รวมซีรีส์ ‘ณ แดนลิเก’ แถมตอนใหม่
!!!
----------------------------------------
----------------------------------------
วีไอพีมีจริตมารยาแต่ไม่มีมารยาท
คนชาตินิยมชมชอบไวน์ฝรั่งไม่คลั่งเหล้าขาว
คนชาตินิยมชมชอบสูทฝรั่งไม่คลั่งโจงกระเบน
คนชาตินิยมชมชอบหนังฝรั่งไม่คลั่งหนังไทย
คนชาตินิยมชมชอบมิวสิคัลไม่เคล้าลำตัด
ทหารตำรวจเน้นไสยศาสตร์ อาจารย์เน้นจริยศาสตร์
กฎหมายสูงสุดเกิดก่อนรัฐธรรมนูญ
ทหารผอมวิ่งเร็วได้เป็นบ่าว ทหารอ้วนวิ่งไม่ไหวได้เป็นนาย
นักข่าวปลาบปลื้มที่ได้รับเปลือกกล้วยสีเหลืองเป็นมงคลจากทั่นผู้นำราวกับได้รับน้ำมนต์จากเกจิคนดัง
การติดสินบนเป็นวัฒนธรรมอันดีงามแสดงถึงความนอบน้อม
แม้แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็รับสินบนด้วยการแก้บน
ทหารและตำรวจผู้เก่งกล้าพกพาเครื่องรางของขลังเพราะกลัวตาย
มั่นใจว่าเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาแห่งจักรวาลแต่ปล้นพระคู่บ้านคู่เมืองจากประเทศเพื่อนบ้าน
มีนายพลมากกว่าอภิมหาอำนาจแต่ไม่เคยรบชนะ
ชอบเขียนกฎหมายแต่ไม่เคารพกติกา
ชอบใส่เครื่องแบบแต่ไม่มีวินัย
โสเภณีผิดกฎหมายแต่หาง่ายกว่าพี่เลี้ยงเด็ก
หมอไปสัมมนาเที่ยวด้วยเงินบริษัทยาแต่ด่านักการเมืองเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
นายกฯหญิงบินไปต่างประเทศไม่พาสามีไปด้วยถือว่าเปลืองงบ
แต่นายกฯชายบินไปต่างประเทศพาภรรยาไปด้วยถือว่าเป็นหน้าเป็นตาแก่ประเทศ
คนมีบัญชีทรัพย์สินที่บริติชเวอร์จินเป็นคนเลวแต่คนมีบัญชีทรัพย์สินที่สวิสเป็นคนดี
คนมีจิตสาธารณะเบิกสวัสดิการค่าตัดสูท
สีทองเป็นสีมงคลแต่คำว่าดอกทองคือคำด่า
สีดำเป็นสีอัปมงคลแต่ผมดำกันค่อนประเทศ
สีแดงเป็นสีอัปมงคลแต่เป็นสีหนึ่งในธงชาติ
กองทัพที่งบประมาณเกือบแสนล้านเปราะบางขนาดนิ้ว 3 นิ้วจิ้มให้พังได้
ค่านิยมสร้างด้วยสติ๊กเกอร์ไลน์ ความหลงใหลสร้างด้วยคุก
มั่นใจว่าไม่เคยเป็นเมืองขึ้นฝรั่งแต่คลั่งความผิวขาว
คนมีลูกไม่เอาไหนชอบอบรมลูกคนอื่นในที่สาธารณะ
ไม่มีเงินช่วยเหลือเกษตรกรแต่มีเงินซื้อเฮลิคอปเตอร์กะเรือรบที่ไม่ได้ออกรบ
พระประณามทุนนิยมแต่ให้เช่าที่ดินทำตลาดนัด
นายพลรุ่นพี่กลัวแพ้คอมมิวนิสต์เลยออเซาะทุนนิยม
นายพลรุ่นน้องกลัวแพ้ทุนนิยมเลยออเซาะคอมมิวนิสต์
ทหารไม่ได้มีไว้ทำสงครามแต่มีไว้ปราบประชาชน
ตำรวจขอเพิ่มอำนาจในภาวะกฎอัยการศึก
