ที่มา ข่าวหุ้น
วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม 2557 เวลา 08:57:46 น.
ในทางการเมือง แม้กองทัพยังเป็นปึกแผ่น แต่เจอทั้งแรงไสแรงต้าน ดูง่ายๆ ข่าวรัฐประหารซ้อน สื่อที่ตีปี๊บขยายผลไม่ยักใช่สื่อแดง กลับเป็นสื่อพันธมิตรยุ “ปฏิวัติซ้อน กู้วิกฤติศรัทธาทหาร” ไม่พอใจ คสช.ไม่สุดขั้วสุดโต่งตามต้องการ ไม่จองล้างยิ่งลักษณ์-ทักษิณ ประเทศกลับสู่เลือกตั้งเมื่อไหร่ก็แพ้เพื่อไทยแหงๆ ถ้า สนช.ไม่ถอดถอน ถ้าอัยการสูงสุดไม่สั่งฟ้อง “อีปู”
ขณะที่อีกฝั่ง นักศึกษาและผู้เรียกร้องต้องการเสรีภาพ ก็ยังเคลื่อนไหวต่อเนื่อง แม้ดูเหมือนไม่มีกำลังแต่มีความชอบธรรม การแสดงออกแต่ละครั้งส่งผลกว้างขวาง เช่น ชู 3 นิ้วใส่ท่านผู้นำในวันแรกที่เหยียบแผ่นดินอีสาน ชู 3 นิ้วหน้าโรงหนังเป็นภาพข่าวไปทั่วโลก และชู 3 นิ้วจนถูกตำรวจจับกลางงานวันสิทธิมนุษยชนสากล
ทางเศรษฐกิจ “ซานต้าตู่” ประกาศลดราคาสินค้า 700-800 รายการเป็นของขวัญปีใหม่ แต่ได้อะไรนอกจากประยุทธ์นิยมระยะสั้น รายได้จากการส่งออกท่องเที่ยวหดตัว การลงทุนชะงัก พืชผลการเกษตรราคาตก โอกาสดีคือน้ำมันถูกแต่แก๊สแพงจนต้องขึ้นมิเตอร์แท็กซี่และจ่อขึ้นรถโดยสาร สาธารณะ รัฐบาลออกมาตรการหลายอย่างแต่ไม่โดนสำหรับชาวบ้าน ลดภาษี SME ที่ไม่มีภาษีให้เสียอยู่แล้ว นาโนไฟแนนซ์ดอกเบี้ยสูงถึง 36% มาตรการที่เป็นเนื้อเป็นหนังที่สุดคือขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ซึ่งจะตามด้วยสินค้าขึ้นราคาหลังปีใหม่
เรื่องยางพาราไม่ต้องพูดถึง 3 กิโล 100 ไม่มีเทวดาที่ไหนทำได้ 60 บาทก่อนปีใหม่ คงมีแต่พรรคประชาธิปัตย์ ที่ลอยหน้าลอยตาพูดไม่รับผิดชอบว่าราคายางไม่ต้องขึ้นกับตลาดโลก
เรื่องยางพาราน่าเห็นใจรัฐบาล แต่ในภาพรวมผลงานไม่เข้าตา คอการเมืองจึงเดิมพันกันว่า “หม่อมอุ๋ย” จะไปเมื่อไหร่ อย่าถามว่าจะไปก่อนรัฐบาลเหมือนปี 50 ไหม? นั่นเลิกเดิมพันแล้ว ต่อ 100 เอา 1 ยังไม่มีใครรอง
หันไปดูการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยังมองไม่เห็นฝั่งจริงๆ เพราะเต็มไปด้วยความคิดเลอะเทอะ ส.ว.สาขาอาชีพ สภาประชาชน สภาคุณธรรม คณะกรรมการประเมินโยกย้ายข้าราชการ ฯลฯ ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง เสียงข้างมากต้องฟังเสียงข้างน้อย จริงครับ แต่ไม่เคยมีระบอบที่เสียงข้างน้อยขี่คอเสียงข้างมาก อำนาจที่ไม่มาจากเลือกตั้งอยู่เหนืออำนาจจากเลือกตั้ง คอยเตะตัดขากันทุกเรื่อง
ประเด็นที่ถกกันมาก นายกฯ มาจากเลือกตั้งโดยตรง เคยสงสัยไหมทำไม สปช.และ สนช.ที่มาจาก คสช.จึงกล้าเสนอทะลุกลางปล้อง ทั้งที่เสี่ยงข้อหา “ระบอบประธานาธิบดี” อ้าว ถ้าไม่มีไฟสีเขียว จะกล้าเสนอหรือ มองไปข้างหน้าถ้ามีใครสักคนโผล่มาเป็นตัวเลือกที่ 3 เป็นนายกฯ อำนาจเต็มโดยไม่ต้องสังกัด 2 พรรคใหญ่ จะเป็น step สวยหรูเพียงไร
