ยุกติ มุกดาวิจิตร |
ที่มา สำนักข่าวประชาธรรม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์รับเชิญ ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา
มองหกเดือนที่ผ่านมาหลังรัฐประหาร และประเทศไทยในปีหน้าอย่างไร?
6 เดือนที่ผ่านมาคณะรัฐประหารล้มเหลวใน 4 ด้านด้วยกัน
1. การสร้างความปรองดอง คสช. คิดว่าการรัฐประหารจะนำมาซึ่งการยุติความขัดแย้ง แต่สิ่งที่ปรากฏจริงคือการไล่ล่าคุกคามและปิดกั้นการแสดงออก ของประชาชนที่สนับสนุนกลุ่มการเมืองที่ คสช. เป็นปฏิปักษ์ ในทางตรงกันข้าม คสช. ร่วมมือกับกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนการโค่นล้มอำนาจของทักษิณ ชินวัตรและยิ่งลักษณ์ ชินวัตรจนนำไปสู่การยึดอำนาจทั้งในปี 2549 และ 2557 ทั้งนักวิชาการ นักการเมือง นักธุรกิจ และข้าราชการที่ คสช. เชิญให้ไปร่วมงานด้วยนั้น ในทางวิชาการต้องถือว่าเป็นกลุ่มการเมืองเช่นกัน คนกลุ่มนี้ล้วนฉวยโอกาสในการเข้าสู่อำนาจเพื่อสานต่อโครงการจำกัดอำนาจตระกูลชินวัตรและจำกัดอำนาจการเมืองของการเลือกตั้ง ความปรองดองที่ คสช. พยายามทำในขณะนี้ ทำได้เพียงกดทับความเห็นต่างไว้ด้วยกำลังอาวุธ ในทางอุดมการณ์ ก็ยังไม่สามารถสร้างการยอมรับได้จริงจากคนส่วนใหญ่ ที่ทำได้คือเพียงแค่กลบเกลื่อนความขัดแย้งด้วยกลไกทางอุดมการณ์ที่ตื้นเขินอย่างค่านิยม 12 ประการ ที่ล่าสุดนำไปลงทุนทำภาพยนตร์และเผยแพร่สติ๊กเกอร์ในไลน์ ซึ่งก็ยังถูกวิจารณ์อย่างหนักหน่วง
2. การบริหารประเทศ เห็นได้ชัดว่า คสช. ไม่ได้เข้ามาเพียงเพื่อดำเนินการเพื่อสร้างความปรองดองเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยที่ยั่งยืน แต่ยังเข้าไปก้าวก่ายการบริหารประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจด้วยโครงการประชานิยมและการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ในแบบของ คสช. แทนที่ คสช. จะรีบทำงานที่ตนเองสัญญาไว้ให้เสร็จ คือร่างรัฐธรรมนูญแล้วคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว คสช. และกลุ่มนักการเมืองที่ร่วมมือกับ คสช. กลับสร้างข้อผูกพันทางการคลัง สร้างภาระให้ประเทศมากมายในระบอบที่ประชาชนไม่สามารถแสดงความเห็น ไม่สามารถตรวจสอบได้ ในแง่นี้จึงถือได้ว่า คสช. ได้กลายเป็นรัฐบาลเผด็จการอย่างแท้จริง ด้วยการใช้อำนาจดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อบริหารประเทศในเกราะคุ้มกันของอำนาจการใช้กำลังของตนเอง อย่างปราศจากการตรวจสอบจากประชาชน
3. การพัฒนาการประชาธิปไตย ที่ คสช. อ้างว่าเข้ามายึดอำนาจเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้น จะไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะแนวโน้มที่เห็นคือการนำอำนาจกลับเข้ามารวมศูนย์ในระบบราชการและคนกลุ่มน้อยที่อ้างว่ามีความรู้เหนือคนอื่น นอกจากนั้นยังมีแนวโน้มที่รัฐธรรมนูญใหม่จะจำกัดอำนาจของนักการเมือง เพิ่มอำนาจการตรวจสอบนักการเมืองด้วยองค์กรที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนมากยิ่งขึ้น มีแนวโน้มที่การออกแบบระบบการเลือกตั้งจะลดความมั่นคงของพรรคการเมือง การเมืองไทยจะกลับไปเป็นระบบพรรคเล็กพรรคน้อย มีกลุ่มอิสระทางการเมืองที่ยิบย่อยเสียจนไม่มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ในขณะที่อำนาจการสร้างนโยบายจะกลับถูกโอนไปให้องค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งดังในอดีต นี่นับว่าเป็นการทำลายการมีส่วนร่วมปกครองโดยประชาชน
4. ความน่าเชื่อถือของนานาชาติ ลำพังการรัฐประหารและการบริหารประเทศด้วยระบอบเผด็จการก็สร้างความเสื่อมเสียมากพอแล้ว คสช. ยังคุกคามประชาชน ใช้กำลังละเมิดสิทธิมนุษยชน และแสดงการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมด้วยการเสนอแนะความเห็นต่อคดีที่ตนเองมีส่วนรับผิดชอบต่อความผิด คือการสังหารประชาชนที่วัดปทุมวนารามเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ยิ่งเมื่อผู้นำคณะรัฐประหารคือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ในการบริหารประเทศในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีวุฒิภาวะทางการเมือง ไม่รู้ไม่เข้าใจธรรมเนียมของการเป็นผู้นำในโลกสากลปัจจุบัน ยิ่งทำให้นับตั้งแต่วันแรกของการรัฐประหารจนถึงทุกวันนี้ ประเทศสำคัญๆ ในโลกปัจจุบันอย่างสหภาพยุโรป ประเทศญี่ปุ่น และประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งจนขณะนี้ก็ยังไม่แต่งตั้งเอกอัครราชทูตคนใหม่มาประจำระเทศไทย ล้วนไม่ให้การสนับสนุน นอกจากนั้นแล้วก็ยังไม่มีสำนักข่าวต่างประเทศใดเลยในโลกสากลที่สนับสนุนการบริหารประเทศของ คสช.
