นักศึกษารุ่นพี่รับน้องจับกรอกเหล้า บังคับคว่ำหน้าอัดพื้นทรายจนสำลักและอาเจียนออกมาเป็นเลือด ก่อนขาดใจตายคาชายหาดเขาเต่า หัวหิน
เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (30 ส.ค.) ร.ต.ท.จารึก คงกระเรียน ร้อยเวรสอบสวน สภ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ รับแจ้งจากโรงพยาบาลกรุงเทพ หัวหิน เขตเทศบาลเมืองหัวหิน ว่ามีนักศึกษาจมน้ำทะเลเข้ามารักษาตัวแต่เสียชีวิต จึงรุดไปตรวจสอบพบศพนักศึกษา ปวช.ชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยย่านปทุมธานี เสียชีวิตในสภาพร่างกายซีดเซียว เลือดออกปาก มีทรายติดเต็มตามลำตัว คาดเสียชีวิตมาแล้วราว 1 ชม. เบื้องต้นคาดว่าเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ ก่อนนำศพส่งสถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ให้แพทย์ผ่าพิสูจน์อีกครั้ง
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทราบว่า ก่อนหน้านั้นมีรถปิกอัพยี่ห้ออีซูซุ สีบรอนซ์เงิน มีวัยรุ่นชายหญิง 5-6 คน สวมเสื้อช็อป นำร่างคนเจ็บที่นอนไม่ได้สติมาด้านหลังกระบะบอกว่าจมน้ำทะเล ก่อนทั้งหมดขับรถหนีออกจากโรงพยาบาลไปอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่จึงรีบนำตัวผู้ป่วยเข้าห้องฉุกเฉินเพื่อช่วยชีวิต แต่พบว่าเสียชีวิตก่อนหน้าแล้ว
จากการสอบสวนทราบว่าผู้ตายเดินทางมารับน้องใหม่กับเพื่อนๆ นักศึกษา โดยไม่มีอาจารย์มาด้วย ที่หาดทรายน้อย หมู่บ้านเขาเต่า ต.หนองแก อ.หัวหิน และเข้าพักที่บ้านพักซึ่งอยู่ใกล้ทะเล จึงสอบถามทราบว่าผู้ตายมาเข้าพักกับเพื่อนนักศึกษารวมกว่า 20 คน เมื่อคืนที่ผ่านมา หลังเปิดห้องพักทั้งหมดก็เดินถือเสบียงของกินไปที่บริเวณชายหาดทรายน้อย จนรุ่งเช้าจึงทราบว่ามีนักศึกษาเสียชีวิต
เบื้องต้นคาดว่าขณะนอนคว่ำหน้ากับพื้นทรายผู้ตายเกิดสำลักหายใจไม่ทัน ทำให้เสียชีวิตดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ตำรวจยังไม่ตั้งข้อหาใคร ต้องรอเรียกนักศึกษาที่อยู่ในเหตุการณ์มาสอบปากคำเพิ่มเติม รวมทั้งรอผลการชันสูตรศพจากแพทย์อีกครั้ง
ขณะที่บิดามารดาผู้ตายได้เดินทางมาดูศพลูกชายด้วยอาการเศร้าโศก ระบุว่า ตนมีลูกคนเดียว ก่อนเกิดเหตุลูกชายได้มาขอไปเที่ยวทะเลกับเพื่อนๆ รุ่นพี่ที่วิทยาลัย ตนเห็นว่าลูกโตแล้วน่าจะรับผิดชอบตัวเองได้ จึงอนุญาต แต่ไม่นึกว่าจะมาเสียชีวิตแบบนี้ ทั้งนี้ ลูกชายเคยมีประวัติโรคประจำตัวคือ โรคลูคีเมีย แต่รักษาหายแล้วเมื่อ 4 ปีก่อน.
