28 พฤศจิกายน 2022
ที่มา
บีบีซีไทยชาวจีนหลายร้อยคนรวมตัวชุมนุมกันในหลายเมืองใหญ่ทั่วประเทศ รวมถึงกรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้ เพื่อประท้วงนโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่เข้มงวดของรัฐบาล ถือเป็นการท้าทายอำนาจปกครองแบบเบ็ดเสร็จของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งสมัยที่ 3 เมื่อไม่นานมานี้ผู้ประท้วงต่างไม่พอใจกับยุทธศาสตร์รับมือโควิดของรัฐบาลจีน ที่ใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบเฉียบพลันในจุดที่พบผู้ติดเชื้อ รวมถึงการกักตัวที่ยาวนาน และการตรวจหาผู้ติดเชื้อหมู่
ความไม่พอใจที่สั่งสมมานาน ปะทุขึ้นอย่างรุนแรงในเมืองอุรุมชี เมืองเอกของภูมิภาคซินเจียง เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (24 พ.ย.) หลังเกิดเพลิงไหม้อะพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 คน ซึ่งประชาชนจำนวนมากมองว่า การเสียชีวิตดังกล่าว มาจากมาตรการโควิดที่ทำให้หน่วยดับเพลิงเข้าถึงพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้ไม่ทันการ
จากนั้น สถานการณ์ประท้วงเริ่มขยายตัวไปยังเมืองใหญ่อื่น ๆ ในจีน โดยเมื่อคืนวันอาทิตย์ (27 พ.ย.) ประชาชนอย่างน้อย 400 คน รวมตัวกันริมแม่น้ำในกรุงปักกิ่งนานหลายชั่วโมง พร้อมตะโกนว่า “เราทุกคนเป็นคนซินเจียง สู้ต่อไปชาวจีน”
“ฉันไม่กลัว เพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด เราไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เราทุกคนสู้กันอย่างหนักเพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า” ผู้ประท้วงคนหนึ่ง กล่าว
ชาวจีนออกมาประท้วงในหลายเมืองใหญ่
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกำลังเข้าควบคุมสถานการณ์การชุมนุมในช่วงเย็นวันอาทิตย์ พร้อมปิดล้อมถนน โดยมีรายงานการจับกุมผู้ประท้วงหลายคน ขณะที่เจ้าหน้าที่พยายามผลักดันให้ผู้ประท้วงสลายการชุมนุม
“ผมไม่เคยเห็นการประท้วงระดับนี้ในนครเซี่ยงไฮ้ ตลอด 15 ปีที่ผมอยู่ที่นี่มา” แฟรงค์ ไช่ ผู้สังเกตการณ์การประท้วง บอกกับบีบีซี พร้อมเสริมว่า ช่วงสองถึงสามทศวรรษที่ผ่านมา มีการประท้วงขนาดเล็กหลายหมื่นครั้ง ในประเด็นสิทธิแรงงาน และการเวนคืนที่ดิน แต่แทบไม่มีการประท้วงใดต่อต้านรัฐบาลกลางจีนโดยตรง
ล่าสุด ช่วงวันนี้ (28 พ.ย.) ทางการจีนได้วางแนวกั้นสีน้ำเงิน ตามถนนในนครเซี่ยงไฮ้ที่เป็นสถานที่ประท้วงในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ส่วนบรรยากาศการประท้วงตั้งแต่ช่วงเช้านั้น เริ่มคลี่คลายลงแล้ว
กระดาษเปล่ากลายเป็นสัญลักษณ์การประท้วงในจีน
ในการประท้วงมาตราการควบคุมโควิดที่เข้มงวดของรัฐบาลจีน ภาพของผู้ชุมนุมถือกระดาษเปล่าได้กลายเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงพลังต่อต้านของประชาชนในหลายเมือง เช่น นครเซี่ยงไฮ้ รวมถึงที่มหาวิทยาลัยชิงหวา ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นสถาบันที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เคยเข้ารับการศึกษา
