"..อึดอัดมากครับ ผมอึดอัดทหาร อึดอัด คสช. ที่ไม่เข้าใจประชาชน กระบวนการที่เขาทำมาทั้งหมด ผมคิดว่า มันจะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา เพราะเขาไม่เข้าใจประชาชน เกิดขึ้นด้วยความไม่เข้าใจ นี่แหละครับที่อึดอัด.."
ที่มา สำนักข่าวอิศรา
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : ในช่วงบ่ายวันที่ 15 พ.ย.57 ที่ผ่านมา แฟนเพจ รายการเสียงประชาชน เปลี่ยนประเทศไทย ThaiPBS ได้เผยแพร่ เนื้อหาคำต่อคำ "เสียงคนใต้ที่ต้องฟังก่อนปฏิรูป" ออกอากาศ 29 ตุลาคม 2557ในรายการเสียงประชาชนเปลี่ยนประเทศไทย โดยระบุว่าเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ตบเท้าเข้าพบผู้บริหารไทยพีบีเอส
----------------------------
การพูดคุยช่วง “เวทีสาธารณะ”
ตอน เสียงคนใต้ ที่ต้องฟังก่อนปฏิรูป
รายการเสียงประชาชน เปลี่ยนประเทศไทย
ออกอากาศวันพุธที่ 29 ตุลาคม 2557
เวลา 20.20-21.15 น.ไทยพีบีเอสณาตยา แวววีรคุปต์ (บทเปิดพิธีกร): นอกจากบรรยากาศของการพูดคุยตามประเด็นที่แต่ละคนสนใจเข้าร่วมพูดคุยแล้วนะคะ ในเวทีสาธารณะที่จัดขึ้นในวันเดียวกันนั้น ยังมีการเปิดเวทีฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากเสียงของคนใต้เกี่ยวกับวิธีการ และกลไกการขับเคลื่อนประเด็นการปฏิรูป ร่วมกับ กลไกของภาครัฐในเวลานี้ด้วยค่ะ
---------------------------------------
ณาตยา แวววีรคุปต์ (บทอ่าน) : แต่การแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ ดูเหมือนจะมีอะไรบางอย่างปิดกั้นอยู่ ดิฉันจึงต้องตั้งคำถามใหม่ว่า คนภาคใต้กำลังรู้สึกอึดอัดกับอะไรอยู่ ใช่หรือไม่ ซึ่งคำถามนี้ ก็ทำให้เราได้ฟังเสียงของประชาชนในแบบที่ไม่มีโอกาสได้ฟัง และไม่มีใครมีโอกาสได้พูดในที่สาธารณะ ตลอดช่วงเวลา 5 เดือนของการควบคุมอำนาจบริหาร และใช้กฎอัยการศึก
ถ้าฟังพวกเขาพูดตั้งแต่ต้นจนจบ จะพบว่า เสียงสะท้อนถึงความอึดอัดต่อการใช้อำนาจรัฐ ได้ซ่อนคำเฉลยเพื่อสร้างพลังร่วมของสังคม ซึ่งคนใต้บอกว่า มีกุญแจดอกหนึ่งที่สังคมไทย จะต้องร่วมกันหาให้เจอ
ผู้เข้าร่วมเวที (เสียงสั่นๆ ที่พูดถึง ความอึดอัด)
ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ : ความอึดอัดผม มีอยู่ 2-3 เรื่อง เรื่องแรก ก็คือ ท่านทำกำลังทำก้าวล่วงไปกว่าที่ท่านได้บอกไว้ตั้งแต่ต้น หัวใจของการปฏิรูป คือ ประชาชน ตระหนักรู้ เข้าใจ แล้วก็ตื่นตัวรับผิดชอบบ้านเมืองของตัวเราเอง ร่วมกันมีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเมืองของเรา นี่เป็นหัวใจของการปฏิรูป แต่ที่เรากำลังออกแบบตอนนี้ คือ เรากำลังออกแบบที่เราทำแทน ทำให้ ซึ่งจะทำให้ทุกคนกลายเป็นเด็ก ไม่รู้จักที่จะเติบโต และไม่อยากแข็งแรง และทำงานของตัวเอง ผมคิดว่า เรื่องนี้จะต้องเปิด แล้วให้เราออกมาเป็นผู้ทำ