ประเทศไทยในปีหน้าจะมีการปะทุของความขัดแย้งมากขึ้น เนื่องจากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อการเมืองในระยะยาวในทิศทางที่ลดทอนอำนาจของประชาชนลง และจำกัดสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ยิ่งหาก คสช. ยังคงไม่มีความชัดเจนแน่นอนที่จะคืนอำนาจให้ประชาชนและจัดการเลือกตั้ง คสช. ก็จะยิ่งมีแนวร่วมน้อยลงและขยายแนวร่วมของกลุ่มที่ต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเมื่อการบริหารประเทศล้มเหลวมากขึ้นเนื่องจากขาดการตรวจสอบถ่วงดุล ขาดการรับฟังความเห็นจากประชาชนและสื่อมวลชน ในขณะเดียวกัน แรงกดดันจากต่างประเทศก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น คสช. ก็จะเริ่มเป็นเป้าของการโจมตีมากขึ้น หากดึงดันต่อไปไม่คืนอำนาจแก่ประชาชน ความสูญเสียก็จะยิ่งเลวร้ายมากขึ้น
ประชาธรรม: ตำแหน่งแห่งที่ของประชาชนกลุ่มต่างๆมีการเปลี่ยนผัน เปลี่ยนแปร หรือเปลี่ยนผ่านอย่างไร มีอะไรที่น่าสนใจ หรือควรพิจารณาเป็นพิเศษบ้าง?
มีหลายกลุ่มที่น่าพิจารณา กลุ่มแรกคือนักการเมือง ขณะนี้แม้จะยังไม่มีความชัดเจนเรื่องรูปแบบของการเลือกตั้ง แต่พรรคการเมืองและการเมืองระดับต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับพรรคการเมืองจะระส่ำระสายมาก การจับกลุ่มทางการเมืองขณะนี้ที่น่าจับตาดูมี 3 กลุ่ม 1. กลุ่มของทักษิณ ชินวัตร ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะยังจับกลุ่มกันอยู่ได้เช่นเดิมหรือไม่ 2. พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ กปปส. จนเกิดการยึดอำนาจน่าจะเสื่อมความนิยมลงไป เนื่องจากการเมืองหลังรัฐประหารไม่ได้เอื้อต่อประโยชน์ของประชาชนอย่างชัดเจน มีเพียงกลุ่มการเมืองในคราบนักวิชาการ คราบเอ็นจีโอ และคราบข้าราชการเท่านั้นที่ได้ประโยชน์หลังการรัฐประหาร 3. พรรคการเมืองที่ไม่ได้แสดงตัวชัดเจน มีทั้งกลุ่มที่เอนเอียงไปทางการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง และกลุ่มที่แอบแฝงฉวยโอกาสเข้าไปร่วมกับคณะรัฐประหาร นักการเมืองสองกลุ่มนี้พยายามจะสร้างฐานพรรคการเมืองที่เป็นทางเลือก และพยายามประคองตัวให้รอดในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนการเลือกตั้ง น่าจับตาดูว่าสองกลุ่มนี้จะสร้างทิศทางใหม่ให้กับพรรคการเมืองไทยได้แค่ไหน
สำหรับประชาชนทั่วไปนั้น เกิดความเปลี่ยนแปลงชัดเจนใน 3 ส่วน ส่วนของประชาชนทั่วไปในท้องถิ่นต่างๆ เกิดความไม่แน่นอนในระดับรากหญ้า เนื่องจากการเมืองท้องถิ่นที่พวกเขาคุ้นเคยมานานกว่า 20 ปี ขณะนี้ถูกแช่แข็ง การเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับถูกระงับไปอย่างไม่มีกำหนด ไม่มีอนาคตที่ชัดเจน ความเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลต่อการบริหารงานท้องถิ่น ที่เคยอยู่ในการสอดส่องดูแลและการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นจะสั่นคลอน ขณะนี้ประชาชนไม่มีอำนาจในการตรวจสอบควบคุมนักการเมืองท้องถิ่นอีกต่อไป โครงการบริหารต่างๆ จะดำเนินการไปอย่างไร จะอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมาก
ส่วนต่อมาคือในกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ ขณะนี้เกิดการแตกกลุ่มอย่างชัดเจน การแตกกลุ่มนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร ที่มีเอ็นจีโอเข้าไปหนุนหลังการเคลื่อนไหวให้เกิดการรัฐประหาร แต่หลังจากการรัฐประหาร เสียงของเอ็นจีโอที่ทำงานในท้องถิ่นเองก็ถูกปิดกั้น ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นคือการที่เอ็นจีโอสายปฏิบัติงานซึ่งเดิมอาจสนับสนุนการรัฐประหาร กำลังกลับกลายเป็นเอ็นจีโอชั้นล่างที่เริ่มเห็นผลเสียของการรัฐประหาร อันเนื่องมาจากการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ส่วนเอ็นจีโอระดับสูงก็จะยังคงฉวยโอกาสที่คณะรัฐประหารหยิบยื่นให้เพื่อทำงานโดยปราศจากการตรวจสอบของประชาชนต่อไป
