ตากใบ 2547 ถึง 2566 จากกระสุนปืนนัดที่หนึ่ง นับถอยหลังสู่หนึ่งปีก่อนคดีหมดอายุความ
27 ธ.ค. 66
ณัฏฐ์นรี เฮงสาโรชัย
Thairath Plus
Summary
- พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายพิเศษจนถึงปัจจุบัน นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ตากใบ 25 ตุลาคม 2547 ที่เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ชุมนุม และขนคนนับพันขึ้นรถบรรทุกซ้อนกันถึง 4-5 ชั้น จาก สภ.ตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี จนมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 78 คน
- นับเป็นเวลากว่า 19 ปีแล้ว ที่การกระทำขัดต่อสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อประชาชนนี้ยังคงไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ แต่การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมยังคงไม่จบสิ้น กับเวลาที่เหลือเพียง ‘1 ปี’ ก่อนคดีหมดอายุความ
หลังจากอ่านข่าวเหตุวางระเบิดที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไม่กี่วันถัดมา เราสะพายกระเป๋าออกเดินทางขึ้นเครื่องบินไปที่ท่าอากาศยานนราธิวาสเป็นครั้งแรกในชีวิต ก่อนวันครบรอบ 19 ปี เหตุการณ์ตากใบ
เจ้าหน้าที่ชุดสีเขียวลายพรางถือปืนยาวยืนประจำอยู่ตามจุดต่างๆ เป็นสิ่งแรกที่เราเห็นและสัมผัสได้ถึงความระแวดระวัง
ระหว่างทางนั่งรถตู้เข้าเมืองนราธิวาส เจ้าหน้าที่ทหารตั้งด่านพร้อมอุปกรณ์ตรวจใต้ท้องรถอย่างเข้มงวด เปรียบเสมือนมีสายตาที่สอดส่องอยู่ตลอดเวลา ณ ที่แห่งนี้
พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายพิเศษจนถึงปัจจุบัน นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ตากใบ 25 ตุลาคม 2547 ความทรงจำอันขมขื่นที่ไม่อาจลบเลือนจากการกระทำอันอำมหิตของรัฐ นั่นคือการที่เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ชุมนุม และขนคนนับพันขึ้นรถบรรทุกซ้อนกันถึง 4-5 ชั้น จาก สภ.ตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร เป็นเวลา 5-6 ชั่วโมง จนมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 78 คน
นับเป็นเวลากว่า 19 ปีแล้ว ที่การกระทำขัดต่อสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อประชาชนนี้ยังคงไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้
แต่การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมยังคงไม่จบสิ้น กับเวลาที่เหลือเพียง ‘1 ปี’ ก่อนคดีหมดอายุความ
1
“ปัง” เสียงยิงปืนขึ้นฟ้านัดแรกเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ที่ สภ.ตากใบ หลังกลุ่มมวลชนรวมตัวเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 คน เพราะไม่เชื่อว่ามีความผิดตามข้อกล่าวหาแจ้งความเท็จ จากการที่พวกเขาถูกกลุ่มติดอาวุธปล้นปืนที่รัฐแจกจ่ายให้ไป 6 กระบอก
15.00 น. การฉีดน้ำสลายการชุมนุมเริ่มขึ้น มวลชนเร่ิมสลายตัวและมีการยิงอีกเป็นครั้งที่ 2 พร้อมคำสั่ง “หมอบ!”
“ผมก็หมอบ หันไปข้างหลังก็ไม่มีใครเลย ข้างหน้าเป็นกระถางต้นไม้ ลุกอีกทีก็วิ่งไปและถูกยิงเมื่อไรก็ไม่รู้” อาบิด ชายที่ขณะนั้นถูกยิงใต้ราวนมโดยไม่รู้ตัว และยังคงมีแผลเป็นมาจนถึงทุกวันนี้ในวัย 50 ปี
อาบิด(นามสมมติ) ชายถูกยิงใต้ราวนมหน้าสภ.ตากใบ
อาบีร ถูกมัดไขว้หลังและต้องคลานไปบนรถลำเลียง เขานอนคว่ำทับซ้อนกับคนอื่นๆ บนชั้นที่ 4 โดยภายใต้มีมนุษย์เรียงอัดทับกันอยู่อีก 3 ชั้น เคลื่อนย้ายจาก สภ.ตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร เป็นเวลา 5-6 ชั่วโมง พร้อมเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกกว่า 1,370 คน ในระหว่างการถือศีลอด
“ช่วงพลบค่ำรู้สึกกลัวทุกอย่าง กลัวว่าจะถูกจับตัวไป ปิดประตูหน้าต่างอยู่ในบ้าน นอนไม่หลับเกือบ 2 ปี” นี่คือคำกล่าวของอาบีรหลังรอดชีวิตกลับมาจากคำ่คืนอันโหดร้ายนั้น
อาบีร(นามสมมติ) ชายผู้ถูกมัดไขว้หลังและต้องคลานไปบนรถลำเลียงนอนคว่ำทับซ้อนกับคนอื่นๆ บนชั้นที่ 4
ฮัลวา แม่ผู้สูญเสียลูกชายวัย 19 ปี และ มุนา ภรรยาที่สูญเสียสามี เล่าว่าวันนั้นทั้งคู่เดินทางไปที่ สภ.ตากใบเพื่อตามหาลูกชายและสามีของแต่ละคน
ฮัลวาพยายามเข้าไปหาลูกในช่วงการสลายการชุมนุมแต่ไม่เจอ จากนั้นถูกเจ้าหน้าที่สั่งให้หมอบอยู่บริเวณริมแม่น้ำจนเสื้อผ้าและกระเป๋าของเธอเปียกปอน
ในขณะที่มุนาไปที่ตากใบเพื่อซื้อของกับลูกชายที่กำลังจะไปเป็นทหาร ส่วนสามีของเธอแยกไปที่นั่นตั้งแต่ช่วงเช้า แต่ไปเจอกับสามีที่ สภ.ตากใบ ขณะที่รอดูว่า ชรบ.จะถูกปล่อยตัวหรือไม่ จนกระทั่งเสียงปืนนัดแรกดังขึ้น เธอและสามีไปที่ริมแม่น้ำ ในขณะที่ไม่รู้ว่าลูกชายของเธอไปไหนแล้ว
ไม่นานหลังจากนั้นมีประกาศจากตำรวจทหารให้ผู้หญิงออกไปรวมตัวที่อาคารใกล้ๆ โรงพัก และให้ผู้ชายถอดเสื้อออก สามีมุนาจึงถอดเสื้อให้เธอเก็บไว้ ทหารมัดมือพวกเขา บางคนมัดให้กันและกัน ก่อนจะลำเลียงคนขึ้นรถไปที่ปัตตานี โดยที่ฮัลวาและมุนาเห็นเหตุการณ์ทุกอย่าง หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จึงปล่อยให้เฉพาะผู้หญิงกลับบ้านไปในเวลาประมาณ 20.30 น.
