วันอังคาร, ธันวาคม 23, 2557
วิษณุ เตือน กมธ.ยกร่าง รธน.ทำ "เกิน เลย ล้น เว่อร์" "เหาะเกินลงกา" (ไม่ว่ากันนะ แต่ขอบอกแบบ จะจะ)
จาก ลงเรือแป๊ะ ถึง"เหาะเกินลงกา" วิษณุ เตือน กมธ.ยกร่าง รธน. "เกิน เลย ล้น เว่อร์" (ชมคลิป)
เหาะเกินลงกา" "วิษณุ" เตือน กมธ.ยกร่าง รธน. "เกิน เลย ล้น เว่อร์" เสนอถามประชามติประเด็นใหญ่ เข้าใจง่าย
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2557 เวลา 18:40:00 น.
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 22 ธันวาคม ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการทำงานของคณะกรรมมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ(กมธฺ)ว่า ภาระในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่ของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 36 คน ในส่วนของรัฐบาลจะเหมือนกับองค์กรอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือ พรรคการเมือง ที่สามารถมีข้อเสนอต่างๆไปยังกมธ.ยกร่างฯได้ แต่วันนี้รัฐบาลยังไม่จำเป็นที่จะต้องเสนอความเห็น ปล่อยให้กมธ.ยกร่างฯ คิดไปสักระยะหนึ่งก่อนจึงค่อยเสนอว่าจะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร ซึ่งวันนี้กมธ.ยกร่างฯยังไม่ได้ทำอะไร การที่รัฐบาลออกมาพูดตอนนี้จะถือว่าเร็วไป ดังนั้น จึงต้องปล่อยให้เห็นหน้าตาของแกงส้มอย่างที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯเคยกล่าวไว้ เพราะยังมีเวลาอีกมากพอสมควร
"เวลานี้ใครอยากพูดอะไรก็สามารถเสนอได้ แต่รัฐบาลเองจะพูดให้น้อยที่สุด ขณะที่หลายคนบอกว่าพวกเขาร้อนวิชา มีการออกมาแสดงความเห็นต่อการยกร่างฯที่หลากหลาย ที่จริง ภาษาไทยยังมีอีกคำหนึ่ง ซึ่งเด็กรุ่นใหม่อาจไม่รู้จัก เก่ากว่าเรือแป๊ะ คือคำว่าเหาะเกินลงกาหมายถึง เกิน เลย ล้น เว่อร์ เพราะเมื่อตอนที่นางสีดาถูกจับตัวไป จากนั้นพระรามจึงออกตาม แต่พระรามกลัวว่านางสีดาจะไม่รู้ จึงให้หนุมานเอาแหวนไปให้นางสีดา เมื่อเห็นแหวนจะได้จำได้ หนุมานจึงดีใจเร่าร้อนวิชา ตีลังกาเหาะเหินเดินอากาศ ปรากฎว่าเหาะจนเลยเมืองลงกา ซึ่งแปลว่า วันนี้อาจมีลักษณะแบบนี้บ้าง ก็ไม่ว่ากัน แต่อีกหน่อยช่วยดึงกลับมาลงเมืองลงกาให้ได้ ไม่เช่นั้นนางสีดาจะไม่รู้ การปฏิรูปก็จะไม่สำเร็จ รวมไปถึงการร่างรัฐธรรมนูญก็จะไม่สำเร็จ" นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่าการทำประชามติมีความสำคัญต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สำคัญหรือไม่อยู่ที่ว่าประชามติจะสามารถตอบโจทย์ได้หรือไม่ว่าทำไปทำไม การทำประชามติเพื่อให้เกิดการยอมรับ ซึ่งนำไปสู่การผูกมัดอะไรหลายอย่าง ถือเป็นข้อดี อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวก็มีจุดอ่อน เพราะจะทำให้กระบวนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญล่าช้า หากคิดว่าสามารถรอได้ ทนได้ ไปอีก 3 เดือนหลังการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็ถือว่าคุ้ม แต่ขณะเดียวกัน การทำประชามติ 1.ต้องใช้เงินมากเท่ากับการจัดการเลือกตั้ง แต่จะแตกต่างกัน เพราะ 2.การเลือกตั้งเป็นการเลือกพรรคการเมืองหรือคนที่เรารู้จักโดยต้องมีการหาเสียง แต่การจะไปหาเสียงให้เชียร์หรือให้ล้มรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก บางครั้ง การเข้าใจต่อรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องยาก คนจึงตัดสินใจยากว่าจะลงมติรับหรือว่าล้ม ดังนั้น 3.หากจะทำประชามติ ต้องสร้างความเข้าใจและอธิบายในทุกมาตรา
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า การทำประชามติในรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนมากพอ จึงเกิดปัญหาถกเถียงกันภายหลัง หากคิดว่า สามารถแก้ปัญหาทั้ง 3 จุดได้ รัฐธรรมนูญก็จะคงทน หากยอมรับในส่วนนี้ได้ ประชามติก็เป็นสิ่งที่ควรทำ ประชามติที่ดี ไม่ใช่เขียนแล้วเอาไปวางให้ประชาชนดูเฉยๆ บางทีกำหนดประเด็นเป็นข้อๆ แล้วให้ประชาชนกากบาท เช่น ต้องการนายกในรูปแบบใด อยากได้ ส.ส.แบบไหน จะให้มี ส.ว.หรือไม่ ซึ่งหากถ้าเอาเป็นหัวข้อใหญ่ ลักษณะนี้ คิดว่าหน้าตาของรัฐธรรมนูญอาจออกมาดีกว่าก็ได้ หากการทำประชามติไม่ผ่าน กระบวนการในรัฐธรรมนูญชั่วคราวมีอยู่แล้วว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งอาจต้องยุบคณะทำงานที่เกี่ยวข้องในการร่างรัฐธรรมนูญ แล้วตั้งขึ้นมาใหม่ แต่อาจมีการเร่งรัดเวลาให้เร็วขึ้นภายใน 1 เดือน
"รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ หากร่างไปประมาณ 50 มาตรา รัฐบาลก็จะรู้แล้วว่าต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป หากร่างออกมาดี การยอมรับก็จะเกิดตั้งแต่ในขั้นตอนแรก และอาจไม่จำเป็นต้องมีการทำประชามติ แต่ถ้าเกิดความไม่แน่ใจประชามติก็จะเกิดขึ้น" รองนายกรัฐมนตรีกล่าว