ประชาชนกลุ่มที่ 3 ที่น่าจับตามองคือกลุ่มนักศึกษา ซึ่งมีความตื่นตัวมากขึ้น ความตื่นตัวนี้มาจากการที่พวกเขาสัมผัสปัญหาด้วยตนเองในกิจกรรมของนักศึกษาเอง อีกส่วนหนึ่งมาจากการยกระดับประเด็นที่พวกเขาเดิมสนใจอันเป็นประเด็นใกล้ตัว อย่างเครื่องแบบนักศึกษา หลักสูตรการศึกษา สิทธิในการแสดงออกทางเพศ ไปสู่ประเด็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิเสรีภาพทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ประกอบกับการที่สังคมปัจจุบันมีสื่อทางเลือกคือสื่ออินเตอร์เน็ต ที่เอื้อให้พวกเขาทั้งสามารถค้นหาความรู้ ข่าวสาร ได้เอง และเปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถแสดงความคิดเห็นของตนเองได้อย่างค่อนข้างอิสระ การเคลื่อนไหวของนักศึกษาจึงต่อเนื่อง กระจายตัวกว้างขวาง และมีรูปแบบการแสดงออกใหม่ๆ เสมอ
ในกลุ่มชนชั้นนำเดิม อำนาจของข้าราชการกำลังเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการทหารและตำรวจ ซึ่งขณะนี้อาศัยกฎอัยการศึกเป็นเกราะคุ้มกันการใช้อำนาจ นอกจากนั้น เห็นได้ชัดว่าข้าราชการได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหลังการรัฐประหารมากขึ้นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการได้รับแต่งตั้งเข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การเพิ่มงบประมาณการทหารที่เท่ากับเพิ่มอำนาจของทหารด้วยในตัว และล่าสุดคือการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ นอกจากนั้น เรายังได้เห็นการปรับดุลใหม่ในกลุ่มชนชั้นนำ มีการพยายามสร้างแนวร่วมใหม่ แม้ว่าความเปลี่ยนแปลงประการหลังนี้จะเห็นชัดเจนแต่ก็มีกฎหมายที่ถูกบิดเบือนมาใช้ปิดกั้นการแสดงความเห็น
ประชาธรรม: คิดอย่างไรกับความเชื่อที่ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของทหาร จะช่วยปฏิรูปกฎกติกาทางการเมืองให้มีความก้าวหน้าขึ้น แต่สำหรับวัฒนธรรมทางการเมือง อาจล้าหลังไปบ้าง?
ในทางตรงกันข้าม เหตุที่คณะรัฐประหารพยายามสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ล้าหลัง คือการเชิดชูระบบอาวุโส การเชื่อมั่นในผู้มีอำนาจผู้มีบารมีราวแม้ว่าพวกเขาจะไม่มีความสามารถ เหล่านี้คือการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบล้าหลังมารองรับกติกาทางการเมืองที่ล้าหลัง คือกติกาที่ลดการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ลดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสร้างกติกาทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมากกว่า
ประชาธรรม: ดูเหมือนการต่อต้าน ขัดขืนในการเมืองปัจจุบันจะอยู่ที่การเคลื่อนไหวของนักศึกษา และเน้นการเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ คิดว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าว มีพลังและสร้างผลสะเทือนอะไรได้บ้าง?
การเมืองสัญลักษณ์เป็นการเมืองที่ก้าวข้ามจากเหตุผลสู่สัญลักษณ์ ในด้านหนึ่งก็ถือได้ว่าเป็นการเมืองที่แหลมคมและมีความสามารถในการสื่อสารในระดับลึก ทั้งนี้เพราะสัญลักษณ์เป็นการอัดแน่นของชุดความหมายมากมาย เช่น การจะเข้าใจสัญลักษณ์อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้ ก็จะต้องเข้าใจชุดความหมายมากมาย ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 การต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 และการต่อสู้ของประชาชนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยต่อมาอีกหลายครั้งที่อาศัยพื้นที่รอบอนุสาวรีย์นี้ สัญลักษณ์จึงมีพลังในการสื่อความได้มากเช่นกัน
ในอีกด้านหนึ่ง สัญลักษณ์ก็อันตรายเพราะสัญลักษณ์มีพลังทางด้านอารมณ์ หลายครั้งเป็นแหล่งเร้าอารมณ์ สัญลักษณ์มักมีลักษณะเชิงความเชื่อศรัทธา และสร้างการรวมกลุ่ม นอกจากนั้น การสื่อสารทางสัญลักษณ์ก็มักมีการบิดเบือน เพราะสัญลักษณ์คือการใช้สิ่งหนึ่งแทนอีกสิ่งหนึ่ง ไม่ได้สื่อสารตรงไปตรงมา หลายครั้งจึงเกิดการนำสัญลักษณ์หนึ่งมาสื่อถึงอีกเรื่องหนึ่งโดยที่ความหมายเดิมสูญเสียไป เช่น การนำหน้ากากกายฟอว์กส์มาใช้ในการต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทั้งๆ ที่ในความหมายเดิมนั้น หน้ากากนี้ถูกใช้เพื่อต่อต้านสถาบันกษัตริย์
