วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2567

แก้รัฐธรรมนูญไปถึงไหน ปธ.ศาลรัฐธรรมนูญไม่ขัด ประชามติแค่สองครั้ง แต่วุฒิสภาเล่นแง่ ต้อง Double majority คล้องจองกับ หน.พรรคสีน้ำเงิน

แก้รัฐธรรมนูญไปถึงไหน ลองมาสำรวจดูกัน ไอติม ปธ.กรรมาธิการการเมือง สื่อสาร และการมีส่วนร่วม แจ้งว่าได้คุยนอกรอบกับ ปธ.ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เห็นตรงกันว่าการทำประชามติเรื่องแก้ รธน. ๒ ครั้งก็พอ ไม่ต้อง ๓ ครั้งอย่างที่มี ส.ส.รัฐบาลเสนอ

นั่นเป็นเปราะเล็กๆ ที่ทำให้ใจชื้นขึ้นได้ว่า การใช้ รธน.ใหม่ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า ๒๕๗๐ พอเป็นไปได้ ในเมื่อไหนๆ แนวทางนี้ก็สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาล รธน. ที่ ๔/๒๕๖๔ ดีแล้ว พริษฐ์ วัชรสินธุ บอกจะเอากรณีนี้ไปหารือวุฒิสภา ในวันที่ ๒๗ พ.ย.

แต่วุฒิสภาจะยินดีร่วมพิจารณาด้วยแค่ไหน ก็สุดจะเดา เพราะพฤติกรรม สว.สีน้ำเงินเสียงข้างมาก ออกจะเหวี่ยงไปตามอำเภอใจง่ายอยู่ ดูจากเรื่องวิธีการทำประชามติสำหรับรัฐธรรมนูญใหม่ แรกที่เดียวก็เห็นพ้องต้องกันกับสภาผู้แทนฯ

พอถึงกลางกระบวนการ เกิดเปลี่ยนใจไม่เอาการทำประชามติแบบปกติที่ใช้เสียงข้างมากธรรมดาเพื่อผ่าน ซึ่งใช้กันมาตลอดทุกครั้ง สว.สีน้ำเงินต้องการมาตรฐานสูง ให้ทำประชามติแบบสองชั้นแทน ก็บังเอิ๊นบังเอิญ มีเสียงจาก อนุทิน ชาญวีรกูล

รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ประกาศจุดยืนว่า การทำประชามติต้องสองชั้น (Double majority) บอกจำเป็นเนื่องจากพอดีมีประเด็น เกาะกูด ขึ้นมา “การเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ต่างๆ เราจึงต้องใช้ความระมัดระวัง...​ให้รอบคอบ”

ทั่นรองฯ มาเห็นพ้องกับ สว.สีน้ำเงินตรงนี้ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นในการประชุมร่วมกับ ส.ส. เมื่อ ๒๗ สิงหา มติรับเสียงข้างมากชั้นเดียวท่วมท้น ๑๗๙ ต่อ ๕ ขานรับมติสภาล่างอย่างแม่นมั่น แต่แล้วมาเปลี่ยนกลางคัน จนต้องตั้งกรรมาธิการร่วมขึ้น

การตั้งกรรมาธิการฝ่ายวุฒิสภา ๑๔ คน ก็ไม่เป็นไปตามครรลองการเลือกสรรตามสัดส่วน ในองค์ประกอบ สว.๒๐๐ คน “ถ้าต้องการตัวแทน ๑๔ คน จาก สว. ๒๐๐ คน จะอยู่ที่ ๑๔.๒๘ ต่อ ๑ ตัวแทน ซึ่งเสียงข้างน้อย ๑๙ คน ก็ควรจะมี ๑ คนเป็นอย่างน้อย”

สว.เทวฤทธิ์ มณีฉาย สว.เสียงข้างน้อยคนหนึ่งจึงโวยวาย หลังจากที่กรรมาธิการร่วมฯ คนหนึ่ง ให้สัมภาษณ์แทนกรรมาธิการฝ่าย สว.ทั้งหมดว่า จุดยืนการทำประชามติของพวกตน สว.สีน้ำเงินทั้ง ๑๔ คน ยังเป็นเสียงข้างมากสองชั้นไม่เปลี่ยน

เทวฤทธิ์ยังพูดต่อไปถึงความลำเอียงในกระบวนการทำประชามติด้วย เขาพูดถึงกฏเหล็กที่ว่าจะต้องมีคนออกมาใช้สิทธิประชามติมากกว่ากึ่งหนึ่งเสียก่อน ทำให้มีการล็อคเสียงไม่เอาประชามติไว้แล้ว ๔๐% เป็นฐาน โดยคำนวณจากพวกนอนหลับทับสิทธิ์

ในปี ๒๕๕๐ และ ๒๕๖๐ ซึ่งมีผู้ออกไปใช้สิทธิ ๕๗ และ ๕๙ เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ แสดงว่ามีผู้ไม่ใช้สิทธิ (หรือไม่เห็นด้วยกับประชามติ) ๔๐% โดยเฉพาะ รธน.๖๐ มีผู้ใช้สิทธิ ๒๖ ล้าน นั่งทับสิทธิ ๒๔ ล้าน

“คนที่อยากให้คนโหวต No ก็เพียงรณรงค์ให้คน 2 ล้านไม่ไปโหวต ก็ทำให้เสียงผู้มาใช้สิทธิเหลือ 24 ล้านคน” เท่ากับผู้ไม่ไปใช้สิทธิ เทวฤทธิ์เสนอให้เปลี่ยนเกณฑ์ผู้ไปใช้สิทธิเหลือเพียง ๑ ใน ๔ คานกับฐานเสียงในมือของฝ่ายไม่เอาประชามติ ๔๐%

ซึ่งก่อให้เกิดความเป็นธรรมในด้านฐานเสียง แต่ตัวเลข ๑ ใน ๔ หรือ ๒๕% ของผู้มีสิทธิออกเสียง น่าจะทำให้คนทั่วไปมองเผินๆ แล้ว ดูน้อยเกินไปก็ได้

(https://www.facebook.com/tewarit.bus/posts/2WbiNwms8xl และ https://prachatai.com/journal/2024/11/111447)