วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 23, 2557

พ่อตัวอย่าง...


"วันนี้ผมก็จะไปตามคำสั่งของทหาร และจะไปฟังว่าเขาจะบอกว่าอย่างไร ส่วนเรื่องของลูกชายก็ปล่อยเป็นเรื่องของเขา เพราะเขาบรรลุนิติภาวะแล้ว เขาจะทำอะไรก็เป็นสิทธิ์ของเขา เราไปกำกับเขาทุกเรื่องไม่ได้แต่จะมาบังคับให้ผมเซ็นเอกสารเพื่อให้ยินยอมว่าจะห้ามปราม กดดันหรือห้ามไม่ให้ลูกทำในสิ่งที่เขาอยากจะแสดงออก ผมคงไม่เซ็นแน่นอน"

นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา
20 พฤศจิกายน 2557
บิดาของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หนึ่งใน 5 นักศึกษากลุ่มดาวดิน

ที่มา:http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/politics/20141120/618599/พ่อ'นศ.ดาวดิน'ยอมไปพบทหาร.html

Voices of Siam


ที่มา คมชัดลึกออนไลน์
สุมาลี สุวรรณกร รายงาน

ภาพข่าวนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในนามกลุ่มดาวดิน 5 คน ชู 3 นิ้ว พร้อมใส่เสื้อ "ไม่เอารัฐประหาร" ออกไปยืนต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มาเยือน จ.ขอนแก่น ครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา คงทำให้บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองที่ดูอยู่ทางบ้านเอามือทาบอก เพราะคิดไม่ถึงว่า "เด็กที่ไหนจะบ้าบิ่นได้ขนาดนี้"

เมื่อพวกเขาทั้ง 5 คนตัดสินใจทำไปแล้ว พร้อมกับยืดอกยอมรับกับผลของสิ่งที่ตามมา โดยเฉพาะการท้าทายกฎอัยการศึกที่ยังประกาศใช้อยู่ คนเป็นพ่อแม่คงต้องคิดหนักสักหน่อย

แถมหลังจากถูกคุมตัวเข้าค่ายทหารเพื่อปรับทัศนคติและให้เซ็นเอกสารยินยอมจะไม่เคลื่อนไหวและหากเคลื่อนไหวจะต้องถูกดำเนินคดี แต่เด็กทั้ง 5 คนเลือกที่จะไม่ยอมเซ็นเอกสาร ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเรียกพ่อแม่เข้ามาหารือเพื่อกดดันอีกทาง

วิบูลย์ บุญภัทรรักษา วัย 57 ปี อาชีพทนายความ พ่อของ 1 ใน 5 นักศึกษาดาวดินคือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น ที่ทุกข์ใจไม่น้อยกับสิ่งที่ลูกทำไป เพราะส่วนตัวมีปัญหาสุขภาพ ป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ระยะ 3 และต้องเข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ในวันที่ลูกชายไปปฏิบัติการสายฟ้าแลบท้าทายอำนาจรัฐแบบนั้น

ทั้งนี้ "วิบูลย์" ต้องไปพบเจ้าหน้าที่ทหารตามคำสั่ง เพื่อรับทราบข้อมูล และดูท่าทีว่า "ลูกชายและเพื่อนจะถูกดำเนินการอย่างไร"

"เรื่องที่เกิดขึ้น หากมองในมุมของการเคลื่อนไหวเพื่อสังคม สิ่งที่พวกทำมันเป็นการแสดงออกตามสิทธิที่มี เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ทั่วไปทำกัน เราไม่ได้มองในเชิงอำนาจ การต้านรัฐประหารไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นที่เขานำเสนอคือการจำกัดสิทธิ์ ชาวบ้านเคลื่อนไหวเรียกร้องอะไรไม่ได้ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม พลังงาน ทหารเข้าไปกำกับไปหมด ทำให้อึดอัด" นั่นคือสิ่งที่เขาบอก หลังจากเดินหน้า พร้อมเข้าพบทหารพร้อมลูกชายตามความต้องการ เพราะเขาเองก็เป็นนักสู้ยุคคนตุลาเหมือนกัน