การประท้วงด้วยการชูกระดาษเปล่านี้มีที่มาจากการประท้วงของชาวฮ่องกงในปี 2020 ซึ่งผู้ชุมนุมชูแผ่นกระดาษเปล่าเพื่อประท้วงการที่รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่บังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ที่เข้มงวดในฮ่องกง
การที่พวกเขาทำเช่นนี้ เพราะในตอนนั้นทางการได้ห้ามการชูแผ่นป้ายที่มีคำขวัญหรือข้อความที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงใหญ่ในปี 2019
หลายคนชี้ว่า การกระทำเช่นนี้ไม่เพียงจะเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการปิดปากกลุ่มผู้เห็นต่าง แต่ยังเป็นการท้าทายรัฐว่า “คุณจะจับกุมพวกเราเพียงเพราะถือแผ่นป้ายที่ไม่มีข้อความอะไรเลยหรือ”
ผู้ประท้วงหญิงคนหนึ่งในนครเซี่ยงไฮ้อธิบายให้บีบีซีฟังว่า “กระดาษว่างเปล่าไม่มีข้อความอะไรเลย แต่เราต่างรู้ดีว่ามันมีอะไรอยู่บนนั้น”
ส่วนจอห์นนี ผู้ร่วมการประท้วงวัย 26 ปีที่กรุงปักกิ่ง บอกสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า กระดาษเปล่า “เป็นตัวแทนของทุกอย่างที่เราอยากพูดแต่พูดไม่ได้”
เคอร์รี อัลเลน นักวิเคราะห์สื่อจีนของบีบีซี เฝ้าติดตามการเซ็นเซอร์ของทางการจีน และพบว่ามีการเซ็นเซอร์อย่างเข้มงวดตามสื่อโซเชียลมีเดีย
เธอระบุว่า มีโพสต์ 10 ล้านโพสต์ที่ถูกกรองออกจากผลการสืบค้น...แต่ “แผ่นกระดาษเปล่า” และ “กระดาษขาว” รอดพ้นจากการเซ็นเซอร์นี้
การเซ็นเซอร์ที่เข้มงวดนี้ได้สร้างความไม่พอใจให้ชาวจีนในโลกออนไลน์ที่ระบุว่า “ถ้าคุณกลัวกระดาษเปล่า ก็แสดงว่าคุณอ่อนแออยู่ข้างใน”
ด้านบริษัทผู้ผลิตกระดาษ Shanghai M&G Stationary ปฏิเสธข่าวลือว่าได้เก็บสินค้าประเภทกระดาษ A4 ออกจากชั้นขายสินค้าด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของชาติ โดยเจ้าหน้าที่บริษัทระบุว่าการผลิตและจำหน่ายยังคงดำเนินไปตามปกติ และได้แจ้งตำรวจเรื่องเอกสารปลอมที่กำลังแพร่สะพัดในโลกออนไลน์ซึ่งเป็นต้นตอของข่าวลือครั้งนี้
“เราหวังจะได้เห็นประชาธิปไตยที่แท้จริง”คนในกรุงปักกิ่งวางดอกไม้และจุดเทียนไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิตในเหตุเพลิงไหม้ที่เมืองอุรุมชี
ในการประท้วงที่นครเซี่ยงไฮ้ ซิเลอร์ ซัน ซึ่งทำงานในอุตสาหกรรมโฆษณาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า “ประชาชนรู้สึกไม่พอใจ พวกเราจึงต้องส่งสารถึงทางการเพื่อให้พวกเขาเริ่มรู้สึกไม่สบายใจบ้าง”
เขาเสริมว่า “คุณจะใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ก็ได้ แต่คุณจะไม่มีเศรษฐกิจที่ดี และคุณจะมีเศรษฐกิจที่ดีได้ แต่คุณไม่อาจใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์”