สุรพล สงรักษ์ : บรรยากาศการเมืองหลังรัฐประหาร ใครๆ ก็อึดอัด เพราะว่าเป็นบรรยากาศที่ไม่มีสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย ตามที่เราเคยมีมา ภายใต้รัฐธรรมนูญ ต้องทำลายบรรยากาศของความกลัว ดังนั้น ผมคิดว่า เบื้องต้น ทหารจะต้องกลับเข้ากรมกอง และให้ตำรวจทำหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย บรรยากาศความกลัวแบบนี้ไม่มีทาง ที่ใครจะกล้าแสดงความคิดเห็นที่แท้จริง เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปสังคมได้
กิตติภพ สุทธิสว่าง : ก็อึดอัดมาตลอด รัฐบาลที่แล้วๆ มา ก็อึดอัด เพราะว่าชุมชนเอง พื้นที่เขามีศักยภาพในการกำหนดอนาคตของตัวเอง มีศักยภาพที่จะพัฒนาจากฐานทรัพยากรของเขาเอง แล้วก็ที่ผ่านมาตลอด 20 กว่าปีนี้ ชุมชนเองก็ทำมาตลอด เรามีสิ่งดีๆ ที่พัฒนาต่อยอดจากฐานทรัพยากร แต่ข้อจำกัดของเรา ก็คือว่า เราไม่มีช่องทาง หรือ กลไกใดๆ เลยที่จะอุดหนุน โดยเฉพาะจากภาครัฐ ทุกรัฐบาล ซึ่งแม้แต่รัฐบาลชุดนี้ด้วย
เอกชัย อิสระทะ : พวกเรา ถือว่า เราร่วมปฏิรูป ตั้งแต่ตอน kick off เลยนะ มีการ kick off ปฏิรูปประเทศไทย ถ้าจะปฏิรูป การให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง โดยมีข้อมูลที่เพียงพอ นำไปสู่วิเคราะห์ วิจารณาญาณ และนำสรรพสิ่งมาคิดวิเคราะห์ ซึ่งผมคิดว่า โจทย์นี้สำคัญ ถ้าบรรยากาศแบบหลายคนที่ได้พูดไปแล้วไม่เกิดขึ้น จะมาชวนให้เรามาปฏิรูป ถามว่า พวกเรา จะมีความมั่นใจในการปฏิรูปได้อย่างไร แล้วข้อมูลที่เราจะนำไปสู่การปฏิรูป มันจะมีข้อมูลอะไร นอกจากฐานคิดเดิมๆ ซึ่งถูกชงโดยกรอบของราชการ
ประสิทธิชัย หนูนวล : เวลาเราพูดถึงเรื่องปฏิรูป เรากำลังทำสิ่งที่ก้าวหน้า ทำสิ่งที่เปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ ฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่ต้องมีก่อนก็คือ กติกาที่ก้าวหน้า กติกาที่ยุติธรรม จึงจะนำไปสู่การปฏิรูปที่ยุติธรรมได้ ประเด็นก็คือว่า ในช่วงจังหวะเวลานี้ กติกาที่ก้าวหน้า และยุติธรรม ไม่ดำรงอยู่ สภาวะความอึดอัด ต่อให้เรามีกลยุทธ์ มียุทธศาสตร์ มีแนวทาง หรือ มีข้อเสนอดีๆ นะครับ แต่มันเกิดขึ้นไม่ได้เลยภายใต้กติกาแบบนี้
กาจ ดิษฐาอภิชัย : ที่ผมอึดอัด ผมกำลังสับสนว่า ผมเป็นใครกันแน่ อยู่ในประเทศไหนกันแน่ อันที่สอง สิทธิในความเป็นพลเมืองของผมอยู่ที่ไหน สิทธิทางการเมืองของผมอยู่ที่ไหน แล้วผมก็รักชาติเหมือนกับคนอื่นทั้งหมด แล้วผมก็ต้องการปฏิรูปเพราะประเทศมีปัญหา แต่การปฏิรูปภายใต้ข้อจำกัด ภายใต้การชี้นำ ภายใต้การบงการที่ไม่ยอมให้เห็นต่าง มันเป็นการปฏิรูปหรือเปล่า แสดงว่า เสียงประชาชนที่เราฟังๆกันอยู่ มันไม่มีตัวตนหรอก ไม่มีเสียงจริงๆ
อานนท์ วาทยานนท์ : อึดอัดมากครับ ผมอึดอัดทหาร อึดอัด คสช. ที่ไม่เข้าใจประชาชน กระบวนการที่เขาทำมาทั้งหมด ผมคิดว่า มันจะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา เพราะเขาไม่เข้าใจประชาชน เกิดขึ้นด้วยความไม่เข้าใจ นี่แหละครับที่อึดอัด
คนก่อปัญหา ก็คือ กระบวนการ ระบบข้าราชการๆ หรือแม้แต่กระบวนการของทหารก็ตาม ผมคิดว่า ก็มีส่วนทั้งหมด ไม่อย่างนั้น มันล้มเหลว มันจะต้องมาปฏิวัติทำไม จะต้องเสียเอกราชในเชิงประชาธิปไตยทำไม
ณาตยา แวววีรคุปต์ : พูดถึงประเด็นนี้ พูดถึงความอึดอัด อึดอัดกับทหาร อึดอัดกับ คสช. อึดอัดกับสภาพแบบนี้ ดิฉันขออนุญาตถามตรงๆ ถามตรงไปตรงมานะคะ ก็พวกคนที่นั่งอยู่ตรงนี้หลายท่าน มิใช่หรือ ที่ออกไปชุมนุมเป่านกหวีด เรียกร้องให้ทหารมารัฐประหาร แล้วก็ทำการปฏิรูป ตอบคำถามนี้ หน่อยค่ะ
อานันท์ วาทยานนท์ : เรามีทางเลือกมั้ยในช่วงเวลาเหตุการณ์ขณะนั้น สิ่งที่เราได้มา ก็คือ ทหาร แต่ทหารออกมาด้วยข้อผูกพัน มีพันธะสัญญากับเรา ว่าจะมาอยู่เพื่อระยะ เพื่อกันไม่ให้คนต่อยกัน กันไม่ให้คนชกหน้ากัน หยุดแล้วมาคุยกัน แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ สิ่งที่เกิดขึ้น คือ คุณมาทำแทนหรือเปล่า
ณาตยา แวววีรคุปต์ : มีอีกคนที่ดิฉันต้องถาม คือ คุณหมอสุภัทร ค่ะ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ : เราคนใต้โดนข้อหานี้อย่างชัดเจนนะครับ เพราะเป็นกำลังหลักในการสนับสนุนให้ทหารออกมาใช่มั้ย อะไรอย่างนี้นะครับ ซึ่งผมคิดว่า เราไม่ได้คาดหวังและไม่ได้คิดเช่นนั้น เราต้องการการปฏิรูป นี่คือ หัวใจ นี่ก็ยืนยันว่า เป็นเจตจำนงของคนทั้งประเทศว่า ต้องการการปฏิรูป เพียงแต่ว่า สังคมเรายังไม่ก้าวหน้าพอ ที่กระบวนการเคลื่อนไหวในทางสังคมที่ผ่านมานั้น ทำให้ทหารกล้าที่จะเดินตามหลังประชาชน คือ สังคมเราไปยังไม่ถึงขนาดนั้น ก็เลยได้ทหารมาเดินนำหน้าประชาชนในวันนี้ ซึ่งอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องสู้กันต่อไป เราต้องสร้างสังคมเราต่อไปให้เหมือนนานาประเทศ ที่สุดท้ายทหารต้องเดินตามหลังประชาชนให้ได้ แต่วันนี้ยังไปไม่ถึงครับ
ณาตยา แวววีรคุปต์ : แล้วจะทำได้มั้ยค่ะ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ : ทำได้ครับ ดูความตื่นตัวของพี่น้องในวันนี้ ถ้าถามว่า คนใต้เราอึดอัดมั้ย คนไทยเราอึดอัดมั้ย มันเป็นความอึดอัดที่มีความหวังนะ ผู้คนถึงออกมา เป็นความอึดอัดที่มีความท้าทาย เป็นความอึดอัดที่มีพลังด้วย เรามีพลังอยู่ เราไม่ได้อึดอัดแล้ว นอนหง่อยอยู่ที่บ้าน หรือว่า อึดอัดแล้วทำท่าจะยอมแพ้ ซึ่งผมคิดว่า อันนี้เป็นความหวังในสังคม เพียงแต่เราต้องหากุญแจให้เจอ
