วันจันทร์, ธันวาคม 29, 2557

ไทย แอร์เอเชีย ฟันธง! "กฎอัยการศึกยังอยู่ น้ำมันถูกก็ไม่ช่วยอะไร" "นักท่องเที่ยวยังตั้งคำถามว่าถ้าปลอดภัยจริง จะยังประกาศใช้กฎอัยการศึกไปเพื่ออะไร ทำให้ช่วงที่ผ่านมา คนจีนปรับแผนหันไปเที่ยวทะเลที่ประเทศอื่นแทน เช่น ที่เมียนมาร์ เวียดนาม ศรีลังกา และบาหลี อินโดนีเซีย"


ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

ดีกรีการแข่งขันของธุรกิจสายการบิน ในปี 2558 ทวีความเข้มข้นขึ้นอีกระดับ เพราะนอกเหนือจากการเปิดน่านฟ้าเสรีแล้ว ราคาน้ำมันโลกที่ดิ่งลง ถือเป็นอีกปัจจัยที่ต้องจับตาว่าค่ายนกเหล็กแต่ละเจ้าจะงัดกลยุทธ์ใดออกมาฟาดฟัน และใช้จังหวะราคาน้ำมันถูกได้คุ้มค่าแค่ไหน

"ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทย แอร์เอเชีย ให้สัมภาษณ์พิเศษ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังต้นทุนหลักอย่าง "น้ำมัน"ราคาหล่นฮวบ สายการบินทั่วโลก รวมถึงไทย แอร์เอเชีย ต่างเร่งซื้อน้ำมันตุนไว้ โดยราคาที่สิงคโปร์ปรับลดจากปกติ 115 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เหลือ 85 เหรียญต่อบาร์เรล หรือลดลงเฉลี่ย 20%

 



"ธรรศพลฐ์" บอกว่า แม้ราคาน้ำมันจะลดลงในระยะเวลารวดเร็ว ไทย แอร์เอเชีย ก็คงไม่ลงทุนทุ่มซื้อแบบสุดโต่ง แต่จะเดินทางสายกลาง ด้วยการติดตามสถานการณ์ราคาต่อเนื่อง เพราะขณะนี้มีปัจจัยการเมืองโลกเข้ามาแทรกแซง ไม่ได้ลดลงตามกลไกตลาดที่แท้จริง

ดังนั้น อนาคตราคาน้ำมันโลกอาจลดลงไปมากกว่านี้ก็เป็นได้ หากซื้อตุนไว้เยอะจนเกินไป ก็มีสิทธิ์ขาดทุนน้ำมันได้เช่นกัน

"ธรรศพลฐ์" บอกด้วยว่า เมื่อต้นทุนน้ำมันลด แน่นอนว่าธุรกิจสายการบินย่อมมีศักยภาพในการทำกำไรได้ดีขึ้น โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) สามารถลดค่าธรรมเนียมน้ำมันและราคาตั๋วบินเพื่อแข่งขันด้านราคาได้ดีขึ้น อย่าง "ไทย แอร์เอเชีย" เองก็ได้เตรียมลดค่าธรรมเนียมน้ำมันบางส่วนในเส้นทางระหว่างประเทศหลังเทศกาลปีใหม่

"แม้ราคาน้ำมันจะลดลงส่งท้ายปลายปี แต่ในปีนี้ไทย แอร์เอเชีย จะมีกำไรเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หายไป 20 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2556 ซึ่งมีกำไรราว 2,000 ล้านบาท เรียกได้ว่าพยายามรักษาตัวเองให้เสมอตัวมากที่สุด ไม่ขาดทุน ก็ดีแค่ไหนแล้ว"

ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่ทำให้ตัวเลข "กำไร" ปรับตัวลดลงอย่างมากนั้น "ธรรศพลฐ์" บอกว่า เป็นเพราะว่าได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองที่ลากยาวมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2556 จนถึงกลางปี 2557 นี้ ส่งผลให้ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติภาพรวมปีนี้ลดลง 8% โดยเฉพาะตลาดจีนและอาเซียนที่อ่อนไหวกับการเมืองสุด ๆ โดยยอดผู้โดยสารของ "ไทย แอร์เอเชีย" ลดลงมากกว่า 8% ด้วยซ้ำ

"ธรรศพลฐ์" ยังคาดการณ์ด้วยว่ายอดผู้โดยสารตลอดปีนี้จะลดลงจากเป้าเดิมที่วางไว้ที่ 13.6 ล้านคน เหลือเพียง 12.1 ล้านคน (ปี 2556 มีจำนวน 10.3 ล้านคน) ซึ่งการเพิ่มขึ้นจากปี 2556 นั้นเป็นการโตตามการรับมอบเครื่องบินเพิ่มขึ้นเท่านั้น