แต่ในอีกมุมหนึ่ง การที่สัญลักษณ์ถูกใช้มากก็สะท้อนว่า พื้นที่ทางการเมืองที่จะทำให้คนได้ใช้เหตุผลแสดงออกอย่างเป็นระบบนั้นถูกจำกัดลดทอนลง สถาบันการศึกษาเองซึ่งผู้บริหารระดับสูงล้วนเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ก็จึงร่วมมือกับทหารในการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก แม้แต่การจัดเวทีเสวนาทางวิชาการก็ยังต้องได้รับอนุญาตจากทหาร ทำให้กลุ่มการเมืองปละประชาชนทั่วไปไม่สามารถสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาได้ ต้องสื่ออ้อมๆ ผ่านสัญลักษณ์ ในแง่นี้ อำนาจกฎอัยการศึกเองนั่นแหละที่มีส่วนสร้างการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ เนื่องจากอำนาจกฎอัยการศึกจำกัดพื้นที่สื่อ เมื่อประชาชนไม่มีที่ให้เกิดการถกเถียง เมื่อการถกเถียงหายไป คนก็จะพูดสั้นๆ ต้องสื่อเร็ว เพื่อให้ได้แสดงออกก่อนที่จะถูกจับกุม เมื่อนั้นสัญลักษณ์จะทำงาน
ดังนั้น คสช. ก็จะต้องสู้กับการต่อต้านเชิงสัญลักษณ์ต่อไปเรื่อยๆ และอันที่จริง การสู้กับสัญลักษณ์จะสู้ยากยิ่งกว่าสู้กับการถกเถียงอย่างเป็นระบบ เพราะสัญลักษณ์มีมากมาย และเร้าความรู้สึก นำไปสู่การรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนได้ง่ายยิ่งกว่า สื่อสารได้เร็วกว่า กระจายตัวได้ง่ายกว่าการสื่อสารด้วยเหตุผล ซึ่งใช้ความคิดที่เป็นระบบมากกว่า
ภาพประกอบจากwww.bangkokvoice.com
ประชาธรรม: มีประเด็นใดที่รัฐบาลภายใต้การนำของทหารมองข้ามไป หรือยังคิดไม่ถึง เช่นเดียวกับฝ่ายประชาธิปไตย?
แต่ละฝ่ายอาจจะมองข้ามคนละจุดกัน ฝ่ายทหารมองข้ามหรือทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นไม่ยอมรับการที่ตนเองกำลังเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน การปิดกั้นการแสดงความเห็นทางการเมืองในขณะนี้ การไล่ล่าคนที่ต่อต้านตนเองอยู่ขณะนี้ คือการกำลังขจัดคนกลุ่มเดียว แต่ในทางตรงกันข้าม คสช. เปิดรับความเห็นจากคนกลุ่มเดียวกับตนเท่านั้น นำกลุ่มคนที่อยู่ในฝ่ายเดียว ด้านเดียวของคู่ขัดแย้งทางการเมือง เข้าไปร่วมงานด้วย นั่นก็เท่ากับว่า คสช. ลำเอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่งแล้ว
นอกจากนั้น ทหารยังมองไม่ออกว่าวิธีการแบบเผด็จการไม่สามารถจัดการปัญหาทุกอย่างได้ รวมทั้งไม่สามารถขจัดปัญหาคอร์รัปชั่นได้ เพราะอำนาจของผู้นำในระบบเผด็จการเองก็เป็นอำนาจที่ถูกตรวจสอบไม่ได้อยู่ในตัวเองอยู่แล้ว หากเกิดการคอร์รัปชันในหมู่ผู้นำเอง ก็จะไม่สามารถเอาผิดได้ ลำพังหลักประกันความเชื่อถือจากเสียงเพลงไม่สามารถสร้างความไว้วางใจจากชาวโลกที่ไหนได้หรอก มิพักต้องกล่าวว่า อำนาจเผด็จการแบบที่ทหารใช้ในขณะนี้นั้นก็จะไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้เช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากคณะรัฐประหารชุดนี้ไม่ได้มีจุดยืนประชาธิปไตยตั้งแต่ต้น ในทางปฏิบัติการที่ คสช. ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของประชาชน ไม่ยอมให้สื่อนำเสนอความเห็นที่แตกต่าง ไม่ยอมให้ประชาชนจัดเวทีแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา ก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า คสช. ไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยได้ การใช้อำนาจเผด็จการชั่วคราวซึ่งอ้างความหวังดีเพื่อที่จะนำมาซึ่งประชาธิปไตยอย่างแท้จริงนั้นไม่ใช่ว่าไม่เคยมีกันที่อื่นในโลก ประเทศคอมมิวนิสต์ล้วนอ้างแบบนี้ทั้งสิ้น แต่ผลที่สุดแล้วก็เกิดการคอร์รัปชัน การสืบต่ออำนาจเผด็จการอย่างไม่สิ้นสุด จนในที่สุดไม่มีประชาธิปไตยจนกว่าประชาชนจะเรียกร้องทวงคืนเอง ซึ่งก็ก่อความสูญเสียมากมายทุกที่
ฝ่ายประชาธิปไตยเองก็ไม่ใช่ว่าจะมีข้อบกพร่อง หากแต่วิถีทางแบบประชาธิปไตยเองจะเป็นกลไกในการจัดการปัญหาได้ดีกว่าเผด็จการ เนื่องจากยอมให้คนเห็นแตกต่างได้ ยอมให้คนแสดงออกได้ ยอมให้มีการทักท้วงจนถึงขั้นประท้วงได้ แล้วจึงก่อให้เกิดการถกเถียงรับฟังกัน
อย่างไรก็ตาม ยังมีแต่ประเด็นสำคัญที่คณะรัฐประหารไม่ยอมให้มีการพูดกันอย่างเป็นสาธารณะ ทั้งๆ ที่ประเด็นนี้เป็นประเด็นใจกลางสำคัญประเด็นหนึ่งของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทย และเป็นประเด็นสาธารณะที่ประชาชนผู้เสียภาษีควรที่จะต้องได้รับรู้ร่วมแสดงความเห็นด้วย แต่กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในขณะนี้เป็นอุปสรรคสำคัญทำให้สังคมจำใจต้องมองข้ามประเด็นนี้ไป
ประชาธรรม: ในฐานะที่อยู่ต่างแดน มีมุมมองเปรียบเทียบอะไรที่น่าสนใจจะฝากไว้บ้าง?