-สำนักข่าวไทย
Phattita CherAiem
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2554 ได้มีการจัดเสวนาเรื่อง “วัยรุ่น วัฒนธรรม และอำนาจนิยม” ขึ้น ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารห้องสมุดคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการเสวนาแบ่งเป็น 2 ช่วง ในช่วงแรกมีหัวข้อว่า “ชีวิต วัฒนธรรม และกิจกรรมนักศึกษา” มีวิทยากรคือ รศ.ดร. อำนาจ อยู่สุข รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษาและกิจกรรมพิเศษ, นายเมธิชัย โอบอ้อม นายกสโมสรนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์, นายอานนท์ พลแหลม นายกสโมสรนักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย อ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว ซึ่งในตอนที่ 2 นี้จะกล่าวถึงช่วงที่ 2 ที่มีหัวข้อว่า “รับน้อง พิธีกรรม ผลิตซ้ำอำนาจนิยม?” มีวิทยากรคือ ศ.ดร. ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์, นางสาวรวีพร ดอกไม้ นักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ และนายธนพงษ์ หมื่นแสน แนวร่วมนักเรียน นิสิต นักศึกษาเสรีชนล้านนา และกลุ่มนักศึกษาผู้ไม่เห็นด้วยกับวัฒนธรรมความรุนแรง
Order คือระบบชนชั้นตั้งแต่ยุคขุนนาง นางสาวรวีพร ดอกไม้ จากสาขาวิชาไทยศึกษา คณะสังคมศาสตร์ กล่าวถึงความเป็นมาของระบบโซตัสที่ถูกนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย ซึ่งจริงๆ เป็นระบบที่มีมาตั้งแต่ยุคจารีตประเพณีหรือยุคขุนนางศักดินา (Feudal) แล้ว อย่างตัวย่อของโซตัสเช่น S ที่มาจากคำว่า Seniority ก็เป็นเรื่องชนชั้นทางสังคม ส่วยคำว่า O ซึ่งมาจาก Order ไม่ได้แปลว่าคำสั่งอย่างที่หลายคนเชื่อกัน แต่มาจากคำว่า Social Order หรือมิติทางสังคมที่จะนำมาใช้กับระบบทางชนชั้น เพื่อสถาปนาอำนาจสร้างตัว T คือ Traditional ขึ้นมา โดยชนชั้นนำเชื่อว่าหากสร้างประเพณีได้แล้ว ก็จะสามารถสร้างความชอบธรรมและครอบงำชนชั้นที่อยู่ต่ำกว่าของตัวเองได้ เพื่อจะนำไปสู่ Unity หรือจุดร่วมเดียวกัน เนื่องจากประเพณีเองก็มีความหลากหลาย
รวีพรกล่าวต่อว่า ระบบนี้เข้ามาทางสังคมไทยในช่วงทศวรรษ 2440 ช่วงนโยบายปฏิรูปการศึกษาของรัชกาลที่ 5 โดยใช้ในระบบข้าราชการ นำมาใช้กับโรงเรียนมหาดเล็ก ก่อนจะสถาปนาเป็นโซตัสในช่วงปี 2480 จนถึงช่วง 2490 เป็นช่วงยุคของจอมพล ป. เป็นยุคลัทธิอาณานิคมจากภายนอก ซึ่งก็มีลัทธิต้องเชื่อผู้นำ
วสันต์ ผู้ดำเนินรายการกล่าวเสริมรวีพรว่า ระบบโซตัสเป็นเรื่องที่ผลิตซ้ำ ตอกย้ำ ระบบโครงสร้างอำนาจบางอย่าง แต่ว่าเมื่อมันถูกนำมาแปลงเข้าสู่ระบบของนักศึกษา ก็ถูกดัดแปลงจากคณะต่างๆ เอาไปใช้ไม่เหมือนกัน ความหลากหลายพวกนี้เรารับรู้กันอยู่ “แต่มันมีอะไรมากกว่านี้หรือไม่ในยุคสมัยใหม่ที่ข่าวสารแพร่ได้ง่ายขึ้น อยู่ในสังคมที่เรียกตัวเองว่าเป็นสังคมประชาธิปไตย”
วสันต์ตั้งคำถาม รวีพรกล่าวถึงกรณีของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ถูกโยนบกและการฆ่าตัวตายของนิสิตนักศึกษาทำให้สถาบันอุดมศึกษาสั่งยกเลิกกิจกรรมการรับน้องไป โดยบอกว่ามันได้แสดงให้เห็นว่าเป็นประเพณีที่สอดแทรกความรุนแรงเอาไว้ คล้ายเป็นมรดกตกทอดที่ยังคงหลงเหลือไว้ในระบบการศึกษาของประเทศไทย ห้ามรู้ ห้ามคิด ห้ามถาม เป็นรั้วทึบใหญ่ของการศึกษาไทย
