วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 13, 2557

“ประชานิยมเซินเจิ้น”ยุครัฐบาลประยุทธ์ นโยบายนี้เพื่อใคร?


โดย พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ
ที่มา Siam Intelligence

การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นเป็นที่จับตาว่าจะฉุดเศรษฐกิจออกจากความตกต่ำหรือไม่ ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลมักจะออกมาให้สัมภาษณ์ในบ่อยครั้งว่าจะไม่ดำเนินนโยบายในแนวทางประชานิยมที่พวกเขาใช้สร้างวาทกรรมทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับดำเนินรอยแทบจะฝีก้าวต่อฝีก้าว จนมีการพูดกันเล่นๆในหมู่คอการเมืองว่า “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ ประชาธิปัตย์ค้าน ศาลคว่ำ ทหารทำต่อ” และนี่คือ 2 นโยบายที่เรียกว่า แทบจะเป็นการ “ก็อปเกรดเอ” หรือ “ก็อปเกรดมิร์เรอร์” แบบหลุดออกมาจาก เซินเจิ้นเลยทีเดียว ดังนั้นจึงขอขนานนามนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ว่า “ประชานิยมเซินเจิ้น”

1. โครงสร้างพื้นฐาน 3.3 ล้านล้านบาท แพงกว่าแต่ไม่มีไฮสปีดเทรน

นโยบายหัวใจหลักของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมาอันหนึ่งก็คือ “แผนนโยบายสร้างอนาคตไทย 2020″ โดยการผลักดันของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่สร้างความตื่นตัวให้กับคนไทยจำนวนมาก โดยแม้สุดท้ายจะถูกบิดเบือนจากทั้ง พรรคประชาธิปัตย์และกปปส. ทั้งการสร้างวาทกรรม “รถไฟขนผัก”บ้าง หรือ “การกู้ยืมแบบมีกระดาษเพียงสามหน้า”บ้าง (แต่แท้ที่จริงมีเอกสารแนบกว่า 200หน้า) และไปสร้างความชอบธรรมให้ศาลรัฐธรรมนูญบิดเบือนคำตัดสินในการตัดสินเนื่องจากลงมาตัดสินใน “แนวทางดำเนินนโยบายที่ยังไม่ได้เริ่มกระทำ” และตัดสินด้วย วาทกรรมแบบไม่อิงข้อกฏหมาย ทั้ง “ไม่สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิพอเพียง” และ “จำเป็นต้องพัฒนาถนนลูกรังให้หมดประเทศก่อน”
รถไฟความเร็วสูง ที่ได้แต่รอต่อไป
แต่รัฐบาล คสช.กลับหยิบมาสานต่อในวงเงินที่ใหญ่ขึ้นแต่ มีเนื้องานที่น้อยลงทั้งในการตัดรถไฟความเร็วสูงที่เป็นหัวใจสำคัญของแผนนี้ออก การปรับลดความเร็วของระบบรถไฟกลายเป็น “รถไฟความเร็วระดับปานกลาง” การสอดแทรกเรื่องการปรับปรุงและพัฒนาสนามบินและการจัดซื้อเครื่องบินเข้ามาแทน ทั้งที่ควรจะเป็นงบประมาณของการท่าอากาศยานและการบินไทย ซึ่งก็ไม่แปลกใจเลยในเมื่อผู้รับผิดชอบโครงการนี้คือ พล อ.อ.ประจิน จั่นตอง อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศและปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มีแนวโน้มจะดึงธุรกิจการเดินอากาศกลับมาอยู่ในมือของกองทัพอีกครั้ง ทั้งการพยายามจะย้ายสายการบินไทยสไมล์ ของการบินไทยกลับมาบินที่ดอนเมืองสนามบินภายใต้การดูแลของกองทัพอากาศที่มีผลประโยชน์มหาศาล รวมไปถึงการยกระดับสนามบินอู่ตะเภา “สนามบินทหาร” ให้กลายเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ โดยมีความทับซ้อนเส้นทางกับแผนการเดิมที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูงสาย กรุงเทพ-พัทยา-ระยอง ที่อาจจะถูกยกเลิกไป

ซึ่งก็น่าเป็นคำถามที่ว่า การขนส่งทางอากาศเป็นการขนส่งมวลชนพื้นฐานอย่างไร ? เพราะมีคนได้ประโยชน์เพียงบางกลุ่มเท่านั้น และยังไม่สามารถตรวจสอบการใช้จ่ายเงินได้ในแบบที่ผู้ชุมนุมประท้วง กปปส.พยายามจะล้มร่างของชัชชาติ เพราะรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ได้เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยไม่ต้องยื่นโครงการผ่านการพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งการผ่านโครงการระดับเมกกะโปรเจกต์ขนาดนี้โดยไม่มีกลไกการตรวจสอบและกลั่นกรองถือว่าสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตเป็นอย่างยิ่ง