เมื่อมาอยู่ในสหรัฐอเมริกา มีโอกาสได้สังเกตการณ์การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้ได้เข้าใจมากขึ้นว่า ระบบการเลือกตั้งของประเทศสหรัฐอเมริกามีลักษณะเฉพาะของเขาเองอย่างไร ไม่ใช่ระบบแบบที่เราคุ้นเคยในประเทศไทยแน่นอน ที่น่าสนใจคือ ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้น แต่ละท้องถิ่นยังมีการทำประชามติเรื่องเฉพาะของตนเองพร้อมๆ กันในบัตรเลือกตั้งใบเดียวกันด้วย นอกจากนั้น ในรัฐวิสคอนซิน ยังมีการต่อสู้เรื่องการไม่ต้องแสดงบัตรประจำตัวผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ที่กำลังเริ่มบังคับใช้ในหลายรัฐ แต่สำหรับที่วิสคอนซิน มีการตัดสินของศาลว่าการทำบัตรผู้มีสิทธิลงคะแนนจะจำกัดสิทธิมากเกินไปเพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ทำ จึงให้ใช้บัตรแสดงตนอื่นๆ ที่เคยใช้ และอาศัยการลงทะเบียนผู้มีสิทธิอยู่เดิมแล้วก็เพียงพอ ประเด็นที่สำคัญคือ เขาพยายามไม่สร้างเงื่อนไขที่จำกัดการใช้สิทธิของประชาชน ประเด็นที่ได้เรียนรู้ยิ่งกว่านั้นคือ ทำให้เข้าใจว่า การต่อสู้ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งนั้น ผู้คนเขาคิดอย่างไรเมื่อแพ้เสียเลือกตั้ง เขาต้องวางแผนอะไรกันต่อไปเพื่อให้ชนะการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่มีใครคิดว่าคนลงคะแนนเลือกพรรคที่ตนไม่ชอบคือคนโง่ไร้การศึกษา เพียงแต่เขาคิดกันคนละแบบ เขาใช้เหตุผลกันคนละชุด และถึงอย่างนั้นเขาก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแนวคิดในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไปข้างหน้า
ภาพจากเพจวิวาทะ V2 https://www.facebook.com/quoteV2/timeline
ข้อนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาธิปไตยที่ไหนๆ ในโลกก็แตกต่างกันทั้งสิ้น ไม่จำเป็นต้องมาอ้างว่าประชาธิปไตยแบบไทยแตกต่างจากประชาธิปไตยแบบตะวันตก เพราะเฉพาะใน “ตะวันตก” เอง ก็มีรายละเอียดของวิธีการทางประชาธิปไตยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบททางประวัติศาสตร์ และเงื่อนไขทางสังคมและการเมืองของแต่ละประเทศ หากแต่ประเทศประชาธิปไตยมีแกนกลางที่สำคัญคือ การเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชน และการเคารพความเสมอภาคของประชาชน หากแต่ในประเทศไทยขณะนี้ขาดซึ่งหลักการพื้นฐานเหล่านี้ เราจึงไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ มีแต่เป็นเผด็จการทหารแบบไทยๆ ที่มักแอบอยู่หลังเสื้อคลุมประชาธิปไตยเท่านั้นเอง.
ooo
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
ที่มา สำนักข่าวประชาธรรม
ประชาธรรม: มองหกเดือนที่ผ่านมาหลังรัฐประหาร และประเทศไทยในปีหน้าอย่างไร
ประเทศไทยได้ผ่านช่วงฮันนีมูนของรัฐประหารมาแล้ว ดังนั้นจากนี้ต่อไป การปกครองประเทศด้วยการใช้เพียง “วาทกรรม” ไม่ว่าจะเป็น “คืนความสุข” “ขจัดคอร์รัปชั่น” หรือ “ปกครองโดยคนดี” ย่อมปราศจากมนต์ขลังอีกต่อไป เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐบาลชั่วคราวที่ก่อตั้งโดยทหาร มีความได้เปรียบในทุกประการเหนือรัฐบาลเลือกตั้งที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นรัฐที่รวมอำนาจเบ็ดเสร็จทุกอย่างไว้กับตัวทั้งในด้านบริหารและนิติบัญญัติ สามารถสร้างนโยบายต่างๆได้ตามอำเภอใจโดยไม่ต้องผ่านฉันทานุมัติจากประชาชน แต่ผลงานของรัฐบาลที่ผ่านมากลับไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้อย่างจริงจัง ผลการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลล่าสุดโดยกรุงเทพโพลล์ ก็พบว่ารัฐบาลผ่านการประเมินมาได้อย่างฉิวเฉียดด้วยคะแนนที่ค่อนข้างต่ำและเป็นคะแนนที่ต่ำลงจากช่วงเวลาที่ผ่านมา คำถามที่สำคัญจึงได้แก่เหตุใดด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จที่มีอยู่เหนือรัฐบาลชุดอื่นๆ รัฐบาลชุดนี้จึงกลับไม่สามารถสร้างผลงานเพื่อแก้ปัญหาของประเทศได้ ?
