ภาพนางสาวณาตยา จาก : www.thaipbs.or.th |
วันอาทิตย์ ที่ 23 พฤศจิกายน 2557
"ณาตยา" เผยกลางวงเสวนาถอดบทเรียนเวทีสาธารณะ พ้อความปลอดภัยมีหรือไม่หลังถูกนายพัน ส. กดดัน รับกลัวถูกเชิญ "กินไอติม" จึงต้องขอถอนตัวจากการเป็นพิธีกร-เครือข่ายภาคปชช.จี้ไทยพีบีเอสแสดงจุดยืน
จากกรณีมีกระแสข่าวว่านายทหารกลุ่มหนึ่ง นำโดยพันเอกชื่อย่อ "ส." เดินทางมาพบผู้บริหารไทยพีบีเอส ขอให้เปลี่ยนตัวพิธีกรรายการ “เสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฏิรูป” หลังไม่พอใจการทำหน้าที่ของ น.ส.ณาตยา แววีรคุปต์ ในการอัดเทปรายการ “ฟังเสียงคนใต้ก่อนการปฏิรูป” ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และมีการออกอากาศเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2557 ที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา ที่อาคารศูนย์การเรียนรู้ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มีการจัดเวทีเสวนาถอดบทเรียนกรณีดังกล่าว โดยมีนักวิชาการและภาคีเครือข่ายภาคประชาชนด้านต่างๆ จากทั่วทุกภาคของประเทศ,เครือข่ายองค์กรที่ร่วมจัดรายการ อาทิ สถาบันพระปกเกล้า ,ตัวแทนจากองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนจากภาคตะวันออก, ภาคใต้ ภาคเหนือตอนบน, ภาคเหนือตอนล่าง,กลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงตัวแทนจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมรับฟังและเสนอความเห็น
นางสาวณาตยา กล่าวตอนหนึ่งในเวทีเสวนาครั้งนี้ ว่า นับแต่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น มีเรื่องหนึ่งที่ไม่เคยพูดเลย มีแต่ผู้บริหารบางส่วนเท่านั้นที่ทราบ แต่ไม่แน่ใจว่าหากพูดเรื่องนี้ในห้องนี้จะปลอดภัยหรือเปล่า
มีบางอย่างที่พูดไม่ได้ เอาเป็นว่า ยกเลิกกฏอัยการศึกก่อนสิแล้วจะพูดให้ฟัง แต่โดยส่วนตัวคิดว่า ตนซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ที่ต้องเผชิญกับสิ่งที่ประสบมานี้ เป็นลูกผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นลูกชาวบ้านต่างจังหวัดประเมินได้ว่าจะเกิดอะไร ดังนั้น อย่าโทษผู้บริหารเลยที่มีนโยบายต่อกรณีนี้เช่นนี้ แต่ยังคงมีคำถามว่าในเวลานี้ ปลอดภัยดีพอหรือยัง
"สิ่งที่แววประสบมานี้ มันคือการคุกคามระดับไหน สำหรับแววเอง การที่จะขอให้แววไม่เป็นพิธีกร ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะแม้ไม่มีแวว เวทีที่ จ.นครปฐม หรือ จ.พิษณุโลก สามารถทำได้ ความสำเร็จของเราคือแม้ไม่มีไทยพีบีเอส แต่ประชาชนก็ยังทำต่อไปได้ ดังนั้น นี่ไม่ใช่ประเด็น แต่กรณีของแวว ประเด็นของแววคือเราตีความคำว่า “คุกคามผู้ปฏิบัติหน้าที่ว่าอย่างไร” การตัดสินใจในเรื่องนี้ เป็นการตัดสินใจของผู้บริหาร ขณะที่แววเองตัดสินใจเอาตัวเองออกมา ซึ่งในที่ประชุมแววไม่ใช่คนนั่งหัวโต๊ะ แววว่าเรื่องนี้ไม่ปลอดภัยพอที่จะพูดทั้งหมด” นางสาวณาตยาระบุ