ธนพงษ์ หมื่นแสน แนวร่วมนักเรียน นิสิต นักศึกษาเสรีชนล้านนา และกลุ่มนักศึกษาผู้ไม่เห็นด้วยกับวัฒนธรรมความรุนแรง เริ่มต้นโดยกล่าวว่าการที่พวกเรามารวมกันในวันนี้เกิดจากความคิดที่หลากหลาย มันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยที่อ้างนักอ้างหนาว่าเป็นวิถีประชาธิปไตยจ๋า ทุกอย่างในสังคมเป็นเบ้าหลอม ที่หล่อหลอมให้สังคมเกิดการถ่ายทอดอุดมการณ์ ความคิด วิธีคิดทางสังคม ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ที่จะพูดถึงเรื่องการศึกษาให้เชื่อมโยงกับการเมือง เพราะการผลิตซ้ำแนวคิดทางสังคมยังมีการใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการส่งผ่านอุดมการณ์
ธนพงษ์ กล่าวต่อว่า เสรีภาพเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการนำไปสู่เรียนรู้สิ่งต่างๆ อย่างไม่มีการกำหนดขอบเขต “ผมเชื่อในหลักธรรมิกสังคมนิยมของท่านพุทธทาส (พุทธทาสภิกขุ)” ธนพงษ์กล่าว “การที่มาบอกว่าห้ามรู้ ห้ามคิด ห้ามถาม ห้ามกระทั่งตั้งข้อสงสัย นั่นคือการขีดกรอบทางสังคมเป็นรั้วทึบใหญ่ๆ ให้การศึกษาในสังคมไทยไร้เสรีภาพอย่างแท้จริง” หลักสูตรแฝงจากพิธีกรรมแสดงความเป็นเจ้าของสถาบันการศึกษา ธนพงษ์บอกอีกว่า วัฒนธรรมการรับน้องแบบไทยนั้น มันเป็นฐานรากของสังคมเผด็จการอำนาจนิยมยุคใหม่ ที่ยังซ่อนอยู่ในระบบการศึกษาไทยแม้ว่าการรับน้องจะไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาไทย แต่ในทางทฤษฎีนั้นเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นหลักสูตรแฝง “มันแฝงมาในทุกๆ ปริมณฑลชีวิตของการเป็นนักศึกษา มันแฝงมาในทุกๆ กิจกรรม” ธนพงษ์กล่าว
จากนั้นธนพงษ์ก็ได้กล่าวถึงการรับน้องแบบไทยๆ ที่มีการยึดถือความเป็นสถาบันการศึกษาซึ่งผูกขาดความเป็นเจ้าของ และการที่รุ่นน้องจะเข้าร่วมเป็นเจ้าของได้ต้องผ่านพีธีกรรมบางอย่าง “แล้วเจ้าของคือใครล่ะ คือผู้ที่เข้ามาอยู่ในสาระบบนั้นก่อนใช่หรือไม่ เจ้าของคือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับระบบนั้นหรือไม่ แล้วคำถามที่ตามมาก็คือรุ่นน้องเป็นเจ้าของสถาบันนั้นหรือไม่” ธนพงษ์ตั้งคำถาม “หรือการที่รุ่นน้องจะเข้าไปเป็นเจ้าของในสถาบันนั้นจำต้องผ่านระบบพิธีกรรมการสถาปนา แล้วคุณถึงจะเข้าไปมีสิทธิเต็มที่
ภาษาแบบพวกเราก็คือได้รุ่น ได้พรรค ได้พวก แต่ถ้าคนที่อยู่นอกสาระบบนั้นคือหมดสิทธิ์” ธนพงษ์กล่าว เปลือกอันว่างเปล่าของสถาบันการศึกษา ธนพงษ์ มองว่าสถาบันการศึกษามันไม่ได้มีชีวิตในตัวของมันเอง แต่ที่แท้จริงแล้วมันถูกสร้างมาเพื่อการรับใช้อะไรบางอย่าง และตั้งคำถามว่ามันได้รับใช้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจตามวิถีทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่? อย่างไร? “ถ้าหากเรารักษาเปลือกอันว่างเปล่าของสถาบัน(การศึกษา)เอาไว้ โดยต้องสูญเสียความเป็นคน หรือความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพของบุคคลที่มันมีมาแต่กำเนิด มันอยู่กับตัวเรา มันชอบธรรมแล้วหรือที่จะต้องไปถูกลิดรอนเมื่อคุณจะเข้าไปสู่สถาบันใดสถาบันหนึ่ง” “สิทธิเสรีภาพของคนเราถูกลดทอนได้หรือไม่ นี่เป็นคำถามที่ต้องฝากไปถึงปัญญาชน ผู้ที่คนทั้งหลายยกย่องว่าเป็นผู้มีความรู้ และเป็นอนาคตแห่งการชี้นำสังคม และที่สำคัญเขาบอกว่าคนพวกนี้จะมีปัญญาเป็นเลิศ ในการสร้างสรรค์วัฒนธรรม”