วันรุ่งขึ้นเมื่อฮัลวาและมุนาไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ผ้าขนหนูผืนเล็กที่ติดไว้ที่กระเป๋าหลัง คือสิ่งที่ทำให้ฮัลวารู้ว่านั่นคือศพลูกของเธอ
ฮัลวา(นามสมมติ) แม่ผู้สูญเสียลูกชายวัย 19 ปี
ขณะเดียวกันบนรายชื่อผู้เสียชีวิต มุนาพบชื่อสามีอยู่บนนั้น ส่วนลูกชายถูกควบคุมตัวอยู่ที่ค่ายทหาร ซึ่งได้รับการปล่อยตัวภายหลังและต้องกลับไปเป็นทหาร
ต่างคนต่างมีชีวิตหลังจากนี้ เจ้าของเธอก็ไม่อยู่แล้ว ต่างคนต่างไปหากินนี่คือคำพูดของมุนาหลังจากสูญเสียสามีผู้เป็นที่รักไป ขณะเอื้อมมือเปิดกรงนกที่สามีเฝ้าเลี้ยงดู ปล่อยเหล่านกน้อยให้เป็นอิสระ พร้อมภาพความทรงจำของสามีที่ยังอัดแน่นอยู่เต็มหัวใจ
มุนา (นามสมมติ) ภรรยาที่สูญเสียสามี และกรงนกของสามี
อามาล ชายผู้ประกอบอาชีพช่างทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ต้องสูญเสียน้องชายสุดที่รักของเขาไปจากเหตุการณ์ตากใบ วันนั้นอามาลแวะไปส่งน้องชายที่โรงเรียนก่อนไปทำงานที่มาเลเซีย หลังจากเหตุการณ์นั้น 1 วัน ก็ได้รับสายโทรศัพท์ว่าน้องชายวัย 16 ปีของเขาเสียชีวิตแล้ว
ในวันสุดท้ายก่อนน้องชายจะจากไปด้วยการขาดอากาศหายใจ ภาพความทรงจำที่ยังคงฝังลึกอยู่ในจิตใจของอามาลคือธนบัตรเปื้อนเลือด สิ่งที่อยู่ติดตัวน้องชายจนลมหายใจสุดท้าย
“ยังจำได้ว่าเราให้เงินน้องไปซื้อของ เขาบอกจะไปซื้อของที่ตากใบ ไปซื้อเสื้อผ้ารายอ ผมให้ไป 700 บาท แล้วแม่ให้อีก 200-300 บาท รวมประมาณ 1,000 บาท ที่เขามีเงินอยู่ตอนนั้น”
“ผมไปขึ้นรถตู้ที่อำเภอบาเจาะ ไปอำเภอตากใบ ส่วนน้องขึ้นสองแถวเข้าไปที่โรงเรียน น้องก็ขออีก 50 บาท นั่นเป็นคำสุดท้าย ตอนนี้ยังจำเสียงได้อยู่เลย”
อามาล(นามสมมติ) พี่ชายผู้สูญเสียน้องชาย
หลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงผ่านไป ความสูญเสียที่ไม่อาจหวนคืนนี้ถูกกระบวนการยุติธรรมตีค่าชดเชยออกมาเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ที่ไม่ต้องมีใครเอ่ยก็รู้ว่า สิ่งนี้ไม่อาจทดแทนชีวิตที่จากไปได้ ทุกครอบครัวต่างเจ็บปวดแต่จำใจต้องรับตามหลักการ
“ตามคำสอนของศาสนาอิสลาม การที่เราหวนให้เกิดความเศร้าใจเสียใจจะเข้าข่ายไม่ดี เพราะอัลเลาะห์ได้กำหนดชีวิตของเขาไว้แล้ว บางทีการร้องไห้หน้าศพยังทำไม่ได้ ต้องใช้ความอดทนเพื่อให้ปลงไป นี่คือลิขิตของพระเจ้า แต่การเสียชีวิตด้วยสาเหตุใด นั่นคือสิ่งที่ต้องแก้”
2ญาติผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบบอกเล่าเรื่องราวของความสูญเสียอยู่หลายรอบในวันนั้น ยิ่งตอกย้ำคำถามในใจของเราว่า พวกเขายังคงต้องบอกเล่าและอยู่กับความเจ็บปวดนี้ตลอดไปหรือไม่
ตามข้อเท็จจริง หลักฐานทุกอย่างบ่งชี้ผู้กระทำผิดอย่างชัดเจน แต่ผู้กระทำผิดเหล่านั้นยังไม่เคยได้รับโทษแม้แต่คนเดียว เป็นเวลาล่วงเลยมานานเกือบ 20 ปี
แม้ภายหลังเหตุการณ์จะมีคำขอโทษอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2549 จาก พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่เพิ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขณะนั้น รวมถึงคำขอโทษที่ออกจากปากของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เป็นผู้สั่งให้ตำรวจดำเนินคดีจับกุมผู้ชุมนุมตากใบ เมื่อปี 2547 แต่เหล่าญาติและผู้เสียหายยังคงมองว่าเป็นการขอโทษเพื่อให้ผ่านๆ ไป และยังไม่สามารถจับผู้สั่งการได้
ในช่วงเช้าตรู่ของวันถัดมา เราและคณะสื่อมวลชนออกเดินทางไปยัง สภ.ตากใบ ซึ่งตั้งอยู่ติดกับที่ว่าการอำเภอตากใบ ฝั่งตรงข้ามเป็นสนามเด็กเล่นติดริมแม่น้ำโก-ลก และนี่คือสถานที่เกิดเหตุในวันนั้น
เป็นครั้งแรกที่เราได้มาเห็นสถานที่เกิดเหตุจริง จากที่เคยเห็นเพียงในรูปถ่าย ที่นี่มีบรรยากาศเงียบสงบจนน่าเหลือเชื่อว่าเคยมีคนถูกยิงตรงนี้ ส่วนบริเวณริมแม่น้ำโก-ลกยังคงสภาพเหมือนในภาพถ่ายที่มีผู้ชุมนุมจำนวนมากหมอบเรียงกัน ยกเว้น สภ.ตากใบ ที่มีการปรับปรุงใหม่ และหน้าตาดูต่างไปจากเดิม
ระหว่างเดินสำรวจพื้นที่อยู่นั้น เราก็พบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2-3 นาย พวกเขาเข้ามาพูดคุยกับสื่อที่กำลังถ่ายรูปด้วยท่าทางดูเป็นมิตร แม้จะมีหลายช่วงขณะที่เราเห็นว่าเจ้าหน้าที่กำลังถ่ายรูปทุกการกระทำของสื่อมวลชนอยู่ พร้อมสายตาสอดส่องอยู่ตลอดเวลา
หลังจากเราสำรวจพื้นที่บริเวณ สภ.ตากใบ แล้ว เราเดินทางไปต่อที่หาดไพรวัน อำเภอตากใบ เพื่อไปพบกับชาวบ้านที่กำลังจัดกิจกรรมรวมตัวของญาติผู้เสียหาย มีการปราศรัยและเสวนาด้วยภาษามลายู ที่แม้เราจะฟังไม่ออกแต่ก็รู้สึกได้ถึงความฮึกเหิม
ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงสวมฮิญาบนั่งรวมกลุ่มกัน ทุกคนคือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ แต่หลังจากที่ชาวบ้านกำลังพูดคุยกับสื่อ เพียงไม่นานเราก็เจอกับเจ้าหน้าที่ทหาร 2 คน เข้ามาพูดคุยด้วย และบอกว่ามาดูแลความปลอดภัย พร้อมกับถ่ายรูปคนที่มาร่วมงานในวันนี้
