมีเงินเก็บเหลืออีกหลังหักค่าผ่อนรถแล้ว ถือว่าครอบครัวอยู่อย่างสบาย ไม่ติดขัดอะไร แต่พอยางราคาตก กรีดยางได้ไม่ถึงร้อยบาทต่อวัน ทุกอย่างเปลี่ยนไปเลย จากที่ไม่เคยยืมหรือเป็นหนี้ใคร ก็ต้องยืม ต้องเป็นหนี้ เพราะแรกๆ คิดว่าราคายางน่าจะตกไม่นาน อาจเป็นช่วงแรกๆ ของการเปลี่ยนรัฐบาล"
"แต่ยิ่งนานวันดูเหมือนยิ่งแย่ ก็เลยพาภรรยาไปอยู่มาเลเซีย ให้ลูกอยู่กับแม่ของภรรยา ตอนนี้กรีดยางที่มาเลเซียได้วันละ 1,000 บาท หักค่าใช้จ่ายทุกอย่างและค่านายหน้าแล้วก็ยังมีเหลือเก็บบ้าง"
มะนาเซร์ บอกว่า จริงๆ ราคายางฝั่งมาเลย์และฝั่งไทยไม่แตกต่างกันนัก แต่สาเหตุที่เขาได้เงินเยอะกว่าที่มาเลย์ เพราะสามารถกรีดยางได้จำนวนเยอะกว่า เนื่องจากเป็นการรับจ้างกรีดในสวนขนาดใหญ่ ไม่ใช่กรีดเฉพาะในสวนของตัวเองเหมือนที่บ้าน
แต่ปัญหาคือชีวิตในฐานะ "ลูกจ้างกรีดยาง" ไม่ได้สะดวกสบายเลยแม้แต่น้อย
"ที่นั่นต่างจากบ้านเราทุกอย่าง ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีเทคโนโลยี แม้แต่โทรศัพท์ก็ใช้ไม่ได้เพราะไม่มีไฟฟ้าชาร์จแบตเตอรี ต้องกินน้ำจากลำธาร อยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ เวลามีทหารของประเทศเขาเข้ามา พวกเราก็ต้องอยู่ที่มืด ต้องไม่ใช้ไฟ ปกติจะใช้ไฟจากตะเกียงน้ำมันก๊าด บางช่วงยิ่งหนักก็ต้องพากันขึ้นไปอยู่บนภูเขาอีกลูก เพราะไม่มีที่อยู่ ต้องหลบในป่า พอทหารออกไปถึงจะสามารถกลับมาอยู่ในกระต๊อบได้"
การเดินทางไปกรีดยางฝั่งมาเลย์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมี "นายหน้า" นำพาไปก็ตาม โดยรัฐที่มีคนไทยจากสามจังหวัดใต้ไปรับจ้างกรีดกันมาก คือ รัฐเคดาห์
"หลังออกจากด่านฝั่งไทย ต้องเดินทางอีก 1 วันกว่าจะถึง การเดินทางใช้รถจักรยานยนต์เท่านั้น ขับไปได้ครึ่งทางประมาณ 6 ชั่วโมงก็จะพักบริเวณที่พักริมทาง นอนพัก 1 ตื่น แล้วก็ออกเดินทางต่อ เราจะเกาะกลุ่มกันไป แรกๆ คนบ้านเรามีกันไม่ถึง 20 ครอบครัว แต่ตอนนี้ทั้งภูเขามีแต่คนบ้านเรา เพราะคนของประเทศเขาไม่กรีดยางกันแล้ว มีแต่พวกเราที่ไปกรีด เพราะเป็นยางเก่า กรีดแล้วน้ำยางไม่เยอะ ไม่คุ้มกับแรงที่เสีย แต่พวกเราไม่มีทางเลือกก็ต้องทำ" มะนาเซะบอกอย่างปลงๆ
นายซำซูดิง กาเล็ง ชาวสวนยาง อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส เล่าว่า ตอนนี้ขี้ยางราคาไม่ถึง 10 บาท รถปิคอัพโดนยึดไปแล้ว สวนยางสองแปลงที่ขายก่อนหน้านี้ก็เพื่อไปจ่ายค่างวดรถ สุดท้ายก็รักษารถไว้ไม่ได้ ทุกอย่างแย่จนถึงที่สุด