ธนพงษ์กล่าว ขอบคุณที่สอนให้รู้จัก ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ ธนพงษ์กล่าวถึงประเด็นเรื่องเหตุใดกลุ่มรุ่นพี่ถึงคิดอยากถ่ายทอดสืบต่อประเพณีการรับน้องโดยแบ่งเป็น 3 ประการคือ ประการที่ 1 คือการกระทำของพวกเขาเหล่านั้นวางอยู่บนฐานของความรักที่จะมอบให้น้องใช่หรือไม่? ประการที่ 2 ปัญญาชนเหล่านั้นต้องการจะดำรงวัฒนธรรมที่เก่าแก่ของสังคมไทยเพื่อไม่ให้สูญสลายไปกับกาลเวลา วัฒนธรรมนั้นคือการธำรงสภาวะความเป็นชนชั้น หรือ Social Order ในระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง ประการที่ 3 ธนพงษ์บอกว่าเราควรเคารพนับถือบุคคลเหล่านั้น เพราะพวกเขาทำให้พวกเราได้นึกถึงระบอบ ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ “แล้วรุ่นน้องผิดอะไรถึงต้องทำให้เขามีสิทธิ์เป็นศูนย์ เพียงแค่เขามาทีหลังเราใช่หรือไม่?” ธนพงษ์ตั้งคำถาม
ไม่มี รธน. ข้อไหนอนุญาตให้รุ่นพี่มีอำนาจด่ารุ่นน้อง ธนพงษ์กล่าวว่า หากจะมองคำว่า ‘อำนาจ’ นั้นเราควรจะพิจารณาจากแง่มุมของรัฐธรรมนูญหรือตัวกฎหมาย ฉะนั้นการที่จะสร้างอำนาจเพื่อเป็นเครื่องกีดกันทางสังคม ผู้ที่กระทำเช่นนี้ไม่ได้มีกฎหมายรองรับ ไม่มีการบรรจุในรัฐธรรมนูญว่ารุ่นพี่มีอำนาจด่ารุ่นน้อง ธนพงษ์มองว่า เครื่องมือที่กลุ่มรุ่นพี่ใช้นำมาสร้างอำนาจ มีอยู่ช่องทางเดียวคือรหัสนักศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าคนที่มาก่อนมีอำนาจกว่า แสดงให้เห็นลำดับขั้นทางสังคมในมหาวิทยาลัย โดยการสถาปนาอำนาจเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้จากการที่ “เธอจะเข้ามาเป็นพวกเดียวกับฉันได้ เธอต้องผ่านกระบวนการแบบเดียวกับฉัน” สังคมประชาธิปไตยต้องยอมรับความต่าง “ผมไม่พูดว่ารับน้องดีหรือไม่ดี ผมไม่ขอแสดงความคิดเห็นในที่นี้” ธนพงษ์กล่าว
เขามองว่าปัญหาอยู่ที่ฝ่ายรุ่นพี่จะสามารถยอมรับคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรับน้องได้แค่ไหน “แต่สังคมประชาธิปไตยมันต้องมีความแตกต่างเป็นธรรมดา” ธนพงษ์กล่าว “ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่ารุ่นน้องจะเอารุ่นหรือไม่เอารุ่น รุ่นน้องจะทำตัวแปลกแยก ปัญหาอยู่ที่ว่าคนที่กำหนดวิถีประชานั้นๆ ยอมรับได้หรือไม่ที่จะให้พื้นที่ความแตกต่างเกิดขึ้นในสังคม คุณยอมได้หรือไม่” รับน้องถ้าดีจริง ต้องตรวจสอบได้ ธนพงษ์บอกว่า แต่จากข่าวคราวที่เขาทราบมาเช่นกรณีที่ ม.มหาสารคาม พบว่าคนกลุ่มนี้รับไม่ได้ และมีการห้ามถ่ายรูป “ถามว่าคุณเอาบรรทัดฐานอะไรมาวัดว่าไม่ให้คนถ่าย ถ้าคุณดีจริงคุณต้องกล้าเปิดเผยสิครับ” ธนพงษ์กล่าว “ถ้าคุณดีจริง คุณต้องเปิดโอกาสให้คนอื่นวิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถาม”
