วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 09, 2557

“ในยามแห่งอาวุธ ตรวจสอบอย่างไรก็ไม่พบความผิดปกติครับ”


ป.ป.ช. แจง ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน "ประยุทธ์" ไม่พบสิ่งผิดปกติ


วันที่ 7 พ.ย. รายงานว่า นายปานเทพ กล้านรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยถึงการตรวจสอบการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่าเจ้าหน้าที่ของสำนักตรวจสอบทรัพย์ภาคการเมืองได้รายงานการตรวจสอบให้ทราบแล้วพบว่าทรัพย์สินของนายกฯที่ยื่นมาได้ตรวจสอบแล้วถึงความถูกต้องและความมีอยู่จริงไม่พบว่ามีสิ่งผิดปกติซึ่งทางป.ป.ช.จะได้เก็บไว้เปรียบเทียบกับตอนยื่นแสดงรายการทรัพย์ของนายกฯในครั้งต่อไป
...

ความเห็นจากเวป...

ตรวจสอบอย่างไรก็ไม่พบความผิดปกติครับ
ปัญหาไม่ใช่ว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่
แต่ปัญหาคือห้ามพบสิ่งผิดปกติ ตางหาก
ไม่อย่างนั้นก็จะพังกันไปหมด

แต่คนสอบความผิดปกติจะพังหรือไม่ อันนั้นก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
.....................

ป.ป.ช. แจง ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน "ประยุทธ์" ไม่พบสิ่งผิดปกติ
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1415354350

พบก้อแปลกแล้ว

โคตรทุเรศเลย..คนดีศรีสยาม

ห้ามพบสิ่งผิดปกติ!!! 555

ประธานกรรมการปปช.แจงให้เสร็จสรรพแบบรวดเร็วทันใจจริงๆ

ปปช มีหน้าที่ออกใบเพดดีกรีแล้วเหรอ
ooo

“ในยามแห่งอาวุธ กฎหมายทรุดเงียบเสียงลง”


คำกล่าวของ ซิเซโร่ นักกฎหมายชาวโรมันโบราณ เป็นวลีที่มักถูกอ้างถึงเมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นไม่ว่าในประเทศใด

แต่ใช่ว่าจะมีเฉพาะกฎหมายเท่านั้น … “เสรีภาพของสื่อ” ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้อง “หรี่เสียงลง” เมื่อคนถืออาวุธก้าวขึ้นมากุมอำนาจในบ้านเมือง

แทบทุกครั้งที่เกิดการยึดอำนาจขึ้นในประเทศไทย “สื่อมวลชน” มักเป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกปิดปากจาก “ประกาศ-คำสั่ง” ที่ออกโดยรัฏฐาธิปัตย์

เพราะการ “ควบคุมข้อมูลข่าวสาร” เป็นปัจจัยสำคัญในการ “ควบคุมบ้านเมือง” ที่อยู่ในภาวะไม่ปกติ หลังการเข้ามาเว้นวรรคระบอบประชาธิปไตยของคณะนายทหาร

สำคัญไปกว่านั้น ก็คือ “ประกาศ-คำสั่ง” ปิดปากสื่อ ยังมีผลบังคับใช้ไปอีกหลายปี แม้ “คณะรัฐประหาร” จะสิ้นอำนาจไปแล้ว

เป็น “มรดกรัฐประหาร” ที่ต้องใช้เวลานับทศวรรษ กว่าจะแก้ไขจนทำให้ประชาชนกลับมามี “เสรีภาพในการรับรู้ข่าวสาร” อีกครั้ง ผ่านการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนดังที่ควรจะเป็น

ที่ผ่านมา มีมรดกรัฐประหาร อย่างน้อย 2 ฉบับ ที่สร้างความเจ็บช้ำ สร้างรอยแผลเป็นให้กับวงการสื่อไทย

เริ่มจาก “ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 17” หรือ ปว.17 ที่ออกมาในปี 2501

แม้ประกาศที่ออกในสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติฉบับนี้ จะมีเนื้อหาสั้น ๆ เพียง 4 ข้อ

แต่ความสั้นของเนื้อหาประกาศกลับยิ่งเป็น “อันตราย” เพราะเปิดโอกาสให้ทางการใช้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ “ดุลยพินิจ” ในการเซ็นเซอร์สื่อ โดยอ้างเหตุว่า เพื่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่

โดยเขียนกฎเหล็กไว้ 8 ข้อ อาทิ ห้ามวิพากษ์วิจารณ์การเมือง เพราะจะทำให้ชาวต่างชาติเสื่อมความเคารพเชื่อถือในรัฐบาลไทย ห้ามเสนอข่าวที่อาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ฯลฯ

แถมยังมีบทลงโทษค่อนข้างรุนแรง ตั้งแต่ยึดหนังสือพิมพ์ ยึดแท่นพิมพ์ ไปจนถึงเพิกถอนใบอนุญาต!

