โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ
ที่มา มติชนออนไลน์
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเดินสายกินข้าวบ้าง กินกาแฟบ้างกับผู้หลักผู้ใหญ่อยู่สองสามท่าน
เรื่องพูดคุยหลากหลายไปตามความเกี่ยวข้องของแต่ละท่านแต่ที่ทำให้รู้สึกว่าไม่น่าจะชอบมาพากลสักเท่าไรแล้ว มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ทุกคนเสนอปัญหามาเหมือนกันและมุมเดียวกัน
เรื่องที่ว่าคือ ข้าราชการระดับผู้นำหน่วยที่ได้รับแต่งตั้งไปเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่มีเวลาที่จะทำงานที่เป็นภาระรับผิดชอบของตัวเองโดยตรง ทำให้งานราชการมีปัญหา โดยเฉพาะในหน่วยงานที่จะต้องใกล้ชิดกับปัญหา
สาเหตุเนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติกำหนดให้มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติสัปดาห์ละ 2 วัน คือวันพฤหัสบดีและวันศุกร์
ที่ต้องระวังกันตัวเกร็งคือจะต้องร่วมโหวตไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ในแต่ละวัน
ง่ายๆ คือหากในวันนั้นมีการโหวต 10 ครั้งไม่ว่าจะโหวตเรื่องอะไรก็ตาม จะขาดโหวตเกินกว่า 3 ครั้งไม่ได้
คำสั่งของ "คสช." คือจะถูกปลดจากสถานภาพ สนช.
แม้ตำแหน่ง สนช.จะเงินเดือนค่อนข้างสูง มีบางคนเสียดาย แต่ข้าราชการระดับผู้นำองค์กรส่วนใหญ่ไม่วิตกในเรื่องรายได้ส่วนนี้ ที่พวกเขาเป็นกังวลคือ "จะถูกปลดจาก สนช." โดยเฉพาะเป็น "คนแรกๆ"
การถูกปลดเพราะไม่เข้าร่วมประชุมแม้ไม่มีผลอะไรมากนักกับผลงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพราะกฎหมายที่ควรผ่านก็ผ่านอยู่ดี และการเข้าร่วมประชุมก็ไม่มีความหมายอะไรมากนัก เพราะเอาเข้าจริงแค่ไปแสดงตัวว่าอยู่ในที่ประชุม และยกมือโหวตเท่านั้น
การแสดงความคิดความเห็นต่อเรื่องที่จะต้องโหวตไม่มี และไม่จำเป็นอยู่แล้ว ด้วยส่วนใหญ่โหวตไปตามโพย ส่งซิกให้โหวตอย่างไรก็โหวตอย่างนั้น ไม่ต้องใช้ความรู้ความคิดอะไร
มาประชุมหรือไม่ ไม่มีความหมายอะไรเพิ่มเติม ไม่ต้องมีส่วนจะต้องใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะด้านอะไรไปช่วยเสริม
แต่ต้องมาและต้องโหวต เพราะหากถูกปลดจากการเป็น สนช.ผลกระทบสูงยิ่ง
จะต้องถูกตีตรา ชี้หน้าว่าเป็นผู้ไม่รับผิดชอบต่อการทำหน้าที่ กินเงินเดือนโดยไม่ทำงาน
ผลที่จะตามมาหนักกว่านั้นคือตำแหน่งราชการจะกระทบกระเทือน จะให้ผู้มีภาพขาดความรับผิดชอบมาเป็นผู้นำหน่วยได้อย่างไร
คสช.จะต้องถูกกดดันให้พิจารณาเปลี่ยนคน
ผลที่ตามมาเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่จะละเลยการทำหน้าที่สนช.ที่ไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถอะไร
นี่คือสภาพที่ผู้หลักผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่ากำลังเกิดขึ้น
ข้าราชการไม่มีเวลาจะมาใส่ใจงานในหน้าที่ปัญหาที่จะตามมานั้นยุ่งเหยิงพอสมควร
การสั่งการไม่เป็นไปอย่างทันท่วงทีและเหมาะสม ไม่มีเวลาคิดนโยบายหรือแผนงานใหม่ๆ ที่จะมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงในปัจจัยต่างๆ
หากลองเทียบกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
รัฐบาลทำหน้าที่คิดนโยบายบริหารประเทศวางแผน ติดตามงาน
รัฐสภาทำหน้าที่ออกกฎหมาย
มีข้าราชการเป็นฝ่ายปฏิบัติการ
ประเทศในโครงสร้างการบริหารแบบประชาธิปไตยแบ่งงานกันทำอย่างเป็นระบบสะท้อนศักยภาพที่จะกำหนดนโยบายและแผนงานที่เหมาะสม กลไกปฏิบัติชัดเจนทำงานต่างฝ่ายต่างทำในกรอบความรับผิดชอบได้เต็มที่ เต็มเวลา
แต่สำหรับรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ การวางคนเข้าโครงสร้างการบริหารจำเป็นต้องคำนึงถึงความไว้วางใจค่อนข้างสูง
การทำหน้าที่ต้องอยู่ในกรอบ"พรรคพวกตัวเอง" เพื่อป้องกันถูกแทรกแซงจากคนที่ไม่หวังดีกับกลุ่มของตัวเอง
คนๆ หนึ่งจึงต้องทำในทุกหน้าที่ ทั้งเป็นผู้กำหนดนโยบายและแผนงาน ออกกฎหมาย ควบคุมการปฏิบัติ
เนื่องจากคนๆ หนึ่ง ย่อมมีเวลาวันละ 24 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 7 วันเท่ากัน
งานล้นมือ ท่วมหัว และคำสั่งที่กลายเป็นให้ต้องใช้เวลากับงานที่ไม่ใช่หน้าที่หลัก
การทำไม่ทัน หรือไม่ทำในสิ่งที่จะต้องทำจึงเกิดขึ้น
ที่ตามมาเป็นปัญหาสะสม ความเดือดร้อนของประชาชนไม่ได้รับการเยียวยาอย่างทันท่วงที การวางแผนเพื่อแก้ปัญหาในอนาคตเกิดขึ้นไม่ได้
เพราะคนปฏิบัติมีชีวิตยุ่งเหยิงกับงานที่ไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถแต่หากปฏิเสธจะได้เผชิญชะตากรรมที่ไม่พึงปรารถนา
ผู้หลักผู้ใหญ่เป็นห่วงว่า หากประเทศตกอยู่ในภาวะเช่นนี้ไปยาวนานเท่าไร
ดินจะพอกหางหมูมากเท่านั้น
ประชาชนจะอยู่ในความเดือดร้อนที่พอกพูนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