วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 17, 2568

เห็น Quote นี้ นึกถึงเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ที่ทำงานกันอย่างหนักเลย


iLaw
14 hours ago
·
16 กรกฎาคม 2568 สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมรวมห้าฉบับ ได้แก่ ฉบับที่เสนอโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคก้าวไกล (พรรคประชาชนในปัจจุบัน) ภาคประชาชนในนาม “เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน”และพรรคภูมิใจไทย ต่อมาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการร่างฉบับพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคครูไทยเพื่อประชาชนและพรรคภูมิใจไทยรวมสามฉบับ สะท้อนให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติและการขาดความจริงใจในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมากว่าสองทศวรรษ
.
.
ร่างฉบับพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคครูไทยเพื่อประชาชนและพรรคภูมิใจไทย เขียนหลักการและเหตุผลในทำนองเดียวกันว่า “เพื่อให้สังคมไทยกลับมาอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข” ซึ่งขัดแย้งกับผลแห่งร่างกฎหมายดังกล่าวที่ไม่ได้มุ่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยในสองทศวรรษ เนื่องจากมีลักษณะ “เลือกปฏิบัติ” ฉวยวาระนิรโทษกรรมเป็นโอกาสเพื่อช่วยเหลือพวกพ้องของตนเอง และทอดทิ้งประชาชนบางส่วนไว้ โดยอ้างว่า พวกเขาเหล่านั้นไม่ใช่เหยื่อของความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่ได้เป็นจำเลยคดีทางการเมือง
การเลือกปฏิบัติในร่างกฎหมายนี้เห็นได้ชัดจากการยกเว้นคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งที่ผ่านมามีหลักฐานเชิงประจักษ์จำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีทางการเมืองโดยแท้ นอกจากนี้ช่วงระหว่างปี 2563 จนถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 คดีประเภทนี้ขึ้นสู่จุดสูงสุดในประวัติศาสตร์การกระทำนี้ขัดต่อทางปฏิบัติในประวัติศาสตร์ไทยที่เคยมีการนิรโทษกรรมครอบคลุมคดีความทั้งหมดที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง โดยพิจารณาที่ช่วงเวลาเป็นสำคัญ ไม่แบ่งแยกตามประเภทข้อหา เช่นเดียวกับการนิรโทษกรรมหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาคม 2535
.
.
นอกจากนี้ร่างกฎหมายยังมีลักษณะการเขียนที่ให้ประโยชน์ “เฉพาะกลุ่ม” โดยคดีกบฏและคดีก่อการร้ายที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกปปส. ขบวนการเคลื่อนไหวชุมนุมที่นำสู่การรัฐประหารสองครั้งในปี 2549 และ 2557 ถูกกล่าวหาชุดใหญ่จะได้รับการนิรโทษกรรม ทั้งที่เป็นความผิดที่มีโทษหนักกว่ามาตรา 112 รวมถึงยังเขียนเฉพาะเจาะจงไปถึงคดีแพ่งที่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ โดยคดีการปิดล้อมสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองของพวกเขาจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่
ในแง่ของข้อหาความผิดทางการเมืองร่างนิรโทษกรรมทั้งสองฉบับยังไม่ครอบคลุมฐานความผิดจากการชุมนุมข้อหาอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.โบราณสถานฯ และพ.ร.บ.การเรี่ยไรฯ และคดีตามประกาศและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญคือ ร่างทั้งสามฉบับยัง อาจ “ซ่อนเร้น” การนิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชน
.
.
พวกเราเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนขอแสดงจุดยืน ดังนี้
1.หากจะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ต้องกระทำอย่างจริงใจและครอบคลุม “ทุกคน ทุกคดีทางการเมือง” ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติตามสีเสื้อหรือความเชื่อทางการเมือง และปล่อยให้ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีมาตรา 112 หลายร้อยคน ยังคงต้องเผชิญกับคดีความต่อไป
2.หลังจากนี้หากสภาผู้แทนราษฎรมีความจริงใจในการแก้ไขความขัดแย้ง ก็ยังมีโอกาสในการคืนความเป็นธรรมให้จำเลยคดีทางการเมืองทุกคนในการพิจารณาวาระที่สอง และสาม แต่หากการพิจารณาในวาระถัดไป เดินไปแบบ “เลือกปฏิบัติ” ที่จะกีดกันคนบางกลุ่มไม่ให้ได้รับนิรโทษกรรม กระบวนการนี้จะเดินไปเพียงเพื่อช่วยเหลือคนบางกลุ่ม ไม่ใช่การคืนความสามัคคีปรองดอง และเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างสังคมสันติสุขตามหลักการที่สส. ฝ่ายรัฐบาลกล่าวอ้าง
3.ความหวังสำหรับนักโทษการเมืองในคดีมาตรา 112 ที่จะได้ออกจากเรือนจำและพ้นความผิดยังไม่หมดลง เพียงแต่อาจใช้เวลาเพิ่มขึ้น ในระหว่างนี้จึงต้องขอให้ประชาชนที่ยังพร้อมสนับสนุนช่วยกัน “ประคับประคอง” แรงใจและแรงกายของผู้ที่อยู่ในเรือนจำและครอบครัวไปด้วยกันก่อน และเมื่อถึงวันที่มีการเลือกตั้งสส. ครั้งถัดไป เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนเห็นว่า ต้องขอให้ประชาชนทุกคนลงคะแนนเลือกเฉพาะพรรคการเมืองที่ลงมติให้นิรโทษกรรมแก่คดีการเมือง “ทุกคดี” เท่านั้น
ด้วยความหวังเพื่อวันที่ท้องฟ้าจะสดใส




https://www.facebook.com/photo/?fbid=1151172383723046&set=a.625664036273886