ปัญหาสำคัญของรัฐบาลชุดปัจจุบันอยู่ที่การเลือกแนวทางที่ผิดอย่างน้อย 3 ประการ ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ 1.การเชื่อว่าการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชนจะนำไปสู่การยุติความขัดแย้ง 2.การขาดความรู้ และได้แต่ผลิตซ้ำนโยบายเศรษฐกิจ/พัฒนาประเทศที่สร้างปัญหาและปราศจากธรรมาภิบาล และ 3.การทำลายประชาสังคม และการมีส่วนร่วมของประชาสังคม ขณะที่เพิ่มอำนาจให้กับชนชั้นนำและกลุ่มข้าราชการ
แม้ว่าโรดแมปอันดับแรกของรัฐบาลจะเป็นเรื่องการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ในชาติ แต่เป็นที่แน่ชัดว่า การเลือกแนวทางในการปิดปากมิให้พูดหรือแสดงออก (Silencing) ไม่เพียงไม่สามารถทำให้รากที่แท้ของปัญหาความขัดแย้งไม่ได้รับการแก้ไข แต่ยังส่งผลทำให้ปัญหาบานปลายและยากต่อการควบคุม ผลของการใช้แนวทางที่ผิด ได้ทำให้รัฐบาลชุดนี้ได้กลายเป็นรัฐบาลทหารในโลกยุคทันสมัยที่กดปราบและแทรกแซงเสรีภาพของประชาชนและสถาบันวิชาการมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นรัฐบาลที่ใช้กฎอัยการศึกอย่างพร่ำเพรื่อและปราศจากความจำเป็น มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนสูงที่สุดจนเป็นที่จับตาไปทั่วโลก การที่รัฐบาลปราศจากความเข้าใจเรื่องความขัดแย้งและการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ไม่สนใจที่จะสื่อสาร แลกเปลี่ยน ส่งเสริมการสร้างความเข้าใจระหว่างกันในหมู่ประชาชน และระหว่างรัฐกับประชาชน แทนที่จะแก้ปัญหา กลับได้ทำให้สาเหตุที่แท้จริงของความขัดแย้งถูกกดเอาไว้อยู่ภายใน รอวันประทุที่รุนแรง ประเทศที่ถูกทำให้ตกอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกอยู่ตลอดเวลา ย่อมส่งผลต่อภาพลักษณ์ด้านอื่นๆของประเทศ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าเหตุใดแม้จนปัจจุบันความน่าเชื่อถือในด้านการลงทุนของไทยยังคงอยู่ในสถานะที่ต่ำเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน และไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นในอนาคตอันใกล้
แนวทางที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดของรัฐบาลชุดนี้ น่าจะได้แก่ การทำลายประชาสังคมและการมีส่วนร่วมของประชาสังคมในทางการเมือง ภายใต้แนวทางการกดปราบของกฎอัยการศึก ในระยะยาวแล้ว ไม่เพียงแต่จะไม่เป็นผลดีต่อประเทศ แต่ยังอาจนำไปสู่ปัญหาที่รุนแรงและยากต่อการแก้ไข ในประเทศที่เจริญทางเศรษฐกิจและการเมือง การเปิดให้มีเสรีภาพในทางการเมืองภายใต้การเอื้ออำนวยและเข้าอกเข้าใจของรัฐ เป็นแนวทางที่ช่วยให้การแสดงออกทางการเมืองเป็นไปในทิศทางที่ปลอดภัยและปราศจากความรุนแรง หรืออย่างน้อยก็สามารถควบคุมความรุนแรงไว้ได้ ในทางตรงกันข้าม การกดปราบมิให้ประชาชนมีส่วนร่วมในสังคมที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่ และเป็นผู้ก่อร่างสร้างสังคมขึ้นมา มิเพียงแต่เป็นการแยกประชาชนออกจากสังคม สร้างความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ แต่ยังจะกลายเป็นสาเหตุให้เกิดการแสดงออกทางการเมืองในทิศทางที่รัฐควบคุมได้ยากอีกด้วย
ประชาธรรม: ตำแหน่งแห่งที่ของประชาชนกลุ่มต่างๆมีการเปลี่ยนผัน เปลี่ยนแปร หรือเปลี่ยนผ่านอย่างไรบ้าง มีอะไรที่น่าสนใจ หรือควรพิจารณาเป็นพิเศษบ้าง?