และกล่าวว่า แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องยอมรับว่าตั้งแต่เกิดเหตุมา ไทยพีบีเอสทำให้อบอุ่นใจที่สุด ถ้าไม่มีไทยพีบีเอส ก็คงไม่สามารถมั่นใจได้ตอนนี้ แต่ก็ยังมีคำถามว่าสำหรับเหตุการณ์นี้จะทำอย่างไร
“แววจึงจำต้องเสนอเองกับพันเอก ส. ไม่อย่างนั้นเขาจะมารับแววไปกินไอติม แววจึงต้องการ ความชัดเจนในเรื่องนี้” นางสาวณาตยาระบุ
นายจุมพล พูลภัทรชีวิน คณะกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส กล่าวว่าที่อ้างถึงมาตรฐานสากลนั้น เนื่องจากสำนักข่าวต่างประเทศ อาทิ NHK ในองค์กรสื่ออาชีพระดับสากลนั้น จะไม่เสี่ยงเรื่องนี้ เรารับทราบว่าถูกคุกคาม ก็ต้องปกป้องคนของเราไว้ก่อนเสมอและไทยพีบีเอสทำเพื่อปกป้องนางสาวณาตยา ความปลอดภัยของผู้สื่อข่าวถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องปกป้อง
นายจุมพล กล่าวด้วยว่าได้ดูรายการดังกล่าวและในส่วนคำถามของนางสาวณาตยาที่ถามว่า ก็คนในนี้มิใช่หรือที่มีส่วนร่วมในการชุมนุมเรียกร้องนั้น ตนเห็นว่าคำตอบของคุณหมอที่ตอบในรายการชัดเจนมาก เข้าใจว่า คำตอบของคุณหมอนั่นแหละไปสะกิดเขา เพราะคุณหมอบอกว่าเขาไม่ได้อยากให้ทหารมานำประชาชน แต่เขาอยากให้ทหารมาตามประชาชน
"ผมว่านี่แหละทำให้สะเทือนเขา เมื่อผมดูรายการวันนั้นผมก็คุยกับเพื่อนกรรมการนโยบายฯ ว่า รายการดีมากๆ แต่อาจจะมีทหารมาเยี่ยม" นายจุมพลระบุ
และกล่าวว่าโดยส่วนตัว ชื่นชมเสียงประชาชนในตอนนี้เพราะตรงเวลา ตรงสถานการณ์ ตรงประเด็น กระตุ้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ เป็นประชาธิปไตยปฏิบัติของประชาชน เพื่อประชาชน โดยประชาชนอย่างแท้จริง
เพราะการปฏิรูปนั้นต้องเป็นของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ แค่เป็นเรื่องของสภาปฏิรูป ตนให้กำลังใจผู้จัดด้วย แต่ที่พูดกับกรรมการนโยบายฯก็คือ ตนบอกว่าทหารอาจจะออกมา เพราะมันเป็นเสียงประชาชนที่เสียงดังฟังชัด แต่สิ่งที่เขาทำกันอยู่นี้ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงสักเท่าไร
"ผมอยุู่ตรงนี้ผมก็เข้าใจ แต่เราเป็นกรรมการนโยบายฯ เราก็ต้องมีความสุขุม เราเป็นผู้ใหญ่ เราก็คุยกันมากพอว่าเราจะแสดงออกในลักษณะใด เพราองค์กรเราต้องสนับสนุนประชาชน ทำอย่างไรให้ปลอดการแทรกแซง ภาษาสื่อเขาเรียกว่าต้องมีลีลา เราก็ต้องมีลีลาของเราบ้าง ดังนั้น ในวันศุกร์ เราก็ออกแถลงการณ์ที่แม้จะดูเรียบร้อย แต่เราก็ส่งสัญาณออกไปว่าเราพร้อมจะปกป้ององค์กร เราสื่อ่ถึงความเป็นผู้ใหญ่ว่าเราไม่อยากทะเลาะ" นายจุมพลระบุ
ผู้ร่วมเสวนารายหนึ่งกล่าวว่ากรณีของนางสาวนาตยา ทำอย่างไรที่เราจะทำให้เกิดความสมดุล ระหว่างเสรีภาพของสื่อสาธารณะ ขณะเดียวกันก็ทำให้เวทีของเราเดินต่อไปได้ และสำหรับทหารนั้น ประเด็น นายพัน ส. คงไม่สำคัญว่าจะต้องไปพูดคุยอะไร เพราะทหารเขาฟังนายคนเดียว แล้วแพทเทิร์นในวิธีคิดของเขา เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเขาจะคิดอย่างไร วันนี้ เราควรมีใครสักคนเป็นสะพานเชื่อมหรือไม่ เพื่อให้เข้าใจกัน