แต่ 2 ขั้วก็เห็นลิ้นไก่จึงดาหน้าออกมาโต้ ไอเดียนี้ท่าจะไปไม่รอด แล้วจะพลิกทางไหนอีก ถ้ายิ่งถกเถียงแล้วยิ่งไม่เห็นทางออก สปช.กมธ.ก็จะตั้งเวทีมวยยกใหม่ กฎอัยการศึกก็ยังเลิกไม่ได้ การเมืองจะกดเศรษฐกิจซึมต่อไป โดยรัฐบาลไม่รู้จะแก้อย่างไร
เรือแป๊ะก็โคลงเคลงไปอย่างนี้ มองไม่เห็นฝั่ง แต่ยังไม่จมง่าย ทรมานได้อีกนาน
ใบตองแห้ง
ooo
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
updated: 15 ธ.ค. 2557 เวลา 09:19:16 น.ชี้สถานการณ์ราคาน้ำมันกดดันผลประกอบการ บจ. Q4 หวั่น 6 เดือนข้างหน้าถูกปรับลดประมาณการกำไร ฉุดราคาหุ้นลงแรง คาดปี"58 กำไร บจ. เหลือแค่ 6.43 แสนล้าน ปตท.แจ็กพอตขาดทุนสต๊อกน้ำมัน 3 หมื่นล้าน ปตท.สผ. ปรับแผนชะลอลงทุนลดกำลังผลิต
สถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกโดยเฉพาะน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ทำให้ดัชนีซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกรวมทั้งไทยตกต่ำลงทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากปัจจัยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขณะนี้ที่ลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี โดยราคาซื้อขายล่วงหน้าอยู่ในระดับต่ำกว่า 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลแล้ว หลายฝ่ายยังคาดการณ์ว่าตลาดหุ้นไทยช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้จนถึงต้นปีหน้ายังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และการเมือง ขณะที่กลุ่ม ปตท.ซึ่งได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่ดิ่งลงก็กำลังเตรียมปรับแผนรองรับความสุ่มเสี่ยงที่กำลังเกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา (8-12 ธ.ค.) ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวดิ่งลงกว่า 60 จุด หรือ 3.84% จากต้นสัปดาห์ และระหว่างสัปดาห์ทำสถิติต่ำสุดในรอบกว่า 4 เดือน บริเวณ 1,508 จุด เมื่อ 11 ธ.ค. แต่ฟื้นตัว (รีบาวนด์) กลับมาและดัชนีปิดตลาดท้ายสัปดาห์ที่ 1,514.95 จุด (12 ธ.ค.) ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างมองว่าปัจจัยหลักเกิดจากราคาน้ำมันทรุดหนักในรอบ 5 ปี แถมมีข่าวลือความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับรัสเซียตึงเครียดมากขึ้น จึงเกิดแรงถล่มขายอย่างหนัก
3 กลุ่มหุ้นถูกทิ้งหนัก
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แรงเทขายหุ้นไทยที่เกิดขึ้นสัปดาห์ที่ผ่านมามีทั้งนักลงทุนกลุ่มสถาบันในประเทศ บัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างชาติกว่า 11,725.48 ล้านบาท