การแทรกแซงศาลเรียกว่าสามานย์ส่วนศาลทหารเรียกว่าผดุงธรรม
คนปิดทองหลังพระอยู่หน้าจอทีวี
คนคลั่งชาติชอบเซเลปลูกครึ่งฝรั่ง
คัดค้านการให้เงินช่วยเกษตรกรแต่ซื้อทัวร์ไปชื่นชมชีวิตเกษตรกรในประเทศที่ให้เงินช่วยเกษตรกร
บิดาแห่งศิลปกรรมผู้ก่อตั้งมหาลัยศิลปะแห่งชาติเป็นคนต่างชาติ
มหาลัยที่เก่าที่สุดเพิ่งอายุ 100 ปีแต่คนมีปริญญามั่นใจว่าฉลาดมาก
มั่นใจว่าไม่เคยเป็นเมืองขึ้นฝรั่งแต่คลั่งเรื่องสำเนียงอังกฤษแท้
คนรักลัทธิชาตินิยมชอบส่งลูกเรียนเมืองนอก
คนชอบลัทธิบุญบารมีวาสนาชอบส่งลูกเรียนโรงเรียนคริสต์
คนอ้วนเป็นโอ่งจนวิ่งไม่ไหวเป็นนายพลที่เก่งกล้าสามารถปราบศัตรูพ่าย
เมียน้อยที่เลื่อนขั้นเป็นเมียหลวงน่าสงสารเมื่อสามีมีเมียน้อยอีก
อาชญากรบวชเป็นพระกลายเป็นคนดีกว่าพระที่ก่ออาชญากรรม
องคมนตรีที่ใช้ภาษีอย่างไม่โปร่งใสสอนผู้เสียภาษีว่าอย่าโกง
นักการเมืองที่ชนะเลือกตั้งไม่ใช่คนดีเท่านักการเมืองที่ล้มเลือกตั้ง
รถไฟฟ้าความเร็วปานกลางราคา 3 ล้านล้าน เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่ารถไฟฟ้าความเร็วสูงราคา
2 ล้านล้าน
คนฉีกรธน.ขอเป็นคณะกรรมการพิทักษ์รธน.ในอนาคต
และส่วนย่อย ข้อความของเธอ เพิ่งเขียนเมื่อไม่นานมานี้ :
แม้แต่ซานต้าก็ใส่เสื้อแดงไม่ได้ คัลท์สุดยอด!!! ตอนแรกคิดว่าเป็นสถูปเจดีย์ที่คนเอาผ้าสีต่างๆไปไหว้เพื่อขอหวย อ่านคำอธิบายถึงรู้ว่าเป็นต้นคริสต์มาสแบบไทยๆ
อึ้งไปหลายวินาทีเลย!!!
ต้นคริสมาสต์สุวรรณภูมิ
grotesque (เป็นคำชม)
เห็นด้วยกับ มิตรสหายท่านหนึ่ง
อิตาลีมีการปกครองและวัฒนธรรมที่คล้ายไทยมาก
ไม่ว่าจะเป็นอิตาลีภายใต้มุสโสลินีหรือภายใต้เบอร์ลุสโคนี คนรวยอิตาลีมักเหยียดคนจน
ข้าราชการอิตาลีก็ขึ้นชื่อเรื่องเช้าชามเย็นชาม แถมคนอิตาลีอยู่กับวาติกันเป็นศูนย์กลางศาสนาคริสต์ของโลกทำให้นักบวชมีอิทธิพลมาก
เพื่อนชาวอิตาลีคนหนึ่งมาจากเกาะซิลิลีอันเป็นดินแดนเจ้าพ่อที่เลื่องลือ เขาเล่าว่าตอนเลือกตั้งเจ้าพ่อก็ส่งสัญญาณให้เลือกคนที่เจ้าพ่อต้องการ
ญาติๆและเพื่อนๆเขาก็เลือกตามนั้น ถามเขาว่าไม่อยากให้ระบบเจ้าพ่อหมดไปคนเลือกได้ตามใจตัวเองเหรอ
เขาบอกว่าอยู่อย่างนี้ก็ดีนะเพราะว่าเจ้าพ่อรู้ความต้องการคนท้องถิ่น ถนนทรุดหรือน้ำไม่ไหลก็บอกเจ้าพ่อให้จัดการได้รวดเร็วดี
เลยถามเขาต่อว่าแล้วทำไมเธอเลือกมาอยู่สหรัฐฯล่ะ เพื่อนไม่ยอมตอบคำถามต่อเลยค่ะ
!!!