ธนพงษ์มองว่าใครจะเอารุ่นหรือไม่เอารุ่นก็เป็นสิทธิของคนๆ นั้น ว่าเขาอยากเอารุ่นหรือไม่เอารุ่น คนที่พร้อมใจที่จะไปโดนว๊าก ก็เป็นสิทธิ์ของคุณที่จะไป ขณะเดียวกันมันก็เป็นสิทธิของคนที่ไม่เอาด้วยเช่นเดียวกัน แต่การที่ไม่เอานั้นยอมรับได้หรือไม่ในสังคมทุกวันนี้ เพราะยังมีการลงทัณฑ์ (Sanction) ทางสังคม ใช้วิธีการล่าแม่มด มีการกล่าวว่าการว๊ากทำให้น้องมีระเบียบวินัย ทำให้คนรักกัน ซึ่งธนพงษ์ก็ให้ความเห็นเป็นในเชิงสีสันการเสวนาว่า “เป็นไปได้ไหมว่าเราจะเอาคนว๊ากเก่งๆ ไปล้อมนักการเมืองในสภา 400-500 คน แล้วว๊ากให้รักกันสามัคคีกัน ถ้าทำได้อย่างนั้นผมจะเชื่อเลย”
ธนพงษ์ กล่าวอีกว่า ถ้าหากใช้การว๊ากหรือระบบใดๆ ก็ตามเข้ามาควบคุมให้สังคมมีระเบียบแล้ว แม้จะทำให้สังคมในมหาวิทยาลัยมีวินัย แต่การว๊ากก็ไม่ได้มีการนำไปใช้กับแม่ค้าหลังมหาวิทยาลัย เพราะเขาไม่ได้ผ่านระบบการสถาปนาเช่นนี้ พื้นที่ของมหาวิทยาลัยก็ไม่เหมือนพื้นที่ข้างนอก “ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยมีการสถาปนาความเป็นรัฐอิสระขึ้นมาหรือเปล่า” ธนพงษ์ตั้งคำถาม “มันมีกฎมันมีวิธีการ หลักการที่ปฏิเสธหลักรัฐธรรมนูญว่าด้วยหลักสิทธิเสรีภาพหรือเปล่า”
ธนพงษ์เปิดเผยอีกว่าบางคณะมีการให้น้องเซนต์สัญญาเพื่อแสดงความยินยอมให้มีการว๊ากเพื่อป้องกันการฟ้องกลับ การสถาปนารัฐอิสระขึ้นในมหาวิทยาลัยถูกทำให้ดูวิลิศมาหรา บางมหาวิทยาลัยถึงขั้นมีเพลงชาติประจำมหาวิทยาลัย โซตัสเป็นวิธีคิดระดับกลุ่มย่อย แต่ไทยเราเอามาใช้ทั้งประเทศ
ศ.ดร. ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ แนะนำให้ผู้เข้าฟังเสวนาไปอ่านหนังสือที่ชื่อ ‘รับน้อง’ ซึ่งตัว ศ.ดร. ธเนศวร์ เองเคยเขียนไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว จากนั้นจึงตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อสมัยที่มีการนำโซตัสมาใช้ในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาก็มีการนำไปใช้กับบางสถาบันเท่านั้น เช่นสถาบันทหาร เพื่อเน้นผลลัพธ์ของการทำงานอย่างมีวินัย การผนึกกำลังกัน แต่พอมีการนำมาใช้ในไทยก็ลามออกไปทั่วประเทศ “จุดนี้เป็นปัญหาของเรา ระบบการศึกษาของเรารับเอาวิธีคิดในระดับที่เป็นไมโคร (ระดับย่อย) ของตะวันตกมาใช้ในระดับทั้งประเทศ”
ธเนศวร์ กล่าว ชมรม ‘รับน้อง’ ในสหรัฐฯ ธเนศวร์กล่าวต่อว่าในมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ มักจะมีชมรมอยู่ 2 ชมรมคือ Sorority กับ Fraternity (แปลว่า ‘สมาคมสตรี’ กับ ‘สมาคมบุรุษ’ ตามลำดับ) โดยสองชมรมนี้จะมีอาคารเป็นของตนเองเกิดจากรุ่นพี่ศิษย์เก่าที่รักชมรมนี้ออกงบสร้างให้ ผู้ที่สมัครเข้าชมรมนี้จะเข้ามาอยู่ด้วยกัน เรียนหนังสือด้วยกัน แล้วรุ่นพี่จะมีบทบาทสำคัญในการดูแลและอบรมบ่มเพาะน้อง เช่น ซักผ้า เช็ดรองเท้าให้ เป็นต้น ธเนศวร์เล่าต่อว่า ตอนเช้าชมรมนี้จะแต่งชุดเขียวๆ คล้ายทหาร เดินอย่างสง่างามเป็นแถว มีหยุดซ้ายหันขวาหัน ก่อนจะแยกย้ายกันขึ้นตึกเรียน
แต่ลักษณะของการรับน้องเช่นนี้มีความเป็นชมรมที่อาศัยความสมัครใจเข้าร่วมเป็นสำคัญ และมีระบบรุ่นพี่รุ่นน้องที่ทำให้รุ่นน้องได้งานดีๆ เมื่อจบออกไปแล้ว “มันเกิดมาแบบชมรมแล้วก็อยู่กันอย่างชมรม มันไม่ได้กระทบกับชีวิตของนักศึกษาปีหนึ่งทั้งหมด” ธเนศวรกล่าว