เลมาร์ วัย 20 ปีซึ่งกำลังเรียนเป็นผู้ฝึกสอนนักมวยได้เข้าร่วมการประท้วงในกรุงปักกิ่ง เขากล่าวว่า “พวกเรามาที่นี่เพื่อ...แสดงการคัดค้านมาตรการป้องกันโรคระบาด พวกเรามีชีวิตอยู่ในโลกเผด็จการ และสิ่งที่พวกเราหวังจะได้เห็นมากที่สุดในจีนคือการมีประชาธิปไตยและเสรีภาพที่แท้จริง”
ส่วน ซัมเมอร์ เคย์ ผู้ประท้วงวัย 24 ปีในกรุงปักกิ่งบอกว่า “โรคระบาดและข้อบังคับต่าง ๆ สร้างความทรมานให้พวกเราอย่างแสนสาหัส และตอนนี้ผู้คนว่างงานกันมากขึ้น มันยังกลายเป็นอุปสรรคต่อเด็กและคนชราในการเข้ารับบริการทางการแพทย์”
เธอกล่าวต่ออีกว่า “ถ้าพวกเรายังนิ่งเงียบต่อไป ฉันคิดว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลง...บางทีพรุ่งนี้ตำรวจอาจตามตัวพวกเราเจอจากข้อมูลที่เก็บได้ บางทีพวกเราอาจถูกจับกุมด้วยข้อหาแปลกประหลาดและหายตัวไป”
สื่อของรัฐบาลจีนไม่พูดถึงการประท้วงโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน นายจ้าว ลี่เจี้ยน กล่าวโทษ "บุคคลที่ไม่ประสงค์ดี" ที่เชื่อมโยงเหตุเพลิงไหม้ในภูมิภาคซินเจียง กับมาตรการโควิด
"มีบุคคลที่ไม่ประสงค์ดีในสังคมออนไลน์ เชื่อมโยงเหตุเพลิงไหม้กับมาตรการรับมือโควิด-19 ของรัฐบาลท้องถิ่น"
ด้านสื่อของรัฐบาลจีน ทั้งสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ที่เป็นภาษาจีน แทบไม่รายงานถึงการประท้วงต่อต้านมาตรการโควิดที่เกิดขึ้นในช่วง 2 วันที่ผ่านมาเลย
ส่วนหนังสือพิมพ์ภาคภาษาอังกฤษของรัฐบาลจีน คือ โกลบอลไทมส์ เผยแพร่บทความวิจารณ์สื่อชาติตะวันตกที่ปลุกเร้ากระแสความไม่พอใจต่อมาตรการโควิดเป็นศูนย์ของจีน
"อุดมคติที่ต่างกัน ทำให้ชาติตะวันตกและสื่อตะวันตกวิจารณ์รัฐบาลคอมมิวนิสต์จนเกือบจะเป็นสัญญาตญาณ ด้วยจุดมุ่งหมายล้มล้างระบอบการปกครองด้วยการปฏิรูป" โกลบอลไทมส์ รายงานโดยอ้างอิงคำกล่าวของนักวิชาการคนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยฟูตัน
ด้านสำนักข่าวซินหัว รายงานว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของประชาชน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการโควิดที่เข้มงวด
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนออกมาตอบโต้ คำกล่าวอ้างของรัฐบาลจีนว่า มี "ขุมพลังต่างชาติ" ปลุกปั่นให้เกิดความไม่พอใจในตัวรัฐบาล คล้ายกับเหตุการณ์ในอดีต ทั้งการประท้วงในฮ่องกง ซินเจียง ทิเบต และภูมิภาคอื่น ๆ
โพสต์หนึ่งในเว่ยป๋อ ซึ่งเป็นสังคมออนไลน์คล้ายทวิตเตอร์ในจีน ระบุว่า "มีขุมพลังต่างชาติจริงหรือ อาจจะ แต่คิดหรือว่า อำนาจต่างชาติจะจัดการประท้วงทั่วประเทศขนาดใหญ่ได้แบบข้ามคืนเช่นนี้ พวกเขาจ่ายเงินให้ประชาชนถือกระดาษขาวหรือ ถ้าคิดเช่นนั้นก็ถือว่าดูถูกเครือข่ายสังเกตการณ์ของพวกเราไปหน่อย" โพสต์นี้มีคนกดไลค์ถึง 28,000 ครั้ง
ความท้าทายต่อสี จิ้นผิงศาสตราจารย์ โฮ-ฟุง โห สาขาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์นฮอบกินส์ในสหรัฐฯ วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจีนช่วงไม่กี่วันมานี้ ถือเป็น “สถานการณ์ที่ท้าทาย” สำหรับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
