วันพุธ, กุมภาพันธ์ 01, 2566

จดหมายเปิดผนึกจาก 'เพ็นกวิ้น' น่าจะเป็นข้อสรุปให้ทุกฝ่ายไม่รู้สึกกินใจ ต่อการอดอาหารและน้ำของ ‘ตะวันกับแบม’ แล้วละ

ถึงตรงนี้คงได้ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายไม่รู้สึกกินใจต่อการอดอาหารและน้ำของ ตะวันกับแบมแล้วละ แน่นอนว่าร่างกายของหญิงสาวทั้งสองยังได้รับความปวดร้าว แม้จิตใจแกร่งกร้าวไม่ยั่น และข้อเรียกร้องทั้งสามประการได้รับการตอบสนองเพียงเล็กน้อย

จดหมายเปิดผนึกจาก พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak น่าจะเป็นคำตอบให้ทุกฝ่ายสบายใจ เนื่องจาก “เราไม่พึงคาดหวังมนุษยธรรมในใจของอีกฝ่ายมากนัก” ทั้งที่ “ข้อเรียกร้องของพวกเธอทั้งหมดเป็นเรื่องถูกต้องตามหลักการทั้งปวง

เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจทั้งหมดควรรับฟังและปฏิบัติตาม” ทว่า “การต่อสู้ของพวกเธอตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ท้าทายยิ่ง เพราะองคาพยพของฝ่ายตรงข้ามของพวกเธอ (และของพวกเราทั้งหมด) เป็นผู้ทรงอำนาจ” และพวกเขาใช้อำนาจนั้นอย่าง “ไม่ได้ตั้งมั่นอยู่ในธรรม”

เพ็นกวิ้นบอกเพื่อนหญิง “กระนั้นเอง ในสังคมบิดเบี้ยวนี้ ข้อเรียกร้องคงต้องใช้เวลายาวนานกว่าผู้มีอำนาจจะยอมทำความเข้าใจและพิจารณาได้” โดยเฉพาะเกี่ยวกับการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ และ ๑๑๖ “น่าจะยาวนานเกินกว่าที่ร่างกายของพวกเธอจะรับไหว”

ลงท้าย “สิ่งที่เธอทำในวันนี้เติมไฟให้หลายคนในเรื่องที่ขับเคลื่อนกันอยู่แล้ว เมื่อเติมไฟแล้วก็ขอให้รักษาชีวิตจิตใจ ออกมาตั้งหลักกันใหม่ เพื่อผลักดันทุกข้อเรียกร้องให้ลุล่วงถึงฝั่งได้สมบูรณ์...ทุกคนต้องการให้เธอมีชีวิตต่อ”

นี่เป็นคุณูปฯ ของกวิ้นที่เปิดทางให้บางคนที่ตั้งแง่มา กระโดดงับทันที ไม่ต้องอ้อมค้อมไม่ต้องแถไถให้เลือกพวกเขาอย่างถล่มทลายเสียก่อน แล้วจึงจัดการได้ด้วยวิธีนิติบริการ ขณะหัวชนฝาไม่แตะโครงสร้าง เป็นทางออกอย่างลงตัวต่อสถานการณ์ใกล้เลือกตั้ง

ไม่ต้องเอ่ยถึงประเด็นที่เยาวชนซึ่งไปยืนเรียกร้องหน้าพรรคเพื่อไทย คนหนึ่งบอกว่า “ทั้งรัฐบาลคุณทักษิณและคุณยิ่งลักษณ์นั้นเคยใช้ ๑๑๒ เพื่อประโยชน์ทางการเมือง...เขามีสิทธิ์ที่จะกังวลว่าในอนาคตเพื่อไทยจะใช้ ๑๑๒ กับพวกเขาด้วยหรือเปล่า”

พรรคเพื่อไทยต้อนรับขับสู้คณะเสื้อแดงเก่าที่ไปเรียกร้องอย่างดี แล้วแถลงให้หลังว่า “เคารพในการตัดสินใจความเสียสละในการต่อสู้เด็ดเดี่ยวของ #ตะวันแบม” หากแต่ข้อเรียกร้องของทั้งสอง เรื่อง ม.๑๑๒ และ ม.๑๑๖ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลแก้ไข

และ “มีข้อฝากว่า แพทย์มีหน้าที่รักษาผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะที่เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต แม้จะขัดต่อเจตนารมณ์และความยินยอมของผู้ป่วย...จึงมิได้หมายความว่าแพทย์จะปล่อยให้ผู้ป่วยสิ้นชีวิตไปต่อหน้าต่อตาโดยมิได้ทำอะไรเลย”

ซึ่งรู้กันแล้วว่าแพทย์ทั้งหลายที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลเด็กสาวทั้งสองที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ก็ตระหนักอยู่ว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง เพียงแต่ให้ความเคารพปณิธานของผู้ป่วยตราบเท่าที่ทั้งสองยังมีสติสัมปชัญญะ

เมื่อใด “ถึงตอนนั้นหนูก็ไม่รู้อะไรแล้ว” อย่างตะวันว่า แพทย์สามารถแทรกแซงได้ทันที เพียงแต่เขายังไม่ได้ชิงพูดออกมาก่อนให้การเรียกร้องของเด็กสาวทั้งสองเสียกระบวน

(https://www.facebook.com/paritchiwarakofficial/posts/0C4GMyrEKp)