"วันนี้ผมก็จะไปตามคำสั่งของทหาร และจะไปฟังว่าจะบอกว่าอย่างไร ส่วนเรื่องของลูกชายคงปล่อยเป็นเรื่องของลูก เพราะบรรลุนิติภาวะแล้ว จะทำอะไรก็เป็นสิทธิ์ของเขา เราไปกำกับไม่ได้ แต่จะมาให้ผมเซ็นเอกสารเพื่อให้ยินยอมห้ามปราม หรือกดดันไม่ให้ลูกชายเคลื่อนไหวสิ่งที่เขาอยากจะแสดงออก ผมคงไม่เซ็นแน่นอน" วิบูลย์บอกก่อนจะเข้าไปพบทหารและรับฟังข้อมูล

หลังจากนั้นอีกหลายชั่วโมง กระบวนการ วิธีการของทหารผ่านไป โดยได้เชิญนักศึกษาทั้ง 5 คน ที่ไปพบให้ไปอยู่อีกห้องหนึ่ง พร้อมกับเชิญผู้ปกครองของเด็กทั้ง 5 คนไปอยู่อีกห้องหนึ่ง เพื่อซักถามที่มาที่ไปในการเคลื่อนไหว ก่อนจะสรุปผล โดยมีนักศึกษา 2 คนที่ยินยอมเซ็นยุติการเคลื่อนไหวทั้งหมดคือ พายุ บุญโสภณ และ เจตน์สถษฎิ์ นามโคตร และอีก 3 คนไม่ยินยอมเซ็นโดย 1 ใน 3 นั้นคือลูกชายของเขา

"ความเป็นพ่อมันชัดเจนอยู่แล้วเพราะเราเห็นข้อเท็จจริง โดยรวมเห็นลูกชายมั่นใจว่าได้แสดงออกอย่างถูกต้อง เราก็ต้องคิดแบบแยกส่วน เพราะสิ่งที่เขาทำเป็นการแสดงออกเพื่อสังคมไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ไม่เช่นนั้นสังคมมันทำอะไรไม่ได้ สมัยผมเป็นนักศึกษาก็มีแบบนี้ และมันยังมีอยู่จนถึงสมัยนี้ มันไม่แปลก ส่วนการลบชื่อออกจากบัญชีนักศึกษาก็มีมาตั้งแต่สมัยผมเรียนแล้ว อยากลบก็ลบไป เพราะมีกระบวนการอีกเยอะ ไม่ใช่จะลบได้วันนี้พรุ่งนี้" วิบูลย์อธิบายถึงสิ่งที่ลูกเขาทำ และไม่ยอมเซ็นยินยอม ซึ่งเขาเองก็บังคับลูกชายไม่ได้

"ผมไม่เอาความเป็นพ่อมาจับ เพราะมันจะทำร้ายเด็ก ทำลายความคิด สิ่งที่เขาทำทุกคนเคารพความคิดกัน เราไม่ได้บอกว่าใครถูก ใครผิด เรื่องทั้งหมดอยู่ที่ประเด็นเนื้อหา สิ่งที่เด็กทำเป็นเรื่องสร้างสรรค์สังคม แต่ผู้ใหญ่ตัดสินว่าผิดมันก็จะเสียไปหมด และหากพ่อแม่ไปบังคับให้เด็กเซ็นเพื่อรับผิด เด็กจะรู้สึกอย่างไรในทางจิตใจ ถ้าเรียนหนังสือจบแล้วจะไปทำอะไรให้สังคมได้ ผู้ใหญ่ยัดเยียดความผิดให้เขา มันไม่ถูกต้อง"

วิบูลย์ยืนยันในการกระทำของลูกชายว่า เป็นอิสระทางความคิด เพราะที่ผ่านมาก็เป็นทนายความที่ต่อสู้เพื่อคนจน และรับว่าความให้คนจนโดยไม่คิดเงิน โดยเฉพาะคดีชาวบ้านเหมืองทองคำ จ.เลย ถูกบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องร้องเรียกเงินคนละเกือบ 100 ล้านบาท

