วันอาทิตย์, ธันวาคม 16, 2561

คู่ปรับใหม่ของ ‘เจ๊ ว.’ เมื่อสมภารพูด พระต้องฟัง - ดร.สมภาร ฝาก ‘ท่าน ว.’ ศึกษาให้มากก่อนพูด นักวิชาการขุดข้อมูลปม ‘ไอน์สไตน์’ ชูพุทธศาสนา ยันไม่จริง!





เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาสตราจารย์ ดร.สมภาร พรมทา อดีตอาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่ข้อมูลและความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีที่พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี กล่าวถึงประเด็น ‘ศาสนาสากล’ โดยระบุถึงคำกล่าวที่อ้างว่าเป็นคำพูดถึงอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก (อ่านข่าว ‘ว.วชิรเมธี’ หนุนพุทธเป็น ‘ศาสนาสากล’ อ้าง ‘ไอน์สไตน์’ บอกสอดคล้องวิทยาศาสตร์ (คลิป))

ศาสตราจารย์ ดร.สมภาร เปิดเผยว่า ไอน์สไตน์พูดถึง Cosmic religious feeling และกล่าวว่าพุทธศาสนามีสิ่งนี้ แต่ออกตัวว่าไม่ได้ศึกษาพุทธศาสนาเอง ทว่า สรุปจากพุทธศาสนาตามที่โชเปนฮาวเออร์เขียนอธิบาย โดยไอน์สไตน์ไม่ได้พูดว่าพุทธศาสนาเท่านั้นที่มีสิ่งนี้ ดังนั้น จึงฝากพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธีศึกษาให้มาก ก่อนที่จะพูด

ข้อความดังนี้

“มีเรื่องเล็กๆน้อยๆผ่านตา คือเรื่องที่ท่าน ว. วชิรเมธีพูดเรื่องควรมีศาสนาสากลและอ้างว่าไอน์สไตน์คิดว่าศาสนาที่เข้าข่ายจะเป็นศาสนาสากลคือพุทธศาสนา ต้นตอความคิดไอน์สไตน์เรื่องนี้มาจากหนังสือเขาเล่มนี้ครับ ดูหน้า 39 เป็นต้นไป ไอน์สไตน์พูดถึง Cosmic religious feeling ครับ และพูดว่าพุทธศาสนามีสิ่งนี้ แต่ออกตัวว่าเขาไม่ได้ศึกษาพุทธศาสนาเอง เขาสรุปจากพุทธศาสนาตามที่โชเปนฮาวเออร์เขียนอธิบายอีกที ไอน์สไตน์ไม่ได้พูดว่าพุทธศาสนาเท่านั้นมีสิ่งนี้ เขาเขียนต่อไปว่า พระคัมภีร์เก่าบางเล่มของคริสต์ศาสนาก็มี นักปรัชญาอย่างสปิโนซาก็พูดเรื่องนี้ไว้มาก ท่านน่าจะอ่านเขาให้ดีก่อนค่อยพูดถึงเขานะครับ ไอน์สไตน์พูดถึงศาสนาคนละความหมายกับที่ท่าน ว. เข้าใจ อย่างเป็นคนละเรื่องเลย ฝากท่านระมัดระวังคราวต่อไปด้วยนะครับ ศึกษาให้มากก่อนพูด”





ต่อมา ศ.ดร. สมภาร ยังโพสต์ข้อความเพิ่มเติมโดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือชื่อ Ideas and Opinions ดังนี้

“Ideas and Opinions เป็นหนังสือรวมข้อเขียนที่สำคัญและเขียนด้วยภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจได้ของไอน์สไตน์ แบ่งเป็นภาคต่างๆ

ภาคหนึ่งว่าด้วยความคิดของไอน์สไตน์เกี่ยวกับศาสนา มีบทความหนึ่งในหมวดนี้ที่ไอน์สไตน์กล่าวพาดพิงถึงพุทธศาสนา สาระสำคัญของบทความนี้คือไอน์สไตน์คิดว่าเราแบ่งศาสนาได้สามแบบ