2.จำนำยุ้งฉาง คืนความสุขให้ชาวนารวย และเจ้าของโรงสี

รายละเอียดของโครงการจำนำยุ้งฉางที่แตกต่างจากการจำนำข้าวนั้น กล่าวให้ถูกต้องคือถูกตีวงให้แคบกว่า ระบุข้าวที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเหนียว โดยกำหนดให้ชาวนาจะได้ค่าเก็บรักษาอีกตันละ1,000 บาท รวมแล้วชาวนาจะได้รับเงินค่าข้าวหอมมะลิตันละ15,400 บาท ส่วนข้าวเหนียวราคา 12,700 บาท กำหนดรายละไม่เกิน 20 ตัน ซึ่งแตกต่างจากการจำนำข้าวของรัฐบาลเพื่อไทยที่ “จำนำข้าวทุกเมล็ด” ในราคาตันละ 15,000บาท กลุ่มผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มีขนาดต่างกัน

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI และคนสนิทของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ นั้นเป็นผู้ขยันขันแข่งในการเอาการเอางานการตรวจสอบจำนำข้าวมาโดยตลอด โดยก่อนหน้านั้นท่านคือผู้สนับสนุนนโยบายประกันราคาของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ให้เหตุผลเกี่ยวกับนโยบายนี้ได้น่าสนใจ “ขณะนี้รัฐบาลจำเป็นต้องบริหารสต๊อก เพราะถ้าไม่ชลอการขายข้าวขณะนี้ ราคาข้าวเปลือกที่อยู่ในการเก็บเกี่ยวจะตกลงมาแล้วจะเป็นผลกระทบ ไม่ใช่ว่าโครงการรับจำนำข้าวที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรมาวันนี้กลายเป็นหอกทิ่มแทงเกษตรกร เพราะถ้าขืนระบายข้าวออกมาเกษตรกรก็จะเดือดร้อน แต่เก็บเอาไว้ประเทศก็จะเสียหายเพราะว่านอกจากค่าเก็บแล้ว ข้าวในสต๊อกก็จะเสื่อมคุณภาพลง”

คำถามคือรัฐบาลเองมีแผนการบริหารระหว่างสต๊อกข้าวเก่าและข้าวใหม่อย่างไร ถึงจะไม่กระทบต่อจำนำและราคาข้าวที่มีอยู่ในตลาด และการตรวจสอบคุณภาพข้าวในสต๊อกทำได้ล่าช้านับตั้งแต่รัฐประหารมา 6 เดือนยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้โอกาสที่รัฐบาลจะระบายสต็อกข้าวเก่าล่าช้าไปด้วยและยิ่งทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพ โดยได้มีการประมูลสต๊อกข้าวเพื่อระบายออกไปในจำนวนที่น้อย โดยกระทรวงพาณิชย์แจงแผนระบายสต็อกข้าว 18 ล้านตัน เจรจาจีทูจีกับรัฐบาลจีน -ฟิลิปปินส์-อินโดนีเซีย และบางส่วนการเปิดประมูลแข่งขันราคาจากเอกชน โดยรัฐจะคิดราคาที่เหมาะสมไว้ หากเอกชนให้ราคาที่น่าพอใจจึงจะขาย

จำนำยุ้งฉางรอบนี้ไม่ง่ายเหมือนจำนำข้าว จาก www.ezytrip.com
การดำเนินนโยบายจำนำยุ้งฉางนั้น ควรจะดำเนินการด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งการไปตีกรอบกำหนดว่า “รับจำนำเฉพาะข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว” ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ก็น้อยลง และคำถามสำคัญคือในยุคปัจจุบันยังมีคนที่มียุ้งฉางอยู่จริงๆหรือไม่? ในเมื่อที่ดินได้มีการเปลี่ยนมือไปหมดแล้ว นอกจากโรงสีและชาวนารวยขนาดใหญ่ที่ได้รับประโยชน์จากตรงนี้ ต่างจากการจำนำข้าวดั้งเดิมที่เกษตรกรสามารถจำนำได้รายบุคคล ซึ่งต้องดูว่ามาตรการด้านการเกษตรอื่นๆของรัฐบาล จะมาแก้ไขปัญหาส่วนนี้อย่างไร ทั้งการสนับสนุนค่าปัจจัยการผลิตไร่ละ 1000บาท การจัดโซนนิ่งพื้นที่เกษตร และการเพิ่มวงเงินการกู้ยืมผ่าน ธ.ก.ส.ในเวลาที่ราคาสินค้าการเกษตรเกือบทุกชนิดตกต่ำ หรือควรจะหมดเวลาที่จะต้องอุ้มสินค้าเกษตรและมีกลไกในการแก้ไขอย่างยั่งยืนเสียที
สรุปภาพรวมเศรษฐกิจ “ร่อแร่ ทำดีแค่เสมอตัว”