กิจกรรมรวมตัวของญาติผู้เสียหาย หรือ แคมปิ้ง
เส้นแบ่งระหว่างเจ้าหน้าที่และชาวบ้านเป็นสิ่งที่ถ้าใครมาเยือนที่นี่จะรู้สึกได้อย่างชัดเจน
การปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่ทำให้บรรยากาศเปลี่ยนไปทันที พื้นที่ในการพูดคุยเริ่มจำกัดลง ผู้ปราศรัยต้องเปลี่ยนมาพูดเป็นภาษาไทยกลาง ทำให้การพูดคุยอย่างเปิดใจนั้นเหมือนถูกเก็บให้เป็นความลับ
จนกระทั่งช่วงเที่ยง ผู้คนนั่งรับประทานอาหารก่อนทยอยเดินทางไปต่อที่ อบต.ศาลาใหม่ เพื่อฟังเวทีเสวนา ‘นับถอยหลัง 1 ปี ก่อนหมดอายุความตากใบ’ โดยมีผู้เข้าร่วมงานแน่นเต็มห้องประชุมขนาดใหญ่ที่รองรับได้กว่าร้อยคน
“มันหดหู่ ย่ำยีหัวใจเหลือเกิน อีก 1 ปีก็จะหมดอายุความ เพราะตอนนี้ยังไม่มีใครออกมารับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น รับผิดชอบแค่ตัวเงินอย่างเดียวมันไม่พอสำหรับเรา ไม่จริงใจกับเราเลย คำขอโทษยังไม่มีเลย”
คือคำพูดของชารีฟะห์ น้องสาวที่สูญเสียพี่ชายในเหตุการณ์ตากใบ ส่งผลให้พ่อของเธอเป็นโรคซึมเศร้า
ชารีฟะห์ (นามสมมติ) น้องสาวที่สูญเสียพี่ชายในเหตุการณ์ตากใบ
คดีความหลังจากเหตุการณ์ตากใบยังเป็นข้อครหามาถึงปัจจุบัน ด้วยข้อสงสัยต่างๆ นานามากมายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่มาจากเจ้าหน้าที่
อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ทนายความศูนย์ทนายความมุสลิม อธิบายถึงคดีที่เกิดขึ้นว่า ในกรณีคดีเสียชีวิตจะดำเนินคดี 3 สำนวน ได้แก่
สำนวนที่ 1 คือ การไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ที่ทำให้เกิดคนเสียชีวิตที่ สภ.ตากใบ สำนวนที่ 2 คือ เจ้าหน้าที่ทำให้คนคนนั้นเสียชีวิต ขณะถูกการควบคุมของเจ้าหน้าที่ และสำนวนที่ 3 คือ คนที่ขัดขวางหรือต่อสู้เจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต
โดยสำนวนที่ 1 และสำนวนที่ 3 ขึ้นศาลจังหวัดนราธิวาส ส่วนสำนวนที่ 2 มีผู้เสียชีวิตที่ปัตตานี แต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าให้มาพิจารณาคดีที่ศาลสงขลา
ส่วนสำนวนที่ 3 ในปีนี้ก็มีการดำเนินการ และท้ายที่สุดก็ประนีประนอมยอมความกัน โดยการส่งคนเข้ามาเจรจาพูดคุย ทำให้เกิดความสมานฉันท์ในพื้นที่
เราที่เป็นทนาย วันนั้นไม่ลงนามร่วมประนีประนอมยอมความด้วย เพราะเรามองว่าการยอมความในขณะนั้น ทำโดยพื้นฐานของญาติที่ถูกเสนอเงื่อนไขที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ ก็ต้องยอม เราที่เป็นทนายความ ไม่สามารถไปทัดทานได้
อาดิลัน เล่าถึงกระบวนการค้นหาความจริงว่า ตอนนั้นมีคณะกรรมการอิสระฯ ที่แต่งตั้งโดยทักษิณ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี (กอส.) และมีการค้นหาข้อเท็จจริงออกมา 2 เรื่อง คือเรื่อง กรือเซะ และตากใบ ความโชคร้ายของตากใบคือสำนวนส่วนใหญ่หายไปหลายส่วนมาก แต่โชคดีที่ยังเจอรายงานของคณะกรรมการอิสระ และรายงานของคณะกรรมการเยียวยาฯ ที่พูดถึงผู้ที่จะต้องรับผิดในเหตุการณ์ตากใบ
ในรายงานระบุความเห็นของคณะกรรมการอิสระ ซึ่งมี พิเชต สุนทรพิพิธ อดีตผู้ตรวจการแผ่นดินคนแรกของไทย และเคยเป็นประธานคณะกรรมการอิสระในขณะนั้น
"สิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องขาดการใช้วิจารณญาณเป็นอย่างมาก ละเลยไม่ดูแลการลำเลียงและเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมให้แล้วเสร็จ แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารระดับชั้นผู้น้อย"
"พลตรีเฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร (ผบ.พล.ร.5 ผู้รับผิดชอบในการสลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ) ไม่ได้อยู่ควบคุมดูแลภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ลุล่วง แต่ได้ออกพื้นที่ไปพบนายกรัฐมนตรีที่อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เมื่อ 19.30 น. โดยไม่มีเหตุผลและความจำเป็น คณะกรรมการจึงเห็นว่าพลตรีเฉลิมชัย ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ไม่ครบถ้วนตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา "
และมีความเห็นต่อไปว่า
"คณะกรรมการอิสระเห็นว่า พลโทพิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ขาดความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีหน้าที่ต้องติดตามดูแลภารกิจที่ได้มอบหมายให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติอย่างใกล้ชิด"
