ภาพประกอบจากบทความของ เดวิด ไอเมอร์ |
คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันพุธที่
๑๑ พฤศจิกายน ห้ามนำหนังสือภาษาอังกฤษเล่มหนึ่งเข้าประเทศไทย
ใครฝ่าฝืนมีความผิดจำคุก ๓ ปี และ/หรือปรับ ๖ หมื่นบาท ทำให้ ‘A Kingdom in
Crisis’ หนังสือประเภท Non-fiction เกี่ยวกับประวัติศาสตร์
และการเมืองไทย ขนาดยาวเล่มล่าสุด ซึ่งเขียนโดย Andrew McGregor Marshall อดีตผู้สื่อข่าวรอยเตอร์เชื้อสก็อต กำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างมากมายทั่วโลกทั้งในแวดวงชนเชื้อสายไทย
และผู้ใส่ใจศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทย
ด้วยเหตุนี้ บนพื้นฐานของการอำนวยข่าวสารและข้อมูลความรู้ตามหลักสื่อมวลชนสากล
ไทยอีนิวส์จึงนำเสนอตัวตนแห่งหนังสือฉบับนี้ผ่านทางการวิจารณ์อย่างเป็นระบบของนักวิจารณ์บางท่าน
เพื่อสะท้อนต่อวัฒนธรรมในการขวนขวายหาความรู้จริงที่นานาอารยชนทั่วโลกปฏิบัติดั่งกิจวัตรแห่งชีวิต
บทวิจารณ์หนังสือ
‘ราชอาณาจักรในวิกฤติ’
สองชิ้นที่ทางการตำรวจไทยใช้อ้างในการออกคำสั่งห้ามหนังสือดังกล่าวเข้าสู่ประเทศด้วยข้อหา
“หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท
หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” นั้นกล่าวถึง ‘A Kingdom in Crisis’ ไว้อย่างสังเขปว่า
“เนื้อหาในหนังสือของนายมาร์แชล
ซึ่งเขียนในสไตล์ไม่ยุ่งเหยิง แจ่มแจ้ง เจิดจ้าดั่งจุดพลุ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคิดถึงว่าประเทศไทยมีกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ร้ายแรงที่สุดในโลก
แค่พูดหรือเขียนถึงพระเจ้าอยู่หัว พระราชินี หรือองค์รัชทายาท ไม่ต้องถึงกับวิพากษ์วิจารณ์บทบาทหรือการบงการทางการเมืองและสังคมของพระองค์หรอก
ก็มีผลให้ต้องโทษจำคุกได้แล้ว”
นั่นเป็นส่วนย่อยท่ามกลางข้อเท็จจริงหลากหลายที่นายเดวิด
ไอเมอร์นำมาอ้างอิงในบทวิจารณ์ของเขาบนหน้าหนังสือพิมพ์ South China Morning Post เรื่อง 'Book depicts Thai monarch as pawn of country's elite.' ซึ่งปิดท้ายว่า
“มันเป็นหนังสือที่อาจหาญเสียด้วย....นายมาร์แชลส่องไฟจ้าเข้าใส่บทบาททางการเมืองของราชวงศ์ในประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษละเว้นจากการถูกกล่าวโทษมาช้านาน
และนั่นเป็นความสำเร็จอย่างหาใดเทียบ”
ฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากภาพประกอบบทความเรื่อง Game of Thrones |
การที่คำสั่งของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อ้างตัวอย่างบทความทั้งสองเพื่อแบนหนังสือของนายมาร์แชล
ทำให้ชุมชนคนรอบรู้ (Literary) ทั่วโลกแทบจะเห็นเป็นเรื่องเขลา และตลกร้าย เนื่องจากข้อกล่าวหาไม่เพียงขัดต่อจิตสำนึกแห่งสิทธิมนุษยชนแล้ว
การเอาผิดต่อผู้เปิดเผย รับรู้ และขบคิดข้อมูลความจริงอันถูกปกปิด
หรือจำบังไว้เพื่อการเอารัดเอาเปรียบ ก็คือพฤติกรรมอันเป็นปรปักษ์ต่อความเจริญของโลก
ภาพประกอบในบทวิจารณ์ของ แอนดรูว์ บันค้มบ์ |
มิหนำซ้ำข้อมูลอันปรากฏในหนังสือ ‘ราชอาณาจักรในวิกฤติ’ ที่ถูกนักวิจารณ์นำมาตีแผ่นั้น
เป็นที่รับรู้กันในแวดวงคนอ่านออกเขียนได้ทั่วโลก จึงได้มีนักวิชาการเขียนถึงปัญหาในประเทศไทยไว้ในทำนองเดียวกันอีกหลายราย
ไม่ว่าจะเป็นข้อเขียนของ Chico Harlan ในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ เรื่อง 'Behind Thailand's Coup is a Fight Over the
King and his Successor' หรือบทความชื่อ
'Game of Thrones' ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือออนไลน์ Southeast Asia Globe ก็ตาม
หากแต่บทวิจารณ์หนังสือของแอนดรูว์สองชิ้นซึ่งตีพิมพ์บนเว็บวิชาการ New