และแม้การประท้วงเป็นวงกว้างจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกมากนักในจีน แต่สิ่งที่เกิดขึ้น “ถือเป็นบททดสอบสำคัญแรกต่อการปกครองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง” เพราะผู้ประท้วงหลายคนออกมาประกาศชัด เรียกร้องให้นายสี ลงจากอำนาจ
“ประธานาธิบดีสี ต้อนตัวเองจนมุม” ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ด้วยการเดินหน้าใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ ที่ไม่มีกำหนดสิ้นสุดที่ชัดเจน จนทำให้คนรุ่นใหม่ ชนชั้นกลาง รวมถึงชนชั้นสูงบางคน เริ่มหมดความอดทน
ด้าน สตีเฟน แมคโดเนลล์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำประเทศจีน ระบุว่า การแสดงท่าทีต่อต้านไม่ใช่เรื่องผิดปกติในจีน เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวจีนออกมาประท้วงเพื่อแสดงความไม่พอใจในเรื่องต่าง ๆ อยู่เนือง ๆ ตั้งแต่ปัญหามลพิษไปจนถึงการยึดที่ดินอย่างผิดกฎหมาย หรือการที่ตำรวจปฏิบัติต่อประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม
แต่การประท้วงที่กำลังลุกลามขยายวงในหลายพื้นที่ของจีนนั้นมีความแตกต่างออกไป
การประท้วงในขณะนี้เกิดจากความคับข้องและเหนื่อยหน่ายใจที่ชาวจีนจำนวนมากรู้สึกตรงกัน หลายคนเก็บความอัดอั้นตันใจนี้ไม่ไหวอีกต่อไป และนำไปสู่การประท้วงเป็นวงกว้างต่อมาตรการควบคุมโควิดอย่างเข้มงวดของทางการ
ความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้สะท้อนออกมาในรูปของการทำลายแนวกั้นที่ถูกออกแบบมาเพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม ตลอดจนการลุกฮือขึ้นประท้วงตามมหาวิทยาลัยและหลายเมืองใหญ่ทั่วประเทศ อาทิ กรุงปักกิ่ง และนครหนานจิง
จับกุมนักข่าวบีบีซีบีบีซีรายงานว่า หนึ่งในทีมข่าวที่ติดตามสถานการณ์การชุมนุมในจีน ถูกตำรวจทำร้ายและจับกุม ระหว่างการทำข่าว โดยบีบีซีออกแถลงการณ์ว่า “บีบีซีวิตกกังวลอย่างมากต่อการปฏิบัติต่อนักข่าวของเรา เอ็ด ลอว์เรนซ์ ที่ถูกจับกุมและใส่กุญแจมือ ระหว่างติดตามทำข่าวการประท้วงในนครเซี่ยงไฮ้”
ลอว์เรนซ์ เป็นผู้สื่อข่าวบีบีซีที่ประจำอยู่ในประเทศจีน โดยตำรวจได้ควบคุมตัวเขาเป็นเวลาหลายชั่วโมง บีบีซีระบุในแถลงการณ์ว่า ในช่วงเวลาที่เขาถูกควบคุมตัวอยู่นั้น ตำรวจได้ทำร้ายและเตะเขา ก่อนที่จะปล่อยตัวในเวลาต่อมา
“การที่นักข่าวของเราถูกทำร้าย ระหว่างปฏิบัติหน้าที่นั้น เป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างมาก” บีบีซี กล่าวในแถลงการณ์
“ทางการจีนยังไม่ออกมาชี้แจงหรือขออภัยต่อพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น มีเพียงเจ้าหน้าที่ที่ออกมาอ้างว่า จับกุมนักข่าวของเราเพื่อความปลอดภัยของเขาเอง เพราะอาจติดโควิดจากฝูงชนได้... ซึ่งเราไม่ถือว่าเป็นคำชี้แจงที่มากเพียงพอ”