กลุ่มหุ้นที่ถูกเทขายมากสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.กลุ่มปิโตรเคมี ลดลงกว่า 10% รองลงมากลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ลง 8% และกลุ่มพลังงานลง 7.4% ทั้งนี้ กลุ่มพลังงานมีมาร์เก็ตแคปเป็น 25% ของตลาด หรือมีกำไรคิดเป็น 1 ใน 4 ของกำไร บจ.ทั้งหมด ส่วนกลุ่มหุ้นที่ถูกเทขายน้อย 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.กลุ่มประกัน ลดลง 1.6% 2.กลุ่มขนส่ง (เว้นกลุ่มขนส่งทางอากาศที่เป็นบวก) ลดลง 2% และ 3.กลุ่มบันเทิงลดลง 2%
สาเหตุที่หุ้นไทยปรับตัวลงรุนแรงมาจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ 1.ภาวะราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวต่ำสุดในรอบ 5 ปี ทำให้นักลงทุนวิตกกังวลต่อแนวโน้มผลประกอบการของหุ้นกลุ่มพลังงาน เช่น ธุรกิจน้ำมัน โรงกลั่นและปิโตรเคมี มีแรงเทขายถล่มหุ้นดังกล่าวจำนวนมาก 2.เศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน หลังตัวเลขเศรษฐกิจยังต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ แม้หลายประเทศจะออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม
3.ปัจจัยปัญหาสภาพเศรษฐกิจและความตึงเครียดในรัสเซีย หลังตลาดหุ้นรัสเซียปรับตัวลดลงรุนแรง ประกอบกับค่าเงินในประเทศเริ่มอ่อนตัวอย่างหนัก รวมทั้งกระแสข่าวความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฉุดความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก
ขณะที่ปัจจัยในประเทศยังคงเป็นความกังวลเรื่องปัญหาการเมือง โดยเฉพาะกระแสข่าวเรื่องการปฏิวัติซ้อน แต่ปัจจัยดังกล่าวไม่น่าจะมีผลมากนักในระยะสั้นนี้
เนื่องจากคาดว่าการเมืองในประเทศจะกลับมาร้อนแรงจากความคิดเห็นที่แตกต่างกันเรื่องการจัดทำยกร่างรัฐธรรมนูญและการเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งเต็มตัวช่วงปลายปีหน้า
"เรามองว่าปัจจัยด้านราคาน้ำมันเป็นปัจจัยระยะสั้นที่จะกดดันผลดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) โดยเฉพาะไตรมาส 4/2557 ในระยะกลาง 6 เดือนข้างหน้า นักวิเคราะห์อาจมีการปรับลดประมาณการกำไร บจ.ลง จะส่งผลให้มุมมองต่อราคาหุ้นไทยแพงขึ้นโดยอัตโนมัติ เนื่องจากอัตรากำไร บจ.ที่ลดลงจะส่งผลให้ค่า P/E (ราคาหุ้นปิดเทียบกับกำไรสุทธิต่อหุ้น) ในตลาดหุ้นเพิ่มสูงขึ้น แม้ปัจจุบันยังไม่ปรับลด EPS (กำไรสุทธิต่อหุ้น) ตลาดหุ้นไทยลง แต่ P/E ก็ยังอยู่ที่ 16 เท่า สูงกว่าปีอื่น ๆ ที่ผ่านมาที่ค่าเฉลี่ยไม่เกิน15 เท่าแล้ว ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะยิ่งทำให้ตลาดหุ้นไทยข้างหน้าปรับตัวลงรุนแรงและรวดเร็วขึ้น"
ปรับลดคาดการณ์กำไร บจ.ปี 58