ด้านตัวแทนเครือข่ายพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยกล่าวว่า ตนไม่กังวลว่านางสาวณาตยาจะพูดอะไร เพราะไม่ว่านางสาวณาตยาจะพูดอะไรก็อาจกลายเป็นประเด็นทั้งสิ้น เนื่องจากมุมมองจากสายทหารไม่เคยเปลี่ยน เช่น กรณีผู้นำแรงงานคนหนึ่ง ถูกยิงเป้าที่สนามหลวงในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ส่วนในสมัย รชส. ผู้นำแรงงานที่เคยมาวิพากษ์กระบวนการทำงานของ รสช. ก็หายตัวไป 23 ปีแล้ว ตนว่าวิธีคิดของทหารเขามีมุมมองของเขา แต่ขณะที่ไทยพีบีเอสเป็นองค์กรนำของประชาชน ถ้าถามว่าแม่เหล็กของรายการนี้ คืออะไร ตนว่าก็คือนางสาวณาตยานั่นเอง และเมื่อสิ่งที่นำเสนอไม่ตรงกับแนวที่ที่เขาจะปฏิรูปก็ทำให้ทหารต้องออกมา
ตัวแทนจากลุ่มชาติพันธุ์ปกากะญอ กล่าวว่า สภาวะบ้านเมืองขณะนี้ เปรียบเหมือนหม้อน้ำที่กำลังเดือด แล้วมีคนนำฝามาปิดไว้ ซึ่งอันตรายมาก ดังนั้น ตนว่าเป็นความกล้าหาญมากที่มีคนเอาอะไรมาเจาะรูให้ไอน้ำที่กำลังเดือดนั้นมันทุเลา
"เหมือนรายการนี้เปิดรูระบายให้ไอน้ำออกมา ให้ประชาชนได้ระบายออกมาบ้าง ผมว่านี่เป็นระดับใหม่ สื่อเคยทำแบบนี้หรือเปล่า เพราะรายการนี้เป็นการร่วมกันของสื่อและประชาชน น่าจะเป็นตัวอย่างให้กับรัฐบาล ผมว่าหลายฝ่ายน่าจะดีใจ แต่เมื่อมาถึงสถานการณ์อย่างนี้ ผมว่าองค์กรต้องตีโจทย์ตรงนี้ให้แตก ถ้าเรื่องอย่างนี้เกิดมา แล้วองค์กรตีเรื่องนี้ไม่แตกแล้ว มันไม่ได้”
ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า วันนี้ตั้งใจจะมาฟังข้อมูลเพื่อนำไปแก้ปัญหา ได้เห็นว่าแต่ละคนล้วนมีความต่างและมีจุดยืน ทหารเขาก็มีจุดยืนของเขา ทหารเขาก็มีความรับผิดชอบ เขาไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งเหมือนที่ผ่านมา แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ตนเห็นว่าในฐานะองค์กรสื่อควรให้นางสาวณาตยามาจัดรายการต่อได้แล้ว
"ก็ให้คุณแววจัดรายการต่อสิ ผมเสนอว่าคุณแววต้องจัดรายการต่อ แต่ให้ความร่วมมือภาครัฐ อย่างผมจะจัดเวทีทีหนึ่งก็ต้องถาม คสช. ว่าตกลงแล้วจะให้ทำยังไง ผมว่าฝ่ายบริหารก็ต้องฟังไว้ เพราะถือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความรุนแรงเลยนะครับ เพียงแต่มันมีประเด็น ท่านก็จูนเข้าหากัน" นายเสรีระบุ
ด้านเครือข่ายภาคประชนอีกรายกล่าวว่าการออกแถลงการณ์ของกรรมการนโยบาย ข้อที่ 3 คือ ทำให้กลายเป็นว่ากรณีนี้มีการโฟกัสไปที่นางสาวณาตยา ซึ่งตนเห็นว่าสถานีควรจะต้องคุยกับ คสช. อย่างตรงไปตรงมาว่าสิ่งที่ชัดเจนคืออะไร และขอถามว่าไทยพีบีเอสคิดถึงเรื่องที่จะปกป้องบุคลากรของท่านมากแค่ไหน ปกป้องนักข่าวอื่นๆ ด้วย ซึ่งผู้บริหาร ควรจะต้องให้ความคุ้มครองเขาด้วย กรณีที่เกิดขึ้นนี้ ไทยพีบีเอสควรก้าวพ้นความเป็นปัจเจกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เกิดกับนางสาวณาตยาเท่านั้น แต่องค์กรณ์ควรเห็นว่าเป็นปัญหาขององค์กร นอกจากนั้น รายการควรรีบกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