สิ่งที่น่าสนใจก็คือการดำเนินเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันนั้นกระทำยากกว่าช่วงที่ผ่านมา ในส่วนปัจจัยภายในเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจปัจจุบันนั้นเป็นการเรื้อรังสะสมจากปัจจัยทางการเมืองมามากกว่า 1 ปี ภาคการส่งออกนั้นได้มีการปรับลดเป้าอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงเป้าหมายของจีดีพี โดยในสิ้นตุลาคมที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการคลังก็เล็งจะปรับประมาณการจีดีพีลดลง จากปัจจุบันให้ไว้ที่ 1.5-2.5% และต่างให้ความหวังว่า จีดีพีไทยปี 2558 จะเติบโตขึ้นในระดับ 4-5% ซึงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียนถือว่าเติบโตต่ำที่สุด และอาจจะทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

ในภาคการท่องเที่ยว ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 15,703,000 คน หรือติดลบ 11.9% จากการชุมนุมทางการเมืองช่วงครึ่งปีแรก และการรัฐประหารในครึ่งปีหลัง รวมไปถึงการดำรงกฏอัยการศึกที่ยาวนานทำให้กลุ่มลูกค้ากรุ๊ปทัวร์หายไปจำนวนมากเพียงเพื่อแลกกับความมั่นคงของรัฐบาลและ คสช. และภาคการเกษตรที่ประสบปัญหาสินค้าราคาตกต่ำ ที่พร้อมจะจัดม็อบออกมาท้าทายรัฐบาลอยู่ทุกเมื่อถึงแม้จะเป็นภาวะกฏอัยการศึก แต่ปากท้องย่อมสำคัญที่สุด

ในส่วนปัจจัยภายนอก เมื่อราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวลดลง ประเทศไทยในฐานะประเทศส่งออกสินค้าเกษตรในเชิงเศรษฐกิจที่นิยมปลูกพืชชนิดเดียวกันเมื่อราคาดี ย่อมได้รับผลกระทบเมื่อพืชชนิดนั้นราคาตกต่ำ รวมไปถึงผลกระทบจากการรัฐประหาร เช่น การชลอตัวการทำสัญญา FTA กับยุโรป และการถูกบอยคอตสินค้าจากการใช้แรงงานที่มีมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน จนถูกปรับให้ไปอยู่ในประเทศ tier3 ซึ่งลดอำนาจในการต่อรองของไทยต่อประเทศคู่ค้า

จุดปรอทแตกอาจจะเป็นเรื่องมาตรการนโยบายทางภาษีที่ สมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำลังเตรียมผลักดันออกมาเพื่อสร้างรายได้ให้กับรัฐบาล ในภาวะที่เศรษฐกิจหดตัวและค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้น แต่จำเป็นต้องจ่ายภาษีมากขึ้น สวนทางกับรายได้ครัวเรือนที่ลดลง แต่ก็ใช่ว่าไม่มีข้อดีทางเศรษฐกิจหลายๆนโยบายที่ไม่สามารถทำได้ในภาวะรัฐบาลปรกติก็จะเป็นต้องผลักดัน เช่น ภาษีมรดกที่ถึงแม้ในทางบังคับใช้จะมีจำนวนจัดเก็บได้น้อย หรือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในบางส่วนที่สามารถดำเนินการก่อนได้ ทางหนึ่งก็น่าเห็นใจรัฐบาลดังกล่าวที่ไม่มีแม้กระทั่งช่วงฮันนีมูน เพราะต้องรักษาความมั่นคงทางการเมืองและบริหารความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆกัน แต่สิ่งที่พูดได้เต็มปากก็คือ รัฐบาลไม่สามารถเอาตัวรอดได้เพียงแค่ผลักดัน “นโยบายประชานิยมเซินเจิ้น”ได้เพียงอย่างเดียว เพราะผลประโยชน์นั้นไม่ได้ตกไปสู่ประชาชนจำนวนมากอย่างแท้จริง จำเป็นต้องมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมและประสบผลความสำเร็จในระยะสั้นและระยะกลาง ก่อนที่เสถียรภาพรัฐบาลจะหมดลงเสียก่อน