"ผู้ใหญ่มักจะบอกว่าเปิดโอกาสให้เด็กเรียนให้จบก่อน แต่ถ้าเรียนจบแล้วใบปริญญาไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร วันนี้โล่งอกมาเปลาะหนึ่งที่ลูกชายไม่ถูกคุมขัง แต่จะต้องพูดคุยให้ระมัดระวัง อย่าใจร้อน ไม่ใช่ว่าเป็นวัยรุ่น เป็นนักศึกษาแล้วจะทำได้ทุกอย่าง" วิบูลย์ทิ้งท้ายภายหลังเขาและลูกเดินออกมาพ้นรั้วขอบเขตของทหารแล้ว

ขณะที่ลูกชายอย่าง "ไผ่" จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา 1 ใน 3 นักศึกษาที่ไม่ยอมเซ็นรับผิด เปิดใจในสิ่งที่เขากระทำว่า

"เจตนารมณ์ในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับการเมือง ไม่เกี่ยวกับสีเสื้อ ทุกวันนี้การเคลื่อนไหวของพวกผม ก้าวข้ามความเป็นสีเสื้อไปแล้ว ไม่ได้เคลื่อนไหวเพราะใครบงการ แต่เคลื่อนไหวตามสิ่งที่เราคิด เราเรียนมา อย่ามาโยงพวกผมเกี่ยวกับการเมือง เพราะที่ผ่านมาเราเคลื่อนไหวเพื่อช่วยคนจน และต่อสู้กับการลิดรอนสิทธิของชาวบ้าน ของชุมชนในการได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ไม่เคยเข้าไปอยู่กับพรรคการเมืองหรือเสื้อสีไหนทั้งนั้น และแม้ว่าจะมีทนายความที่บอกว่าเป็นทนายความของขอนแก่นโมเดลของคนเสื้อแดงมาช่วยพวกผม ก็อยากจะบอกว่าไม่รู้จักกัน เขามาเอง เราไม่ได้เชิญเขามา" ไผ่ยืนยัน

"วันนี้ผมและเพื่อนไม่ยอมเซ็นเอกสารยินยอมรับความผิด แต่พอไม่ได้เซ็นทหารไม่ได้คุมขังอะไร และยอมปล่อยตัวเราออกมา สาเหตุที่ผมไม่เซ็นเพื่อแสดงให้เห็นว่า เราสู้ในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ท้าทาย แต่สิ่งหนึ่งที่ควรระวังคืออย่าตกเป็นเหยื่อของการเมือง เพราะนักศึกษาพลังบริสุทธิ์ไม่ควรรับใช้การเมือง"

สำหรับนักศึกษาทั้ง 5 คนนั้น จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษาปี 4 พ่อเป็นทนายความช่วยเหลือคนด้อยโอกาสมาตลอดชีวิต โดยเลือกเรียนนิติศาสตร์ เพราะอยากช่วยเหลือคนจนเหมือนพ่อ

พายุ บุญโสภณ นักศึกษาปี 2 อยู่กับตายาย วันที่ทหารเรียกผู้ปกครองมาพบ ตายายเป็นตัวแทนมาพบทหาร ทำให้พายุยอมเซ็นเอกสาร

วิชชากร อนุชน นักศึกษาปี 4 พ่อรับราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เจตน์สถษฎิ์ นามโคตร นักศึกษาปี 2 พ่อแม่เป็นครู โดยพ่อแม่ขอร้องให้ยอมเซ็นรับความผิด

วสันต์ เสกสิทธิ์ นักศึกษาปี 4 พ่อแม่เป็นทำงานรับจ้าง

เด็กนักศึกษาทั้ง 5 คน ได้รับรางวัลเยาวชนต้นแบบในนามของกลุ่มดาวดินจากรายการคนค้นฅน