อาดิลัน เล่าต่อถึงกระบวนการหลังจากนี้ว่า จะต้องไปดูผลคดีในสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน สภ.ตากใบ กับ สภ.หนองจิก ที่ได้รับผิดชอบคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพ โดยอาดิลันจะรวบรวมอาสาสมัครจากครอบครัวของผู้สูญเสีย ทำหนังสือถึงกรรมาธิการกฎหมายฯ เพื่อขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจ สภ.ตากใบ และ สภ.หนองจิก ไปตอบในสำนวนที่ 3 ว่าหลังจากที่ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว ขณะนี้สถานภาพของคดีนี้เป็นอย่างไร
“กรณีตากใบตั้งแต่วินาทีนั้นจนบัดนี้ หลายคนยังรำลึกถึงความเจ็บปวด กลิ่นเลือด กลิ่นฝน เสียงความช่วยเหลือของเพื่อนที่อยู่รอบตัว ประเทศไทยไม่เคยก้าวผ่านความขัดแย้ง ทุกคนยังอยู่ในอำนาจหน้าที่ ลอยนวลพ้นผิดอยู่ตลอดช่วงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นทักษิณ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ที่ตอนนี้อยู่กรุงเทพฯ และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ผบ.ทบ. ขณะนั้น ก็เพิ่งออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี”
เมื่อพูดถึงการลอยนวลพ้นผิด ทำให้เราต้องย้อนไปยังกระบวนการค้นหาความจริง ที่มีการร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงาน รวมถึงรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตาม การบันทึกหลักฐานต่างๆ ที่มีอยู่น้อยนิดอาจไม่ได้เป็นที่รู้กันในสาธารณชนมากนัก นอกจากคำเล่าปากต่อปาก
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในฐานะที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เล่าถึงสิ่งที่ได้คุยกับชาวบ้านว่า ที่ผ่านมารัฐพยายามทำให้เรื่องตากใบเล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ และปิดกั้นสื่อมวลชน
“สิ่งที่ทำให้เรามาลงพื้นที่ครั้งแรกคือเหตุการณ์ตากใบ และทราบปัญหาความขัดแย้ง อย่างกรณี ทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่หายตัวไปเมื่อเดือนมีนาคม 2547 และข่าวเรื่องกรือเซะมีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน จึงได้รวมกลุ่มคนทำงานด้านสิทธิมาค้นหาความจริง ทำให้เราเห็นความบอบช้ำของผู้ได้รับผลกระทบ เคยมีอาจารย์คนหนึ่งอยู่ที่ตาบา เล่าว่า เขาเห็นรถที่ขนคนไปคืนนั้น รถมีน้ำที่ไหลออกมาเหมือนรถขนปลา”
พรเพ็ญ เล่าอีกว่า กระบวนการค้นหาความจริงที่เกิดขึ้นในชั้นศาลจังหวัดสงขลา ดำเนินการอย่างสุดความสามารถ นำเสนอหลักฐานทุกอย่างเท่าที่มี แต่ฝ่ายรัฐและฝ่ายอัยการกลับไม่นำตัวบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำในวันนั้นขึ้นเข้าให้การในชั้นศาล
บุคคลที่อัยการคัดสรรมาสำหรับการขึ้นให้การ มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงบางคน ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง และทหารที่นำเข้าสู่การพิจารณาคือคนขับรถเท่านั้น คนขับรถก็จะบอกว่าไม่เห็นๆ ไม่ได้หันหน้าไปเลยครับ ทำธุระอื่น ทุกคนไม่นำมาซึ่งการค้นหาความจริง“การเยียวยาที่ดีที่สุดคือการได้รับความจริง คงต้องคุยกันในระยะยาวว่าในรัฐบาลใหม่จะริเริ่มกระบวนการนี้อย่างไร เพราะการเยียวยาไม่ใช่แค่เรื่องเงินและคำพิพากษาเท่านั้น แต่คือการเยียวยาทางด้านจิตใจและการฟื้นฟูให้ทุกคนสามารถกลับขึ้นมายืนได้อย่างสมศักดิ์ศรี” พรเพ็ญทิ้งท้าย
แม้การกระทำรุนแรงจะเกิดขึ้นจากรัฐบาลในอดีต แต่รัฐบาลใหม่ ในฐานะตัวแทนรัฐ ยังคงมีหน้าที่รับผิดชอบต่อบาดแผลที่ยังคงหลงเหลืออยู่ และเป็นบทเรียนที่ต้องหาทางแก้ไข
รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) สะท้อนบทเรียนจากเหตุการณ์ตากใบที่สะท้อนถึงปัญหาที่ยังคงแก้ไม่ได้อยู่หลายข้อ ซึ่งทั้งหมดต้องโยงกลับไปยังโครงสร้างของอำนาจ ที่ รศ.เอกรินทร์ ระบุถึง 3 ปัจจัยหลักที่ต้องแก้คือ
1. ระบบทหารมีอิทธิพลกับการเมืองไทย หากต้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ทหารต้องอยู่ใต้ประชาชน ต้องมีผู้ตรวจการกองทัพจากภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ไม่ใช่ตั้งคณะกรรมการจากฝ่ายทหารอย่างเดียว
2. กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยการใช้กลไกอำนาจทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหาร สามารถรื้อฟื้นคดีนี้ได้ออกมาและใช้ช่องทางให้คดีตากใบเป็นคดีที่ได้รับการเปิดเผยความจริงได้
3. กรณีคดีตากใบหมดอายุความ สิ่งที่ต้องตั้งคำถามเป็นข้อแรกคือ ทนายและคนในพื้นที่จะมีส่วนร่วมในการผลักดันเรื่องนี้ต่อหรือไม่ ถ้าคนที่นี่เอาด้วย ทุกคนก็เอาด้วย ข้อที่สอง ต้องผลักดันการใช้อำนาจประชาชนผ่านการเมืองระบบรัฐสภา เพื่อให้ผู้แทนประชาชน หรือ สส. เข้าไปเป็นปากเสียงของประชาชนในสภา ข้อที่สาม การทำให้เรื่องนี้เป็นที่รับรู้ในชุมชนนานาชาติ ไม่ใช่เพื่อแทรกแซง แต่เพื่อยกระดับการอยู่ร่วมกันของคนทั้งสังคม