"กลายเป็นว่าราคาน้ำมันที่ลดลงในช่วงปลายปีนี้ เป็นปัจจัยที่ช่วยชดเชยจำนวนผู้โดยสารที่หายไปได้บ้าง เรียกได้ว่าเจ๊ากันไป"

สำหรับในปี 2558 นี้ "ธรรศพลฐ์" บอกว่า ไทย แอร์เอเชีย มีแผนรับเครื่องบินเพิ่มอีก 5 ลำ (ปัจจุบันมี 40 ลำ) เพื่อนำไปเพิ่มเส้นทางบินทั้งในประเทศ ซึ่งปัจจุบันครองสัดส่วน 50% ของยอดผู้โดยสารทั้งหมด โดยปลายปีนี้เราเตรียมเปิดตัว 3 เส้นทางบินใหม่ ประกอบด้วย น่าน, เลย และร้อยเอ็ด จำนวนเส้นทางละ 2 เที่ยวบินต่อวัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไป

ขณะที่เส้นทางบินระหว่างประเทศ หลัก ๆ ยังคงรุกตลาดจีนต่อเนื่อง โดยคาดว่าตลอดปี 2558 ไทย แอร์เอเชีย จะมีรายได้กำไร และยอดผู้โดยสารกระเตื้องขึ้นมาดีกว่าปี 2556 และคาดว่าจะมีโหลดแฟกเตอร์เฉลี่ยอยู่ที่ 83%

แต่ถ้าจะให้ดีกว่านี้ รัฐบาลต้องยกเลิก "กฎอัยการศึก" ให้เร็วที่สุดด้วย หากยังมีการบังคับใช้อยู่ บรรยากาศการท่องเที่ยวก็ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่อยู่ดี แม้ต้นทุนน้ำมันจะถูกลง ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก เพราะดีมานด์การท่องเที่ยวยังไม่กล้ากลับมา

"ถ้ายกเลิกกฎอัยการศึกได้เร็วเมื่อไหร่ สถานการณ์ตลาดจะเปลี่ยนทันที ต้นทุนสายการบินทุกเจ้าจะถูกลง และดุเดือดเรื่องราคามากขึ้น สามารถลดราคาตั๋วบินได้ทันที 15-20%"

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบิน "ไทย แอร์เอเชีย" ยังบอกอีกว่า สำหรับสถานการณ์ในไตรมาสแรกของปี 2558 ยอดจองตั๋วบินล่วงหน้ากระเตื้องขึ้นแล้ว แต่ยังไม่โดดเด่น เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ โดยตลาดหลักอย่าง "จีน" ที่แนวโน้มการจองตั๋วบินมาไทยยังไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว "ตรุษจีน" ปีหน้าสัญญาณที่เห็นมีเพียง "ความไม่มั่นใจ" ว่าสถานการณ์การเมืองไทยจะปลอดภัยจริงหรือเปล่า

"นักท่องเที่ยวยังตั้งคำถามว่าถ้าปลอดภัยจริง จะยังประกาศใช้กฎอัยการศึกไปเพื่ออะไร ทำให้ช่วงที่ผ่านมา คนจีนปรับแผนหันไปเที่ยวทะเลที่ประเทศอื่นแทน เช่น ที่เมียนมาร์ เวียดนาม ศรีลังกา และบาหลี อินโดนีเซีย"

"ธรรศพลฐ์" ยังให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการทำตลาด "ไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์" ซึ่งให้บริการเส้นทางบินระยะไกล ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วยว่า จะบุกขยายตลาดเส้นทางบินจากไทยไปเอเชียตะวันออกอย่างต่อเนื่อง

โดยในปี 2558 เตรียมเปิดเส้นทางบินใหม่ไปจีน ส่วน 3 เส้นทางปัจจุบัน ทั้งโตเกียว โอซากา และโซล มีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินเพื่อรองรับดีมานด์ของนักท่องเที่ยวขาเข้า (อินบาวนด์) และขาออก (เอาต์บาวนด์)

พร้อมทั้งย้ำด้วยว่า ตลาดโลว์คอสต์ระยะไกลปีหน้าแข่งขันกันดุเดือดแน่นอน ยิ่งราคาน้ำมันปรับตัวลง บวกกับการมีสายการบินใหม่อย่างนกสกู๊ตมาให้บริการเพิ่มอีกราย ยิ่งจะเห็นการแข่งขันที่รุนแรงและชัดเจนขึ้น