"ลูกเรียน 5 คน รถผ่อนเดือนละ 9,000 บาท ไม่สามารถจ่ายได้ ขายสวนยางไปสองแปลงก็ยังไม่สามารถรักษารถไว้ได้ ข้าวของก็แพง มันแย่ไปหมด ทุกคนก็เป็นแบบนี้ คุยกับใครก็มีแต่คนบอกว่าไม่อยากจะพูดอะไร ตอนนี้ให้มีกิน ให้ลูกได้ไปโรงเรียนแต่ละวันได้ก็พอแล้ว"
ซำซูดิง เล่าต่อว่า ช่วงเดือนที่ผ่านมาราคายางต่ำสุดๆ แถมฝนยังมาตกซ้ำอีก ทำให้แย่จนบอกไม่ถูก
"ลูกต้องขาดเรียนไปเลยช่วงที่ไม่มีเงินแม้กระทั่งเติมน้ำมันรถจักรยานยนต์ให้ลูกไปโรงเรียน ไม่ต้องพูดถึงเงินที่ให้ลูกไปซื้อข้าวกิน ลูก 3 คนโตจะถือศีลอดไปเรียน กลับมาตอนเย็นเจียวไข่ 2 ฟองละศีลอดกัน ส่วนคนน้อง 2 คน พวกเขาจะกินข้าวตอนเช้าที่บ้าน กินข้าวเที่ยงที่โรงเรียนแล้วกลับมากินข้าวเย็นที่บ้าน ไม่ต้องพูดถึงเลยว่าเขาจะมีเงินไปโรงเรียน หลายครั้งลูกกลับมาเล่าให้ฟังว่าวันนี้เพื่อนซื้อไอศครีมกิน แต่พวกเขาได้แค่มอง เราก็พูดปลอบใจลูกว่าให้เขากินไป เราอดไปก่อน เรามีวันไหนเราก็ไปซื้อมากินบ้าง"
ด้าน นางมาซือนะ วาเด็ง ชาวสวนยาง จ.ยะลา เล่าว่า เธอทำงานคนเดียว ไม่มีสามี แต่เลี้ยงลูก 2 คน ลูกสาวที่เคยเรียนโรงเรียนทั้งสายสามัญและสายศาสนา ตอนนี้ย้ายมาเรียนโรงเรียนประจำที่มีสอนแค่ศาสนากับเรียนกิตาบ (หนังสือเรียนศาสนาอิสลาม)
"ฉันให้เงินเขากินอยู่ที่โรงเรียนประจำ สัปดาห์ละ 200 บาท รวมทุกอย่าง ให้เขาบริหารเอง พอหรือไม่พอก็มีให้เท่านี้ ส่วนลูกชายเมื่อก่อนเรียนไปกลับ ซื้อรถจักรยานยนต์ให้ไปโรงเรียนที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ตอนนี้ไม่มีเงินไปโรงเรียน รถโดนยึดไปแล้ว ลูกต้องออกจากโรงเรียน เพราะไม่มีเงินผ่อนรถเดือนละ 1,700 บาท และยังไม่มีเงินให้ลูกไปโรงเรียนด้วย"
"เงินที่มีตอนนี้สัปดาห์ละ 200 บาทต้องให้กับลูกสาวที่เรียนประจำ บางสัปดาห์ก็ต้องไปยืมพี่ๆ หรือเพื่อนบ้าน หลายครั้งที่ไปยืมพี่ๆ พวกเขาก็ไม่มีเงินให้เหมือนกัน แต่พี่ๆ ก็จะช่วยๆ กัน คนละ 10 บาท 20 บาท ครบ 200 ก็เอาไปให้ลูกสาวที่โรงเรียน"
เธอบอกอีกว่า ตอนนี้ขี้ยางราคาลดลงมาก ล่าสุดขายไปกิโลกรัมละ 16 บาทเท่านั้น กรีดไป 4 วันได้เงินแค่ 700 บาท วันไหนฝนตกก็อดไปเลย กับข้าวที่บ้านต้องซื้อปลาฉิ้งฉ้าง (ปลาตัวเล็กๆ ทอดกรอบ) มาแบ่งกันกิน แล้วต้มเส้นหมี่ให้มีน้ำกินตามเข้าไป อยู่แค่ให้รอดไปแต่ละวัน ไม่คิดจะให้มีเหมือนแต่ก่อนแล้ว
นี่คือภาพชีวิตจริงๆ ของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในยามที่ราคายางตกต่ำที่สุดในรอบกว่า 30 ปี!
ooo