ในท่ามกลางบริบทการเมืองที่ปิดกั้นเช่นนี้ การประเมินความคิดเห็นของประชาชนที่เป็นจริงเป็นเรื่องยาก แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ในขณะที่รัฐบาลมักมีสมมติฐานว่าการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารที่ผ่านมา เป็นขบวนการเดียวกันที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบในลักษณะที่เป็นแบบเป็นแผน โดยมีผู้หนุนหลังเพื่อโค่นล้มรัฐบาล ทฤษฎีดังกล่าว นอกจากจะไม่เป็นจริงแล้ว ยังไม่เป็นประโยชน์ต่อการเข้าใจปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะมัวแต่มุ่งจะหาแต่ผู้อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหว ที่ไม่ได้มีอยู่จริง เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมา เป็นประชาชนและนักศึกษาที่เคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระ (Spontaneous) มิได้สังกัดกลุ่มการเมือง หากแต่เป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่เห็นด้วยกับทิศทางการพัฒนาประเทศที่ทั้งปิดกั้นเสรีภาพ และทั้งสร้างความเสียหายแก่ชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ บางกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรพัฒนาเอกชน เป็นผู้ที่สนับสนุนรัฐประหารเสียด้วยซ้ำไป
สำหรับการเมืองหลังยุคเสื้อสี ช่วงเวลาที่ผ่านมา น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับขบวนการประชาชนทั้งหลาย ไม่ว่าจะสังกัดฝ่ายใดก็ตามที การหวังพึ่ง Messiah หรือ ผู้นำผู้มาโปรด และปลดปล่อยสังคมให้หลุดพ้น เป็นความหวังแบบทางลัด ที่ทำลายหลักการและกติการทางเมือง ตลอดจนสร้างความเสียหายให้กับการเมืองไทยและกลไกทางการเมืองในระดับต่างๆ การสร้างอำนาจในการต่อรองในระดับท้องถิ่นเป็นเรื่องที่นับแต่นี้ไป เป็นเรื่องที่ยากลำบากมากยิ่งขึ้น เพราะกลไกที่เคยอยู่ในทิศทางของการกระจายอำนาจและเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นอบต.หรืออบจ.กำลังถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นระบบรวมศูนย์แบบราชการ ในขณะที่กลไกราชการกำลังขยายตัวใหญ่ขึ้นอย่างไม่ควรจะเป็น กลไกในส่วนของประชาชนท้องถิ่นกลับถูกบั่นทอนให้อ่อนแอลง นับเป็นทิศทางที่สวนกระแสการบริหารองค์กรรัฐและประชาชนของทั่วโลก
ประชาธรรม: คิดอย่างไรกับความเชื่อที่ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของทหาร จะช่วยปฏิรูปกฎกติกาทางการเมืองให้มีความก้าวหน้าขึ้น แต่สำหรับวัฒนธรรมทางการเมือง อาจล้าหลังไปบ้าง?
กติกาทางการเมืองและวัฒนธรรมทางการเมืองเป็นเรื่องเดียวกันและไม่อาจแยกออกจากกันได้ การสร้างกติกาทางการเมืองที่เป็นธรรมต่อทุกกลุ่มในสังคม ย่อมเป็นหลักสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมทางการเมืองนั้นเป็นวัฒนธรรมที่ทุกฝ่ายร่วมกันเป็นเจ้าของ และใช้วัฒนธรรมนั้นได้อย่างเท่าเทียมกัน ประเด็นสำคัญคือจะปฏิรูปกติกาทางการเมืองให้เป็นธรรม และเท่าเทียมได้ ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบ แสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ ความยากของสิ่งที่เรียกว่าการปฏิรูปคือ ทำอย่างไรความแตกต่างหลากหลายทางความคิด และการมองปัญหาทางการเมืองจากทุกมุมมองจะได้รับการตระหนักและให้ความสำคัญอย่างจริงจัง มิใช่ถูกออกแบบอย่างผูกขาดโดยกลุ่มชนชั้นนำไม่กี่กลุ่ม เพราะในขณะที่แนวคิดในการปฎิรูปในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่การขจัดคอรัปชันของนักการเมือง สิ่งที่กลับไม่ถูกพูดถึงเลยคือการสร้างหลักประกันด้านสิทธิและเสรีภาพ ความมั่นคงในชีวิต การลดช่องว่างระหว่างชนชั้น หรือกระทั่งคอรัปชันในระบบราชการเอง ซึ่งมีความร้ายแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคอรัปชันประเภทอื่นๆในสังคมไทย
ประชาธรรม: ดูเหมือนการต่อต้าน ขัดขืนในการเมืองปัจจุบันจะอยู่ที่การเคลื่อนไหวของนักศึกษา และเน้นการเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ คิดว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าว มีพลังและสร้างผลสะเทือนอะไรได้บ้าง?
การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของนักศึกษาเป็นภาพสะท้อนที่ดีของพลังบริสุทธิ์ของคนหนุ่มสาวที่ต้องการสื่อสารกับสังคม และสื่อสารกับรัฐบาลที่ปกครองพวกเขาอยู่ เสียงของคนเหล่านี้ เป็นเสียงของผู้ที่กำลังเติบโตขึ้นเป็นอนาคตของสังคม โปรดอย่าลืมว่านักศึกษาและเยาวชนคนหนุ่มสาวเป็นพลังการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเสมอมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทย พวกเขาจึงไม่ใช่เด็กที่คิดไม่เป็นดังที่ชนชั้นปกครองมักปิดป้ายให้กับพวกเขา คนเหล่านี้เป็นผู้ที่มีความห่วงใยและต้องการเห็นสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เป็นธรรมโดยปราศจากผลประโยชน์แอบแฝง การใช้สัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในปัจจุบัน เป็นการใช้ภาษาที่ลงรหัส (Coded language) ในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองในบริบทที่การเมืองกดปราบการแสดงความคิดเห็นด้วยภาษาปกติ เป็นการใช้สัญลักษณ์เพื่อที่จะสื่อสารถึงความคิดเห็นที่แตกต่าง เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาใน “เสรีภาพ” ในบริบทที่ความคิดเห็นที่แตกต่างกลายเป็นสิ่งต้องห้ามในสังคมไทย ในขณะที่ self-censorship กลายเป็นปทัสถานของสื่อมวลชน พลังและความสำคัญของการใช้สัญลักษณ์ของนักศึกษา จริงๆแล้ว ไม่ได้อยู่ที่ตัวสัญลักษณ์ เพราะเอาเข้าจริงแล้วเนื้อหาของสัญลักษณ์ ไม่ว่าจะชูสามนิ้ว หรือกินแซนด์วิช ไม่ได้สลักสำคัญอะไร แต่ความสำคัญอยู่ที่ความกล้าหาญในการนำเอาสัญลักษณ์ออกมาสื่อสารต่อสังคมต่างหาก อยู่ที่ความพยายามที่จะคิดค้นหนทางที่จะสื่อสารกับสังคมว่า เสรีภาพเป็นสิ่งที่มีค่าและสำคัญต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ และอยู่ที่การยืนยันว่าสิทธิในการสื่อสารเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึงมี สารเหล่านี้ต่างหากที่มีพลังและเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรรับฟังอย่างเข้าใจและตระหนักถึงวิกฤตด้านเสรีภาพที่เป็นอยู่ในสังคมไทย
ประชาธรรม: มีประเด็นใดที่รัฐบาลภายใต้การนำของทหารมองข้ามไป หรือยังคิดไม่ถึง เช่นเดียวกับฝ่ายประชาธิปไตย?
การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความต่าง ความขัดแย้ง ความไม่เสมอภาค ด้วยการ Civilize ซึ่งกันและกันระหว่างรัฐและพลเมือง โดยไม่ทำลายหลักการประชาธิปไตย และไม่ทำลายซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งที่ทำได้ แม้จะใช้เวลา ความอดทน ด้วยวิธีการที่ต้องช่วยกันค้นคิด น่าเสียดายที่ผู้มีอำนาจมักไม่เลือกเส้นทางที่จะพาสังคมไปข้างหน้า แต่กลับเลือกเส้นทางที่คิดสั้นและสร้างความเสียหายให้กับสังคมในระยะยาวเสมอ
ประชาธรรม: ในฐานะที่อยู่ต่างแดน มีมุมมองเปรียบเทียบอะไรที่น่าสนใจจะฝากไว้บ้าง?
การได้มีโอกาสมาอยู่ในสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาที่การเมืองเรื่องสีผิวซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานสำคัญของสังคมอเมริกัน ซึ่งได้นำไปสู่การก่อตัวเป็นขบวนการที่นำไปสู่การเดินขบวนประท้วงทั่วประเทศ ภายใต้สโลแกน Black Lives Matter ได้ช่วยทำให้เห็นความแตกต่างในการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างสังคมอเมริกันและสังคมไทยเป็นอย่างดี เพราะเมื่อเทียบกันแล้ว ปัญหาการเหยียดผิวและการใช้อำนาจที่รุนแรงและไม่เป็นธรรมของตัวแทนรัฐซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนผิวขาวต่อชนผิวสีเป็นปัญหาท่ีฝักรากลึกมานาน และสร้างความแตกแยกและขัดแย้งร้าวลึกภายในสังคมอเมริกันมายาวนาน แต่สหรัฐอเมริกาก็เข้าหาปัญหานี้ด้วยการเคารพในการเมืองพลเมืองหรือ Civil politics การเดินขบวนประท้วงตำรวจของประชาชนอย่างสันติตามเมืองใหญ่ ได้รับการเอื้ออำนวยด้านการจราจรเป็นอย่างดีจากตำรวจ และรัฐก็มิได้ปิดกั้น ขัดขวางหรือปราบปราม เพราะถือว่าเป็นแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของประชาชนต่อรัฐ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พลเมืองมี ในขณะเดียวกัน การประท้วงต่อต้านการใช้ความรุนแรงโดยรัฐและปัญหาระบบยุติธรรมที่เป็นอยู่ ก็ได้นำไปสู่การถกเถียงอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชน ในสื่อประเภทต่างๆถึงปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างภายในสังคมอเมริกันที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข สิ่งที่น่าสังเกตคือ ความขัดแย้งเรื่องสีผิวที่ดำรงอยู่ในสังคมอเมริกันนี้ เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกมายาวนานนับแต่ประวัติศาสตร์ และมีความรุนแรงไม่แพ้การเมืองเสื้อสีในไทย แต่สังคมอเมริกันก็เรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวภายใต้ครรลองประชาธิปไตย ไม่มีใครเรียกร้องหาทางลัดในการแก้ไขปัญหา และทุกคนก็ยังเชื่อว่า การเลือกตั้งเป็นหนึ่งในกติกาสำคัญที่จะช่วยทำให้ปัญหานี้ถูกตระหนักมากยิ่งขึ้นในประเทศ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่กลไกเดียวที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ฝังแน่นในสังคมอเมริกันก็ตามที สำหรับชาวอเมริกันแล้วการเลือกตั้งเป็นหลักหมุดการเมืองสำคัญตั้งแต่เริ่มแรกที่ทำให้พลเมืองทุกสีผิวสามารถพัฒนาอำนาจและสิทธิของตนขึ้นมาได้บนหลักการของความเสมอภาค และเป็นกติกาที่ช่วยให้พลเมืองสามารถอยู่กับความแตกต่างในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน ความเชื่อมั่นใน Civil politics และการสร้างความเข้มแข็งในการเมืองประชาชนที่เคารพในกติกาการเมืองเป็นสิ่งที่ค่อยๆพัฒนาขึ้นในสังคมอเมริกันที่มิได้เกิดขึ้นภายในวันเดียว และเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่สังคมไทยควรเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง.