ที่มา มติชนออนไลน์
06 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557
ยุทธบทความ
วันเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน และผู้คนที่จากไป!
มติชนสุดสัปดาห์ 31 ตุลาคม - 6 พฤศจิกายน 2557
"ผู้ที่แข็งแรงที่สุดไม่อาจแข็งแรงเพียงพอที่จะเป็นนายได้ตลอดไป เว้นเสียแต่เขาจะเปลี่ยนความแข็งแรงให้เป็นสิทธิ และเปลี่ยนการเชื่อฟังให้เป็นหน้าที่"
ฌอง ฌาก รุสโซ
ผมนั่งเขียนต้นฉบับนี้ในตอนสายของวันอาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม พร้อมกับโปรยคำกล่าวของรุสโซที่มักจะถูกอ้างอยู่เสมอ เพื่อร่วมรำลึกถึงวาระครบรอบ 41 ปีของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และวาระครบรอบ 38 ปีของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นานนัก
แต่สำหรับ 41 ปีที่ผ่านไป การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็ยังเสมือนกับการเริ่มต้นใหม่อย่างไม่รู้จบ และในการต่อสู้เช่นนี้มีผู้คนต้องสูญเสีย บาดเจ็บ และเจ็บปวด ไม่แตกต่างกับการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ
สายของวันที่ 19 ฟ้าเริ่มครึ้มพร้อมกับมีสายฝนบางๆ โปรยลงมาเป็นระยะ เหมือนดังที่หลายๆ คนคุ้นเคยกับความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ในช่วง "ปลายฝนต้นหนาว" นั้น มักจะมีหยาดฝนมาเยี่ยมให้เราคิดถึงก่อนจะจากไปเพื่อให้สายลมหนาวมาเยือน...
บรรยากาศสายวันนี้ดูเหงาๆ จนอดคิดคำนึงถึงผู้คนบนเวทีการต่อสู้ทางการเมืองที่สุดท้ายแล้วพวกเขาหลายคนต้องจากไปก่อนวันเวลาของความเปลี่ยนแปลงจะมาถึง
และหนึ่งในนั้น ก็อดคิดถึง "พี่เปีย" หรือ พ.อ.ดร.อภิวันท์ วิริยะชัย ไม่ได้ และวันที่ 19 ก็เป็นวันพระราชทานเพลิงศพ
พ.อ.อภิวันท์ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 8 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอกในสาขาวิศวกรรมโยธา จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งอิลลินอยส์ (IIT)
มีตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดคือ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ในปี 2551-2554
เขาเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในทางการเมืองจากการเป็นแกนนำของ "แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ" (นปก.)
และเป็น 1 ใน 9 แกนนำที่ถูกจับกุมจากการจัดการชุมนุมที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ในเดือนกรกฎาคม 2550 และหลังการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2550 ได้มีแรงผลักดันให้เขาเข้ารับตำแหน่งรองประธานสภาในช่วงต้นปี 2551
หลังจากการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ได้มีการขยายการจับกุมผู้กระทำผิดในฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือที่รู้จักโดยทั่วไปก็คือ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ม.112)
และในเดือนกรกฎาคม 2557 ศาลอาญาอนุมัติหมายจับ พ.อ.อภิวันท์ ด้วยความผิดตามมาตราดังกล่าวจากการปราศรัยทางการเมือง
เขาตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศเช่นเดียวกับอีกหลายๆ คนที่ต้องเผชิญกับข้อหาของ ม.112 จนในที่สุดได้เสียชีวิตลงที่ฟิลิปปินส์
แน่นอนว่า พ.อ.อภิวันท์ ไม่ใช่นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทยคนแรกที่เสียชีวิตลงบนถนนสายนี้
เคยมีผู้คนต้องสูญหาย... สูญเสียบนเส้นทางนี้มาแล้วมากมายไม่ว่าจะเป็นบนถนนราชดำเนินในปี 2516
บริเวณทุ่งพระเมรุแห่งท้องสนามหลวงในปี 2519
บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในปี 2535
ตลอดจนถึงการล้อมปราบใหญ่ในปี 2552 และ 2553 ที่ทุ่งราชประสงค์
การสูญเสียเหล่านี้ล้วนตอกย้ำถึงสถานการณ์เมืองไทยที่ยังไม่สามารถมีข้อยุติสุดท้ายว่า เราจะใช้ระบบการเมืองแบบใดเป็นแบบแผนหลักของการปกครองประเทศ
และเมื่อไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจนถึงเป็น "ข้อยุติทางการเมือง" แล้ว การต่อสู้ทางการเมืองก็กลายเป็นประเด็นที่ไม่อาจยุติได้เช่นกัน
แม้จะพบว่าในหลายๆ ประเทศที่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบอำนาจนิยมในช่วงเวลาเดียวกับไทยนั้น วันนี้สถานการณ์การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองได้นำพาประเทศเหล่านั้นเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยได้อย่างจริงจังแล้ว
ดังเช่นการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย (หรือที่ในทางทฤษฎีเรียกว่า "Democratization") ของประเทศที่เคยปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยมของรัฐบาลทหารในละตินอเมริกา
วันนี้การเมืองในประเทศเหล่านี้ล้วนแต่สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย หรือที่ภาษาในทางทฤษฎีเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "Democratic Consolidation"
จนอาจกล่าวได้ว่า การหวนคืนของระบอบอำนาจนิยมแทบจะเป็นไปไม่ได้แล้วในสังคมที่มีข้อยุติต่ออนาคตทางการเมืองที่ชัดเจน
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ในอดีตจะเคยมีการเมืองไทยเป็นตัวแทนของการสร้างความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย
แต่วันนี้ตัวแบบที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างเป็นการเติบโตของระบอบประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย และกระทั่งในฟิลิปปินส์ก็ดูจะไม่แตกต่างกัน
แม้จะยอมรับกันว่าการเมืองในประเทศทั้งสองยังมีปัญหาอยู่มาก แต่อย่างน้อยก็มีความชัดเจนว่าการถอยกลับสู่อดีตของระบอบอำนาจนิยมทั้งในจาการ์ตาและในมะนิลาน่าจะเป็นปัญหาที่ยุติลงแล้ว
พร้อมกันนี้ก็เห็นถึงความพยายามในการปฏิรูปการเมืองและพาประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในพม่า
ผมเชื่อว่าพี่อภิวันท์ต่อสู้ทางด้วยความหวังว่า วันหนึ่งการเมืองไทยจะมีข้อยุติที่แน่นอน จะเป็นการเมืองที่ไม่ได้ถูกตัดสินด้วยการใช้ "รถถัง" ควบคุมสถานที่สำคัญในเมืองหลวง
แต่เป็นการเมืองที่ใช้ "รถหาเสียง" ออกตระเวนขอคะแนนจากการนำเสนอนโยบายถึงพี่น้องประชาชนในทั่วทุกท้องถิ่นของประเทศ หรือเป็นการเมืองที่เปรียบเปรยเป็นสำนวนฝรั่งว่า
ปัญหาการเมืองจะถูกตัดสินด้วย "ballot box" (กล่องคะแนนเสียง) ไม่ใช่ด้วย "bayonet" (ดาบปลายปืน)
การต่อสู้ด้วยข้อเรียกร้องที่อยากเห็นการเมืองไทยเป็นสากล ว่าที่จริงแล้วไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด
การเรียกร้องครั้งแรกที่ต้องการเห็นการเมืองสยามดำเนินไปในรูปแบบสากลก็คือข้อเสนอที่ปรากฏใน "เอกสารกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองราชการแผ่นดิน ร.ศ.103" ที่เชื้อพระวงศ์ 4 พระองค์และสามัญชนอีก 7 คน ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 5 ในเดือนมกราคม พ.ศ.2427
โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นหลักของข้อเสนอครั้งนี้ก็คือ การปฏิรูปทางการเมืองที่ต้องการเห็นสยามจัดการปกครองดังเช่น "คอนสติติวชั่นยุโรป" (Constitution Europe หมายถึง การปกครองภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญแบบยุโรป-ผู้เขียน)
ความพยายามครั้งแรกที่ต้องการเห็นการเมืองสยามเป็นสากลก็เพราะสยามกำลังเผชิญกับปัญหาการเมือง-ความมั่นคงชุดใหม่ที่มากับการขยายอำนาจของมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมตะวันตก
นักปฏิรูปการเมืองชุดแรกของสยามตระหนักดีว่า "ถ้ามหาอำนาจในยุโรปประสงค์จะได้เมืองใดเป็นอาณานิคม ก็จะต้องอ้างเหตุผลว่าเป็นภารกิจของชาวผิวขาว ที่ต้องการให้มนุษยชาติมีความสุขความเจริญ ได้รับความยุติธรรมเสมอกัน"
ดังนั้น ประเทศที่มีการปกครองแบบเก่าย่อมจะต้องเผชิญกับแรงกดดันของมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "รัฐบาลที่มีการปกครองแบบเก่า" ที่ไม่สามารถจัดการปกครองประเทศได้ จะตกเป็นเป้าหมาย "ให้ยุโรปเข้าจัดการ" ยึดเป็นอาณานิคม
นักปฏิรูปกลุ่มแรกของสยามเข้าใจดีว่า สยามจะอยู่แบบเดิมภายใต้การปกครองที่ไม่เป็นสากลไม่ได้ โดยเฉพาะจะคาดหวังว่าการเมืองสยามจะอยู่โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเลยก็ได้ ดังคำกล่าวที่ว่า "สยามรักษาเอกราชมาได้ก็คงรักษาได้อย่างเดิม"
แนวคิดชุดนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจนำมาใช้ได้อีกเมื่อสยามต้องเผชิญกับสถานการณ์ชุดใหม่ เพราะประเทศที่ไม่มีความเป็นสากลก็จะตกเป็นอาณานิคมได้ง่าย ดังจะเห็นได้ถึงความพยายามของญี่ปุ่นในการปฏิรูปเมจิที่พยายามแก้ไขกฎหมายให้เป็นมาตรฐานสากลดังเช่นระบบกฎหมายยุโรป เป็นต้น
เพราะผู้นำใหม่ของญี่ปุ่นในยุคเมจิตระหนักว่าการทำประเทศให้เป็นสากลจะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการยอมรับจากมหาอำนาจตะวันตก มิใช่การนำพาประเทศด้วยการใช้นโยบายสุดโต่งต่อต้านตะวันตกอย่างรุนแรง ดังเช่นที่เห็นได้ชัดเจนจากการตัดสินใจของราชสำนักหงสาวดีในการต่อสู้กับอังกฤษ
การสร้าง "สยามใหม่" ก็เช่นเดียวกันกับการสร้าง "ญี่ปุ่นใหม่" มีคำตอบที่ชัดเจนว่า มีแต่การสร้างประเทศให้เป็นสากลเท่านั้นจึงจะอยู่รอดได้ในสถานการณ์การเมือง-ความมั่นคงใหม่ และการสร้างประเทศให้เป็นสากลก็คือการทำให้ระบบการเมืองการปกครองของประเทศเป็นสากลด้วย
น่าเสียดายว่าข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูปการเมืองสยามครั้งแรกในปี 2427 (ร.ศ.103) นั้น ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและจริงจัง
ถ้าเราลองคิดเล่นๆ... สมมติว่าเราสามารถย้อนประวัติศาสตร์ได้ ถ้าแผนการปฏิรูป 2427 เกิดเป็นจริงและประสบความสำเร็จได้แล้ว ความคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของกลุ่มทหารหนุ่มในปี 2454 (ร.ศ.130) ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น เพราะระบบการเมืองของสยามได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นสากล (เช่น ระบบการเมืองของยุโรปที่มีรัฐธรรมนูญเป็นแบบแผนหลักของการปกครองประเทศ)
และถ้าคิดต่อเล่นๆ แล้ว ถ้าแผนปฏิรูป 2427 สำเร็จจนการเมืองของสยามมั่นคงและมีเสถียรภาพเช่นในแบบการเมืองตะวันตกแล้ว เราก็คงไม่ต้องเดินไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ในเวลาต่อมา
แต่ 27 ปีหลังจากการนำเสนอแผนการปฏิรูปการปกครองสยามครั้งแรกในปี 2427 คณะทหารชุดแรกที่ต้องการเห็นการเมืองสยามเปลี่ยนแปลงก็ถูกกวาดจับในปี 2454
และอีก 48 ปีต่อมา การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจึงประสบความสำเร็จในปี 2475
ว่าที่จริงแล้ว พี่อภิวันท์ก็คือผลผลิตของข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองในปี 2427 ที่ไม่สามารถขับเคลื่อนการเมืองของประเทศให้เดินไปสู่ความเป็นสากลได้เท่านั้น หากแต่ยังเป็นผลผลิตของข้อถกเถียงทางการเมืองที่ไม่อาจยุติได้
เพราะดูเหมือนจนถึงวันนี้ สังคมไทยก็ไม่อาจตอบตนเองจนกลายเป็นข้อยุติทางการเมืองได้จริงๆ ว่าเราต้องการรูปแบบของระบอบการปกครองประเทศเป็นเช่นไร
คนเป็นจำนวนมากที่เข้าร่วมการต่อสู้ทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาจไม่ได้คิดไปเกินกว่าอยากเห็นความเป็นสากลทางการเมืองที่มีกลไกของระบบรัฐสภาเป็นเครื่องมือในการตัดสินการได้อำนาจรัฐเฉกเช่นที่ประเทศตะวันตกมีกระบวนการทางการเมืองที่ชัดเจน
ถ้าเปรียบเทียบก็อาจไม่ต่างกับข้อเสนอในปี 2427 ที่อยากเห็นระบบการเมืองสยามเป็นไปในแบบสากล
และเชื่อว่าการกระทำเช่นนั้นจะเป็นเครื่องมือในการป้องกันสยามจากการคุกคามของลัทธิอาณานิคม และอาจจะเป็นเครื่องมือที่ดีกว่าความพยายามที่จะสร้างกองทัพสยามให้มีความทันสมัย
โดยมองว่ากองทัพสมัยใหม่ของสยามไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับภัยคุกคามทางทหารของเจ้าอาณานิคมตะวันตกได้
อีกทั้งในความเป็นจริงแล้ว สยามมิได้มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงมากพอที่จะลงทุนทางทหารได้ตามที่ปรารถนา
ในอีกมุมหนึ่งบางทีพี่อภิวันท์และหลายๆ คนในขบวนการต่อสู้ทางการเมืองปัจจุบันก็คือ "ทายาทความคิด" ของนักปรัชญาการเมืองสยามยุคใหม่ คือ เทียนวรรณ หรือ ต.ว.ส. วัณณาโภ (เกิดปี 2358) ที่มีโอกาสใช้ชีวิตในการเดินทางไปกับเรือสินค้าของชาติตะวันตก ทำให้ได้เห็นโลกภายนอก
เมื่อกลับถึงสยาม เขาได้นำเอาสิ่งต่างๆ ที่เห็นจากการเดินทางมาเป็นข้อเสนอและข้อวิจารณ์ต่อความเป็นไปของสังคมการเมืองสยามในขณะนั้น
คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า เขาเป็น "นักปฏิรูปสยาม" อีกคนต่อจาก "สิบเอ็ดผู้กล้า" ในปี 2427
ข้อเสนอประการหนึ่งของเทียนวรรณปรากฏในบทความเรื่อง "ว่าด้วยความฝันละเมอแต่มิใช่นอนหลับ" ที่กล่าวถึงระบบการปกครองแบบใหม่
เขาได้เสนอว่า สยามควร "จะตั้งปาลิเมนต์ อนุญาตให้มีหัวหน้าราษฎรมาพูดธุระชี้แจงของตนแก่รัฐบาลได้ ในข้อที่มีคุณและมีโทษทางความเจริญและไม่เจริญนั้นๆ ได้ตามเวลาที่กำหนดอนุญาตไว้..."
ดังนั้น ถ้าคณะปฏิรูป 2427 เสนอให้สยามมีรัฐธรรมนูญ เทียนวรรณก็ก้าวไปอีกขั้นด้วยการเสนอให้มีรัฐสภา สำหรับยุคนั้นข้อเสนอเช่นนี้เป็นเรื่องใหม่อย่างมาก
นอกจากนี้ พี่อภิวันท์และหลายๆ คนยังเป็นผลผลิตของ "ขบวนการประชาธิปไตยร่วมสมัย" ที่ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2516/2519 และขับเคลื่อนใหญ่อีกครั้งในปี 2535 ซึ่งการเดินทางของขบวนการประชาธิปไตยชุดนี้ยังไม่สิ้นสุด และยังอาจจะต้องเดินทางต่อไปในอนาคตด้วยความเข้มแข็งและอดทน
บนถนนสายประชาธิปไตย มีผู้กล้าที่ยอมเสียสละคนแล้วคนเล่า และพี่อภิวันท์เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น...
ในวันที่ฟ้าหม่นของ 19 ตุลาคม ผมได้แต่หวนคิดถึงเพื่อนและพี่หลายๆ คนที่ทอดร่างบนถนนสายนี้...
ขอคารวะนักต่อสู้และวีรบุรุษประชาธิปไตยทุกท่าน ขบวนการประชาธิปไตยไทยยังจะต้องเดินหน้าต่อไป
และอาจจะต้องยอมรับว่าถนนสายนี้ยังคดเคี้ยวและยากลำบาก!