แบบแรกสอนให้เรากลัวบางสิ่งเช่นพระเจ้าด้วยเชื่อว่ากลัวแล้วคนจะไม่ทำชั่ว

แบบที่สองสอนว่ามีบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่เช่นพระเจ้าและสิ่งนี้รักเรา ที่สอนอย่างนั้นก็เพราะคิดว่าเมื่อรู้สึกว่าพระเจ้ารักเรา มนุษย์จะมีกำลังใจละชั่วทำดี ศาสนาอย่างแรกไอน์สไตน์เรียกว่า religion of fear

อย่างที่สองเรียกว่า religion of love ไอน์สไตน์คิดว่าน่าจะมีศาสนาอีกแบบหนึ่งที่ทำงานได้มากกว่าศาสนาสองแบบนี้ เขาเรียกศาสนาแบบนี้ว่า cosmic religion (ไอน์สไตน์ไม่เรียกอย่างนี้ตรงๆ แต่เรียกว่า cosmic religious feeling) อันหมายถึงศาสนาในรูปของความคิดที่ว่าจักรวาลนี้สวยงามเป็นระเบียบด้วยกฎเกณฑ์ เราไม่ต้องกลัวใครหรือเรียกร้องให้ใครมารัก แต่เราจะพึ่งพาปัญญาของเราเองในการเข้าใจจักรวาล ศาสนาแบบนี้ที่จริงก็มีแล้วแต่ไม่สมบูรณ์ เช่นที่ปรากฏในพุทธศาสนา

ตัวศาสนาแบบนี้จะเกิดและเติบโตในหมู่มนุษย์ก็ผ่านทาง art and science ไม่ได้ผ่านศาสนาที่เป็นสถาบันเช่นศาสนาต่างๆที่เรารู้จักรวมทั้งพุทธศาสนาด้วยครับ เพราะศาสนาแบบนี้มีความเชื่อที่ไม่ยอมเปลี่ยนบางอย่างเสมอ (ที่จริงสิ่งที่ไอน์สไตน์รู้จักจากโชเปนฮาวเออร์คือพุทธปรัชญา) อยากให้ไปโหลดหนังสือเล่มนี้อ่านกันมากๆครับ อ่านแล้วคิดเอง อย่าเพิ่งเชื่อผม และไม่จำเป็นต้องเชื่อไอน์สไตน์ (หมายเหตุ รูปหนังสือข้างล่างเป็นฉบับ kobo book ผมพกใส่ย่ามอ่านเวลาไปไหนข้างนอก และใช้ค้นคำเวลาต้องการดูทั้งเล่ม)”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระแสในโลกออนไลน์ ยังมีการค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวออกมาเผยแพร่ และตั้งคำถามถึงประเด็น ‘ศาสนาสากล’ เช่น นายสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนา ซึ่งระบุว่า ศาสนาเป็นสากลไม่ได้ เนื่องจากการเกิดขึ้นของแต่ละศาสนาสะท้อนถึงความพยายามในการตอบปัญหาชีวิตของบุคคลและปัญหาทางสังคมใน “บริบท” ทางสังคม วัฒนธรรม ชาติพันธุ์หนึ่งๆ

รายละเอียดดังนี้

ในทางประวัติศาสตร์คนแรกๆ ที่พยายามทำให้ศาสนาเป็นสากลคือ “นักบุญเปาโล” ที่นำศาสนาคริสต์ของชาวยิวไปเผยแพร่แก่ชาวโรมัน สำหรับนักบุญเปาโลแล้วศาสนาคริสต์ไม่ใช่ของชาวยิวเท่านั้น แต่ควรเป็นของคนทั้งโลก

แต่ยุคกลางที่ศาสนจักรคริสต์โรมันคาทอลิกพยายามทำให้ชาวยุโรปนับถือคริสต์แบบเดียวกันหมด ทำให้เกิดปัญหากดขี่เสรีภาพทางความเชื่ออย่างรุนแรง จนในที่สุดก็เกิดการปฏิรูปนิกายโปรเตสแตนท์ที่ตามมาด้วยสงคราม 30 ปี จนชาวยุโรปได้รับบทเรียนความป่าเถื่อนจากการเอาศาสนามาอยู่เหนือการเมือง ควบคุมการเมือง จึงเกิดแนวคิดโลกวิสัย (secularism) แยกศาสนาจากรัฐ-การเมือง คือเอาหลักการทางโลกเป็นหลัการปกครองแทนหลัก “เทวสิทธิ์” ตามความเชื่อทางศาสนา เช่นหลักประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ส่วนศาสนาถูกปลดจากการมีอำนาจใดๆ ทางการเมือง ให้เป็นเรื่องส่วนตัวหรือเป็นเสรีภาพที่แต่ละคนจะเลือกนับถือหรือไม่นับถือก็ได้

ในประวัติศาสตร์อิสลามก็ขยายอิทธิพลทางศาสนาไปยังภูมิภาคต่างๆ ด้วยกองทัพ ยุคพระเจ้าอโศกก็มีการสนับสนุนการนำพุทธศาสนาเผยแพร่ออกไปจากชมพูทวีป ไปยังดินแดนต่างๆในเอเชียและเอเชียอาคเนย์ ผ่านการเดินทางค้าขายและอื่นๆ

แต่จากเวลาที่ยาวนานเป็นพันๆ ปี ก็ไม่เห็นมีศาสนาไหนเป็น “ศาสนาสากล” ได้จริง เพราะแต่ละศาสนาที่เข้าไปอยู่ในสังคมและวัฒนธรรมหนึ่งๆ ก็แปลงร่างไปตามสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมนั้นๆ ไป ไม่มีอะไรที่จะเป็นสากลหรือเป็น “หลักการทั่วไป” สำหรับมนุษย์ทุกคนได้ เมื่อเทียบกับหลักสิทธิมนุษยชน(ที่แม้จะยังถูกตั้งคำถามใน “ความเป็นสากล”)แล้ว ศาสนายังห่างไกลจากความเป็นสากลมาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย

การวิเคราะห์ของนักปรัชญาอย่างเยอร์เกน ฮาเบอร์มาส ชี้ให้เราเห็นว่า สิ่งที่ศาสนาให้แก่มนุษย์ได้คือ “จริยธรรม” (ethic) ที่เป็นแนวทางดำเนินชีวิตที่ดีส่วนบุคคลและอาจจะรวมถึงการสร้างแบบแผนประเพณีและวัฒนธรรมเฉพาะให้กับสังคมหนึ่งๆ แต่ศาสนาไม่สามารถให้หลัก “ศีลธรรม” (morality) ที่เป็น “หลักการสากล” (อย่างเช่นหลักสิทธิมนุษยชนเป็นต้น)ได้ ศีลธรรมเป็นเรื่องของหลักการสากลหรือหลักการทั่วไปที่มนุษย์ไม่ว่าชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม เพศ ผิวใดๆ พึงยึดถือปฏิบัติร่วมกันบนฐานของการเคารพความเป็นคนเท่ากัน ซึ่งหลักการทางศีลธรรมเช่นนี้เกิดจากปรัชญาสมัยใหม่

ที่อ้างว่า “เมตตา” เป็นคุณธรรมสากลนั้น ที่จริงแล้วความรักความเมตตาเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ทุกศาสนาก็สอนเรื่องนี้ พ่อแม่ ครูอาจารย์ก็สอน หรือคนไม่มีศาสนาก็เรียนรู้ที่จะมีความรักความเข้าใจกันและกันได้ จึงอ้างว่าเป็นคำสอนของศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะเพื่อที่จะบอกว่าศาสนานั้นเป็นสากลไม่ได้

ความจริงแล้วแทนที่จะผลักดันให้ศาสนาเป็น “สากล” ควรผลักดันให้ศาสนา “เคารพหลักการสากล” เช่นเคารพหลักสิทธิมนุษยชนให้ได้ก่อน เช่นผลักดันให้แยกศาสนาจากรัฐ-การเมือง หยุดละเมิดเสรีภาพทางศาสนากรณีห้ามบวชภิกษุณี และกรณีอื่นๆ ให้ได้ก่อน น่าจะดีกว่า

ในตอนท้าย นายสุรพศ ยังแนะนำบทความที่มีผู้ค้นคว้ายืนยันว่า ไอน์สไตน์ไม่ได้บอกว่าพุทธศาสนานั้น คือศาสนาที่ยอดเยี่ยมที่สุด

ที่มา มติชนออนไลน์