ด้านนายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ราคาน้ำมันดิบโลกที่ไหลลงต่อเนื่องและหลุด 60 เหรียญต่อบาร์เรล หรือลดลงแล้วกว่า 51% ในช่วงเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา จะกระทบผลดำเนินงานของหุ้นปิโตรเลียมขั้นต้น (ได้แก่หุ้น PTTEP และ PTT) และโรงกลั่น (TOP, BCP, PTTGC) รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจถ่านหิน (BANPU, LANNA) อาจต้องบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าของราคาน้ำมัน คาดว่ากำไรน่าจะลดหายไปราว 3 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม คาดว่าได้รับชดเชยเล็กน้อย
จากกลุ่มขนส่งที่นักวิเคราะห์ ASP เพิ่มประมาณกำไรปี 2558 ขึ้นจากเดิมราว 2.352 พันล้านบาทจึงประมาณการว่า กำไรโดยรวมของบริษัทจดทะเบียนปี 2558 น่าจะลดเหลือประมาณ 6.43 แสนล้านบาท และมีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS Growth) อยู่ที่ 12.7% เท่านั้น ทำให้มีค่า Expected P/E (พี/อี ล่วงหน้า) ปี 2558 อยู่ที่ 14.8 เท่า แม้ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะลดลงมาเกือบ 74 จุด และลงมาที่ระดับ 1,526 จุดแล้วก็ตาม (ลดลงจากปี 2557 ราว 17 เท่า) และถือว่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเพื่อนบ้าน เช่น พี/อีของตลาดหุ้นอินเดียอยู่ที่ 14.6 เท่า อินโดนีเซีย 14.7 เท่า มาเลเซีย15 เท่า จีน 10.8 เท่า แต่ตลาดหุ้นไทยโอกาสการปรับฐานยังมีอยู่
ส่วนนายยศพณ แสงนิล ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) มองภาพรวมตลาดหุ้นในระยะสั้น (ช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า) ว่า ตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องสะท้อนข่าวลบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะการปรับลงของราคาน้ำมันโลก ซึ่งเชื่อว่าแรงเทขายหุ้นกลุ่มพลังงานน่าจะลดน้อยลง รวมถึงกลุ่มธนาคารที่มีแรงขายตามมาด้วย ดังนั้นในระยะข้างหน้านี้เชื่อว่าหุ้นโดยรวมมีโอกาสฟื้นตัวกลับขึ้นมา
"ตลาดหุ้นมีทิศทางอัพไซด์มากกว่าดาวน์ไซด์ เพราะมีปัจจัยบวกหลายปัจจัย โดยเฉพาะเร็ว ๆ นี้ คาดว่าจะมีการทำวินโดเดดซิ่ง (ทำราคาหุ้นก่อนปิดงบสิ้นปี)ของกลุ่มกองทุนต่าง ๆ รวมถึงการเข้าซื้อหุ้นในช่วงปลายปีของกอง LTF-RMF ดังนั้นปัจจัยเหล่านี้น่าจะหนุนให้ตลาดปรับตัวขึ้นในระยะสั้น"
ด้านนางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยคาดการณ์ว่าปี 2558 ดัชนีจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 1,600-1,700 จุด ขณะที่นักวิเคราะห์มีการปรับลดอัตราการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เหลือเพียงเลขหลักเดียว (ไม่ถึง 10%) จากเดิมที่เคยคาดว่าจะเติบโต 14-15%
"ดัชนีปีหน้าถือว่าปรับตัวไม่หวือหวา จากภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทยนิ่งและยังไม่มีทิศทางการเติบโตที่ชัดเจน ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่มีปัญหา ทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจ และจากการที่กำไร บจ.