“ต่อไปการสลายการชุมนุมกับมนุษย์อย่างนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก ถ้าเราเป็นอย่างนี้อย่าหวังว่าเราจะพูดเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ในเมื่อเรื่องพื้นฐานแบบนี้เรายังทำไม่ได้เลย”
ความทรงจำอันขมขื่นที่ถูกเก็บราวกับความลับในประเทศนี้ ทำให้แค่การพูดถึงกลายเป็นสิ่งกระอักกระอ่วนสำหรับใครบางคน อีกทั้งการตระหนักรู้ถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ยังก้าวไม่ไกลดังฝัน
“วันนี้ไม่มีการล้างแค้น และไม่ใช่การทำลาย เจ้าหน้าที่อย่ากลัวเลยกับเหตุการณ์ตากใบ คุณยอมรับในความผิดพลาดดีกว่า เพราะเราในฐานะที่เป็นมุสลิม เราเรียนรู้จากหลักศาสนา ที่ไม่ได้สอนให้เราไปคิดฆ่าล้างแค้นใคร ศาสนาอิสลามสอนให้เราให้อภัย”
คือคำพูดของ ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี ชาวมุสลิมเพียงคนเดียวในกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปล่งวาจาที่ดังกึกก้องไปทั่วห้องประชุมใหญ่ พร้อมด้วยชาวมุสลิมนับร้อยส่งเสียงเห็นด้วยและปรบมือดังสนั่น
ผศ.สุชาติ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสันติศึกษาที่มีเพียงหยิบมือในประเทศไทย ที่สะท้อนบทเรียนจากเหตุการณ์ตากใบในมุมมองของบาดแผลศึกษา หรือ Trauma Studies พบว่ามีการศึกษามากในต่างประเทศ แต่ยังไม่มีการจัดการแผลที่จะนำไปบูรณาการเพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง รัฐบาลหลายประเทศยังเฉยเมย และยังถูกทำให้ลืม
“ผมอยากเห็นรัฐบาลไทยเป็นตัวอย่าง มีความกล้าหาญทางจริยธรรม และยืนหยัดในการสนับสนุนให้คนได้จดจำเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้”
3ร่องรอยของการทำให้ ‘ลืม’ ยังคงเห็นได้ชัดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในตำราเรียนของที่นี่ไม่มีบันทึกเหตุการณ์ตากใบไว้แม้แต่บรรทัดเดียว แต่อย่างไรความจริงก็ปิดไม่มิด สื่อโซเชียลมีเดียคือสิ่งสำคัญที่ทำให้เยาวชนที่นี่รับรู้ถึงเหตุการณ์ตากใบ ต่อให้พ่อแม่ของพวกเขาจะไม่ได้เล่าให้ฟัง และแม้กระบวนการทำให้ลืมจะยังคงอยู่ กระบวนการทำให้จำก็มีอยู่เช่นกัน มีหลายฝ่ายที่พยายามนำเหตุการณ์ตากใบให้กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เพื่อให้ประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจลบเลือนหายนี้ยังคงเป็นที่กล่าวขานต่อไป
เราเดินทางไปที่ เดอลาแป อาร์ต สเปซ นราธิวาส เพื่อชมนิทรรศการ
‘สดับเสียงเงียบ: จดจำตากใบ 2547’ ที่เวียนมาจัดที่นราธิวาสในช่วงวันครบรอบ 19 ปีตากใบ
ภายในงานมีข้าวของที่เป็นความทรงจำเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตเรียงรายอยู่เต็มห้องขนาดพอเหมาะ เช่น เสื้อผ้า ธนบัตร กรงนก และนาฬิกา ของที่จัดแสดงอาจดูเป็นสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ แต่กลับผูกโยงกับชีวิตของคนที่จากไปอย่างลึกซึ้ง
ขณะที่เราเดินชมไปเรื่อยๆ ก็สังเกตเห็นหญิงสวมฮิญาบคนหนึ่งกำลังจับเสื้อผ้าลายสก๊อตสีน้ำตาลเหลืองที่ถูกนำมาจัดแสดง เธอบอกว่านี่คือเสื้อของลูกชายเธอพร้อมด้วยรอยยิ้มบนใบหน้า และนั่นย้ำให้เราเห็นถึงเรื่องราวและพลังของสิ่งของเหล่านี้
นอกจากที่นี่จะเป็นที่จัดแสดงงานศิลปะแล้ว ยังมีคาเฟ่ให้นั่งชิลพบปะผู้คนพร้อมกลิ่นกาแฟหอมกรุ่น หนึ่งในคนที่เราได้มีโอกาสนั่งคุยด้วยคือ วลัย บุปผา ภัณฑารักษ์ของงานนิทรรศการนี้
"ไม่อยากจัดตั้ง ไม่อยากเห็นความทรงจำที่เจ็บปวดอีกแล้ว"
คือเสียงสะท้อนจากชาวบ้านในช่วงเริ่มแรกก่อนจะเกิดนิทรรศการนี้ขึ้น วลัยเล่าให้ฟังว่า มีการทำสำรวจความคิดเห็นคนทั่วไปว่าหากมีหอจดหมายเหตุหรือพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเกี่ยวกับเหตุการณ์ตากใบ โดยมี ‘โครงการก่อตั้งจดหมายเหตุ’ เป็นผู้ริเริ่มและรวบรวมข้อมูล พวกเขาจะยินดีให้จัดตั้งอย่างเป็นทางการหรือไม่
“เดิมทีสิ่งที่จะออกมาชิ้นแรกของโครงการฯ คือหนังสือ แต่ในระหว่างทางการทำหนังสือ วัตถุหรือความทรงจำนั้นโดดเด่นขึ้นมามากกว่า การเปิดตัวด้วยหนังสือเฉยๆ คงได้เรื่องประมาณหนึ่ง แต่เหตุใดเล่าจึงไม่รวบรวมความทรงจำเหล่านั้นมาให้คนอื่นได้รับฟังและรับรู้”
นั่นคือจุดเริ่มต้นในการจัดนิทรรศการ แต่ด้วยประเด็นที่อ่อนไหวและเหตุการณ์ตากใบเป็นเหตุการณ์ที่มีผู้สูญเสียมากที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในประเทศนี้ วลัยจึงออกแบบนิทรรศการที่มุ่งเน้นความทรงจำมากกว่าการย้ำบาดแผล
“เมื่อเราจัดนิทรรศการที่กรุงเทพฯ ครั้งแรก เราได้เชิญภรรยา แม่ ของผู้สูญเสียไป 4 ท่าน เขาเห็นแล้วคงเพิ่งเข้าใจว่าเราขอสิ่งของของผู้เสียชีวิตไปเพื่อการนี้ ตอนแรกเขาไม่เข้าใจ เพราะนึกว่าจะมาถามแต่เรื่องเหตุการณ์ แต่หลังจากได้เห็นนิทรรศการเขาก็ให้คำตอบว่า โอเค วิธีการเล่าเรื่องแบบนี้ไม่สร้างความเจ็บปวดซ้ำให้ผู้สูญเสีย”