ธเนศวร์เล่าถึงชมรม Sorority กับ Fraternity ต่ออีกว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็มีรุ่นพี่ที่กระทำกับรุ่นน้องรุนแรงเกินไป จนเกิดการบาดเจ็บ บางรายเสียชีวิต จนกระทั่งหลายรัฐ ในสหรัฐฯ ออกกฎหมายไม่ให้มีชมรม 2 ชมรมนี้อีก เพราะแม้ว่าน้องจะยินยอม แต่ก็เกิดความเสียหาย มหาวิทยาลัยแต่เดิมสร้างเพื่อรับใช้ระบบราชการ ธเนศวร์กลับมาพูดถึงเมืองไทย ในยุคสมัย 2480-2490 ที่มีคนไปเรียนต่างประเทศกลับมาในประเทศไทยก็เข้ามาเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จากนั้นก็เข้ามาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เนื่องจากสมัยก่อนคนที่แค่จบปริญญาตรีก็มีศักดิ์ศรีมากแล้ว ตัวมหาวิทยาลัยในสมัยนั้นก็ต้องการผลิตคนเข้ามารับใช้ในระบบราชการ คนที่สอนก็จะเป็นข้าราชการระดับสูงและพูดถึงความยิ่งใหญ่อลังการณ์ของความเป็นข้าราชการ “ฉะนั้นมหาวิทยาลัยอื่นในสมัยนั้นยกเว้นธรรมศาสตร์ก็เกิดขึ้นมาเพื่อรับใช้ระบบราชการ”
ธเนศวร์ ธเนศวร กล่าวต่อในประเด็นเดียวกันว่า หลังจากนั้นก็มีการสร้างความภาคภูมิใจในสถาบันอุดมศึกษาของตนเอง และไปรับเอาไอเดียจากต่างประเทศ ก็เลยรู้สึกว่าตนมีส่วนในความเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัย รู้สึกเป็น ‘ใครสักคน’ (Somebody) ในสังคม เมื่อมองเห็นน้องจึงรู้สึกว่าเขา ‘เป็นน้องอยู่’ ทั้งที่อายุต่างกันไม่มาก หรือปีหนึ่งบางคนอาจแก่กว่ารุ่นพี่ แต่การสร้างความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องเช่นนี้นำไปสู่บรรยากาศการรับน้อง เกิดการขยายอำนาจสิทธิต่างๆ เกิดการสร้างระบบสถาบันที่ละชั้นๆ ธเนศวร์ ยังได้เล่าถึงประสบการณ์เรื่องการรับน้องในมหาวิทยาลัยหลายๆ มหาวิทยาลัยที่มีความแตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่และเวลา โดยมีอยู่เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดที่มีการรับน้องด้วยการให้น้องมายืนเรียงอาบน้ำกลางถนนทั้งสายทำให้คนไม่กล้าสัญจรไปมา ธเนศวร์มองว่าสิ่งที่แสดงให้เห็นความมีอภิสิทธิ์ โดยอาศัยระบบของมหาวิทยาลัย เมื่อประเทศเรายังไม่เป็นประชาธิปไตย จะเอาอะไรกับอำนาจนิยมในมหาวิทยาลัย
ธเนศวร์ตั้งข้อสังเกตว่า การที่สถาบันเชียร์ สถาบันการว๊ากน้องยังคงดำรงอยู่ได้ เหตุผลหนึ่งมาจากระบบการเมืองของประเทศไทยที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย หรืออาจจะเป็นประชาธิปไตย ‘นิดๆ หน่อยๆ’ เท่านั้น “ตลอด 79 ปีที่ผ่านมา เรามีแต่ระบอบประชาธิปไตยที่ถูกข่มขืน ทำลายข่มเหง ครั้งแล้วครั้งเล่า เรามีการรัฐประหารถึง 18 ครั้ง มีการฉีกรัฐธรรมนูญมาแล้ว 18 ครั้ง เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้บ่งบอกว่าเราไม่มีประชาธิปไตย” ธเนศวร์ กล่าว ธเนศวร์ตั้งข้อสังเกตอีกว่า ความไม่มั่นคงของระบอบประชาธิปไตยไทยแสดงให้เห็นจากการที่รัฐบาลพลเรือนที่อยู่ครบวาระมีเพียงครั้งเดียวคือรัฐบาลไทยรักไทย ขณะที่รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารอย่างเช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม, จอมพลถนอม กิตติขจร, พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นกลุ่มอำมาตยาธิปไตยกลับครองตำแหน่งยาวนาน “ความไม่มั่นคงทางการเมืองประชาธิปไตยของไทย เปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาซึ่งเต็มไปด้วย ศ. ผศ. รศ. และบัณฑิตผู้เก่งกล้าสามารถของประเทศเราอยู่ยาวที่สุดและมีอำนาจมากที่สุด” ธเนศวร์กล่าว