มีการปรับตัวลดลง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา นักวิเคราะห์จะทำการปรับลดกำไร บจ.ปีหน้าเหลือโตเลขหลักเดียว ทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนสินทรัพย์อื่นแทน" นางภัทธีรากล่าว
ศูนย์วิจัยกสิกรชี้ปัจจัยเสี่ยง
นายประสพสุข ดำรงชิตานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยน่าจะมีความผันผวนอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากต้องติดตามปัจจัยด้านราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มยังอยู่ระดับต่ำต่อเนื่องถึงปีหน้าคาดว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน ส่วนค่าเงินบาทจะปรับตัวอ่อนค่าลงมาอีก โดยปี 2558 อยู่ในกรอบ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากคาดการณ์เดิมที่ 34 บาทต่อดอลลาร์ ทิศทางเดียวกับภูมิภาค อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำและเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่แข็งแกร่ง ปีนี้คาดว่าจีดีพีจะเติบโต 1.2% ลดจากคาดการณ์เดิม 1.6% ปีหน้าจะโต 4% แต่เสี่ยงโตไม่ถึงเป้าหมาย
"หากพิจาณาจากปริมาณเงินลงทุนในตลาดโลก ขณะนี้ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยยังค่อนข้างแข็งแกร่ง เชื่อว่าน่าจะต้านทานแรงเสียดทานของปริมาณเงินไหลออกได้"
ปตท.สผ.ชะลอลงทุน ตปท.
ด้านแหล่งข่าวจาก บมจ. ปตท.เปิดเผยว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล กระทบราคาหุ้นกลุ่มบริษัท ปตท.โดยเฉพาะ บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพราะธุรกิจของ ปตท.สผ. ที่ผ่านมามีการประเมินบนพื้นฐานที่ว่าราคาน้ำมันอยู่ที่ระดับ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่ราคาปัจจุบันลดลงเกือบครึ่ง ฉะนั้นกำไรในปี 2557 นี้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาทจากที่วางเป้าหมายกำไรไว้ที่ 50,000 ล้านบาท ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ปตท.สผ.จะต้องปรับแผนการดำเนินการบางส่วน ประกอบด้วย 1) ชะลอการลงทุนโครงการในต่างประเทศ เช่น โครงการโมซัมบิก โรวูม่า ออฟชอร์ แอเรีย วัน, โครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ ในรัฐอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา และโครงการในพม่า และ 2) ลดกำลังผลิตในบางโครงการลง
"ราคาน้ำมันลงขนาดนี้อยู่เฉย ๆ ก็ขาดทุนแล้ว ทั่วโลกเจอเหมือนกันหมด คาดว่าราคาน้ำมันระดับนี้น่าจะลากยาวไปทั้งปี 2558 ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ความต้องการใช้น้ำมันก็ลดลง"
ปตท.ขาดทุนสต็อก 3 หมื่นล้าน
แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้เริ่มประเมินผลกระทบจากราคาน้ำมันของทั้งกลุ่ม ปตท.แล้ว เบื้องต้นพบว่าจะขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน (Stock loss) รวมทั้งหมดประมาณ 30,000 ล้านบาท โดย บมจ. ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ขาดทุนรวม 12,000 ล้านบาท บมจ.ไออาร์พีซี ขาดทุน 8,000 ล้านบาท บมจ.พีทีที โกลบอลเคมิคอล ขาดทุน 6,000 ล้านบาท ส่วนผลขาดทุนของ บมจ. ปตท.น่าจะอยู่ที่ 2,000-3,000 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวสอบถามกรณีดังกล่าวจากนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ได้รับการชี้แจงว่า ขณะนี้ทุกบริษัทด้านพลังงานต่างได้รับผลกระทบจากการสต๊อกน้ำมัน รวมถึง ปตท.สผ.ด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถให้รายละเอียดในการปรับแผนการดำเนินงานได้ เพราะต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารพิจารณาแผนก่อน โดยจะประชุมเพื่อหารือกันโดยเร็วที่สุด
ด้านนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยกล่าวว่าราคาหุ้นพลังงานที่ดิ่งลงเป็นผลมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง ซึ่งจะเกิดขึ้นไปอีกระยะ ทั้งนี้นอกจากกลุ่มน้ำมันแล้วธุรกิจก๊าซธรรมชาติก็ได้รับผลกระทบ เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก
...