“ผู้ที่จากไปทั้งหมดเป็นผู้ชาย ฉะนั้นคนที่เก็บสิ่งของและบอกเล่าเรื่องราวส่วนใหญ่จะเป็นแม่ ภรรยา น้องสาว ลูกสาว หรือเป็นพี่ชาย ฉะนั้นมิติของความทรงจำที่นำสู่บุคคลที่สูญเสียไปนั้น จึงสะท้อนออกมาในเรื่องเล็กเรื่องน้อย”
“เมื่อเราพูดถึงเรื่องราวตากใบผ่านความทรงจำ วัตถุในความทรงจำเป็นแง่มุมที่ไม่คม ไม่พุ่งแทง แต่ชวนให้คนดูได้เปิดใจ ได้มอง ได้ฟัง ที่เราใช้ชื่อสดับเสียงเงียบ เป็นเพราะเรื่องราวเหล่านี้เป็นเสียงที่เบามาก แบบไม่เคยได้ยินมาก่อนในส่วนกลาง ส่วนใหญ่สิ่งที่เราได้ยินจากเรื่องตากใบมันเป็นเรื่องความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัด จำนวนเหตุกี่ครั้ง กี่จุด ตรงไหน เราไม่ค่อยได้ยินว่าหลังจากเหตุการณ์นั้น ผู้ที่ยังอยู่เขาดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร”
ข้าวของที่ถูกจัดแสดงในนิทรรศการทั้งหมดล้วนเป็นของผู้เสียชีวิต ยกเว้นก็แต่ชุดโต๊ปสีน้ำเงิน หรือชุดเสื้อแขนยาวตามแบบมุสลิมที่เจ้าของยังมีชีวิตอยู่ ชุดโต๊ปนี้เป็นของ บาบอ ผู้ทำพิธีละหมาดศพในเหตุการณ์ตากใบ 50 ศพ ที่มัสยิดตะโละมาเนาะ ซึ่งตอนนี้บาบออายุประมาณ 70 ปีแล้ว
“จากคำสัมภาษณ์ของบาบอ บาบอไม่ได้ตั้งใจเลือกให้มัสยิดตะโละมาเนาะมีนัยทางประวัติศาสตร์ แต่ด้วยความจำเป็นที่จะต้องทำพิธีให้เร็วที่สุดตามหลักการของศาสนา เช่น การอาบน้ำศพ มัสยิดตะโละมาเนาะซึ่งมีพื้นที่กว้างขวาง และเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างปัตตานีและนราธิวาส จึงกลายเป็นพื้นที่ในการประกอบพิธี” วลัยลงรายละเอียด
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เรามาดูนิทรรศการนี้ แต่เป็นครั้งแรกที่ได้ชมนิทรรศการนี้ในพื้นที่นราธิวาสจริงๆ ความแตกต่างที่เราสัมผัสได้ชัดคือความรักและความคิดถึงของญาติทุกคนที่มีต่อข้าวของ เรื่องราว และความทรงจำในขณะที่พวกเขายังมีชีวิต
“หลังจากที่ได้จัดแสดงครั้งแรกในเดือนมีนาคมที่ศิลปากร และไปจัดที่ธรรมศาสตร์รังสิต การได้มาจัดนิทรรศการที่นราธิวาส ทำให้รู้สึกว่า ในที่สุดก็ได้พานิทรรศการนี้กลับมายังที่ของมันเป็นครั้งแรก เราอยากให้เจ้าของวัตถุได้มาเห็นในวาระครบ 19 ปี” วลัยทิ้งท้าย
4
เหตุการณ์ตากใบเป็นบาดแผลที่มีคนพยายามลบ มีกระบวนการทำให้ลืม ให้กลายเป็นความทรงจำที่เจือจาง แต่คำถามที่เราสงสัยมาตลอดคือมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง หลังจากบาดแผลความรุนแรงเหล่านั้น และคนรุ่นหลังจะมีความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ตากใบแบบไหนในระหว่างทางเติบโต
“หลังจากเหตุการณ์ตากใบ สิ่งที่เราได้รับคือนกกระดาษที่โปรยลงมาจากเครื่องบิน โปรยไปทั่วสามจังหวัด และมีอนุสาวรีย์รูปนกตั้งอยู่ที่นราธิวาส ใช้ชื่อว่า นกสันติภาพ นี่คือสิ่งต่างหน้าหรือสิ่งแทนใจของรัฐบาลที่ทำให้กับเรา ให้คนที่นี่”
คือคำบอกเล่าของ ซูกริฟฟี ลาเตะ หรือ ลี ชายผู้เติบโตที่ปัตตานีผ่านช่วงเหตุการณ์ตากใบในวัย 6 ขวบ จนกระทั่งอายุ 27 ปี ในฐานะนักเคลื่อนไหว ที่เคยเป็นอดีตประธานกลุ่มเปอร์มาส (PerMAS) หรือ ‘สหพันธ์นิสิต นักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี’ ก่อนผันตัวมาทำงานเบื้องหลังในฐานะสมาชิกกลุ่ม
The Pataniวันที่ 5 ธันวาคม 2547
นกกระดาษถูกโปรยลงมาสู่จังหวัดสามชายแดนใต้นับ 120 ล้านตัว นี่เป็นไอเดียของทักษิณ ชินวัตร นายกฯ ขณะนั้น ที่ชวนประชาชนทั่วประเทศพับนกกระดาษเป็นสัญลักษณ์ว่าคนทั้งประเทศร่วมกันส่งแรงใจให้กับคนชายแดนใต้ด้วยกระบวนการสันติวิธี
เวลาต่อมาทางจังหวัดนราธิวาสร่วมก่อสร้างอนุสาวรีย์นกสันติภาพ โดยเคี่ยวนกกระดาษกับปูน เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ความสูญเสียและรำลึกถึงความห่วงใยของคนไทยทั่วประเทศที่ร่วมกันพับนกกระดาษ ณ วันนี้อนุสาวรีย์นกกระดาษถูกนำไปติดตั้งที่วงเวียนข้างสวนกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเมืองนราธิวาส
ซูกริฟฟี ลาเตะ หรือ ลี ชายผู้เติบโตที่ปัตตานีผ่านช่วงเหตุการณ์ตากใบ
ลีค่อยๆ เล่าเรื่องราวของเขาในวัยเด็ก แม้จะมีขวบวัยที่ยังไม่รู้อะไรมากนัก แต่สิ่งที่ลีจดจำได้ดีหลังเหตุการณ์ตากใบคือมีคนนำแผ่นซีดีมาวางไว้หน้าบ้าน เป็นซีดีก๊อบปี้สีขาวใส่อยู่ในถุงหน้าตาธรรมดา และมีปกกระดาษสีขาวทับโดยไม่มีข้อความอะไรเขียนไว้
ด้วยความซนของลีในวัย 6 ขวบ จึงนำซีดีแผ่นนั้นไปเปิดดู ภาพบนจอที่ปรากฏคือเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบ เป็นภาพเดียวกับที่มีลงไว้ใน
YouTube แต่มีความคมชัดกว่า
“ตอนที่ผมเปิด ที่บ้านโกรธมาก เพราะเป็นเหมือนคลิปต้องห้าม ภาพมันน่ากลัวมาก ยังจำได้ และซีดีนี้ก็ถูกเก็บไปจากหมู่บ้าน น่าจะถูกเอาไปทำลายหรือเอาไปทิ้งที่ไหนสักแห่ง”