คุณอุ๋ยวันนี้
"หลังจากฟังผมรายงานภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เชื่อว่าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจใหม่"
คุณอุ๋ยวันนั้นที่เข้าพบทูตคริสตี้
"ทั้งนี้จากท่าทีดูจากแววตาของท่านทูตในวันนี้แล้ว เชื่อว่าเขาเข้าใจ"
ความเห็นฉัน : ความเชื่อเป็นสิทธิส่วนบุคคล เช่น
เชื่อว่าผีกระสือมีจริง เชื่อว่าพระจันทร์ทำด้วยชีสเพราะสีเหลืองเหมือนชีส ฯลฯ ความเชื่ออาจไม่สมเหตุสมผลและไม่เป็นจริง
เศรษฐกิจพอเพียงยุคมุสโสลินี
กานดา นาคน้อย /23 ธันวาคม 2556
แกนนำของกปปส.ยังไม่เสนอแนวทางปฎิรูปเศรษฐกิจแม้ว่าแนวร่วมหลายคนประณามว่าระบบเศรษฐกิจปัจจุบันคือทุนนิยมสามานย์ เนื่องจากแนวคิดและวิธีการแย่งชิงอำนาจของกปปส.คล้ายคลึงกับแนวทางของฟาสซิสต์อิตาลีมากกว่าฟาสซิสต์เยอรมันและฟาสซิสต์ญี่ปุ่น จึงน่าศึกษาว่ารัฐบาลฟาสซิสต์อิตาลีภายใต้เผด็จการมุสโสลินีปฎิรูปเศรษฐกิจอิตาลีอย่างไร
มุสโลลินีเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรอิตาลีนานถึง 21 ปี ตั้งแต่ 10 ปีก่อนการอภิวัฒน์สยาม พศ. 2475
จนถึง 11 ปีหลังการอภิวัฒน์สยาม เศรษฐกิจอิตาลีโดนปฎิรูปให้ต่างจากทุนนิยมในสหรัฐอเมริกาและสังคมนิยมในสหภาพโซเวียตเพื่อสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ชาตินิยม เป้าหมายการปฎิรูปคือการสร้างระบบเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งผลิตเพื่อบริโภคโดยไม่พึ่งพาต่างประเทศ
ลักษณะเด่นของเศรษฐกิจพอเพียงยุคมุสโสลินีคือการจัดตั้งสมาคมวิชาชีพในแต่ละภาคการผลิต ในทางทฤษฎีสมาคมวิชาชีพทำหน้าที่ร่วมกำหนดนโยบายรัฐ แต่ในทางปฎิบัติไม่ชัดเจนว่าสมาคมวิชาชีพมีอิทธิพลกำหนดนโยบายยุคมุสโสลินีแค่ไหน
นโยบายที่ดิน
รัฐบาลมุสโสลินีขยายพื้นที่การเกษตรโดยการปล่อยน้ำออกจากพื้นที่ชุ่มน้ำและป่าชายเลน
แล้วบังคับให้เจ้าของที่ดินแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินกับเกษตรกรไร้ที่ดินผ่านสมาคมเจ้าของที่ดิน
เนื่องจากเป้าหมายปฎิรูปที่ดินคือการเพิ่มผลผลิตให้พอเพียงสำหรับบริโภคภายในประเทศ นอกจากปฎิรูปที่ดินแล้วรัฐบาลก็รับประกันราคาสินค้าเกษตรที่ต้องการเพิ่มผลผลิตด้วย
นโยบายแรงงาน
รัฐบาลมุสโสลินีออกกฎหมายบังคับให้แต่ละอุตสาหกรรมมีสหภาพพนักงานได้สหภาพเดียวและกลุ่มนายจ้างกลุ่มเดียวในแต่ละอุตสาหกรรม สหภาพพนักงานและกลุ่มนายจ้างต่อรองกันโดยมีรัฐบาลเป็นผู้กำหนดกติกา กติกาที่สำคัญคือกฎหมายห้ามสหภาพพนักงานนัดประท้วงหยุดงานและห้ามนายจ้างหยุดจ้างงานชั่วคราวเพื่อต่อรองกับสหภาพพนักงาน กฎหมายนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างเสถียรภาพการผลิต ในทางปฎิบัติกฎหมายนี้เอื้อประโยชน์ให้นายจ้างมากกว่าพนักงาน เพราะเมื่อพนักงานประท้วงไม่ได้นายจ้างก็ไม่จำเป็นต้องหยุดจ้างงานชั่วคราวเพื่อต่อรองกับพนักงาน
นโยบายทุน
แบงค์ชาติอิตาลีอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลมุสโสลินี หลังมุสโสลินีเป็นนายกฯเพียงปีเดียวแบงค์ชาติอิตาลีอัดฉีดเงินทุนให้บริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ที่สุดและสถาบันการเงินเจ้าหนี้ของบริษัทนั้นด้วย
10 ปีผ่านไปเกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เกิดปัญหาหนี้เสียจนเกิดวิกฤตการเงิน รัฐบาลมุสโสลินีจัดตั้งสถาบันฟื้นฟูอุตสาหกรรมเพื่อเข้าไปถือหุ้นวาณิชธนกิจขนาดใหญ่หลายแห่งที่เกิดวิกฤต ทำให้รัฐบาลกลายเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำนวนมากที่วาณิชธนกิจเหล่านั้นถือหุ้น