"ถ้าไทยพีบีเอสหยุดแววไว้ นั่นคือยอมรับว่าการขู่มีผล ควรหยุดยั้งการขู่ด้วยการนำแววกลับมา เพราะถ้าขู่ไทยพีบีเอสได้ผล ผู้บริหารไทยพีบีเอส ต้องรับผิดชอบ เพราะถ้าไทยพีบีเอส ยังถูกขู่ แล้วองค์กรชาวบ้านระดับผมล่ะ คือถ้าไทยพีบีเอส ถูกขู่แล้วหยุด ก็จบครับ ไทยพีบีเอส ต้องไม่หยุด ถูกขู่ก็ไม่หยุด นี่คือสื่อสาธารณะ นี่คือสื่อของประชาชน ผมคิดว่าไทยพีบีเอส ต้องเป็นสื่อกลางของสังคม ผู้บริหารควรชัดเจนว่าจะให้แววหยุดกี่วัน กี่สัปดาห์ ขณะที่คนทำงานที่เป็นแบรนด์ของช่องนี้ ของรายการนี้ตกเป็นเป้า" ผู้ร่วมเสวนารายนี้ระบุ
ด้านนายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสกล่าวสรุปในช่วงท้ายของการเสวนาว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายเสรีและผู้ร่วมเสวนาบางท่านที่เห็นว่าควรหารือกับ สปช.
"คุณเสรี พาผมไปพบคุณเทียนฉาย ( กีระนันท์ ) ทีสิ ถ้าท่านบอกว่าไม่ให้ทำก็ไม่ให้ทำ ถ้าท่านบอกทำได้เราก็ทำ เพื่อให้มีความชัดเจนไปเลย" นายสมชัยระบุ และกล่าวด้วยว่าส่วนการจะให้ไปคุยกับทหารนั้น ตนคงไม่ไป
ขณะที่นายเสรีรับปากว่าจะนำเรื่องนี้ เข้าไปเสนอต่อนายเทียนฉาย กีระนันท์ ประธานสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และในฐานะของสื่อ ไทยพีบีเอสควรต้องเคลื่อนประเด็นต่อและตนเห็นว่าควรต้องขับเคลื่อนประเด็นผ่านไปทาง สปช.
--------------
ทั้งหมดนี่ คือ บทเรียนที่ได้รับจากการจัดเวทีเสวนาครั้งนี้ ส่วนเนื้อหาสาระที่เกิดขึ้น จะส่งต่อการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ โดยเฉพาะท่าทีของทหาร ที่มีต่อสื่อ คงต้องจับตากันต่อไป
แต่การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศยืนยันว่า ไม่ทบทวน ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97 และ 103 เนื่องจากกระทบกับการทำงานของสื่อมวลชน
ก็ชี้ให้เห็นอะไรบางอย่างที่ชัดเจนไปแล้ว
อ่านประกอบ :
"พันเอก"อ้างคำสั่ง"นาย"ตบเท้าบีบThaiPBSถอด "ณาตยา-รายการเสียงปชช."
“ประยุทธ์”โต้ ทหารพูดดี ๆ กรณี"ณาตยา" ลั่นไม่ทบทวน ประกาศ คสช.
เบื้องหลัง!บทสนทนา "ทหาร"บีบผู้บริหารไทยพีบีเอสสะดุ้ง-"ณาตยา"ถอนตัว!
บอร์ดไทยพีบีเอส อ้างหนุน"ณาตยา"ทำหน้าที่สื่อ แต่ยอมเปลี่ยนตัว "พิธีกร"
ผอ.ไทยพีบีเอส ยันหนุน"ณาตยา"พิธีกรเบอร์1เวทีสาธารณะ แค่เว้นช่วงใต้กฎอัยการศึก
ปธ.บอร์ดไทยพีบีเอส-ปธ.สภาการ นสพ.เรียกร้ององค์กรสื่อป้อง“ณาตยา”
ส.นักข่าวจ่อชงเลิกประกาศคสช.จำกัดสิทธิสื่อ-ชี้ปม“ณาตยา”รุนแรงยอมไม่ได้
คำต่อคำรายการ"ณาตยา"ชนวนเหตุทหารบุก-คนไทยพีบีเอส แห่โพสต์รูปประท้วง!