“คราวนี้ก็เริ่มมีข่าวว่าแผ่นซีดีนี้มาจากไหน บ้างก็ว่าเป็นของ BRN (ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี) เป็นองค์กรติดอาวุธเอามาแจก หรือบ้างก็ว่าเป็นของพรรคประชาธิปัตย์เอามาแจก เพื่อโจมตีคุณทักษิณในขณะนั้น”
ลี เล่าว่า เขาไม่เคยเรียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ตากใบจากในโรงเรียน ความเข้าใจของเด็กชายลีในตอนนั้นมีความเข้าใจในระดับที่ว่า เหตุการณ์ตากใบมีการทุบตี มีคนเสียชีวิต มีการซ้อนคนบนรถ และรู้ว่าเป็นการชุมนุมอะไร บ้านของลีในปัตตานีตั้งอยู่ที่ทางผ่านอำเภอตากใบ และค่ายอิงคยุทธฯ
“ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แต่ก่อนเป็นอะไรที่ถูกห้ามพูด ผมไม่แน่ใจว่าถูกห้ามด้วยกฎหมายหรือถูกห้ามด้วยความหวาดกลัว เราจะไม่มีทางรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพิ่งมารู้ในช่วง 4-5 ปีให้หลังที่เริ่มมีคนมาพูดถึงมากขึ้น คนส่วนใหญ่หรือผู้สูงอายุ ต่อให้ปัจจุบันไปถามร้านน้ำชาก็ลำบากที่จะคุยแลกเปลี่ยนกัน”
“เราจำได้ว่าก่อนหน้านั้นทุกอย่างนิ่งมาก ทุกอย่างปกติ จะมีเจ้าหน้าที่บ้าง แต่ไม่เยอะแบบนี้ ทุกอย่างปกติแบบสังคมที่อื่นทั่วไป ไม่มีความรุนแรง ไม่มีการใช้กำลัง ไม่มีแม้แต่สัญญาณว่าจะเกิดความรุนแรง”
“ในช่วงที่เราเติบโต เราก็เริ่มเห็นทหารหมวกแดง ทหารเขียวแรกๆ มาอยู่ในหมู่บ้าน ทำเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนา สร้างรั้วไม้ไผ่ เริ่มมีทหารเข้ามายุ่มย่ามกับพื้นที่การศึกษา เช่น ตาดีกา (ศูนย์อบรมคุณธรรมและจริยธรรมสำหรับเยาวชน) มัสยิด ปอเนาะ และมีทหารเดินเข้ามาในหมู่บ้านมากขึ้น เราโตมากับสภาพสังคมแบบนั้น”
มันมีภาวะหวาดกลัว ในแง่ว่าเราต้องหวาดกลัวเจ้าหน้าที่รัฐ เราจำเป็นต้องกลัวทหาร มันคืออาการที่เกิดหลังการสลายการชุมนุม แต่ผมว่าอาการหวาดกลัวนั้นส่งผลถึงปัจจุบัน คือแสดงออกทางการเมืองบางอย่าง การให้ความเห็นตรงไปตรงมาต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นเรื่องที่คนที่นี่กลัวมากความหวาดกลัวของคนในพื้นที่นี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต่างรู้สึกได้ แม้จะอยู่ห่างไกลแค่ไหน การเติบโตในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนคงเป็นสิ่งที่เราจินตนาการไม่ออก ว่าการดำเนินชีวิตภายใต้กฎหมายพิเศษที่ไม่ปกติเป็นอย่างไร
“เราไม่รู้จักคำว่าปกติ ความปกติคืออะไร” ประโยคสั้นๆ ของลีที่ทำให้เราถึงกับพูดไม่ออก
“ผมคิดว่าการมีกฎหมายเหล่านี้ครอบ ทำให้จินตนาการ การเติบโตทางความคิด ความคิดสร้างสรรค์ของคนที่นี่ค่อนข้างถูกจำกัดมากกว่าคนในพื้นที่อื่นๆ เราไม่รู้ว่ามีใครสอดส่องดูเราอยู่ เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเรา กับพี่น้องข้างบ้าน ดูเหมือนคนที่นี่จะใช้ชีวิตปกติ แต่ไม่ปกติ”
ความเข้มงวดของกฎหมายพิเศษเหล่านี้ เป็นที่ถกเถียงอยู่เสมอถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่การไม่ยี่หระของรัฐบาลและยังคงบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ การนำมาซึ่งสันติสุขของสามจังหวัดชายแดนใต้จะมาถึงหรือไม่
“บางครั้งการบังคับใช้กฎหมายดูไม่แฟร์ อย่างเช่น คุณต้องการจับคนในหมู่บ้าน 5 คน แต่เหวี่ยงแหปิดทั้งหมู่บ้าน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงมาก จับพ่อไม่ได้ เอาลูกไปตรวจดีเอ็นเอ หรือสามีถูกจับ เอาสามีกลับมาเพื่อทำแผนประกอบรับสารภาพหลังบ้าน ผ่านหน้าภรรยา แล้วโดนยิงตาย”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองมีส่วนสำคัญต่อเหตุการณ์ความขัดแย้งอย่างมาก โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งสร้างรากฐานมาจนถึงวันนี้
ลี เล่าว่า ภายหลังเหตุการณ์ตากใบมีกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ เช่น มีพรรคการเมืองที่ได้ประโยชน์ ส่วนกลุ่มวาดะห์ของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา แทบไม่ชนะเลือกตั้งเกือบทุกพื้นที่ ทั้งๆ ที่เป็นกลุ่มการเมืองหลักในพื้นที่เมื่อก่อน
“ผมจำได้ว่าทุกบ้านต้องมีรูปอาจารย์วันนอร์ติด หลังจากเหตุการณ์ตากใบ ความศรัทธาต่อกลุ่มวาดะห์ก็น้อยลง จนไปสู่การที่ไม่ชนะการเลือกตั้ง ผมว่านี่คือการลงโทษจากประชาชนในทางการเมือง”
เมื่อมองในมุมของพรรคเพื่อไทยต่อการรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต จากที่ทักษิณ นายกฯ ขณะนั้น ผู้สมควรแสดงความรับผิดชอบจากเหตุการณ์ตากใบที่ยังคงเป็นเงาตามติดจนถึงทุกวันนี้
“วินาทีที่คุณทักษิณขอโทษ มันควรเป็นสำนึกปกติ ที่คนเป็นนายกรัฐมนตรีต้องทำ ถ้าสิ่งที่คุณขอโทษมาจากความรู้สึกลึกๆ และจากความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้น เมื่อปี 2547 การสนับสนุนให้รัฐบาลเพื่อไทยนำกระบวนการยุติธรรมสามารถเดินไปข้างหน้า เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยที่เราไม่ต้องรอหมดอายุความในปีหน้า ถ้าพิสูจน์ความยุติธรรมได้ คนที่นี่พร้อมให้อภัย” ลีกล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