จากนั้นธเนศวร์จึงกล่าวเปรียบเทียบงบประมาณของมหาวิทยาลัยกับงบประมาณบริหารจังหวัดว่าว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีงบประมาณ 7 พันกว่าล้านบาท จังหวัดเชียงใหม่มีประชากรทั้งหมด 1,600,000 คน อบจ. มีงบ 9 ร้อยล้านบาท “ฉะนั้นคนในมหาวิทยาลัย 40,000 กว่าคนได้รับผลประโยชน์จากงบประมาณจำนวนมหาศาลนี้ขนาดไหน ” ธเนศวรตั้งคำถาม “แล้วคุณคิดดูว่า 100 กว่าสถาบันในประเทศเรา ถ้ารวมเอางบประมาณที่รัฐให้มามันจะขนาดไหน” “และต้องไม่ลืมว่า 79 ปีนี้ก็ไม่มีรัฐบาลไหนลงมาดูแลระบบการเชียร์การว๊ากต่างๆ ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเลย” ธเนศวร์กล่าว เราถูกปลูกฝังให้สยบยอมต่ออำนาจมาตั้งแต่ประถมแล้ว
ธเนศวร์บอกอีกว่า ในท่ามกลางความไม่มั่นคงทางการเมืองของประเทศ สถาบันที่มีบทบาทในการผลิตคนป้อนสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดก็คือสถาบันอุดมศึกษา แต่กลับผลิตคนออกมาให้ยอมรับกับความไร้เหตุผลยอมรับกับการถูกดุด่าว่ากล่าว “คนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมา 17 ปี เรียนจบม.6 มีความสามารถในการติดมหาวิทยาลัย คุณไม่ใช่ขี้ไก่ พวกคุณนี้มันสุดยอดมันสมองของทุกอำเภอทุกจังหวัดอยู่แล้ว แล้วมาเจอระบบบางอย่างที่รู้สึกว่ามันแปลก” ธเนศวร์กล่าว “คงไม่มีพ่อแม่ครอบครัวไหนที่รักลูกมากแล้วก็ว๊ากลูกตลอดเวลา คงไม่มีการบีบบังคับกัน แล้วผมเชื่อว่าถ้าผมรักใครสักคนหนึ่ง แล้วไปข่มขืนเลยจะได้แต่งงานกับผู้หญิงคนนี้ คงไม่มีความรักที่ยั่งยืนแน่ๆ” ธเนศวร์กล่าวเปรียบเปรย
“ฉะนั้นทฤษฎีที่ว่าการว๊ากทำให้เกิดความรักความสามัคคีมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว” ธเนศวร์เสนอว่า แม้จะมีนักศึกษาบางคนที่ยินยอมพร้อมใจกับการถูกว๊ากจริง เนื่องจากสังคมข้างบนกดทับอยู่แล้ว แต่หลายคนก็อาจจะมีประสบการณ์ที่ต่างกัน มาจากชุมชนที่แตกต่างหลากหลายไม่อยากให้มีการพูดข่มเหงดูถูกกัน ธเนศวร์เล่าให้ฟังอีกว่า โรงเรียนมัธยมกับประถมก็อำนาจนิยมพอๆ กัน โดยเล่าว่าจากการที่มีนักศึกษาไปทำวิจัยโดยขอนั่งสังเกตการณ์ในชั้นเรียนวิชาสังคมศึกษาของโรงเรียนแห่งหนึ่งแล้วครูด่าเช็ดว่าอย่าถาม อย่าเถียงในห้อง “อยากให้นักศึกษากลับไปคิดด้วยว่า บรรยากาศของการสร้างความรู้สึกให้อดทน ยินยอมกับความไร้เหตุผล มันพัฒนามาตั้งแต่ป.1 มาจนถึง ป.6 แล้ว
พวกทรงผมแบบนี้ รองเท้าแบบนี้ กระเป่าเบอร์นี้ เปียแบบนี้ โบว์สีนี้ ยกทรงหนาข้างหลังขนาดไหน นี่มันควบคุมพฤติกรรมชีวิตทุกอย่างของนักเรียน” ธเนศวร์กล่าว “กว่าที่เราจะฝ่าฟันเข้ามาจนถึงมหาวิทยาลัย นักศึกษาได้ถูกพลังอำมาตยาธิปไตย อำนาจนิยม ทำลายจนแทบไม่เหลืออยู่แล้ว” ธเนศวร์ยังได้กล่าวถึงกรณีการกลัวการถูกเผยแพร่ข่าวสารเรื่องการรับน้อง จึงมีการกำชับว่าอย่างให้มีแผล อย่าให้มีการบาดเจ็บเสียชีวิต แต่อย่างไรก็ตามแม้จะไม่มีแผลในทางกายภาพ แต่ความไร้เหตุผลและการบังคับขืนใจให้ยินยอมก็ทำให้เกิดความเสียหายต่อความคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ เป็นความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้เลย “แล้วผมไม่แปลกใจเลยว่าหลาย 10 ปีมานี้ของการมีสถาบันอุดมศึกษาไทยที่มันผลิตคนออกมาให้ยอมจำนนต่อความไร้เหตุผล เราจึงยอมจำนนต่อความตาย 91 ศพ หรือ 2000 ศพ และการโกหกตอแหลของผู้นำประเทศทุกวันนี้” “ทุกย่างก้าวของความยากลำบากในการเดินไปสู่ประชาธิปไตยของประเทศเรา พิธีกรรมของอุดมศึกษาเป็นเชลยตัวสำคัญที่อยู่ตรงนั้น วันหลังประวัติศาสตร์จะต้องชำระและจารึกเอาไว้
... ผมคิดว่าวัยรุ่นไทย นักศึกษาไทยน่าสงสารมาก ที่เรามาคุยกัน ทะเลาะกันตั้งแต่บ่ายโมง เราไม่ได้มีบทบาทอะไรเลย เราเป็นเพียงตัวละครที่ข้างบนเขากำหนดให้เราเล่น ให้เรามาตีกันแล้วแตกกันแบบนี้” ธเนศวร์กล่าว ในช่วงท้ายของการเสวนา ธเนศวร์ยังได้เสนอแนวทางการตรวจสอบการว๊ากไม่ให้นำไปสู่ความรุนแรงโดยบอกว่าการให้อาจารย์คอยสอดส่องดูแลอย่างเดียวเป็นไปไม่ได้เนื่องจากต้องคอยจับตาดูทุกกิริยาท่าทาง และบางครั้งนักศึกษาก็แอบไปรับน้องกันตามที่ลับตาคนและมีการปิดล็อกห้องเชียร์ไม่ให้ผู้ปกครองเขา แสดงว่าต้องทำอะไรที่ไม่ดีกันถึงไม่อยากให้คนเห็น จึงได้เสนอให้มีการบันทึกเทปทุกครั้งที่มีการรับน้องหรือห้องเชียร์ เพื่อจะมีหลักฐานให้อธิการบดีได้ตรวจสอบ อีกวิธีการหนึ่ง
ธเนศวร์เสนอว่า เราต้องอาศัยการค่อยๆ เดินของสังคมประชาธิปไตย หรือไม่ก็ต้องหวังความแกร่งกล้าสามารถของนักศึกษาปีที่ 1 ว่าจะกล้าพูดหรือไม่ “สังคมที่เรารับฟังความเห็นของทุกฝ่ายมันมีความสุข” ธเนศวร์กล่าว “เปิดโอกาสให้นักศึกษาปีที่ 1 ได้พูด ได้ถาม ได้ออกความเห็น แล้วก็แก้กันตรงนั้น” ถึงไม่รับน้องก็ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากให้เลือกทำ จากนั้นจึงมีการตั้งคำถามในวงเสวนาว่า เราจะสามารถรวมตัวนักศึกษาปี 1 ผู้ที่ไม่อยากเข้ารับน้องได้หรือไม่ แล้วนักศึกษาจะไปทำกิจกรรมอะไรหากไม่รับน้อง
ธนพงศ์ตอบว่าผู้ที่ไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรมคณะก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมของสโมสรกลาง หรือชมรมกลางของมหาวิทยาลัย ซึ่งในช่วงยุคที่ไม่มีการรับน้องทำให้มีการเกิดขึ้นของกิจกรรมนักศึกษาที่มีอยู่อย่างหลากหลายในเชียงใหม่ เช่น กลุ่มวลัญชทัศน์ ของนิสิตจิรโสภณ ไม่เคยมีใครพูดถึงนักกิจกรรมเหล่านี้ “ถ้าคุณไม่ได้ไปรับน้องคุณสามารถทำอะไรได้บ้าง พื้นที่รอบๆ มหาวิทยาลัยมีปัญหาอยู่มากมายทำไมไม่ไปพัฒนา ค่ายอาสาฯ ที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัย อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ เพื่อให้ไปรับรู้ปัญหาภายนอกมหาวิทยาลัยทำไมไม่เลือกอย่างนี้บ้าง” ธนพงษ์กล่าว
ธเนศวร์ก็กล่าวเสริมในช่วงท้ายว่า มหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่อิสระของนักศึกษาในการทำกิจกรรมที่ตนเองสนใจ แต่ทุกวันนี้ยังต้องคอยอนุมัติจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยอยู่ “เราต้องให้นักศึกษามีพื้นที่เสรีภาพ ถ้าอย่างนั้นก็อย่าเรียกว่ามหาวิทยาลัย” ธเนศวร์กล่าว “ที่นักศึกษาพูดกันว่ามหาวิทยาลัยมันตายแล้วก็คือเหตุผลอันนี้ มันตายแล้วจริงๆ เวลานี้ มันมีแต่พิธีกรรมและเครื่องแบบที่เดินไปเดินมา จิตวิญญาณมันหามีไม่”