วันจันทร์, พฤศจิกายน 03, 2557

สร้างชื่อไปทั้งโลก กินเนสบู๊ค ลงบันทึกรถไฟไทยที่อายุยืนที่สุด คือ 120 ปี ตั้งแต่สมัยรัชการที่5


สร้างชื่อไปทั่งโลก กินเนสบู๊ค ลงบันทึกรถไฟไทยที่อายุยืนที่สุด คือ 120 ปี ตั้งแต่สมัยรัชการที่5 ไม่เคยเปลี่ยน ไม่เคยพัฒนา เป็นพาหนะของคนจน ส่วนคนรวยพวกศักดินาอามาตย์ มีรถประจำตำแหน่งเป็น เลกซัส เบนท์ และ BMW

Credit Alexerder Thai
ooo
ระบบรถไฟความเร็วสูง: ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ บรรยายที่ธรรมศาสตร์

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ บรรยายพิเศษที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 1 พ.ย. 57
2014-11-03
ที่มา ประชาไท

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ได้บรรยายพิเศษที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ในหัวข้อ "ระบบรถไฟความเร็วสูง ภารกิจของรัฐในการให้บริการสาธารณะแบบโครงข่ายกับประชาคมอาเซียน" โดยเป็นการบรรยายสำหรับวิชา น.735 หลักการและปัญหาในกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ

สำหรับหัวข้อการบรรยายแบ่งเป็น (1) กฎหมายมหาชนกับภารกิจของกระทรวงคมนาคม ได้แก่ การขนส่งทางบก การขนส่งทางน้ำ การขนส่งทางอากาศ และการขนส่งทางราง (2) ภาพรวมการขนส่งของประเทศ (3) รถไฟความเร็วสูงกับการพัฒนาหลากมิติของประเทศในอนาคต (4) ความคุ้มค่าในการลงทุนรถไฟความเร็วสูง (5) ใครควรเป็นผู้ลงทุนรถไฟความเร็วสูง และ (6) การเชื่อมต่อระบบรางกับประเทศเพื่อนบ้าน

ตอนหนึ่งชัชชาติกล่าวถึงภาพรวมโครงสร้างพื้นฐานของไทยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีถนนเยอะมากคือกว่า 2 แสนกิโลเมตร ขณะที่มีทางรถไฟ 4 พันกิโลเมตร โดยช่วงหลังไทยให้ความสำคัญกับถนนมาก การขนส่งทางถนนคิดเป็นร้อยละ 86 การขนส่งทางรถไฟอยู่ที่ร้อยละ 2 และการขนส่งทางน้ำคิดเป็นร้อยละ 12 โดยต้นทุนเฉลี่ยในการขนส่งของถนนแพงสุด โดยต้นทุนขนส่งทางถนน 1.72 บาท ต่อตันต่อ กม. ทางราง 0.93 บาท ต่อตันต่อ กม. และทางน้ำ 0.64 บาท ต่อตันต่อ กม. ปีหนึ่งเสียต้นทุนให้กับการขนส่งเยอะมาก โดยในปี 2554 ต้นทุนการขนส่งอยู่ที่ร้อยละ 14.5 ของ GDP

ทั้งนี้อันดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในปี 2555-2556 ไทยอยู่ที่อันดับที่ 49 เทียบกับมาเลเซียซึ่งอยู่อันดับที่ 29 เกาหลีใต้อยู่ที่อันดับ 22 ญี่ปุ่นอันดับ 16 สิงคโปร์อันดับ 2 และล่าสุดในปี 2556-2557 ไทยตกจากอันดับ 49 ไปอยู่อันดับที่ 61 และอนาคตจะแย่ลงเรื่อยๆ หากไม่ทำอะไร

โดยเฉพาะรถไฟ คุณภาพระบบรางของไทย อันดับก็ลดลงเรื่อยๆ จากปี 2552-2553 อยู่อันดับ 52 ในปี 2556-2557 ตกไปอยู่อันดับ 72 ขณะที่เพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียปี 2556-2557 อยู่อันดับ 18 เกาหลีใต้อยู่อันดับที่ 8 สิงคโปร์อันดับที่ 10 อินโดนีเซียอยู่อันดับที่ 44 ซึ่งเพิ่มขึ้นตลอดจากที่เคยอยู่อันดับที่ 60 ในปี 2552-2553

ทั้งนี้ต้นทุนการขนส่ง เป็นข้อมูลที่นักลงทุนใช้พิจารณาเรื่องการตัดสินใจการลงทุน ว่าประเทศนั้นๆ มีจุดแข็งด้านไหน ต้นทุนการขนส่งจึงถือเป็นต้นทุนของทุกคน

ในส่วนของโครงสร้างรถไฟไทยปัจจุบัน มีความยาวของรถไฟ 4,034 กิโลเมตร ในจำนวนนี้มีทางคู่เพียงร้อยละ 6 ที่เหลือเป็นรถไฟทางเดี่ยว เวลาเดินทางต้องรอสับหลีก โดยทางรถไฟก่อนปี พ.ศ. 2494 ซึ่งดูแลโดยกรมรถไฟหลวง กระทรวงโยธาธิการ รถไฟมีระยะทาง 3,368 กิโลเมตร แต่ก่อนเหมือนกรมทางหลวง เป็นกิจการของรัฐ ใช้งบประมาณเพื่อก่อสร้างทางได้ จากนั้นเปลี่ยนเป็นรัฐวิสาหกิจ รฟท. มีการก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มขึ้นมาเพียง 666 กม. ทั้งนี้เมื่อเป็นรัฐวิสาหกิจก็เหมือนกลายเป็นบริษัท มีการขาดทุน มีหนี้ ไม่ใช่กรมทางหลวงที่เดินหน้าลุยสร้างถนนตลอด

