ภาพจาก Tnews |
กัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ |
จากกรณีค่าเงินรูเบิลของรัสเซีย หนึ่งในตลาดส่งออกที่มีศักยภาพของไทยได้อ่อนค่ามากเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ธนาคารกลางรัสเซียประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 10.5% เป็น 17% เพื่อรักษาค่าเงินรูเบิลเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม2558ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีจากเงินรูเบิลที่อ่อนค่ามาก รวมถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยไปรัสเซียบ้างแล้ว
ต่อเรื่องนี้นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ล่าสุดได้รับแจ้งจากสมาชิกสมาคมหลายรายว่าเริ่มได้รับกระทบจากวิกฤติค่าเงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนค่าอย่างชัดเจนโดยผู้ส่งออกระบุว่าขณะนี้ได้รับการปฏิเสธจากผู้นำเข้ารัสเซียในการรับมอบสินค้าจากไทย ณ ท่าเรือปลายทางแล้วหลายราย ทั้งนี้มีสาเหตุสำคัญ 2 ประการคือ 1.จากเงินรูเบิลที่อ่อนค่ามากส่งผลให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น และไปทำตลาดยาก 2.จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น 17% ทำให้การกู้เงินจากธนาคารของผู้นำเข้าเพื่อมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนหรือเพื่อมาชำระค่าสินค้ามีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น
การปฏิเสธการรับมอบสินค้าดังกล่าว มีผลให้ผู้ส่งออกของไทยต้องแบกรับภาระค่า Demurrage Charges (ค่าเสียเวลาของเรือ หรือค่าเสียเวลาของตู้สินค้าที่ไม่สามารถนำออกจากท่าได้ตามเวลาที่กำหนด) ทำให้มีภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นเร็วมากทำให้ทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าตั้งตัวไม่ทัน
"นอกจากการปฏิเสธรับสินค้าแล้ว คาดจะมีกรณีอื่นเกิดขึ้นจากผลกระทบเงินรูเบิลอ่อนค่าด้วย เช่นลูกค้าขอลดราคาสินค้า หรือไม่ก็ขอผ่อนผันเลื่อนการชำระเงินในกรณีที่ยอมรับมอบสินค้าซึ่งหากสินค้าถึงท่าเรือปลายทางแล้วมี 2กรณีคือ ถ้าไม่ลดราคา หรือยอมให้เลื่อนการชำระเงินก็ต้องขนสินค้ากลับ ทั้งสองฝ่ายคงต้องเจรจากัน ทางสมาคมกำลังตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจนว่าขณะนี้มีสมาชิกกี่รายที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกไปรัสเซียในครั้งนี้บ้าง โดยผลกระทบครั้งนี้อยู่ในกลุ่มสินค้าผัก ผลไม้กระป๋อง และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และคาดจะมีกรณีเดียวกันในสินค้าอื่นด้วย"
สอดรับกับนายวีระศักดิ์ เลอวิศิษฎ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวยอมรับว่ารู้สึกเป็นกังวลมาก เนื่องจากรัสเซียถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพในการช่วยเพิ่มยอดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับจากประเทศไทยโดยเฉพาะกลุ่มเครื่องประดับเงินที่ได้รับความนิยมในรัสเซีย สำหรับการส่งออกในปีนี้คงไม่กระทบเพราะได้มีคำสั่งซื้อล่วงหน้า และส่งมอบสินค้ากันไปเกือบหมดแล้ว แต่ห่วงในปีหน้าหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ และรัฐบาล รัสเซียไม่สามารถแก้วิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งนี้ให้คืนสู่ภาวะปกติได้โดยเร็วจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปรัสเซียอย่างแน่นอน
"ในปี 2558 ผู้ค้าอัญมณีฯมีเป้าหมายไปบุกตลาดรัสเซียอย่างจริงจัง โดยก่อนหน้านี้เราเคยไปเยี่ยมสมาคมผู้นำเข้าอัญมณีของรัสเซีย และในเดือนมกราคม 2558 ทางสมาคมผู้นำเข้าอัญมณีของรัสเซีย ซึ่งมีสมาชิก 6-7 พันรายทั่วรัสเซียเขามีแผนจะนำสมาชิกมาเจรจาการค้าที่เมืองไทย ซึ่งเราห่วงเหตุการณ์ครั้งนี้จะมีอะไรเปลี่ยนแปลง ต้องติดตามต่อไป"
ส่วนนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. สินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทยไปรัสเซีย กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้คงยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจนต่อการส่งออกรถยนต์ไทยไปรัสเซียในปี 2557 เพราะคำสั่งซื้อและการส่งมอบสินค้าถือว่าปิดไปแล้ว แต่ห่วงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า หากสถานการณ์ในรัสเซียยังยืดเยื้อและไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะการอ่อนค่าของเงินรูเบิลที่จะมีผลทำให้รถยนต์จากไทยมีราคาสูงขึ้น กระทบต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค
เช่นเดียวกับนายบุญหาญ อู่อุดมยิ่ง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ส.อ.ท.ที่กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อสินค้ายางขั้นกลาง เช่นยางแท่งที่ไทยส่งออกไปรัสเซีย เพื่อนำไปผลิตล้อยาง เพราะผลจากเงินรูเบิลอ่อนค่ามาก ทำให้สินค้าไทยที่เข้าไปจำหน่ายในรัสเซียมีราคาสูงขึ้น ผู้ค้าสองฝ่ายคงต้องเจรจาต่อรองราคากัน ผลกระทบที่ชัดเจนคงต้องรออีกสักระยะ
ในขณะที่ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร รายงานการว่า ค้าไทย-รัสเซีย ในปี 2556 มีมูลค่ารวม 1.43 แสนล้านบาท โดยไทยส่งออก 3.51 หมื่นล้านบาท และนำเข้า 1.07 แสนล้านบาท โดยไทยขาดดุลการค้ารัสเซีย 7.27 หมื่นล้านบาท ส่วนช่วง 10 เดือนแรก(ม.ค. - ต.ค.) ของปี 2557 การค้าสองฝ่าย(ส่งออก+นำเข้า)มีมูลค่ารวม 1.38 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 20% โดยไทยส่งออก 3.32 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 11% และนำเข้า 1.05 แสนล้านบาท ขยายตัว 23%ไทยขาดดุลการค้ารัสเซีย 7.18 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้สินค้าส่งออก 5 อันดับแรกของไทยไปรัสเซียช่วง 10 เดือนปี 2557 ประกอบด้วย รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ, เม็ดพลาสติก, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์ยาง คิดเป็นสัดส่วน 25, 10, 7, 5 และ 4% ตามลำดับ ขณะที่สินค้าที่ไทยนำเข้าจากรัสเซีย 5 อันดับแรก ประกอบด้วย น้ำมันดิบ , เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์, ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์, สินแร่โลหะ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป คิดเป็นสัดส่วน 68, 14, 8, 2.1 และ 1.6% ตามลำดับ
อย่างไรก็ดีกรณีที่สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป(อียู) ได้คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซียกรณียูเครน มีผลให้รัสเซียได้หันมานำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น ล่าสุดได้นำเข้าเนื้อหมูจากไทยเป็นครั้งแรก(ส่งโดยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือซีพีเอฟ โดยเงินรูเบิลที่อ่อนค่าถือเป็นปัจจัยเสี่ยงใหม่ที่ต้องติดตามผลกระทบต่อไป
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 3,011 วันที่ 21 - 24 ธันวาคม พ.ศ. 2557