ตั้งแต่นั้นมารัฐบาลใช้สถาบันฟื้นฟูฯเป็นเครื่องมือแทรกแซงภาคเอกชนในทุกอุตสาหกรรม
ด้วยการถือหุ้นใหญ่ในบริษัทที่ได้กำไรและไม่ได้อยู่ในสภาวะใกล้ล้มละลาย สถาบันฟื้นฟูฯทำให้ข้าราชการมีอิทธิพลต่อภาคเอกชนและเปิดโอกาสให้ข้าราชการและนักธุรกิจเอื้อประโยชน์ให้กันอย่างไม่โปร่งใส
บริษัทที่สถาบันฟื้นฟูฯเข้าไปถือหุ้นนั้นมีตั้งแต่บริษัทจำกัดนอกตลาดหุ้นและบริษัทมหาชนในตลาดหุ้น
(อิตาลีมีตลาดหุ้นตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) สถาบันฟื้นฟูฯมีอายุยืนยาวถึง 70 ปีและเพิ่งโดนยุบไปหลังจากที่อิตาลีหันมาใช้เงินยูโรแทนเงินลิราเมื่อ 10
กว่าปีนี้เอง
รัฐบาลมุสโสลินีส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงโดยกีดกันสินค้าต่างชาติด้วยอากรนำเข้า ส่วนด้านโนบายการเงินระหว่างประเทศมุสโสลินีบังคับให้แบงค์ชาติอิตาลีใช้นโยบายแข็งค่าเงินลิรา เพราะมุสโสลินีเชื่อว่าการอ่อนค่าของเงินลิราแสดงถึงความอ่อนแอของประเทศ
การแข็งค่าของเงินลิราทำให้สินค้าอุตสาหกรรมจากอิตาลีตีตลาดโลกไม่ได้ และทำให้ภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถขยายฐานการจ้างงาน แม้ว่าอิตาลียุคมุสโสลินีผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอย่างเรือรบและรถยนต์ได้ แต่ฐานการจ้างงานในยุคนั้นยังอยู่ในภาคเกษตรกรรม สุดท้ายภาวะเงินเฟ้อทำให้เงินลิราอ่อนค่าลง
การประชาสัมพันธ์นโยบาย
โดยเนื้อแท้ระบบเศรษฐกิจพอเพียงยุคมุสโสลินี คือระบบทุนนิยมที่จำกัดการแข่งขันทั้งในประเทศและนอกประเทศ รัฐบาลมุสโสลินีมีเทคนิคด้านการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเชื่อว่านโยบายรัฐบาลเป็นนโยบายที่ดี อาทิ
ก) นำหน้าชื่อโครงการต่างๆด้วยคำว่า ‘ศึก’ เพื่อกระตุ้นอุดมการณ์ชาตินิยม เช่น ‘ศึกธัญพืช’ คือโครงการเพิ่มผลผลิตธัญพืช
‘ศึกที่ดิน’ คือโครงการขยายพื้นที่ทำการเกษตร
ข) มุสโสลินีทำพิธีเข้านับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ทั้งๆที่ตอนก่อนเป็นนายกฯเขาเป็นนักสังคมนิยมและไม่เชื่อว่าพระเจ้ามีจริง
ทำให้เขาได้รับความไว้วางใจจากคนอนุรักษ์นิยม
ค)
มุสโสลินีออกกฎหมายกำหนดให้ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกเป็นศาสนาประจำชาติ และตั้งตนเป็นผู้อุปถัมภ์ศาสนาประจำชาติ
ง)
พระสันตปาปาและหนังสือพิมพ์นครรัฐวาติกันยกย่องมุสโสลินีอย่างเปิดเผย
จุดจบของฟาสซิสต์อิตาลี
นโยบายรับประกันราคาสินค้าเกษตรและการแทรกแซงภาคอุตสาหกรรมด้วยเงินจากแบงค์ชาติอิตาลีทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ
การแทรกแซงภาคเอกชนโดยสถาบันฟื้นฟูฯไม่ได้ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ทำให้แรงงานส่วนใหญ่ติดอยู่ในภาคเกษตร นอกจากนี้เกษตรกรที่ผลผลิตไม่ได้รับประกันราคาต้องแบกภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น
ประกอบกับความขัดแย้งทางการเมืองท่ามกลางสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้อิตาลีเกิดสงครามกลางเมืองและมุสโสลินีโดนสังหารในที่สุด หลังมุสโสลินีเสียชีวิตเพียงปีเดียวประชาชนอิตาลีลงประชามติเปลี่ยนอิตาลีจากราชอาณาจักรเป็นสาธารณรัฐ
ติดตามเธอได้ที่นี่