ในเรื่องรถไฟความเร็วสูง รู้สึกว่าโครงการปัจจุบันนี้จะกลายเป็นรถไฟขนาดรางมาตรฐาน (standard gauge) สำหรับรถไฟปกติที่ไทยใช้อยู่คือรางมิเตอร์เกจ กว้าง 1.00 เมตร เป็นรางปกติไม่ใช่ของไม่ดี ความเร็ววิ่งได้ถึง 120-160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ มีคนไปพูดว่าเป็นรางอาณานิคม ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องอคติส่วนตัว ญี่ปุ่นก็มีรางขนาด 1.00 เมตร ใช้สำหรับรถไฟคอมมิวเตอร์ทั่วไป สำหรับลูกค้าเป้าหมายของรถไฟรางมิเตอร์เกจ คือ ผู้โดยสารที่ไม่ต้องการความเร็วมาก รถไฟชานเมือง สินค้าหนักเช่น อ้อย น้ำตาล ถ่านหิน ขอให้ตรงเวลา แต่มาถึงเร็วเกินก็ไม่ดี เพราะถ้าเรือยังมาจะเอาสินค้าไปกองรอที่ไหน

ส่วนที่พูดว่าทางคู่ปัจจุบันคือทางคู่ขนาดราง 1.00 เมตร ก็พยายามปรับทางรถไฟราง 1.00 เมตร ที่มีระยะทางกว่า 4 พันกิโลเมตรนี้ให้เป็นรถไฟทางคู่ให้มากที่สุด เพื่อลดอุบัติเหตุ และเพิ่มความเร็ว

อีกอันหนึ่งคือรถไฟความเร็วสูง รถไฟความเร็วสูง รางขนาด 1.00 เมตรวิ่งไม่ได้ ต้องใช้รางมาตรฐานขนาด 1.435 เมตร เพราะวิ่งที่ความเร็ว 250-400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กลุ่มเป้าหมายเช่น เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ ที่ใช้เวลา 2 ชั่วโมง นักท่องเที่ยวที่ต้องการความเร็ว แต่ผมคิดว่าปัจจุบันทุกๆ คนก็ต้องการความเร็ว อย่างเช่นสายการบินโลว์คอส ผมไปเชียงใหม่เห็นคนนั่งเครื่องบินเพื่อมาซื้อของเช้า ตอนเย็นก็เดินทางกลับมีเยอะแยะไป เป็นเรื่องธรรมดา ทั้งนี้มูลค่าเวลาของเราสูง กลุ่มลูกค้าเป้าหมายมีเยอะ ส่วนการขนส่ง จะใช้ขนส่งสินค้าที่มีมูลค่าสูง ไม่ได้ใช้ขนผักแต่ใช้ขนสินค้ามูลค่าสูง สินค้าการเกษตรก็ขนได้ แต่ควรเป็นสิ่งที่เพิ่มมูลค่าไว้แล้ว เพราะค่าระวางในการขนส่งจะแพงกว่าปกติ

ในยุคปัจจุบันเท่าที่ฟัง จะมีโครงการรถไฟทางคู่ ที่ใช้รางมาตรฐาน 1.435 เมตร แต่พอไม่พูดถึงความเร็วของรถไฟจึงไม่รู้ว่าจะทำรถไฟความเร็วสูงหรือเปล่า คงต้องหารายละเอียดเพิ่มเติมว่าเส้นทางรถไฟจากหนองคายมามาบตาพุดที่รัฐบาลจะทำใช้ความเร็วแค่ไหน ถ้าความเร็วอยู่ที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็ไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง ถ้าความเร็วถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็เป็นรถไฟความเร็วสูง

สำหรับเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ต้องเรียนว่าอย่าเพิ่งหวังต่างประเทศ ถ้าอยู่ไม่ได้ด้วยตัวเองไม่ต้องทำ ถ้าเราหวังให้รถไฟความเร็วสูงพาคนจีนมาเที่ยมเมืองไทยนั้นเป็นไปไม่ได้ ระยะแรกต้องมาจาก Domestic demand (ความต้องการภายในประเทศ) 100% ในอนาคตถ้าเชื่อมมาเลเซียได้ดี ควรเพิ่ม ถ้าเชื่อมจีนได้ดี ควรเพิ่ม แต่ถ้าวิเคราะห์ตัวเลขในประเทศแล้วไม่พออันนี้ยังทำไม่ได้

หลักการผมคิดว่าต้องทำให้ชัดเลยว่ารถไฟความเร็วสูงเชื่อมภายในประเทศก่อน เชื่อมเมืองใหญ่ในประเทศ แล้วค่อยไปเชื่อมเมืองนอก ส่วนรถไฟทางคู่เชื่อมต่างประเทศได้ ตอนนี้เชื่อมแล้ว 3 จุด คือท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ คลองลึก-ปอยเปต ก็คือรถสินค้า และผู้โดยสารที่ไม่ต้องการความเร็วมาก

สำหรับรถไฟความเร็วสูง จะได้ส่วนแบ่งตลาดในสัดส่วนที่สูงระหว่างการเดินทางในระยะทางตั้งแต่ 500 กม. - 1,000 กม. ส่วนเครื่องบินจะเริ่มที่ตั้งแต่ 1,000 กม. ขึ้นไป ระยะทางในประเทศไทยจึงเหมาะมากสำหรับรถไฟความเร็วสูง โดยชัชชาติ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างบรรยายว่า "รถไฟความเร็วสูงไม่ใช่แค่รถไฟ แต่คืออนาคต คือสิ่งที่จะพัฒนาโอกาสให้กับคนทั้งประเทศ"