ณาตยา แวววีรคุปต์(บทอ่าน) : เสียงสะท้อนถึงความอึดอัดต่อการใช้อำนาจของรัฐ ได้ซ่อนคำเฉลยที่สำคัญเพื่อสร้างคำเฉลยเพื่อสร้างพลังร่วมของสังคมของสังคมด้วยค่ะ คนใต้บอกว่า มีกุญแจดอกหนึ่งที่คนทุกฝ่ายในสังคมไทย โดยเฉพาะ คสช. ต้องหาให้เจอ
นิวัฒน์ สวัสดิ์แก้ว : ถ้าเรามั่นคง ถ้าเราอึดอัดในส่วนใด แล้วจังหวัดนั้นๆ ได้เปิดโอกาสให้เราได้ดูแลยุทธศาตร์ของเราเอง วันนี้ที่มีปัญหา เพราะเราไม่ได้ดูแลยุทธศาตร์ของเรา เรารื้อเหล่านั้นซะดีมั้ย แล้วเรามาทำยุทธศาสตร์จังหวัดของเราซะ แล้วทีนี้ ใครจะไป ใครจะมา ไม่เกี่ยวกับเราครับ สีเขียวจะมา นักการเมืองจะมา สปช.จะมา ก็ไม่เกี่ยวแล้ว เพราะเรามียุทธศาสตร์จังหวัด แล้วยึดต้องนี้ให้เป็นมั่น ให้เป็นความมั่นคง เราไม่เอาถ่านหินใช่มั้ย มันอยู่ในยุทธศาสตร์นั้นแล้ว แต่วันนี้เราไม่ได้สนใจส่วนนี้ ไม่เป็นไร รื้อเสีย ทำใหม่เลย ถ้าเราทำยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน แล้วยุทธศาสตร์นี้ ไม่ได้หมายความว่า มันจะเปลี่ยนไม่ได้ วันหนึ่งข้างหน้า มีอะไรที่มีปัญหา เราก็เปลี่ยนยุทธศาสตร์นั้นเสีย เป็นปีๆ ไป นี่คือ ผมนำเสนอสิ่งที่มันจะคลายความอึดอัดได้ส่วนหนึ่งนะครับ ขอบคุณมากครับ
กิตติภพ สุทธิสว่าง : ผมคิดว่า ตอนนี้ บทเรียนทิศทางการพัฒนาเผชิญ และผ่านความอึดอัดมาตลอด ระยะเวลาหลายรัฐบาล ที่ผ่านมาเรา ไม่ใช่ไม่มีรูปธรรมในการคลี่คลายปัญหา เรามีรูปธรรมเยอะแยะไปหมดเลย เรามีปราชญ์ชุมชน เรามีกลุ่มโน้นกลุ่มนี้ ในการคลี่คลายปัญหา ผมคิดว่า ณ ตอนนี้ คนใต้ต้องมาทำความเข้าใจบนฐานใหญ่ๆ 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ เรื่องฐานทรัพยากร ที่มีอยู่ ที่มีชายฝั่งทะเลสองฝั่ง แล้วก็มีลักษณะภูมินิเวศน์ มีสวนยาง มีผลไม้ มีป่าพรุ มีป่าชายเลน นี่คือ ศักยภาพของคนใต้ รวมถึง มีพลังงานแสงอาทิตย์ มีลม ผมว่า ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน นี่คือ ศักยภาพของเราจริงๆ
ณาตยา แวววีรคุปต์ : เชิญพี่แก้ว (สุรพล) จะคลายความอึดอัดอย่างไร เสนอเป็นรูปธรรมเลยนะคะ
สุรพล สงรักษ์ : ผมคิดว่า นอกจากต้องเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองในกระบวนการปฏิรูปตรงนี้ ต่อจากอาจารย์พูดไว้ การเปิดโอกาสให้การยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง การยอมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งจะเป็นเจ้าของการปฏิรูปที่แท้จริง ฉะนั้น การปฏิรูปไม่ได้เป็นเจ้าของโดย คสช. หรือ โดย สปช. หรือ โดยรัฐบาลทหาร เท่านั้น แต่ประชาชนต่างหากที่ต้องเป็นเจ้าของ และที่สำคัญ เนื้อหาที่ต้องให้เขามีส่วนร่วมเพราะว่า เขาจะมีส่วนร่วมกำกับ และตรวจสอบ กระบวนการปฏิรูปนั้นด้วยว่า ท้ายที่สุด ผลประโยชน์จากการปฏิรูปต้องตกถึงมือประชาชนโดยมวลรวมทั่วประเทศด้วย อันนี้สำคัญมากนะครับ