Mandala ชิ้นหนึ่งโดย Patrick Jory ซึ่งเขียนงานวิจัยอีกโสตหนึ่งในเรื่องคล้ายคลึงกันชื่อว่า 'Thailand has entered the interregnum.'กับอีกชิ้นหนึ่งโดย Lee Jones อันแสดงความเห็นต่างไปจากนายจอรี่ แต่ล้วนจัดว่าเป็นการชำแหละเนื้อความในหนังสือ ‘A Kingdom in Crisis’ ได้อย่างพร้อมมูล พอที่จะใช้เป็นตัวอย่างสำหรับทำความรู้จักคุ้นเคยกับหนังสือเล่มนี้อย่างรวบรัดที่สุดได้
ไทยอีนิวส์ขอนำบางส่วนในบทวิจารณ์ของนายลี โจนส์
อาจารย์อาวุโส ผู้บรรยายของมหาวิทยาลัยควีนแมรี่ กรุงลอนดอน มาเสนอไว้ในที่นี้
เพื่อที่ผู้อ่านได้รอบรู้กับสิ่งอันอารยชนนานาชาติรับรู้ ว่าคืออาหารทางปัญญาในชื่อสามัญว่า
‘หนังสือ’ ฉบับหนึ่ง
ที่ทางการตำรวจไทยจำกัดและกีดกัน ด้วยคำสั่งห้ามเข้าประเทศไทย
แอนดรูว์ แม็คเกรเกอร์ มาร์แชล กับหนังสือเล่มใหม่ของเขา |
หนังสือ ‘ราชอาณาจักรในวิกฤติ’ นี้เป็นที่คาดหมายว่าจะเป็นคำประกาศชัดแจ้งแห่งทฤษฎีของแอนดรูว์ที่ว่า
ความขัดแย้งภายในราชวงศ์ซึ่งไม่มีการกล่าวถึงกันในเรื่องสืบราชสันตติวงศ์
เป็นหัวใจสำคัญของวิกฤติการเมืองยุคที่ ๒๑ ของประเทศไทย (หน้า ๓) อย่างไรก็ดี
แม้จะมีคุณูปการมากมายในหนังสือเล่มนี้
ก็ยังไม่อาจกำชับให้หลักการดังกล่าวหนักแน่นได้
หนังสือ A Kingdom in Crisis เป็นวิภาษวิธีที่กลั่นกล้าไม่ผ่อนปรน
ต่อวิกฤติไม่หยุดหย่อนของการเมืองไทย โดยเน้นจะจะลงไปที่สถาบันกษัตริย์
มากกว่าสถานะของสถาบันอันเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่มวลรวมของประชาคมและเศรษฐกิจการเมืองไทย...
...ที่ขาดหล่นไป
ดังเช่น การคำนึงโดยตั้งใจถึงความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐการสังคมภายใต้การพัฒนาอย่างเร่งรัดของลัทธิทุนนิยม
การปรับเปลี่ยนนี้ได้รื้อถอนแนวทางกำหนดเป้าหมายและความมุ่งมาดปรารถนาในชีวิตของชนชั้นล่างประเทศไทยไปอย่างหักหาญ
แล้วก่อกำเนิดกลุ่มชนชั้นนำรุ่นใหม่ในภาคส่วนเศรษฐกิจชุดใหม่ อาทิ ในด้านโทรคมนาคม
อันเป็นต้นตอตัวตนของทักษิณ ชินวัตรเอง...
ข้อโต้แย้งเช่นนี้ขยายออกเป็นสามขั้นตอน
แรกทีเดียวในการปูพื้นฐานทางประวัติศาสตร์จงใจชักนำผู้อ่านให้เชื่อว่าความขัดแย้งในกระบวนการสืบราชสันตติวงศ์
อันเป็นผลจากการแก่งแย่งชิงดีกันในหมู่อำมาตย์ เป็นเรื่องปกติธรรมดาในประวัติศาสตร์ไทย
(บทที่ ๗ และ ๘) สถาบันกษัตริย์ไทยยุคใหม่ไม่ได้ถูกมองว่าทรงอำนาจอิทธิพลด้วยตัวเอง
หากแต่ประดุจดังสัญญลักษณ์แห่งประมุขที่ถูกจัดตั้งและเชิดหนังโดยฝักฝ่ายของอำมาตย์ผู้มีอำนาจแท้จริง
นี่เป็นข้อโต้แย้งที่เสนอแนะและยืนยันอย่างแข็งขันไว้แล้วโดย จายล์ ใจ
อึ๊งภากรณ์...
ประเด็นสำคัญพื้นฐานต่อการพิจารณาในที่นี้
อยู่ที่การให้อัตถาธิบายโดยมูลแห่งประวัติศาสตร์ไทยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา
ว่าความกังวลล้ำหน้าเรื่องการเปลี่ยนผ่านรัชกาลนั้นถูกกระตุ้นโดยการขึ้นสู่อำนาจของทักษิณ
(หน้า ๑๕๕) ละหรือ...
ภาพประกอบบทความในวอชิงตันโพสต์ ที่ให้คำบรรยายว่า " |
...หรือว่าความวิตกของพวกเสื้อเหลืองอยู่ที่ความสามารถในการรวมพลังมวลชนเข้าสู่ระบบการเมืองโดยทักษิณ
กับการที่เขาผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่ ในประเด็นหลังนี้
ความเป็นไปได้ที่พระเจ้าอยู่หัวจะไม่ทรงดำรงอยู่ตลอดกาล มิใช่ปัญหาที่พวกอำมาตย์โบราณหวั่นไหวในส่วนตน
ว่าจะต้องรับผลกรรมหนักหนาจากบุคคลิกความเด็ดขาดในส่วนพระองค์ของเจ้าฟ้าชายวชิราลงกรณ์
หากแต่เป็นห่วงว่าการที่ทักษิณเข้าครอบงำทุกภาคส่วนทางการเมืองมากยิ่งขึ้น
พวกเขากลัวจะสูญเสียอิทธิพลในการกำกับสถาบันอันสำคัญยิ่งยวดโดยตรง ที่พวกตนชักใยเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ติดต่อกันมาเนิ่นนานไป...