ความซับซ้อนของกลุ่มแนวคิดในพื้นที่นี้อาจเป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคยมากนัก ด้วยข้อมูลที่จำกัดในหลายด้าน การสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่นี้จึงพูดได้ไม่เต็มปากว่าเราเข้าใจอย่างแท้จริงหรือไม่
ลี ขยายความเรื่องนี้ให้เราเข้าใจมากขึ้น ด้วยการแบ่งกลุ่มที่มีแนวคิดต่างกันออกไป 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ต้องการเอกราช กลุ่มที่ไม่สนับสนุนการแยกเอกราช และกลุ่มที่เป็นโจร
คนที่นี่เรียกคนที่ต้องการเอกราชว่า ญูแว (juwae) มีคนเข้าใจแนวคิดนี้อยู่ ซึ่งมุมหนึ่งผู้คนไม่ได้รู้สึกต่อต้าน คนที่รู้สึกเฉยๆ ก็แค่ไม่สนับสนุน“สิ่งที่เราพยายามสื่อสารตลอดคือ คุณจะเห็นด้วยกับเอกราชหรือไม่เอกราชไม่ใช่เรื่องสำคัญเลยในสังคมสมัยใหม่ แต่สิ่งสำคัญคือกระบวนการแบบไหนที่จะทำให้คนที่นี่ปลอดภัย เราจะทำอย่างไรให้คนติดอาวุธสู้กับรัฐ หรือคนที่ไม่เชื่อว่าแนวทางอื่นสามารถไปสู่เป้าหมายทางการเมืองของเขาได้จะเข้าสู่กระบวนการ”
“เรามีสิทธิกำหนดอนาคตตนเอง หรือเราเชื่อการทำประชามติแบบตะวันตกไหม จะได้พิสูจน์ไปเลยว่าคนที่นี่คิดแบบไหน ต้องมีกลไกสภาผ่านกฎหมาย ให้คนที่นี่เองเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะได้พิสูจน์กระบวนการประชาธิปไตย ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นแนวทางที่สังคมยอมรับได้”
5
วันสุดท้ายก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในช่วงเช้า เราออกเดินทางไปยังบ้านที่โอบล้อมไปด้วยสวนผลไม้ ที่ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ นั่นคือบ้านของ ก๊ะแยนะ หรือ แยนะ สะแลแม หญิงวัย 65 ปี แกนนำเรียกร้องสิทธิให้ผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ ที่ป่วยเส้นเลือดในสมองแตก และเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งตัว
อาการป่วยของก๊ะแยนะเพิ่งเป็นมาไม่ถึงปี ในตอนแรกที่ยังพูดไม่ได้ ก๊ะแยนะยังมีใจสู้ในการพยายามฟื้นฟูร่างกายเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ
“ได้เห็นวันนี้รู้สึกดีใจ ที่คนมาเยอะ (ยิ้มหัวเราะ)” คือคำพูดต้อนรับของก๊ะแยนะ
จากนั้นลูกสาวของก๊ะแยนะก็นำละไมและเงาะลูกโตจากสวนมารับแขก บ้านหลังนี้เป็นบ้านชั้นเดียว มีห้องรับแขกเป็นโถงกว้างอยู่หน้าทางเข้า ภายในบ้านมีเตียงผู้ป่วยที่ก๊ะแยนะนอนอยู่ พร้อมกับหลานแฝดตัวน้อยของก๊ะแยนะที่กำลังนอนหลับปุ๋ยอยู่ในเปล
กรอบภาพและโล่รางวัลของก๊ะแยนะถูกวางเรียงรายให้เราได้เห็น โดยส่วนใหญ่เป็นรางวัลที่ได้รับการยอมรับจากองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับประเทศ
“ถ้ากลัวก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะชาวบ้านเขากลัว เราคือตัวแทนของชาวบ้าน” ก๊ะแยนะกล่าว
ก๊ะแยนะ หรือ แยนะ สะแลแม หญิงวัย 65 ปี แกนนำเรียกร้องสิทธิให้ผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ
เดิมทีก๊ะแยนะทำอาชีพเย็บผ้า แต่ในเหตุการณ์ตากใบ ลูกชายของก๊ะแยนะเป็นหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดี 1ใน 58 คน ในระหว่างการดำเนินคดี ก๊ะแยนะคือผู้ที่เป็นคนประสานระหว่างคนในและคนนอก เป็นจุดเริ่มต้นให้เธอเริ่มฝึกภาษาไทย จากเดิมพูดเพียงภาษามลายู และหลังจากเกิดเหตุประมาณ 2 ปี สามีของก๊ะแยนะก็ถูกลอบสังหารยิงเสียชีวิต
“จุดที่ตัดสินใจมาเป็นแกนนำ เพราะว่าทุกคนมาขอคำปรึกษาจากก๊ะ สุดท้ายก็ตัดสินใจเป็นแกนนำ เพราะก๊ะเป็นคนที่กล้าที่สุด และรู้สึกดีที่ได้ช่วย นับตั้งแต่วันนั้นก็ให้การช่วยเหลือมาตลอด”
“สิ่งที่ยากที่สุดคือการคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเป็นเรื่องที่สร้างความเข้าใจยาก แต่ถ้าเราไม่ลดละความพยายามก็จะหาทางแก้ไขได้”
ก๊ะแยนะ เล่าว่า รัฐเข้าใจแต่ก็อยากให้ทุกคนทำตามที่เขาต้องการในการยอมรับการเสียชีวิตในวันนั้น ซึ่งเราทำใจไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่ยาก ในช่วงแรกมีเจ้าหน้าที่ข่มขู่ก๊ะแยนะ แต่เพราะเป็นผู้หญิงด้วย ถ้าเป็นผู้ชายคงโดนไปแล้ว หรือช่วงที่จะโดนจับก็มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงมาช่วยไว้
"ความพยายามตลอด 19 ปี อาจไม่ได้คืบหน้าเท่าที่ควร แต่ความพยายามของเราไม่ได้สูญเปล่า"
แม้ร่างกายอาจจะขยับไม่ได้ดั่งใจดังเดิม แต่แรงใจในการต่อสู้ของก๊ะแยนะไม่เคยลดลงเลย ความหวังของก๊ะแยนะที่ฝากทุกคนไว้ คือการที่กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าต่อไป