นายเจมส์ เคลเวอร์ลี รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร
ทวีตข้อความแสดงความ “วิตกกังวลอย่างยิ่ง” ต่อการจับกุมผู้สื่อข่าวบีบีซี โดยระบุว่า “เสรีภาพสื่อมวลชนและเสรีภาพการประท้วงจะต้องได้รับการเคารพ ไม่มีประเทศใดได้รับการยกเว้น...ผู้สื่อข่าวต้องทำงานได้โดยไม่ถูกข่มขู่คุกคาม”
ด้านนายแกรนต์ แชปป์ส รัฐมนตรีผู้กำกับดูแลด้านธุรกิจของสหราชอาณาจักร ระบุว่า รัฐบาลค่อนข้างกังวลกับการจับกุมผู้สื่อข่าวบีบีซีครั้งนี้
เขาให้สัมภาษณ์กับช่องสกายนิวส์ของอังกฤษว่า “ไม่อาจมีข้อแก้ตัวใด ๆ ต่อกรณีที่ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งซึ่งรายงานข่างการประท้วงจะถูกตำรวจทำร้าย และนี่เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก”
ขณะที่นายจ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนไม่ได้ชี้แจงกรณีที่ผู้สื่อข่าวซึ่งได้รับมอบหมายให้รายงานข่าวการประท้วงถูกตำรวจใช้ความรุนแรงและจับกุม
เขาระบุเพียงว่า “ข้อมูลที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในเซี่ยงไฮ้บ่งชี้ว่า เขา (เอ็ด ลอว์เรนซ์) ไม่ได้แสดงตนเป็นผู้สื่อข่าว และไม่ยอมแสดงบัตรสื่อมวลชนของเขา”
นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนในขณะที่ทั่วโลกเริ่มปรับใช้นโยบายเพื่ออยู่ร่วมกับโควิด-19 แต่จีน ยังคงดำเนินนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” อย่างเข้มงวด ด้วยเหตุผลว่า เพื่อรักษาชีวิตของประชาชน เพราะหากควบคุมการระบาดไม่ได้ จะทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เป็นอันตราย
มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดในจีนค่อนข้างต่ำ นับแต่เกิดการระบาดใหญ่ โดยยอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการอยู่ที่กว่า 5,200 คน หรือเฉลี่ยแล้ว มีผู้เสียชีวิตราว 3 คน ต่อประชาชน 1 ล้านคนในจีน
จีนดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์มายาวนาน
ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำจีน วิเคราะห์ว่า รัฐบาลจีนเองดูเหมือนจะประเมินกระแสความไม่พอใจของประชาชนต่อนโยบายโควิดเป็นศูนย์ต่ำเกินไป ซึ่งนโยบายนี้เป็นสิ่งที่นายสีเพิ่งประกาศจะยึดถือต่อไปโดยไม่มีการผ่อนปรนใด ๆ ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันก็ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องง่ายที่พรรคคอมมิวนิสต์จะหลุดพ้นจากปัญหาที่ตนเองสร้างขึ้น
เป็นเวลา 3 ปีมาแล้วที่จีนเตรียมเปิดประเทศจากมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด แต่แทนที่จะสร้างหน่วยดูแลผู้ป่วยอาการวิกฤต หรือไอซียูเพิ่ม และเน้นการให้วัคซีนต้านโควิดแก่ประชาชน แต่จีนกลับทุ่มเททรัพยากรมหาศาลไปกับการตรวจคัดกรองโรคเป็นวงกว้าง การสั่งล็อกดาวน์ และการทำศูนย์กักโรค เพื่อทำสงครามกับเชื้อไวรัสที่ไม่มีวันจะหมดสิ้นไป