วันอังคาร, ตุลาคม 14, 2557
ทหารไทยและทหารอินโดนีเซีย เส้นทางเดินที่แตกต่าง
ที่มา FB BBC Thai
20 ตค.นี้ อินโดนีเซียก็จะได้ประธานาธิบดีคนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง นายวิโดโดจะเป็นผู้นำคนแรกที่ไม่มีสายสัมพันธ์ใดกับรัฐบาลเผด็จการทหารในอดีต ขณะที่ในไทย ทหารกลับเข้ามามีอำนาจทางการเมืองจากการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม ทหารคุมตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่สมาชิกส่วนใหญ่ยังคงเป็นทหารทั้งที่เกษียณแล้วและยังอยู่ในราชการด้วย ทำไมทหารอินโดนีเซียและไทยจึงได้เดินสวนทางกันเช่นนี้ เทอเรนซ์ ลี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงค์โปร์เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์สเตรทไทม์ เขาบอกว่าเส้นทางเดินของทหารของทั้งสองประเทศกำลังไปกันคนละทาง
เทอเรนซ์ ลี กล่าวถึงบทบาทล่าสุดของกองทัพอินโดนีเซียที่ผิดแผกจากเดิม ก็คือในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่แข่งขันกันดุเดือดอย่างยิ่ง แต่กองทัพก็วางตัวเป็นกลางได้ชนิดที่นายซูซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน ประธานาธิบดีที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งได้แสดงความชื่นชมว่า พฤติกรรมของกองทัพในระหว่างการเลือกตั้งแสดงถึงผลสำเร็จของการปฏิรูปกองทัพนั่นเอง
จุดเปลี่ยนของบทบาททหารของอินโดนีเซียที่กุมอำนาจทางการเมืองในช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่าน ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายซูฮาร์โตอยู่ที่คำตอบในเรื่องการปฏิรูปกองทัพ
ก่อนจะมาถึงวันนี้ กองทัพของอินโดนีเซีย Tentara Nasional Indonesia หรือTNI เคยเป็นเครื่องมือของระบบเผด็จการมาแล้ว ทั้งปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตย มีส่วนในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนักโดยเฉพาะช่วงที่ประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ยังอยู่ กรณีที่เห็นได้ชัดคือกรณีติมอร์ตะวันออก แต่หลังจากที่รัฐบาลซูฮาร์โต้ล่มลง กองทัพอินโดนีเซียก้าวผ่านกระบวนการของการปฏิรูปตั้งแต่บัดนั้น ทีเอ็นไอหรือกองทัพอินโดนีเซียได้ลดจำนวนตัวแทนของกองทัพที่ไปนั่งในสภานิติบัญญัติทั้งแห่งชาติและในท้องที่ และถอนตัวออกจากองค์กรเหล่านี้ทั้งหมดในปี 2547 นโยบายที่ยอมให้นายทหารไปรับตำแหน่งสำคัญในวิสาหกิจของรัฐและอื่นๆถูกยกเลิกไปในปี 2543
รัฐสภาอินโดนีเซียได้ออกกฎหมายแยกองค์กรตำรวจออกจากทหาร มอบหมายให้ตำรวจดูแลความมั่นคงภายใน ส่วนในเรื่องการปกป้องประเทศเป็นหน้าที่ของทหาร การปฏิรูปที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นการออกกฏหมายความมั่นคงของรัฐเมื่อปี 2545 และ พระราชบัญญัติว่าด้วยกองทัพในปี 2547 กฎหมายความมั่นคงของรัฐให้อำนาจรัฐสภาควบคุมดูแลการจัดวางกองกำลัง การกำหนดงบประมาณ และการแต่งตั้งตำแหน่งที่สำคัญของกองทัพ ส่วนพระราชบัญญัติว่าด้วยกองทัพไปไกลอย่างยิ่งในการกำหนดกฎเกณฑ์การปฏิรูปกองทัพเพื่อให้สนับสนุนประชาธิปไตย กฎหมายระบุไว้ชัดถึงภาระของกองทัพ หน้าที่ของบุคลากรทางการทหารที่จะต้องยึดหลักประชาธิปไตย ยอมรับอำนาจทางการเมืองที่เหนือกว่าของพลเรือน เคารพในหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งกฎหมายทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ห้ามไม่ให้ทหารเข้าไปมีส่วนในทางการเมืองและเศรษฐกิจ ให้ถ่ายโอนธุรกิจที่ทำโดยทหารไปยังรัฐบาลพลเรือนภายในปี 2552 อีกด้วย
กรณีของประเทศไทย คำมั่นสัญญาของทหารที่จะถอยห่างจากการเมืองกลับไม่เป็นจริง หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 กองทัพบอกว่าจะไม่หวนกลับไปแทรกแซงการเมืองอีก แต่ถอยกลับเข้ากรมกองของทหารไม่ได้ทำผ่านกระบวนการที่ทำให้ทุกอย่างเป็นระบบ แม้ว่าในช่วงของอดีตนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัยและพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธจะมีการลดขนาดกองทัพลงบ้าง แต่นั่นดูเหมือนจะเป็นผลจากข้อจำกัดที่มาพร้อมกับวิกฤติเศรษฐกิจมากกว่า
กองทัพไทยยังคงโยงใยกับกลุ่มชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์และสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งสะท้อนผ่านคำพูดของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษที่เปรียบเทียบการเมืองไทยกับการแข่งม้าว่า ทหารเปรียบเสมือนม้า ส่วนรัฐบาลเป็นจ๊อกกี้ที่คอยคุมบังเหียน ทว่าเจ้าของม้าที่แท้จริงคือประชาชนและพระราชา ดังนั้นอำนาจของกองทัพต้องคงอยู่เพื่อปกป้องประเทศ ในขณะที่นักการเมืองเปลี่ยนแปลงไปตามวาระ
สำหรับรัฐที่พัฒนาขึ้นมาด้วยการที่ทหารมีบทบาทสำคัญในทางการเมืองนั้น การจะพัฒนาประชาธิปไตยได้จะต้องพัฒนาระบบที่จะแยกชนชั้นนำทางการเมืองออกจากกองทัพ และที่สำคัญด้วยคือจะต้องให้ระบบหรือสถาบันเช่นว่านี้สามารถควบคุมการทำงานของกองทัพได้ ในขณะที่อินโดนีเซียประสบความสำเร็จในการวางโครงสร้างดังกล่าว ทำให้การรัฐประหารเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก ในกรณีประเทศไทย การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนชั้นนำยังคงโยงใยกับอำนาจของกองทัพจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นการจะก้าวสู่สังคมประชาธิปไตยของไทยจึงยังคงเป็นเรื่องที่ยังจับต้องได้ยากอยู่ต่อไป