เมื่อ “ปว.17” ถูกบังคับใช้ มีหนังสือพิมพ์หลายฉบับถูกปิด สร้างบรรยากาศความหวาดกลัวให้กับคนในวงการสื่ออยู่ถึง 16 ปี กว่าจะถูกยกเลิก ในปี 2517 เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาล สัญญา ธรรมศักดิ์ ออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิก

ทว่า เสรีภาพสื่อไทยก็เบ่งบานอยู่ได้เพียง 3 ปีเศษ ก็ต้องกลับไปเงียบเสียงลงอีกครั้ง เมื่อ พล.ร.อ.สงัด ชะลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปปกครองแผ่นดิน เข้ายึดอำนาจและออกกฎหมายปิดปากสื่อที่มีเนื้อหารุนแรงกว่า ปว.17 โดยการนำ ปว.17 มาปัดฝุ่น และเพิ่มเติมเนื้อหาอีกหลายประการ

กลายเป็น “คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42” หรือ ปร.42 ที่ออกมาในปี 2519

ซึ่งไม่เพียง 8 กฎเหล็กของ “ปว.17” จะถูกยกมาไว้ใน “ปร.42” ยังมีการให้อำนาจเจ้าพนักงานการพิมพ์ในการปิดหนังสือพิมพ์

พร้อมกำหนดโทษอาญากับผู้ฝ่าฝืน ให้รวมถึงการจำคุก ตั้งแต่ 6 เดือน-3 ปี หรือปรับ 5,000-50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร ใช้อำนาจ ปร.42 ถึง 22 ครั้ง หนังสือพิมพ์ชื่อดังหลายฉบับถูกอิทธิฤทธิ์ของ ปร.42 เล่นงานทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น “นสพ.มติชน” ถูกตำรวจเข้าตรวจค้น “นสพ.บ้านเมือง” ถูกสั่งปิดเป็นเวลา 5 วัน เจ้าของ “นสพ.ไทยรัฐ” ถูกเพิกถอนไปอนุญาต ฯลฯ

ส่งผลให้หนังสือพิมพ์ต้องเปลี่ยนท่าทีจากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หันไปเสนอข่าวอาชญากรรม เรื่องกามารมณ์ และนวนิยายแทน

กระทั่งยุคประชาธิปไตยครึ่งใบผ่านพ้นไป ผู้ประกอบวิชาชีพข่าวทั่วประเทศก็รวมตัวกันเคลื่อนไหวในนาม “สมัชชานักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” เรียกร้องให้ยกเลิก ปร.42 จนมีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ยกเลิกในปี 2533 สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ปลดโซ่ตรวนเผด็จการที่พันธนาการสื่อมา 14 ปีเต็ม สำเร็จ

เฉพาะ “ปว.17” และ “ปร.42” ที่ผู้นำรัฐประหารเพียงคนเดียวเซ็นออกมาบังคับใช้ก็ต้องใช้เวลาถึง 16 ปี และ 14 ปี ตามลำดับในการยกเลิก

ที่สำคัญการจะยกเลิกต้องออกเป็นกฎหมายระดับ พ.ร.บ. หรืออย่างน้อย พ.ร.ก. ขึ้นไป
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2 ฉบับหลังสุด ทั้งฉบับปี พ.ศ.2540 และปี พ.ศ.2550 ถึงต้องการให้รับรองสิทธิและเสรีภาพในการนำเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนไว้อย่างชัดเจน

แต่เมื่อ “กระบอกปืน” ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการ “ยึดอำนาจ” อีกครั้ง

“กฎหมายสูงสุดของประเทศ” ที่รับรองสิทธิ-เสรีสื่อ ถูกฉีก

“ประกาศ-คำสั่ง” หลายฉบับ ถูกประกาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ

ในยามแห่งอาวุธ… เสรีภาพสื่อก็ต้องทรุดเงียบลงอีกครั้ง