วันจันทร์, ธันวาคม 08, 2557

เปิดคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาท ร.4 ทั้ง 3 ศาล ลองดูว่า ศาลอุทธรณ์มองคำว่า"พระมหากษัตริย์"ตามมาตรา 112 ต่างจากศาลฎีกาอย่างไร


ณัชกฤช : หมิ่นประมาทอดีตกษัตริย์

ที่มา ILAW

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ณัชกฤช เป็นเจ้าของสถานีวิทยุชมชนและผู้จัดรายการวิทยุชุมชนชื่อรายการ “ช่วยกันคิดช่วยกันแก้”ที่อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี

ผู้กล่าวหา / โจทก์

พนักงานอัยการจังหวัดชลบุรี

รายละเอียดการกระทำตามข้อกล่าวหา

ณัชกฤชถูกกล่าวหาว่า กล่าวข้อความซึ่งเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 4 ระหว่างจัดรายการออกอากาศทางวิทยุชุมชน

ความเคลื่อนไหวคดี

5 เมษายน 2548

ณัชกฤชจัดรายการวิทยุชุมชนชื่อรายการ ช่วนกันคิดช่วยกันแก้ กระจายเสียงในพื้นที่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ระหว่างจัดรายการ มีโทรศัพท์จากผู้ฟังเข้ามาสอบถาม ว่าทำไมณัชกฤชสอบตก ในการเลือกตั้งท้องถิ่น

คำพูดที่ณัชกฤชตอบคำถามผู้ฟังตอนหนึ่งถูกนำไปกล่าวโทษว่าเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 4 หลังจากนั้นพนักงานอัยการจังหวัดชลบุรีจึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาล

วันที่ 3 พฤษภาคม 2550

ศาลจังหวัดชลบุรี พิพากษาว่า ณัชกฤชมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยคำพิพากษาสรุปความได้ว่า

ข้อความตามฟ้องเปรียบเทียบว่าในยุคของรัชกาลที่ 4 มีการปกครองที่ไม่ดี ไม่มีอิสระต้องเป็นทาส ทำให้รัชกาลที่ 4 เสียพระเกียรติ ประชาชนไม่เคารพสักการะ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง

การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด ลงโทษจำคุก 4 ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี และให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี เพราะจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน

ต่อมาพนักงานอัยการอุทธรณ์ให้ขอให้ศาลสั่งจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ

28 กรกฎาคม 2552

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฟ้องจำเลย โดยให้เหตุผลว่า ฟ้องโจทก์ไม่ชอบเพราะขาดองค์ประกอบความผิด

คำว่าพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในความเห็นของศาลอุทธรณ์ หมายถึงพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ขณะมีการกระทำความผิด

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยหมิ่นประมาทกษัตริย์รัชกาลที่ 4 ซึ่งไม่ได้ครองราชย์ขณะที่จำเลยกระทำความผิด การกระทำของจำเลยจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบ แม้จำเลยจะรับสารภาพ ก็ลงโทษจำเลยไม่ได้

ต่อมาพนักงานอัยการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไปที่ศาลฎีกา

8 พฤษภาคม 2556

ศาลฎีกากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยให้เหตุผลว่า

คดีตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้ระบุว่าพระมหากษัตริย์จะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยังคงครองราชย์อยู่ในขณะทำความผิดหรือไม่

ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ระบุว่าพระมหากษัตริย์ที่ถูกกระทำจะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยังคงครองราชย์อยู่

แต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าบทบัญญัตินี้อยู่ในลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร แสดงให้เห็นว่าแม้การกระทำความผิดจะกระทบต่อพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว แต่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

เนื่องจากประเทศไทยมีความยึดโยงกับพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สร้าง จากการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนปกครองโดยประชาชน เพื่อประชาชนก็ตาม

แต่สถานะของพระมหากษัตริย์ยังคงได้รับความเคารพสักการะ ให้เป็นประมุขของประเทศ ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชต้นราชวงศ์มากระทั่งรัชกาลปัจจุบัน

ประชาชนจึงผูกพันกับพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นที่เคารพสักการะ ดังนั้นการหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่ และยังเป็นการกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนอันจะนำไปสู่ความไม่พอใจและอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้จึงฟังขึ้น

ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษแก่จำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว แสดงให้เห็นว่าจำเลยรู้สำนึกในการกระทำ จึงมีเหตุที่ให้รอการลงโทษเพื่อให้จำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีต่อไป ฎีกาข้อนี้ของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น และให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ที่มา นิติราษฎร์
...

ความเห็น....

คดีเรื่องนี้มีความสำคัญในทางวิชาการนะครับ นี่คือคำตัดสินอันเป็นที่สุดที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่า อย่าไปเรียนวิชา"ประวัติศาสตร์ไทย"เสียเลยจะดีกว่า เพราะ ม.112 อาจมีผู้นำเข้ามาพัวพันกล่าวหาผู้ศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ไทย ที่เกือบทั้งหมด คือเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตกษัตริย์ในราชวงศ์ต่างๆ