สุรพล ธรรมร่มดี (พิธีกรร่วม) : ในส่วนอีกประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่เราคุยกันว่า เรื่อง ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน ที่เราจะเริ่มด้วยตัวของเราเอง ที่ทำให้เข้มแข็งขึ้น ในบริบทของการปฏิรูป ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ มันคืออะไรครับ ที่เราคุยแล้วได้ข้อสรุปขึ้นมาครับ
เอกชัย อิสระทะ : ตอนนี้ คิดว่า ข้อสรุปที่ชัดของพวกเรากันเองภายในภาค ภายในบ้านเรา ภาคใต้ ก็ควรมีการจัดรูปของกลไกในการประสานความคิดเห็น คือพูดง่ายๆ ว่า ถ้าเกิดพื้นที่เปิดต่อการปฏิรูปจริง อย่างน้อยถ้าสัญญาณแบบนี้ชัดจริง ข้อเสนอของการเคลื่อนตัวไปสู่แผนพัฒนาภาคใต้ อย่างที่พวกเราในภาคใต้ ปฏิเสธแผนพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะลงมาภาคใต้ แล้วนำมาสู่การสร้างข้อเสนอของแผนพัฒนาภาคใต้ที่ยั่งยืน แผนพัฒนาภาคใต้ที่สะอาด ที่ประชาชนมีส่วนร่วม ที่รักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม แล้วทำให้พวกเรามีความรักต่อโลกมนุษย์พร้อมกัน
แผนแบบนี้ต้องสร้างให้เกิด แล้วพวกเราเองก็พร้อมที่จะมามีส่วนร่วมในการพัฒนาแผน และสร้างมัน ซึ่งผมคิดว่า พวกเราไม่ใช่ไม่มีนะครับ ภาคใต้เราคิดทำแผนพัฒนาอย่างที่บอก กระบวนการปฏิรูปไม่รู้กี่คณะกี่ชุด ข้อสรุปเหล่านี้ มีอยู่บ้างเบื้องต้นแล้ว พอที่จะนำไปประกอบเป็นแผนทุกแนว แล้วก็ อารมณ์ร่วมแบบนี้จะเกิดขึ้น พลังของการปฏิรูปจะเกิด ความหวังในการที่จะเห็นสังคมที่ดีในอนาคตก็อยากจะให้เกิดขึ้น ผมคิดว่า พลังแบบนี้เราต้องการ ใช่มั้ยครับ
บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ : ประเด็นของความเชื่อมโยง ระหว่างในระดับพื้นที่ ภูมิภาคต่างๆ กับส่วนกลาง ในแง่ของบทบาทการออกแบบในอนาคต ส่วนหนึ่งของ สปช. นี่นะครับ ก็คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้ยุทธศาสตร์จังหวัดที่ถูกกำหนดมาแล้ว ปฏิญญาการท่องเที่ยวที่ถูกกำหนดมาแล้ว มีกลไกอย่าง กกร. จังหวัดกำหนดมาแล้ว พอถูกเสนอไปส่วนกลาง ส่วนกลางไม่ไปจับบิด ไปเปลี่ยน นี่คือโจทย์ที่จะต้องออกแบบ ทั้งระบบกฏหมาย การกำหนดนโยบาย หรือ แม้แต่ในรัฐธรรมนูญที่จะรองรับทิศทางเหล่านี้ อย่างไร
และในทางตรงกันข้าม ส่วนกลาง จะต้องไม่กำหนดนโยบาย หรือ โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่กลายมาเป็นว่าสวนทางกับวิสัยทัศน์ของจังหวัด สวนทางแห่งแผ่นดินแห่งความสุขที่ภาคใต้ก็มี ผมอยู่ภาคตะวันออก ของเราก็มีแนวคิดแบบเดียวกัน นี่คือ กติกาที่จะต้องไปกำหนดไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญ การกำหนดนโยบายสาธารณะที่สอดรับกับความต้องการ ที่ชัดเจนอย่างยิ่งว่า พื้นที่ต้องการแบบนี้ การที่จังหวัดและภูมิภาค จะมีน้ำหนักในการตัดสินใจมากกว่าในอดีต นี่คือ ระบบกติกาที่จะต้องออกแบบกันในอนาคต เสริมกับความต้องการในพื้นที่ ผมว่านี่คือ ความชัดเจนที่เกิดขึ้นจากการพูดคุย
ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ : ผมไปประชุมที่กรุงเทพ ผมเห็นคนที่มาคุยเรื่องปฏิรูปเห็นหน้าเห็นตา จำนวน คุณภาพ จะคึกคักกว่าปี 40 ความคึกคักนี้ ถ้า คสช. ไม่รีบตระหนักและคลายตัว มันอาจจะเข้าทำนองตุลาการภิวัฒน์ ตอนที่ตุลาการภิวัฒน์ออกมา จำได้มั้ยครับ ทุกคนก็รู้สึกว่า เป็นความก้าวหน้า แต่พอท่านภิวัฒน์ไม่หยุดเนี่ย ท่านกลายเป็นปัญหาเลย ท่านแทนที่จะเป็นตุลาการภิวัฒน์ ท่านกลายเป็นตุลาการที่มีปัญหาทันที ตอนนี้ก็เลยหายไป ผมคิดว่า ตอนออกมา ตอนนั้นกำลังทำได้ดีแล้ว ถ้าท่านระมัดระวัง คลาย รีบกลับเข้าที่ตั้งโดยเร็ว ให้ประชาชนออกมาทำงานของเขา อย่างนี้ บรรยากาศมันก็จะคึกคัก แล้วประเทศไทยมันจะต้องเป็นของประชาชน เป็นของเขาจริงๆ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ : เป็นบรรยากาศรอ ตามเพลง รออีกไม่นาน เดี๋ยวก็จะมีการจัดการให้ แต่ว่า ใน ขณะเดียวกัน ภาคประชน ถึงเวลาที่จะสร้างกระแสว่า เราไม่รอ เพราะเราทำเองได้ในหลายๆ เรื่อง เราอาจจะกลับบ้านไป ผมยังมีธงเขียวอยู่ที่บ้าน ผมยังเก็บอยู่ ผมไปเอาธงเขียวมาพกไว้ ไปไหนผมก็โบกไปเรื่อย ผมคิดว่า ประชาชนเรา สามารถสร้างสัญญลักษณ์บางอย่างขึ้นมาได้ ไม่ได้ขัดกฏอัยการศึกอะไร ไม่น่ามีปัญหาอะไร แล้วก็เป็นการส่งสัญญาณๆ ความต้องการการมีส่วนร่วม แต่คงต้องมีรูปธรรมบางอย่างร่วมกันที่คนทั้งประเทศร่วมกันได้ จะใช่ธงเขียวกลับมาใหม่มั้ย หรือ สัญลักษณ์อย่างอื่น ต้องช่วยกันสร้างสรรค์ขึ้นมา
สุรพล ธรรมร่มดี : เป็นไปได้มั้ยครับ หมอจุ๊ก(นพ.สุภัทร) ที่เราจะสามารถแสวงหาความเข้าใจจากทหาร
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ : เป็นไปได้ครับ ผมเข้าไปอยู่ในค่ายเสนาณรงค์ 4 วัน เราพบว่า นายทหารมีความเข้าใจต่อประชาธิปไตยมากนะครับ เพียงแต่ติดกรอบคิดของเขาบ้าง ที่สำคัญ คือ เขาติดความรู้สึกที่ว่า บรรยากาศในวันนี้ ต้องการความสงบเรียบร้อยอย่างยิ่ง ซึ่งจริงๆ แล้ว ทิศทางการปฏิรูป เขาก็เข้าใจ ผมคิดว่า วันนี้ คนที่จะช่วยทะลวงกรอบอันนี้ คือ ภาคประชาชน ๆ เดินนำ แล้วเดี๋ยวกำแพงที่เริ่มมี จะค่อยสลายหรือ ลดลงไปเอง.
----------
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่านอกจากการเปิดเผยเนื้อหาบทสนทนาในรายการ"เสียงคนใต้ที่ต้องฟังก่อนปฏิรูป" และคำต่อคำแล้ว ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส บางส่วน อาทิ "ณัฏฐา โกมลวาทิน" ได้โพสต์ภาพถ่ายของตนเองในโลกออนไลน์ ในลักษณะถูกปิดหูปิดตาปิดปาก
พร้อมประโยคคำพูดที่ว่า "จริงใจปฏิรูป อย่าปิดปากประชาชน..."
เพื่อแสดงจุดยืนการทำหน้าที่สื่อมวลชนด้วย